ปี 2566-2567 การเมืองเปลี่ยนแปลง อาจเลือกตั้งปีละครั้ง (1) | มุกดา สุวรรณชาติ

ในสภาพที่บ้านเมืองมีปัญหาทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ รัฐบาลมักจะอยู่ได้ไม่ครบวาระ และบ่อยครั้งที่อาจอยู่ได้ไม่ถึงปีหรือเพียงปีเศษๆ เช่น

หลัง 14 ตุลาคมเมื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับปี 2517 และมีการเลือกตั้งปี 2518 พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.มากที่สุด ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อจัดตั้งรัฐบาลและแถลงนโยบายกลับถูกล้มโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จากพรรคกิจสังคม ซึ่งรวมเสียง ส.ส.ได้มากกว่า แต่รัฐบาลของคึกฤทธิ์ก็อยู่ได้เพียงปีเดียว ปี 2519 ก็มีการเลือกตั้งใหม่

หรือในปี 2535 หลังรัฐประหาร 2534 มีการเลือกตั้งภายใต้อำนาจของคณะรัฐประหาร รสช. ในต้นปี 2535 แต่พอตั้งรัฐบาลสืบทอดอำนาจ ประชาชนก็ต่อต้าน เมื่อคณะ รสช.ล้มลงในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ก็ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ในปีเดียวกันนั้นเอง

การเลือกตั้งบ่อยในระบบรัฐสภาไทย เป็นเรื่องปกติในปี 2538 เมื่อนายกฯ ชวน หลีกภัย จากประชาธิปัตย์ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในกรณีที่ดิน ส.ป.ก.4-01 และยุบสภา

เลือกตั้งใหม่ 2538 พรรคชาติไทยชนะเลือกตั้งได้ ส.ส.มากที่สุด นายบรรหาร ศิลปอาชา ได้เป็นนายกฯ แต่เป็นได้ประมาณเพียงปีเศษก็ถูกพรรคประชาธิปัตย์อภิปรายไม่ไว้วางใจ และยุบสภาในปี 2539 เมื่อเลือกตั้งใหม่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จากพรรคความหวังใหม่ก็ได้ ส.ส.มากที่สุด 125 คน ในขณะที่ประชาธิปัตย์ได้ 123 คน พล.อ.ชวลิตรวมเสียงตั้งรัฐบาลได้เป็นนายกฯ อยู่ประมาณ 1 ปีก็ลาออกเพราะมีวิกฤตทางการเงินในปี 2540

ที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นการเปลี่ยนแปลงตามระบอบประชาธิปไตยที่มียุบสภาและลาออกเลือกตั้งใหม่หรือซาวเสียงหานายกฯ ในสภา ไม่นับการรัฐประหารและการใช้ตุลาการภิวัฒน์ของอำนาจนอกระบบ

จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจการเมืองขณะนี้ จึงทำให้ทีมงานประเมินว่าแม้มีการเลือกตั้งปี 2566 เสถียรภาพทางการเมืองความขัดแย้งและสภาพของรัฐบาลผสม ปัญหาจากรัฐธรรมนูญอาจทำให้มีการเลือกตั้งซ้ำขึ้นมาอีกครั้งในช่วงเวลาสั้นๆ ประมาณ 1 ปีหรือ 1 ปีกว่า

พรรคการเมืองที่มองยาวก็จะต้องเตรียมพร้อม ก๊อก 2 สำหรับการเลือกตั้งที่จะมีมาติดกันและจะมีกติกาที่ต่างจากเดิม คือไม่มี ส.ว.มาเลือกนายกฯ

Photo by PONGSAK CHAIYANUWONG / AFP

ประเมินภาพใหญ่ทางการเมือง ปี 2566-2567

1.โอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะลุยกระแสต่อต้านมาลงเป็นแคนดิเดตนายกฯ ก็ยังมี แม้คนอื่นมองว่าไม่เป็นผลดีต่อพรรคและกลุ่ม แต่ถ้ามีกระแสสนับสนุนอยู่บ้าง ก็จะมีคนชื่อ พล.อ.ประยุทธ์มาลงแข่ง

เพราะจนถึงเดี๋ยวนี้กลุ่มอนุรักษนิยมก็ยังหาคนดีคนเด่นของฝ่ายตัวเองได้ไม่ชัดเจน และยังมีบริวารคอยโหนบารมีนายกฯ ประยุทธ์อยู่จำนวนหนึ่ง

ถ้าเป็นแบบนั้น การเมืองช่วงเลือกตั้งก็จะแยกชัดได้ว่าใครสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์และใครคัดค้าน แบบนี้ฝ่ายค้านน่าจะพอใจ

ส่วนเรื่องการได้เป็นนายกฯ แค่ 2 ปีก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะโอกาสที่รัฐบาลจะอยู่ถีง 2 ปี หลังเลือกตั้ง 2566 ก็ไม่ง่าย ดังนั้น เมื่อเป็นนายกฯ ได้แค่ไหน ก็แค่นั้น หลัง ส.ว. 250 คนหมดอำนาจ หรือมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว มีข้ออ้างมากมายที่จะยุบสภา คนที่คิดจะมาเป็นนายกฯ ต่อแบบคนละครึ่ง อย่าไปฝัน เพราะโอกาสไม่ถึง 2 ปีสูงมาก

Photo by CHALINEE THIRASUPA / POOL / AFP

2. วุฒิสภาจะครบวาระ 5 ปีในเดือนมีนาคม 2567 และจะต้องมีการเลือกตั้งวุฒิสภาใหม่ มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการต่อรองของ ส.ว. และ ส.ส. เพื่อแก้รัฐธรรมนูญก่อนที่วุฒิสภาจะครบวาระ เพื่อโอกาสในการสมัครลงเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. คาดว่าครั้งนี้คงยังไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญให้มีการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากประชาชนได้ แต่จะแก้บางมาตรา เพื่อให้ได้เป็นประชาธิปไตยอีกขั้นหนึ่งโดยประชาชนเลือก ส.ส. และ ส.ว. แบบที่พอประนีประนอมกันได้

เมื่อแก้รัฐธรรมนูญใหม่และไม่มีวุฒิสภาแบบแต่งตั้ง 250 คนมาโหวตเลือกนายกฯ ได้แล้ว คาดว่ารัฐบาลผสมในปี 2566 คงไม่สามารถสร้างเสถียรภาพทางการเมืองแบบเข้มแข็งได้นาน ก็จะต้องยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ในปี 2567 ดังนั้น เป็นไปได้ที่ปลายปี 2567 อาจจะได้ทั้งสภาผู้แทนฯ ใหม่ และวุฒิสภาใหม่

ตรงนี้จะเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อถ้ากลุ่มอำนาจเก่าไม่มีที่ยืนทางการเมืองเลยก็ยังต้องระวังการรัฐประหาร แต่ถ้ายังพอสู้กันอยู่ในระบบรัฐสภาและเป็นรัฐบาลผสม ก็ยังจะลากกันไปแบบที่มีคนพายเรือ แต่มีคนเอาเท้าราน้ำ และแย่งกันคัดท้ายเรืออาจจะไปไม่ตรงทาง ตรงเป้าหมายนัก

แต่ถ้าไม่มีการล้มกระดานการเมืองแบบประชาธิปไตยจะค่อยๆ พัฒนาต่อไปการแก้รัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะทำให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

2566 มีการปะทะกัน
ทางอุดมการณ์และนโยบายของพรรค

พลังฝ่ายก้าวหน้า และฝ่ายอนุรักษนิยม ที่จะสู้กันผ่านพรรคการเมืองตั้งแต่ปลายปี 2565 มีการปะทะกันทางอุดมการณ์และความคิด โดยเสนอผ่านนโยบายของแต่ละพรรค และเรื่องนี้เริ่มไปแล้ว โดยนโยบายของพรรคก้าวไกล เป็นตัวจุดชนวนให้เกิดการถกเถียงกันในสังคม

พรรคก้าวไกลได้เสนอสิ่งที่ก้าวหน้าที่สุดตามที่เคยประกาศไว้ตั้งแต่สมัยเป็นพรรคอนาคตใหม่ว่าจะปฏิรูปโครงสร้างอำนาจทุกอย่าง

กลุ่มนำของพรรคเคยประกาศไว้ตั้งแต่สมัยที่เป็นพรรคอนาคตใหม่แล้วว่าไม่ได้ตั้งพรรคขึ้นมาเพื่อเข้าเลือกตั้งเพื่อส่งใครไปเป็นสมาชิกสภา หรือส่งใครเป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ตั้งพรรคขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทย การเลือกตั้งจึงเป็นทางผ่านไม่ใช่เป้าหมายที่ตั้งไว้… เปิดเผย ตรงไปตรงมา จึงถูกยุบพรรค

แม้เมื่อเปลี่ยนมาเป็นพรรคก้าวไกลก็ยังมีความเห็นว่า การมีนโยบายที่จะแก้ปัญหาแต่ละจุด ไม่พอต่อการแก้ไขปัญหาของประเทศ

เพราะปัญหาของประเทศต้องแก้ที่โครงสร้าง ไม่ใช่นโยบายใดนโยบายหนึ่ง

เพราะปัญหาอยู่ในโครงสร้างอุปถัมภ์เกือบทั้งสิ้น

การปฏิรูปโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมจึงเป็นภารกิจอันดับแรก

แต่พวกกลุ่มอำนาจเก่า และพวกที่มีความคิดอนุรักษนิยมจะไม่ยอมรับการปฏิรูปแบบนั้น

ดังนั้น ในช่วงที่หาเสียงเลือกตั้งปี 2566 การต่อสู้กันระหว่างความคิดเก่ากับความคิดใหม่จะขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง

จากในอดีต ผู้ที่มีความคิดปฏิรูปและเสนอสิ่งใหม่ พอเสนอออกไปสักพักหนึ่งก็จะยอมเงียบเสียงลงเพราะอำนาจของฝ่ายอนุรักษมีมากกว่าและคุมสื่อไว้มากกว่า

แต่ในการต่อสู้ครั้งใหม่นี้คนรุ่นใหม่มีความรู้สึกที่ว่าการรัฐประหารและอำนาจของทหาร และอำนาจของกลุ่มอำนาจเก่า ได้สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติอย่างมากมาย จนเกิดปัญหาเศรษฐกิจความยากจนและปัญหาสังคม ทำให้อยากเปลี่ยนแปลง และยินดีต้อนรับกับสิ่งใหม่ๆ มากขึ้น อีกทั้งยังสามารถสื่อสาร และการตอบโต้ ถกเถียงได้ ระบบสื่อสารก็อยู่ในมือของแต่ละคน ไม่มีใครคุมใครได้

การเมืองเปลี่ยน
เพราะประชาชนจะบีบให้ทุกพรรค
แสดงนโยบายและจุดยืน

เมื่อมีการเลือกตั้งใหญ่ ก็คือการเปิดโอกาสให้มาถกเถียงและหาวิธีแก้ปัญหาประเทศกันอย่างเปิดเผยโดยมีพรรคการเมืองเป็นตัวแทน

ทีมวิเคราะห์เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงประเทศได้บางเรื่อง

หลายพรรคจะเริ่มจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับซึ่งก็คงจะเหมือนกัน แต่โอกาสทำได้จริงต่อเมื่อไม่มี ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน

พรรคก้าวไกลกล้าประกาศว่า จะปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปศาล ปฏิรูปองค์กรอิสระ ซึ่งเรื่องต่างๆ เหล่านี้ จะต้องผ่านสภา และเขียนลงในรัฐธรรมนูญ หรือเป็นกฎหมาย ซึ่งแต่ละพรรคอาจเห็นไม่เหมือนกัน

ดังนั้น แต่ละพรรคจะต้องเสนอเป็นนโยบายตั้งแต่การหาเสียงเลือกตั้ง เช่น

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดจากประชาชนในจังหวัดนั้นโดยตรง

การเกณฑ์ทหารจะเป็นเรื่องสำคัญมาก

การปฏิรูปกองทัพและตำรวจ

การแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ก็อาจจะมีบางพรรคตั้งป้อมคัดค้านอย่างเข้มแข็ง และหลายพรรคก็อาจจะไม่กล้าเข้าร่วม แม้จะเห็นด้วย

การเปิดทำธุรกิจเหล้า กัญชา การขายที่ดินให้คนต่างชาติ

จุดยืนในการร่วมรัฐบาล

ทุกพรรคจะถูกบีบให้แสดงจุดยืน และนโยบายการเมืองและเศรษฐกิจ ความละเอียดอ่อนทางนโยบายหลายเรื่องจะมีผลกระทบทางการเมือง ทั้งในระบบและนอกระบบอย่างมาก ขอไปวิเคราะห์ตอนหน้า