ปี 2566-2567 การเมืองเปลี่ยนแปลง “กองเชียร์” คาดหวังกับ “เพื่อไทย” อย่างไร?(จบ)

มุกดา สุวรรณชาติ

ปี 2566-2567 การเมืองเปลี่ยนแปลง อาจเลือกตั้งปีละครั้ง (ตอนที่ 1)

เชื่อว่าถ้าได้เป็นรัฐบาลแล้วจะทำตามนโยบายที่เสนอมาได้ และทำงานได้ดีกว่าชุดที่ผ่านมา แต่เมื่อยังมี ส.ว. 250 คน ก็คิดว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่พรรคเพื่อไทยจะได้มาเป็นรัฐบาล แม้พรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งได้ที่ 1 ถ้ารวมพรรคก้าวไกลซึ่งเป็นแนวร่วม น่าจะได้จำนวน ส.ส.เกินครึ่งสภา ถ้าแยกกันน่าจะเป็นการสูญเสียพลังในการต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายประชาธิปไตย

ขณะนี้พรรคเพื่อไทยก็เหมือนถูกความหวังของประชาชนล็อกทางการเมืองไว้ แม้เพื่อไทยบอกว่าไม่เอาพรรคที่มีประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่กองเชียร์คงไม่อยากให้พรรคเพื่อไทยไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์ เพราะมองว่า 3 พรรคนั้นเป็นต้นเหตุของปัญหา

การที่พรรคเพื่อไทยต้องการชนะแบบ แลนด์สไลด์ เพราะต้องการตั้งรัฐบาล แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะตั้งรัฐบาลพรรคเดียว

ดังนั้น การประกาศจุดยืนของเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

กองเชียร์เพื่อไทยมองว่าก้าวไกลคือคู่แข่ง แต่มองฝ่ายรัฐบาลซึ่งสนับสนุนการรัฐประหารมาตลอดว่าเป็นศัตรูทางการเมืองและไม่ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย

นี่คือโจทย์ยากของแกนนำพรรคเพื่อไทยในการตั้งรัฐบาลผสมหรือร่วมรัฐบาล

เพราะถ้าคิดไปร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิม กองเชียร์ที่เคยสนับสนุนอาจจะไม่ยอมเลือก ส.ส.เพื่อไทยในครั้งนี้

สิ่งที่เพื่อไทยจะแสดงได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้คือเดินหน้าชน สู้ฝ่ายตรงข้ามเต็มที่ เพราะแม้ไม่ได้เป็นรัฐบาลอีกเพียงปีเดียว ส.ว. 250 คนก็ครบวาระแล้ว

กองเชียร์เพื่อไทยได้สรุปไว้ว่าถ้าคิดจะร่วมมือกับพรรคฝ่ายขวาก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องได้คะแนนเสียงแบบแลนด์สไลด์ เพราะถึงอย่างไรก็ได้เสียงพรรคอื่นๆ มาเพิ่มเติมอยู่แล้ว และในเมื่อไปร่วมรัฐบาลกับพรรคฝ่ายขวาในขณะที่มีเสียง ส.ว. 250 คนอยู่ นายกรัฐมนตรีจะไม่ใช่คนของพรรคเพื่อไทยแน่นอน ถ้าเป็นแบบนี้การแลนด์สไลด์ก็ไม่จำเป็น

วันนี้เพื่อไทยจึงต้องประกาศท่าทีทางการเมืองให้ชัดเจน และท่าทีนี้จะเป็นตัวกำหนดคะแนนเสียงจากกองเชียร์ ทั้งปี 2566 และ 2567

พรรคร่วมรัฐบาล
จะต้องลงแข่งขันกันเอง อย่างดุเดือด

ในการเลือกตั้งปี 2566 สภาพการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เคยวิเคราะห์ไว้เมื่อ 3-4 เดือนที่แล้วก็ยังเป็นเหมือนเดิมคือ ประชาธิปัตย์จะช่วงชิงคะแนนจากพลังประชารัฐกลับคืนมา สถานการณ์ล่าสุดที่พลังประชารัฐมีลักษณะแตกร้าวโอกาสที่จะกลายเป็นพรรคขนาดกลางก็มีมาก มีความเป็นไปได้สูงที่ประยุทธ์จะแยกออกไปอยู่กับรวมไทยสร้างชาติและกลายเป็นแกนของพรรคฝ่ายขวา

ในเวลาเดียวกันนั้นภูมิใจไทยก็สร้างฐานที่มั่นซึ่งเสริมกำลังมาเกือบ 2 ปีแล้ว ขณะนี้ถือว่าแข็งแกร่งมาก ดังนั้น ในค่ายของฝ่ายขวาด้วยกันจึงยังมี 4 พรรคหลัก คือพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ รวมไทยสร้างชาติ และภูมิใจไทย

โอกาสที่ประชาธิปัตย์จะดึงคะแนนเสียงกลับมาคงไม่ง่าย

ส่วนพรรคเกิดใหม่ที่พอมีกำลังหนุน และพยายามบอกว่าเป็นแนวทางสายกลาง ทั้งสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รวมทั้งพรรคที่ควบรวมกัน ก็คงจะได้เป็นตัวประกอบ โอกาสมี ส.ส. 3-7 คนก็ยังมี การหวังร่วมรัฐบาลพอได้

แต่ต้องระวังคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ถ้าไม่ถึง 1 ล้าน จะได้แค่ 2-3 คน จะทำให้แกนนำพรรคสอบตก

ทุกพรรคจะต้องมีนโยบายแก้วิกฤต
ทางเศรษฐกิจและสังคม

ข่าวสารที่ผ่านสื่อต่างๆ ขณะนี้ทำให้เราพอมองเห็นว่ามีวิกฤตรอบด้านซึ่งสะท้อนมาได้หลายระดับ

ในระดับรัฐบาลก็ถึงขั้นเสนอขายที่ดินให้คนต่างชาติเพื่อแลกกับการให้เข้ามาซื้อพันธบัตรซึ่งก็เหมือนเงินกู้นั่นแหละ ทำให้เกิดแรงกดดันทางการเมืองอย่างมากมาย

แต่ถ้ามองลึกลงไปอีกก็พบว่า ความตกต่ำทางเศรษฐกิจสร้างปัญหาทุกระดับ

เช่น ปัญหากลุ่มผู้ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็มีสินค้าที่ขายไม่ออกจำนวนมาก ทั้งที่ดินบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม แต่การหวังว่าต่างชาติจะเข้ามาซื้อเป็นแสนล้านนั้นเป็นเรื่องเพ้อฝัน เพราะเศรษฐกิจในต่างประเทศก็ไม่ใช่ว่าจะดี ในขณะที่คนจนก็มีปัญหาคือไม่มีจะกิน

ดังนั้น กลุ่มที่จะเข้ามาทำธุรกิจจริง ต้องเป็นพวกที่ไม่กลัวการเสี่ยงเพราะมีวิธีทำธุรกิจให้ได้ผลกำไรสูง

กลุ่มแรกที่จะเข้ามา คือพวกที่ทำธุรกิจสีเทา ตอนนี้ส่วนใหญ่มาจากจีน เดิมพวกเขาก็บุกเข้ามามากอยู่แล้วแม้รัฐบาลจะไม่ให้สิทธิพิเศษอะไร เพราะมีวิธีปลอมสัญชาติเป็นคนไทยโดยการสวมบัตรประชาชนแล้วเข้ามาทำมาหากินในทุกระดับตั้งแต่การค้าขายเล็กน้อย จนไปถึงทำบ่อนพนัน ค้ามนุษย์ ตั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ถ้าหากเจ้าหน้าที่ของเรายอมศิโรราบกับอำนาจเงินของคนพวกนี้ พวกเขาก็จะใหญ่ขึ้นทุกวัน ยิ่งรัฐบาลออกกฎให้พวกเขาเข้ามาได้สะดวกทั้งจำนวนและความเข้มข้นทางธุรกิจก็จะยิ่งมากขึ้น วันนี้ยังพอคุมได้ แต่ถ้าปล่อยไปมากกว่านี้จะควบคุมไม่ได้ เพราะอำนาจเงินไม่เข้าใครออกใคร ยังมีการทำมาหากินคอร์รัปชั่นจากเจ้าหน้าที่ในระดับต่างๆ มีการแสวงหาผลประโยชน์กันในทุกวงการ

ในขณะที่มีการรุกล้ำเข้ามาของกลุ่มอิทธิพลที่เป็นคนต่างชาติ กลับมีการถอยออกไปของผู้ลงทุน ผู้ผลิตสุจริต มีการปิดโรงงานมากขึ้น ทำให้คนว่างงานจำนวนมากขึ้น การล้มของธุรกิจ SME ก็จะตามมาเป็นลูกโซ่ เพราะพวกเขาจะไม่สามารถหาเงินใช้หนี้ธนาคารได้อีกแล้ว โลกเปลี่ยนเร็วมาก ประเทศใดที่ปรับตัวช้าจะได้รับความเสียหาย ประชาชนจะได้รับความทุกข์ยาก คนยิ่งจนจะยิ่งลำบากที่สุด แต่กลุ่มทุนขนาดใหญ่กลับรวยขึ้น

การเสนอนโยบายของพรรคการเมือง จึงต้องเสนอแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วย

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

นโยบายต้องให้ประชาชนทำได้จริง
ได้ประโยชน์

คาดว่าจะมีการเสนอนโยบายและแนวทางการปฏิบัติแบบมีรายละเอียดขั้นตอน ดังนั้น แม้ในบางเรื่องมีผู้เสนอมาก่อนแต่ก็ไม่แน่ว่าจะดีกว่าผู้นำมาเสนอภายหลัง ถ้าหากว่ามีขั้นตอนการทำงานที่เห็นว่าเป็นไปได้จริง ได้ผลประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่า หรือคนเชื่อมั่นว่าพรรคนี้คนกลุ่มนี้ทำได้ บางพรรคบางกลุ่มทำไม่ได้

นโยบายการเกณฑ์ทหารจะมีผู้เสนอหลายพรรค และจะสู้กันในรายละเอียด เชื่อว่าประชาชนจะสนับสนุนนโยบายนี้ และจะมีการเปลี่ยนแปลงมากพอควร

เรื่องการปลดล็อก ธุรกิจสุรา เรื่องกัญชา

การอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนและซื้อที่ดิน ถ้ารัฐบาลไม่ถอย จะเป็นประเด็นการเมืองไปถึงการหาเสียง แต่รัฐบาลคงถอย

การเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดจากประชาชนโดยตรง เชื่อยังมีคนค้าน แต่คนหนุนจะมากกว่าและจะทำให้มีเขตทดลองเพิ่มขึ้น

สิ่งเหล่านี้พรรคใดมีรายละเอียดที่ออกมาแล้วดูดีกว่า เป็นไปได้มากกว่า หรือมีคนต่อต้านน้อยกว่า ก็จะได้คะแนนนิยมไป

การออกตัวทางนโยบายของพรรคก้าวไกลแม้พุ่งออกไปก่อนแต่ถ้ารายละเอียดมีคนอื่นออกมาแนวเดียวกันแต่เหนือกว่า ก็ไม่แน่ว่าใครจะได้คะแนนไป เหมือนกับกรณีกัญชาเสรีของพรรคภูมิใจไทยมันมีทั้งด้านบวกและลบ ถ้ามีใครเสนอสิ่งที่ดีกว่าพรรคที่เสนอใหม่ก็จะได้คะแนนไป

ขณะนี้ที่ประชาชนรอคอยจึงเป็นนโยบายด้านต่างๆ ของคนที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลหลังเลือกตั้งใหม่ปี 2566 และจะมีผลต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพราะประชาชนทั้งประเทศยังหวังว่าจะรอดพ้นจากสภาพแวดล้อมที่วิกฤตเกือบทุกด้าน

เกมการปฏิรูปและการเลือกตั้ง
อาจถูกสกัดด้วยการรัฐประหาร
หรือตุลาการภิวัฒน์

การคาดคะเนสถานการณ์ทางการเมืองต่างๆ ที่กล่าวมานั้นอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าไม่มีการแทรกแซงจากอำนาจนอกระบบในช่วงประมาณ 2 ปี คือ 2566 และ 2567

แต่เรื่องนี้ก็อยู่นอกเหนือการควบคุมตามระบอบประชาธิปไตย เพราะขณะนี้โครงสร้างของอำนาจทั้งตุลาการและทหารเป็นโครงสร้างที่อยู่เหนือระบบ

จะบอกว่าไม่มีโอกาสเกิดขึ้นก็ไม่ได้ หรือจะบอกว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ไม่ได้เช่นกัน โดยเฉพาะอำนาจตุลาการภิวัฒน์อาจจะแทรกมาในเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็กแบบใดก็ได้

ขณะนี้ผู้คนก็ยังกังวลว่าพรรคก้าวไกลก็ยังเสี่ยง

เมื่อกลุ่มอำนาจเก่าพบว่าแนวทางนโยบายของพรรคก้าวไกล

ยังกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของพวกเขา ตั้งแต่อำนาจรัฐ จนถึงหน่วยงานเช่น กอ.รมน. แต่เมื่อเป็นแค่ฝ่ายค้านก็ยังไม่ถึงขั้นรัฐประหาร แต่การยุบพรรคต้องระวังตลอด

ยุทธศาสตร์ของเพื่อไทยและก้าวไกลคือจะต้องดำรงแนวทางการต่อสู้ทางรัฐสภาไว้ รักษาอุดมการณ์ของพรรคไว้ ส่งเสริมความก้าวหน้าและแก้ปัญหาของคนที่เลือกพรรค สร้างความมั่นใจให้กับคนวัยทำงานอีกหลายล้าน

และต้องคิดถึงการเลือกตั้ง หลัง ส.ว.ชุดนี้หมดอำนาจลง