ปากท้องชาวบ้าน…ญี่ปุ่น วันที่ต้องรัดเข็มขัด สินค้าจ่อขึ้นราคากว่า 2,000 รายการ | สุภา ปัทมานันท์

(Photo by Richard A. Brooks / AFP)

สินค้าในการดำรงชีวิตประจำวันของครัวเรือนชาวญี่ปุ่น พากันขึ้นราคามาตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ผลิปีนี้ หลังจากรัสเซียรุกรานยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ สินค้าหลายชนิดราคาแพงขึ้นจนถึงขาดตลาด คนญี่ปุ่นต้องคิดพัฒนาสินค้าที่มีอยู่ในประเทศมาทดแทน อาทิ ใช้ประโยชน์จากข้าวที่ปลูกในประเทศมากขึ้น (ข้าว(米)ญี่ปุ่นที่เป็นมากกว่าข้าว)

จากการสำรวจของบริษัทสำรวจข้อมูลธุรกิจชื่อดัง เทโคกุ ดาต้าแบงก์(帝国データバンク)ทำการสำรวจบริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มของญี่ปุ่น 105 บริษัท พบว่า ณ วันที่ 31ตุลาคมที่ผ่านมา ในปีนี้ มีสินค้าที่ขึ้นราคาไปแล้วรวมทั้งสิ้น 20,743 รายการ เดือนพฤศจิกายน มีสินค้าที่ขึ้นราคาตั้งแต่วันที่ 1 เป็นต้นมาอีก 833 รายการ ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนไม่ถึง 1,000 รายการเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา พูดง่าย ๆ คือ แต่ละเดือน มีสินค้าที่พาเหรดกันขึ้นราคามากกว่า 1,000 รายการ และปีหน้าจะมีอีก 2,000 รายการ

บรรดาแม่บ้านผู้มาซื้อสินค้าที่ซูเปอร์มาร์เก็ตต่างบ่นกันหนาหูว่า “เห็นใบเสร็จรับเงินแต่ละครั้งแล้วตกใจ” “อะไรๆ ก็แพงขึ้น” “ของที่ไม่จำเป็น ก็ไม่ซื้อแล้ว” “มีอะไรอีกบ้างที่ไม่แพงขึ้น” “ขอแค่ยังกินข้าวให้อิ่มได้”

ตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ สินค้าต่าง ๆ ก็พาเหรดกันขึ้นราคากันอย่างต่อเนื่องเป็น “คลื่นซัดตามกันมา”(値上げの波)ในเดือนพฤศจิกายนสินค้าที่ขึ้นราคาจนแพงขึ้นอย่างชัดเจน คือ นมและผลิตภัณฑ์จากนม(牛乳製品)ต่าง ๆ ถึง 318 รายการ เช่น โยเกิร์ต ครีมสด เนย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีเครื่องปรุงต่าง ๆ เช่น โชยุ ซอสปรุงรส ขนม ของขบเคี้ยว และเหล้าสาเกหลายชนิด ส่วนน้ำมันพืชขึ้นราคาไปแล้วรวมมากกว่า 200 % จากราคาปีที่แล้ว

เจ้าของซูเปอร์มาร์เก็ตเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในโตเกียวที่ต้องทำยอดขายแข่งกับซูเปอร์ฯอื่นในชุมชนใกล้เคียง บ่นว่า ตลอดปีนี้สินค้าประจำวันขึ้นราคาทุกอย่างตั้งแต่ ไข่ไก่ แป้งสาลี น้ำมันพืช และเดือนนี้ก็คือ นม ทั้งๆ ที่เป็นสินค้าที่มีการหมุนเวียนเร็วกว่าสินค้าอื่น ๆ และเก็บได้ไม่นาน ในฐานะคนขายก็อยากขายราคาถูก และขายปริมาณมาก ๆ แต่เมื่อขึ้นราคาถึง 10% จากราคากล่องละ 179 เยน เป็น 195 เยน คนก็ซื้อน้อยลง

เมื่อผลิตภัณฑ์จากนมมีราคาสูงขึ้น ย่อมส่งผลกระทบถึงร้านขายขนมเค้ก ที่ต้องใช้ผลิตภัณฑ์จากนมเป็นวัตถุดิบหลัก ทั้งนมวัว เนย และครีมสด นอกจากนี้ยังขาดแป้งสาลีไม่ได้ ซึ่งก็ขึ้นราคาไปก่อนแล้ว ยิ่งใกล้ช่วงคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่ ร้านเค้กทั้งร้านใหญ่และร้านเล็กต่างก็ต้องวางแผนการผลิตเค้กสวยงามสำหรับเทศกาล

เจ้าของร้านเค้กบ่นอุบว่า แม้แต่สตรอว์เบอรี่ในประเทศก็ราคาแพงขึ้น ชาวสวนแบกรับต้นทุนจากค่าไฟฟ้า ค่าสาธารณูปโภคที่สูงขึ้น ค่าขนส่งแพงขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ค่าบรรจุภัณฑ์หีบห่อ เป็นต้น กระทบกันต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ จนนึกไม่ออกว่าตอนนี้มีอะไรที่ยังราคาเดิมอยู่อีก

(Photo by Richard A. Brooks / AFP)

เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตเค้กของที่ร้านพบว่า ราคาสูงกว่าของชนิดเดียวกันเมื่อปีที่แล้วถึง 1.4 เท่า สำหรับเค้กเทศกาลคริสต์มาส จำเป็นต้องขึ้นราคาอีก 300 เยน ของประดับหน้าเค้ก เช่น ดอกไม้ ใบไม้ประดิษฐ์ และเทียนตกแต่งแท่งเล็ก ๆ ที่นำเข้าก็มีราคาสูงขึ้น จากค่าเงินเยนอ่อน แต่ทางร้านพยายามเต็มที่ที่จะไม่ขึ้นราคาเค้กปกติ เพราะเกรงใจลูกค้าประจำอย่างมาก ลูกค้าประจำผู้มีอุปการะคุณ อุตส่าห์มาอุดหนุนอย่างต่อเนื่อง ไม่อยากให้หายหน้าไปเพราะการขึ้นราคา

ทางฝ่ายผู้เลี้ยงโคนมในฟาร์มปศุสัตว์ บอกว่าอาหารสัตว์มีราคาสูงขึ้นมากทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากสถานการณ์ในยูเครนที่ยังมองไม่เห็นว่าจะจบลงเมื่อใด และค่าเงินเยนอ่อนลงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับ 2 ปีที่ผ่านมา มีค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าอาหารสัตว์ต่อหนึ่งวันเพิ่มขึ้นถึง 85,000 เยนทีเดียว นมที่มีคุณภาพดีมาจากโคนมที่เลี้ยงด้วยหญ้าเลี้ยงสัตว์คุณภาพดี แต่ภาระจากค่าอาหารสัตว์ทำให้เจ้าของฟาร์มขาดทุนต่อเนื่อง เรียกว่า ยิ่งเลี้ยงก็ยิ่งขาดทุน จะแบกรับไปได้อีกนานเท่าใดกัน

นายเคอิชิ คายะ(加谷珪一)คอลัมน์นิสต์ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ให้ความเห็นว่า สินค้าต่างๆ ที่มีราคาสูงขึ้นขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นผลกระทบจากสถานการณ์ในยูเครน ยังไม่ใช่ผลจากค่าเงินเยนอ่อนที่แท้จริง คาดว่าในปีหน้า 2023 ราคาสินค้าอีกกว่า 2,000 รายการ จะขึ้นราคา ซึ่งเป็นผลจากค่าเงินเยนที่อ่อนลงอย่างมากในปีนี้ บริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่ปิดงบบัญชีในเดือนมีนาคม ดังนั้นในปีหน้าก็จะเห็นยอดกำไรลดลง หรือยอดขาดทุนอย่างชัดเจน ถึงตอนนั้นก็ต้องผลักภาระด้านต้นทุนราคาสินค้าให้แก่ผู้บริโภคอย่างเลี่ยงไม่ได้แน่นอน ผู้บริโภคต้องเตรียมใจรับราคาสินค้าที่ดาหน้าแข่งกันพุ่งขึ้น

ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นจำนวนมากไม่ได้มีรายได้เพิ่มขึ้น บางคนกลับมีรายได้ลดลงเสียด้วยซ้ำจากผลกระทบยาวนาน 3 ปีของสถานการณ์โควิด -19 ต้องเปลี่ยนค่านิยม ความเคยชิน และปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่ภายใต้ค่าครองชีพที่สูงขึ้น

คนญี่ปุ่นมีทัศนคติเกี่ยวกับความสมบูรณ์แบบ และความสวยงาม สินค้า และอาหารที่วางขายในร้านค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตญี่ปุ่น ต้องมีความสวยงาม ไม่มีตำหนิ มีหีบห่อบรรจุภัณฑ์สะอาดเรียบร้อย แต่จากนี้ไปจำเป็นต้องลดมาตรฐานนี้ลงบ้าง

ที่โตเกียว เขตโอตะ(大田区)มีร้านขนาดไม่ใหญ่นัก ติดป้ายหน้าร้านว่า “สินค้ามีตำหนิราคาถูกสุด ๆ”(訳あり激安)ภายในร้านมีสินค้าจำพวกอาหาร ขนม เครื่องดื่ม ที่ราคาถูกกว่าที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปมาก บางรายการต่ำกว่าครึ่งราคาเสียอีก ถูกเหมือนเกือบให้ฟรีเสียด้วยซ้ำ ทั้งหมดเป็นสินค้ามีตำหนิต่าง ๆ กัน อาทิ ห่อบรรจุหรือถุงพลาสติกชั้นนอกฉีกขาด สินค้าอาหารใกล้วันหมดอายุ หรือเลยกำหนดที่จะวางบนชั้นในซูเปอร์มาร์เก็ตได้ กล่องบรรจุเป็นรุ่นเดิม เป็นต้น แต่ตัวสินค้าภายในไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด ยังคงบริโภคได้ ไม่เสียรสชาติเลย ที่ผ่านมา สินค้าเหล่านี้จะถูกนำไปกำจัดทิ้งไม่เหลือซาก กลายเป็น “การสูญเสียอาหาร” (Food Loss) อย่างน่าเสียดาย และยังก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในขั้นตอนการกำจัดอีกด้วย

ผู้จัดการร้านบอกว่า ตลอดปีที่แล้วทางร้านสามารถจำหน่ายสินค้ามีตำหนิ ที่เคยถูกเมินเหล่านี้ได้ 3.5 ล้านชิ้น คิดเป็นน้ำหนักรวมประมาน 700 ตัน ลองคิดดูว่าหากสินค้าทั้งหมดนี้ถูกนำไปกำจัดทิ้งจะน่าเสียดายเพียงใด นอกจากนี้ยังต้องใช้พลังงานในการกำจัด ค่าแรงงาน มิหนำซ้ำยังก่อมลพิษอีก

ตั้งแต่เปิดร้านนี้ มีผู้คนเข้า-ออก หาซื้อสินค้าหมุนเวียนเปลี่ยนไปทุกวันไม่ขาดสายเลย เพียงแค่เปลี่ยนทัศนคติต่อลักษณะภายนอกของสินค้า ผู้บริโภคก็จะได้สินค้าราคาย่อมเยาลง ประหยัดเงินในกระเป๋าได้เยอะ

ประหยัดไว้ก่อน เพื่อปากท้องในปีหน้า คงไม่ผิด…