เดิมพันตัวตึง ‘ไทย-กัมพูชา’ กับสายล่อฟ้า ‘อินโด-แปซิฟิก’ | อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

เล่นใหญ่ไฟกะพริบ ในฐานะเป็นเจ้าภาพประชุม “สุดยอดอาเซียน” (8-13 พฤศจิกายน) ที่โจ ไบเดน ประธานาธิบดีลุงแซมมาร่วมประชุมได้ ขณะที่การประชุม “กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แฟซิฟิก” หรือเอเปค ที่จะมีขึ้นในสัปดาห์นี้ที่ประเทศไทย ผู้นำใหญ่อเมริกากลับไม่มาร่วม

แค่นี้ก็รู้ว่า สหรัฐจัดความสำคัญ “ไทย-เขมร” และภูมิภาคไว้ที่ระดับไหน?

และที่เคยได้ฉายา “เหนือเมฆ” ด้านการต่างประเทศอย่างไรยังพิสูจน์ได้ในการเป็นประธานอาเซียนรอบนี้ที่โคตร “หลักเหลี่ยม” จัด ถึงขนาดโทรศัพท์ไปหาประธานาธิบดียูเครนให้ใคร่ครวญยุติสงคราม และตนยินดีจะส่งทหารกู้ระเบิดไปที่นั่น แต่โวโลดิมีร์ เซเลนสกี กลับขอกล่าวสุนทรพจน์ในอาเซียนซัมมิต?

ทำเอาสมเด็จฮุน เซน อึ้ง บ่ายเบี่ยงว่าให้เป็นความเห็นร่วมของอาเซียน แต่สื่อบ้านเอาแต่ตีข่าวกัมพูชาวางตนประณามรัสเซียที่แตกต่างจาก 3 ประเทศชายแดนไทย-ลาว-เวียดนามอย่างอารยะ-ต่อวิสัยทัศน์ระยะสุดท้ายให้โลกจำของฮุน เซน

หรือนี่คือวิธีดึงดูดโจ ไบเดน? ต่อการประชุมอาเซียนซัมมิตที่กัมพูชาสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่กลับไม่แวะประชุมเอเปค-กรุงเทพฯ งานที่สหรัฐเองจะเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปคปีหน้า และเพื่อไม่ให้ต้องถูกใช้อย่างไร้ราคา สู้รอเล่นบทพระเอกในปีหน้า ถึงตอนนั้นแผนงาน “อินโด-แปซิฟิก” คงผ่านขั้นตอนการประเมิน

จากกลางปีที่ผ่านมา สหรัฐประกาศแต่งตั้งอัครราชทูตวิสามัญประจำภูมิภาคนี้อย่างน่าสนใจทุกคน

เอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยคนใหม่ โรเบิร์ต เอฟ โกเดค ส่งสัญญาณเป้าหมายในการเป็นเจ้าภาพ “การประชุมเอเปค” ของสหรัฐในปีหน้า เช่นเดียวกับการแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐในประเด็น “อินโด-แปซิฟิก” ที่สหรัฐย้ำว่า “จะต้องแข่งขันกันต่อไป”

ไม่เท่านั้น ยังแบ่งเกรดประเทศต่างๆ ระหว่าง “เสรีนิยม” กับ “ขั้วตรงข้าม” ในการจัดลำดับให้ความสำคัญ และมันได้ถูกทดสอบทันที จากการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตสาย “เยี่ยว-พิราบ” จากที่ผ่านมาทั้งไทย-กัมพูชา

และนี่เป็นครั้งแรกๆ ที่การแต่งตั้งเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำ 2 ประเทศนี้ มีความเข้มข้นเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย “อินโด-แปซิฟิก” เชิงรุกของสหรัฐที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

เริ่มจากเอกอัครราชทูตวิสามัญประจำพันธมิตรนอกนาโตอย่างไทย ฯพณฯ โรเบิร์ต เอฟ โกเดค ผู้ถูกกล่าวหาจากไทยบางฝ่ายว่าเป็นสายเหยี่ยว เห็นจากที่ท่านโกเดคเคยให้สัมภาษณ์ “อยากเห็นไทยยกเลิกซื้อก๊าซจากเมียนมา” ตั้งแต่กรรมธิการ ส.ว.สหรัฐยังไม่รับรองตำแหน่ง

โรเบิร์ต โกเดค

โรเบิร์ต โกเดค จึงได้สมญาสายเหยี่ยวไปเต็มๆ โดยเฉพาะการที่เขาเคยเป็นที่ปรึกษาวิทยาลัยการสงครามแห่งชาติ (national war college) ดังนี้ เมื่อตอบคำถามคณะกรรมธิการแห่งรัฐสภาสหรัฐ โกเดคกล่าวว่า “ต้องเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ความเป็นหุ้นส่วนและพันธมิตรระหว่างไทย-สหรัฐ เพื่อรักษาความมั่นคงทั้งสองฝ่าย ตลอดจนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

และย้ำว่า “สหรัฐจะพยายามร่วมทำงานกับไทย ในการสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลทหารเมียนมาให้หนักมากขึ้น”

กระนั้น อย่างไม่เคยมีมาก่อนและออกจะแตกต่างกว่าทูตทุกคนที่ผ่านมา เมื่อโรเบอร์ต โกเดค ให้ความเห็นต่อประเด็นสถาบันว่า “สหรัฐมีความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย และเข้าใจในการให้เคารพเทิดทูนต่อราชวงศ์ของคนไทย แต่สำหรับประเด็นเสรีภาพในการแสดงออกของพลเมืองนั้นก็มีความสำคัญ”

และว่า “ข้าพเจ้าตั้งใจแสดงจุดยืนส่งเสริมข้อนี้ เพื่อที่ประชาชนไทยจะแสดงออกซึ่งความเห็นของตนโดยไม่กังวลต่อการถูกจับกุมตัว” (วีโอเอ/ไทย)

น่าสนใจว่า สหรัฐไฟเขียวต่อนักการทูตของตน เพื่อสร้างทิศทางต่อความเป็นผู้นำประชาธิปไตยในภูมิภาคหรือไม่? โดยไม่เว้นที่ทูตโกเดคกระตือรือร้นในบทบาทของไทยและอาเซียน

ไม่น่าแปลกใจที่ฝ่ายอนุรักษ์ไทยจะแปะป้ายเขาทันที ว่าเป็นทูต “สายเหยี่ยว!”

อีกด้าน เมื่อหวนไปยุค 90 ของนโยบายสี จิ้นผิง ที่ค่อยๆ ครอบงำภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงหรือเขตอินโดจีนเก่าโดยเฉพาะกัมพูชา ที่สหรัฐเพิ่งกระจ่างว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงต่อเขตอินโด-แปซิฟิก และกว่าจะกลับมาประกาศนโยบายอีกครั้ง ซึ่งเริ่มเห็นชัดจากการแต่งตั้งเอกอัครราชทูต

โรเบิร์ต วิลเลี่ยม ฟอร์เดน ว่าที่เอกอัครราชทูตสหรัฐวิสามัญประจำกัมพูชาคนใหม่ ที่เพิ่งพ้นวาระ Charg? d’affaires อุปทูตประจำกรุงปักกิ่งจากวาระฉุกเฉินโดยมาแทนเอกอัครราชทูตเทอรี่ แบรนสตัด ที่ถอนตัวประท้วงนโยบายประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และหมดวาระไปเมื่อปีกลาย

ตั้งแต่ 1995-2018 จะเห็นว่า โรเบิร์ต ฟอร์เดน ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการในกิจการจีน-มองโกเลีย และผู้อำนวยการสถาบันสหรัฐในไทเป/ไต้หวัน ตลอดจนตำแหน่งอุปทูตที่ปักกิ่งและโยกไปไต้หวัน สลับไปมาอย่างบ่อยครั้งอันเกิดขึ้นได้ยากในหมู่นักการทูต โดยเฉพาะการกลับไปรั้งตำแหน่งในไต้หวันที่ต่ำศักดิ์กว่าในจีนแผ่นดินใหญ่ ในฐานะที่ฟอร์เดนเองก็เข้าๆ ออกๆ ราวกับบ้านหลังที่ 2 ของปักกิ่งและไต้หวัน

โดยแม้ในกิจการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใกล้เคียงที่สุดผ่านมาฟอร์เดนเคยเป็นเจ้าหน้าที่กองงานเศรษฐกิจที่กรุงฮานอยและสร้างผลงานประทับใจในครั้งนั้น คือข้อตกลงการค้า “เวียดนาม-สหรัฐ” อันมากมาย

แล้วเกิดอะไรขึ้น จู่ๆ ทำไมทำเนียบขาวจึงให้ความสำคัญกัมพูชาในระดับเดียวกับจีนและไต้หวันโดยการส่งโรเบิร์ต วิลเลี่ยม ฟอร์เดน ผู้เชี่ยวชาญ “ตัวตึง” เบอร์ 1 ประเด็น “จีน-ไต้หวัน” ของทำเนียบขาวมาปฏิบัติภารกิจใดที่กัมพูชา?

ต่อท่าทีนี้เท่ากับว่า สหรัฐได้จัดลำดับกัมพูชาในฐานะประเทศ “บริวาร” ทางการจีน? แลการเลื่อนขั้นกัมพูชาในระดับพิเศษนี้ มีที่มาจากอะไร?

โรเบิร์ต วิลเลี่ยม ฟอร์เดน

แน่นอน การที่กัมพูชาเต็มไปด้วยการขับเคลื่อนทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงโดยนักลงทุนและพรรคคอมมิวนิสต์จีน อีกวิธีปฏิบัติต่อเอกอัครราชทูตประจำกรุงพนมเปญคนก่อนๆ จนแม้แต่รัฐมนตรีช่วยว่าการต่างประเทศในกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก-แดเนียล เจ.คริเทนบลิงก์ ถึงกับออกปากว่า

“สหรัฐจะไม่ปล่อยตัวแทนทูตของตนให้โดดเดี่ยวในภูมิภาคนี้อีกต่อไป”

ท่าทีแข็งกร้าวต่อกัมพูชารอบนี้ ต่างจากทุกประการทั้งปวง สมัยที่สหรัฐยกระดับความสัมพันธ์กัมพูชา 70 ปีที่ผ่านมา ในวาระของเอกอัครราชทูตดับเบิลยู แพทริก เมอร์ฟี่ คนล่าสุดต่อกรณีปัญหาฐานทัพเรือเรียม แต่ความเป็นสายเหยี่ยวของเขาดูจะไม่ประสบความสำเร็จ

เช่นเดียวกับเอกอัครราชทูตวิลเลี่ยม ฮีดต์ ซึ่งมีคู่สมรสเป็นชาวเขมร-สหรัฐ และเป็นสายพิราบทางวัฒนธรรม ทว่า สมเด็จฮุน เซน นั้น มองข้ามความสำคัญนักการทูตสหรัฐมาหลายวาระ แต่จะมีท่าทีพิเศษสุดกับนักลงทุนและตัวแทนของพรรคคอมมิวนิสต์

อย่างไรก็ตาม ตลอดปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังคงให้ความสำคัญต่อสมเด็จฮุน เซน อย่างเป็นกรณีพิเศษ จะโดยฐานะของประธานอาเซียนที่มีนโยบายเชิงบวกในระดับนานาชาติ หรือใดๆ ที่ทำให้ผู้นำกัมพูชาหันมาเล่นบทบาทนักประชาธิปไตยอย่างคราบโอฬารริก

หรือนี่คืออำนาจแฝงที่ทำให้สมเด็จฮุน เซน เปลี่ยนท่าทีไปมาก ต่อความพยายามครั้งใหม่ในอินโด-แปซิฟิก และนโยบายของตนที่ออกแบบมาเพื่อคานอำนาจจีนหนนี้ ในภาษากายของผู้นำสหรัฐที่สงวนท่าทีต่อผู้นำกัมพูชา

ทว่า เมื่อถึงคราวต้องวางหมากตัวบุคคล วอชิงตันกลับส่งตัวตึงเบอร์ต้นๆ มาประจำการ (ทั้งพนมเปญและกรุงเทพฯ) และเป็นนโยบายการทูตเชิงรุกจากโรเบิร์ต โกเดค ซึ่งมีทิศทางชัดเจน และโรเบิร์ต ฟอร์เดน เองที่แม้จะรักษาท่าที แต่ภาษากายทีผ่านมาของสมเด็จฮุน เซน นั้น ดูจะเก็บทรงไม่อยู่!

และเป็นเรื่องที่ชวนคิดว่า กัมพูชามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? ในฐานะความหมายที่เทียบเท่ากับประเทศมหาอำนาจอย่างพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งต่างขั้วกับสหรัฐ ก่อนที่การแยกมิตร-ศัตรูจะเกิดขึ้นอย่างจริงจังหลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ต้องคารวะสมเด็จฮุน เซน ด้วย ที่สามารถยกระดับกัมพูชา เทียบเทียมกับชั้นอภิมหาอำนาจ “จีน-สหรัฐ” ด้วยฝีมือแถวหน้าชนิดที่ผู้นำอาเซียนทุกประเทศไม่อาจเทียบเคียงได้

แถมยังเป็น “ตัวตึง” ระหว่างจีน-สหรัฐที่ยกระดับความสำคัญซ่านไปทั่วภูมิภาค ทั้งจากฐานทัพเรือ-สนามบินแห่งใหม่ที่จีนลงทุนให้ แต่สหรัฐมองต่างว่า นี่อาจเป็น “เขี้ยวเล็บ” ฐานทัพจีนนอกประเทศที่เต็มศักยภาพทั้งบก-น้ำ-อากาศ ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ของภูมิภาคนี้

ยินดีต้อนรับ 2 นักการทูตสหรัฐ “โรเบิร์ต ฟอร์เดน” แอนด์ “โรเบิร์ต โกเดค” ในภารกิจ “ตัวตึง” ที่กลับมาสู่ไทย-กัมพูชา