‘อ๋อม สกาวใจ’ วิพากษ์ ‘ละครไทย’ ทำไมยังไม่หลุดจากวังวนเดิมๆ

หลายคนมองว่า การผลิตซ้ำละครไทยที่วนเวียนอยู่กับเรื่องผัวๆ เมียๆ ชิงรักหักสวาท ระหว่างพระเอก นางเอก กับนางร้าย หรือเมียน้อยร้อยมารยาที่หวังแย่งชิงสามีจากอกเมียหลวง คือวงจร “น้ำเน่า” ที่พบเจอได้มาจนถึงทุกวันนี้

แม้ช่วงหลายปีหลัง ละครโทรทัศน์ไทยบางเรื่องจะพัฒนาไปไกล โดยฉีกตัวเองออกจากพล็อตแนวผัว-เมีย ทว่า สื่อบันเทิงที่พยายามทำตนเป็น “น้ำดี” เหล่านั้น กลับมีเรตติ้งน้อยนิด และถือว่ายังเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับละครทั้งหมด

แน่นอนว่าละครที่มีพล็อตเรื่องผัวเมียตีกัน เมียน้อยแย่งสามีจากเมียหลวง คือมหรสพอันเต็มไปด้วยอรรถรสจนโดนใจคนดูหมู่มาก และกลายเป็นความบันเทิงยอดนิยม

แต่ก็เริ่มเกิดคำถามขึ้นว่า ความสนุกสนานทำนองนั้นให้อะไรกับผู้ชมบ้าง นอกจากการสั่งสอนเรื่องศีลธรรมอันดีงามแบบไม่สลับซับซ้อน ที่ไม่ได้ช่วยขัดเกลาสมาชิกของสังคมมากเท่าที่ควร

อ๋อม-สกาวใจ พูนสวัสดิ์” นักแสดงหญิงผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการบันเทิงไทยมากว่า 3 ทศวรรษ ร่วมพูดคุยกับ FEED ว่าด้วยประเด็นข้างต้น

พร้อมทั้งพยายามตั้งข้อสังเกตว่า เพราะเหตุใดซีรีส์ต่างประเทศจึงพัฒนาไปไกล และกล้านำเรื่องราวเกี่ยวกับสาขาวิชาชีพต่างๆ มาตีแผ่ สอดแทรก คลุกเคล้าเข้ากับความบันเทิงได้อย่างลงตัว โดยไม่ต้องหวาดกลัวความขัดแย้งใดๆ

: ในวงการบันเทิงไทย ทำไมนักแสดงที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป จะถูกปรับให้ไปรับบทพ่อหรือแม่ หรือบทรองๆ ในขณะที่ละครหรือซีรีส์ประเทศอื่นๆ เขาเปิดกว้างไม่จำกัดอายุนักแสดง ว่าต้องน้อยกว่า 30 ปี ถึงจะรับบทพระเอกนางเอกของเรื่องได้

ดาราบ้านเราพออายุ 30 ขึ้นไปแล้วมักจะถูกปรับให้ขึ้นไปรับบทแม่ บทพ่อ หรือตัวละครบทที่ 3, 4, 5 สิ่งเหล่านี้มันอาจจะอยู่ที่สังคมหรือเปล่า?

วงการบันเทิงบ้านเราที่รวมไปถึงละครหรือภาพยนตร์ ความเคยชินของคนที่ถูกปลูกฝังว่าพออายุเยอะปุ๊บ ต้องไปรับบทแม่แล้ว รับบทนางเอกไม่ได้แล้ว มันอาจจะอยู่ที่คนที่ปลูกฝังไว้

แต่เดี๋ยวนี้ เขาก็พัฒนาขึ้นแล้วนะ เขาก็พัฒนาให้แบบว่าคนที่ค่อนข้างเหมือนอายุเยอะ เอามาเป็นตัวเอก เป็นตัวนำก็มีนะอันนี้ เริ่มมาแล้ว อันนี้ก็โอเคค่ะ

เราเคยชินไง มันเป็นความเคยชิน

: ละครไทยยังวนอยู่กับพล็อตผัว-เมีย เพราะขายได้ เทียบกับต่างประเทศที่หยิบเอาสาขาอาชีพต่างๆ มาถ่ายทอดผ่านบทละคร พร้อมสอดแทรกข้อคิดสอนใจได้อย่างไม่ต้องกลัวดราม่า ทำไมละครบ้านเรายังก้าวไม่ถึงจุดนั้น?

มันไม่เปิดกว้างและไม่เสรี มันไม่สามารถที่จะพาดพิง (สาขาอาชีพต่างๆ) ได้ เหมือนสมมุติว่าเราถ่ายฉากนี้อยู่ เช่น ฉากกินไวน์ เมามายก็ต้องเบลอ หรือว่าถือปืนก็ต้องเซ็นเซอร์ เพราะมันไม่เปิดกว้าง และเขาไม่ยอมรับค่ะ

มันติดอยู่ตรงนี้แหละค่ะ เพราะว่ามันไม่สามารถแตะอะไรได้เยอะ มันได้นิดๆ หน่อยๆ สุดท้ายก็ได้แค่เรื่องผัวเมียไง ผัวเมียตบตี ได้แค่นี้ ตัวร้ายคนร้าย จะไปแตะเรื่องอาชีพที่เป็นอาชีพต้องห้ามก็ไม่ได้ อาชีพนี้ห้ามแตะนะ อาชีพอัยการห้ามแตะนะ

แต่ดูหนังเกาหลีสิ เรื่องอัยการที่เป็นคนเลว เขาก็ยังทำได้ สุดท้ายแล้วมันก็ต้องมีคนดี เขาก็สอน เราก็ดูสิว่าเขาเลวยังไง อันนี้คือพูดถึงเรื่องซีรีส์เกาหลีนะ ที่เราดูว่าอัยการเป็นตัวร้าย แต่ก็เป็นบทที่ดีไง

เราดูแล้วมันรู้สึกว่า อ๋อ มันมีช่องทางในตรงนี้ตรงนั้น มันก็สนุกก็บันเทิง ดูแล้วก็คิดได้ว่า อ๋อ ก็เขาไม่ดี พระเอกก็ต้องเข้าไปปรับใหม่ ไปแก้ไข มันก็ควรที่จะ (เล่าถึงคนไม่ดีในสาขาอาชีพต่างๆ) ได้บ้าง ไม่งั้นมันก็อยู่ที่เดิม

: คิดว่าในสังคมบ้านเรา หน่วยงานต่างๆ เขารับไม่ได้หรือเปล่า? ที่จะถูกสะท้อนออกมา (ในแง่มุมที่ไม่ดี)

ทุกหน่วยงานมันมีทั้งคนดี คนเลว มันไม่ใช่แค่หน่วยงานนี้ต้องดีทุกอย่าง หรือเธอเป็นดาราเธอต้องเป็นคนดีมาก หรือว่าเธอเป็นผู้พิพากษา ครู จะต้องไม่มีข้อเสียเลย มันคือละคร ดูให้มันเป็นบันเทิง ดูเป็นละคร แล้วเขาก็เขียนไว้แล้วว่าใช้วิจารณญาณในการรับชม ก็เขียนไว้แล้วนี่

แต่ถ้าเกิดสมมุติว่าคุณไม่เปิดอะไรเลย ไม่สามารถที่จะเอามาตีแผ่ สมมุตินะ อยากจะทำเรื่องทหารจังเลย แต่ห้ามนี่ห้ามนั่น ข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 อย่างนี้ ทำไมต้องห้ามล่ะ? ก็คือพระเอกเป็นทหาร ผู้ร้ายเป็นทหาร ผู้ร้ายเป็นทหารก็ต้องโดนจับเข้าคุกสิ อย่างนี้ค่ะ มันควรจะมีได้สิ

ทุกวันนี้เขียนถึงเรื่องนี้ก็ไม่ได้ แตะไม่ได้ มันมีกฎ มีข้อแม้เยอะ ความเสี่ยงต่างๆ นานา ผู้จัด (ละคร) เขาก็คงกลัวกันแหละค่ะ ก็เข้าใจได้เนอะ ก็เลยต้องไปดังที่เมืองนอกไง

เปิดรับได้แล้ว โลกเขาไปถึงไหนกันแล้ว ฮอลลีวู้ดเขาสร้างหนังไปถึงไหน เกาหลีเขาไปแตะได้ทุกเรื่อง คือมันสามารถไปพูดได้ทุกๆ เรื่อง มันคือละคร มันคือบันเทิง ไม่ใช่เรื่องจริงเธอ

เรื่องจริงยังไม่ยอมรับเลย เนี่ยดูสิละครก็ไม่ยอมรับ เรื่องจริงก็ไม่ยอมรับ งงไปหมดละ

: ทั้งที่บุคลากรในแวดวงละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ไทย ทั้งผู้จัด ผู้กำกับฯ นักแสดง รวมถึงทีมงานเบื้องหลังต่างๆ ก็มีฝีมือไม่เป็นรองบุคลากรจากประเทศอื่นๆ แล้วสิ่งที่บ้านเรายังขาดคืออะไร?

เรื่องฝีมือ นักแสดงเราไม่ได้ขาดอะไรหรอก เราขาดเรื่องงบประมาณ งบฯ ที่เขา (รัฐบาล) เอาไปซื้อ “ของเล่น” คือต่างประเทศอย่างเช่น เกาหลีใต้ เขาไปไกลไหนต่อไหนแล้ว วงการบันเทิงมันเป็นวงการที่สามารถสร้างรายได้ให้ (ประเทศ) ได้เยอะนะ ถ้าพูดกันตามตรง ทำเงินได้เยอะไม่เป็นสองรองใครเลย ถ้ามันดังเปรี้ยงทีเดียว

ดูอย่างน้องลิซ่า (แบล็กพิงก์) สิคะ ศิลปินบ้านเราแท้ๆ เป็นคนไทยนะ แต่เขาไปอยู่เกาหลี ไปสร้างชื่อเสียงให้คนไทยนะคะ เนี่ยเห็นไหม ผลักดันสิ สนับสนุนสิ วงการบันเทิงบ้านเรามีอะไรบ้าง ละคร ภาพยนตร์ ศิลปินต่างๆ นานา แต่ว่าถ้าเราจะไปไกลกว่านี้ เราต้องมีงบประมาณที่ค่อนข้างสูง

ละครหรือภาพยนตร์มันไม่ใช่ว่าไม่ได้ใช้งบฯ (รัฐบาล) เลย เกาหลีเขาก็ใช้งบฯ ค่ะ แล้วงบฯ ค่อนข้างเยอะด้วย เพราะรัฐบาลเขาออกมาช่วย แต่บ้านเรามันช่วยตัวเองค่ะ ต้องช่วยตัวเองทุกเรื่อง วงการบันเทิงก็ต้องช่วยตัวเอง ผู้จัดก็ต้องมีเงินเป็นของตัวเอง มีเงินของสปอนเซอร์เข้ามาช่วยนิดๆ หน่อยๆ คนของเราเก่งมาก แต่ไปเก่งในต่างประเทศหมด ถามว่าทำไมไม่เก่งในบ้านเรา?

บ้านเราละคร หนังต่างๆ ทำออกมาได้ดี ความคิด ครีเอทีฟ คุณภาพก็ค่อนข้างโอเคเทียบเท่าสากลเลย แต่ว่าเราขาดงบประมาณ ขาดสิ่งที่มันจะสู้กับเขาได้ ถ้าเรามีงบฯ เท่ากับเขา นั่นแหละ ผลักดันเลย

อ๋อมเชื่อว่าวงการบันเทิง (ไทย) ยังไงก็สู้ฮอลลีวู้ดได้แน่นอน