จะเกิดอะไรขึ้นกับเอเชีย เมื่อจีนได้ผู้นำชุดใหม่ | เทศมองไทย

เทศมองไทย

 

จะเกิดอะไรขึ้นกับเอเชีย

เมื่อจีนได้ผู้นำชุดใหม่

 

การดำรงตำแหน่งสูงสุดทั้งในพรรคและรัฐต่อเนื่องเป็นสมัยที่ 3 ของสี จิ้นผิง ในท่ามกลางบรรยากาศ “สงครามเย็น” ระลอกใหม่ ก่อให้เกิดคำถามตามมาโดยพลันว่า คณะผู้นำชุดใหม่ของจีนจะนำพาความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างมาสู่เอเชีย

ลูชิโอ บลังโก พิทโลที่ 3 นักวิชาการประจำมูลนิธิเอเชีย-แปซิฟิก พาธเวย์ ทูโปรเกรส (Asia-Pacific Pathways to Progress Foundation) เขียนบทความแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้เอาไว้ ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา ในหน้าหนังสือพิมพ์เซาธ์ไชนามอร์นิงโพสต์

ใจความสำคัญที่สุดของข้อเขียนชิ้นนี้คือการแสดงให้เห็นว่า การรวบอำนาจเบ็ดเสร็จให้อยู่ภายใต้ผู้นำอย่างสี จิ้นผิง และคณะ ไม่น่าจะก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพราะผู้เขียนคาดหวังไปในทางตรงกันข้ามว่า จะส่งผลให้จีนสามารถคงความต่อเนื่องในแง่ของความสัมพันธ์ และสามารถทำให้ “นโยบายที่เป็นลายเซ็น” ของสี จิ้นผิง อย่างโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง มีเสถียรภาพเพิ่มขึ้นจนเป็นกลุ่มก้อนเป็นรูปธรรมได้ชัดเจนกว่าก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำไป

โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ไม่เพียงไม่สะดุดชะงักเท่านั้น ยังมีโอกาสเพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย โดยเฉพาะภายในประเทศเพื่อนบ้านของจีนอย่างสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน

ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่า การลงทุนของจีนในภูมิภาคอาเซียนไม่ได้ลดลงแต่สามารถทรงอยู่ได้ในระดับสูงแม้ว่าในเวลานั้นจะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนักอยู่ก็ตามที

โควิด ดิสรัปชัน และสงครามกับบรรยากาศคุกรุ่นในทางการเมืองระหว่างประเทศ อาจทำให้การลงทุนของจีนในหลายภูมิภาคดิ่งลงจนติดลบ แต่ในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอาเซียนกลับเพิ่มสูงขึ้นด้วยซ้ำไป

พิทโลระบุว่า การครองอำนาจสมัยที่ 3 ของสี จิ้นผิง จะช่วยในแง่ของการสร้างภาพลักษณ์บนเวทีระหว่างประเทศว่า จีนยังคงมีเสถียรภาพมากกว่าประเทศอื่นๆ ที่ถูกจัดให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ไม่ก่อให้เกิดอาการ “สะวิง” ในเชิงนโยบาย ซึ่งแตกต่างอย่างเป็นตรงกันข้ามกับอีกหลายชาติที่มักตกอยู่ในภาวะผิดปกติทันทีเมื่อมีการกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจน หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำกะทันหัน

ในท่ามกลางความขัดแย้งในหลายๆ พื้นที่ และสงครามในยูเครน อาจทำให้ความมีเสถียรภาพอยู่ภายใต้การควบคุมของจีนกลายเป็น “เสน่ห์” มากยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

แต่พิทโลเชื่อว่า ความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้น่าจะเป็นเรื่องของการปรับปรุงหรือเพิ่มเงื่อนไขใหม่ๆ ให้กับเงินกู้ในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน แต่เหตุผลหลักไม่ได้เกิดจากการผงาดของสี จิ้นผิง แต่อย่างใด แต่สืบเนื่องจากความพยายามเพิ่มการคัดเลือกโครงการที่เหมาะสมให้มากขึ้น, การเพิ่มการตรวจสอบความโปร่งใสของเงินกู้ในโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาหนี้สินในประเทศจีนเองพร้อมกันไปด้วย

ผู้เขียนเชื่อว่าผู้นำชุดใหม่ของจีนไม่ต้องการให้ถูกมองว่าเป็นหุ้นส่วนที่ไม่ยึดมั่นหรือให้ความสนใจในพันธสัญญาที่ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ พร้อมที่จะเดินหนีหุ้นส่วนด้วยกันในทันทีที่เกิดปัญหายุ่งยากขึ้น โดยการปล่อยกู้เพิ่มเติมเพื่อยืดอายุอายุไม่ให้โครงการล้มหายตายจากไปเสียก่อน

 

พิทโลเชื่อว่า จีนน่าจะเพิ่มพูนบทบาทของตนเองในองค์กรระดับภูมิภาค หรือระดับนานาชาติ โดยเฉพาะองค์กรที่จีนช่วยหรือผลักดันให้มีการก่อตั้งขึ้น อย่างเช่น องค์การเพื่อความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (เอสซีโอ), อาเซียน และกลุ่มบริคส์ 5 ชาติ เป็นต้น

ผู้เขียนให้เหตุผลว่า ยิ่งความสัมพันธ์ของจีนกับสหรัฐอเมริกายิ่งบาดหมาง ตึงตัวเพิ่มมากขึ้นเท่าใด จีนก็จะหันมา “ลงทุน” กับการดำเนินการทางการทูตกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่จะทวีความสำคัญต่อจีนเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

ในขณะเดียวกัน จีนก็ต้องการใช้องค์กรระดับภูมิภาคเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความขัดแย้งกับชาติเพื่อนบ้านใกล้เคียง อย่างเช่นกรณีความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ความขัดแย้งดังกล่าวลากเอาชาติมหาอำนาจอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือป้องกันไม่ให้กลายเป็นเหมือนระเบิดเวลากำลังรอการระเบิดอยู่ได้

ในขณะที่กลุ่มประเทศอย่างอาเซียนก็มีความสำคัญยิ่งยวดต่อจีน โดยเฉพาะในยามที่เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจการเงินเช่นในเวลานี้ เห็นได้จากการที่จีนเคยเป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดของกลุ่มอาเซียนเมื่อปี 2009

ในขณะที่อาเซียนเอง ก็กลายเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของจีนไปเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมานี่เอง