85 ศพตากใบ-99 ศพกลางกรุง | วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก | วงค์ ตาวัน

 

85 ศพตากใบ-99 ศพกลางกรุง

 

เมื่อ 25 ตุลาคม 2547 เกิดเหตุรุนแรงที่ตากใบ นราธิวาส มีประชาชนในพื้นที่เสียชีวิตอย่างทุกข์ทรมานรวม 85 ศพ เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ ภายใต้ความผิดพลาดในนโยบายแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ของรัฐบาลครั้งแล้วครั้งเล่า จนทำให้สถานการณ์ไฟใต้ยืดเยื้อยาวนาน ยังไม่เห็นทางจบสิ้น

ในวันครบรอบ 18 ปี เหตุการณ์ตากใบ มีการจัดงานรำลึก พร้อมกับเปิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

ขณะที่ทักษิณเองได้ออกมากล่าวคำขอโทษต่อเหตุการณ์นี้ ซึ่งอันที่จริงมีการกล่าวขอโทษจากทักษิณ ถึงความผิดพลาดในปัญหาชายแดนใต้มาแล้วหลายครั้ง ด้วยการยอมรับโดยคำว่า ควรใช้ถุงมือกำมะหยี่ แต่กลับไปใช้กำปั้นเหล็ก

จนกระทั่งในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้พยายามจะแก้ไขความผิดพลาดในยุคพี่ชายอย่างเข้มข้นจริงจัง ด้วยการเปิดนโยบายเจรจาสันติภาพอย่างเป็นเรื่องเป็นราว จนเกือบจะไปถึงเป้าหมายปลายทางแห่งความสงบแล้ว แต่เกิดรัฐประหารล้มยิ่งลักษณ์ ในปี 2557 นั่นเองแผนเจรจาสันติภาพหยุดไฟใต้จึงสะดุด

ถ้าย้อนดูความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เกิดกลุ่มก่อความไม่สงบหลายกลุ่ม หลายขบวนการ ตั้งแต่ช่วงปี 2500 แต่ก็เงียบหายไปเป็นพักๆ มีทั้งขบวนการพูโล ขบวนการบีอาร์เอ็น และอีกหลายๆ กลุ่ม

สถานการณ์ไฟใต้ เนื้อแท้คือ รัฐบาลใช้อำนาจควบคุมและปกครองด้วยความหวาดระแวงและไม่ยอมรับรายละเอียดทางเชื้อชาติศาสนาของคนในพื้นที่ ละเลยการทำความเข้าใจในประวัติศาสตร์ยุคอดีต ที่เคยรุ่งเรืองเป็นรัฐปัตตานีมาก่อน แถมพยายามกดเอาไว้ด้วยอำนาจจากส่วนกลาง

ความผิดพลาดของรัฐบาลมีมายาวนานหลายกรณี เช่น กรณีหะยีสุหลงŽผู้นำศาสนา ที่เคยเสนอข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ให้จัดการปกครองในพื้นที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ทำให้หะยีสุหลงถูกจับกุม ฐานเป็นกบฏ คิดแบ่งแยกดินแดน เมื่อปี 2490

หะยีสุหลงถูกคุมขังอยู่หลายปี สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนในพื้นที่ จนกระทั่งในปี 2497 หลังพ้นโทษได้รับการปล่อยตัวกลับมา ยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐตามมาอุ้มฆ่า

น่าเชื่อว่านี่คือหนึ่งในชนวนที่นำมาสู่การต่อสู้ตอบโต้ด้วยการก่อความไม่สงบจากคนในพื้นที่

จากนั้นก็เริ่มเกิดขบวนการต่อสู้หลายขบวนการ ใช้ความรุนแรงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ยืดเยื้อมาหลายสิบปี

การแก้ปัญหาความรุนแรงภาคใต้ของรัฐบาลหลายต่อหลายรัฐบาล เน้นการปราบปราม ส่งสันติบาลไปสืบจับ ขณะที่กลุ่มก่อการร้ายอาจจะเงียบหายไปเป็นพักๆ แต่ก็ไม่เคยหมดสิ้นไป เพราะไม่เคยยอมรับว่าความขัดแย้งในเรื่องความเชื่อความคิด ไม่สามารถแก้ได้ด้วยการปราบ

จนกระทั่งในยุครัฐบาลทักษิณ เกิดการปราบปรามอย่างรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ในช่วงปี 2546 หวังกวาดล้างให้หมดสิ้น แต่กลับกลายเป็นการจุดชนวนให้ไฟใต้ลุกโชนอีกครั้ง

ไฟใต้รอบใหม่ปะทุในปี 2547 ยุคทักษิณ ซึ่งเคยกล่าวยอมรับว่า ควรใช้ถุงมือกำมะหยี่ แต่กลับไปใช้กำปั้นเหล็ก หลังจากนั้นไฟใต้ก็ไม่สงบยาวนานเกือบ 20 ปีแล้ว

ระหว่างนั้นได้เกิดเหตุรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำเล่า แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน

รวมทั้งกรณีตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เริ่มต้นจากการชุมนุมของประชาชนนับพันคน ที่หน้า สภ.ตากใบ นราธิวาส เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านจำนวน 6 คนที่ถูกจับกุมตัว ฐานสงสัยว่าพัวพันกับกรณีปืนหาย

สถานการณ์ชุมนุมเริ่มบานปลาย จากนั้นแม่ทัพภาคที่ 4 สั่งการให้สลายการชุมนุม จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันที 7 ราย พร้อมกับถูกจับกุมอีกกว่าพันคน

ผู้ถูกจับกุมโดนมัดมือไพล่หลัง แล้วโยนร่างขึ้นรถบรรทุกทหาร เพื่อจะเอาไปควบคุมที่ค่ายทหาร ระหว่างการขนย้ายนั้น ผู้ถูกจับกุมที่ถูกมัดแล้วนอนทับซ้อนกันไปหลายชั้น ไม่สามารถดิ้นรนได้ จนต้องตายอย่างทุกข์ทรมาน ขาดอากาศหายใจอีกถึง 78 ราย

รัฐบาลทักษิณได้สอบสวนเอาผิดเจ้าหน้าที่ มีการสั่งย้ายแม่ทัพภาคที่ 4 และนายทหารผู้ใหญ่จำนวนหนึ่ง

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การจับคนมัดแล้วโยนขึ้นรถไปนอนทับๆ กัน เป็นการกระทำที่เหมือนไม่มองว่าเป็นคน ทำให้มีการเสียชีวิตอย่างทารุณ

เหตุการณ์ตากใบ รวมถึงอีกหลายๆ เหตุการณ์ในยุคทักษิณ ถือเป็นความผิดพลาดร้ายแรงที่ติดตัวทักษิณไปตลอด

ต่อมาในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้มีความพยายามแก้ไขความผิดพลาด โดยพลิกโฉมนโยบายดับไฟใต้ ด้วยการเปิดเจรจาสันติภาพอย่างเต็มรูปแบบและเป็นทางการ

สอดคล้องกับเสียงเรียกร้องของนักประชาธิปไตยที่เชื่อว่า การหยุดสงครามที่เกี่ยวข้องกับความคิดอุดมการณ์ ต้องใช้การเจรจาเท่านั้น การปราบปรามแก้ปัญหาไม่ได้

ระหว่างนั้นทักษิณได้ออกมายอมรับว่า ตนเองดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดในเรื่องภาคใต้จริงๆ พร้อมกับกล่าวคำขอโทษ

เช่นเดียวกับการเปิดเจรจาสันติภาพ ก็รุดหน้าไปได้ดี จนเหมือนจะเห็นแสงสว่าง เห็นหนทางดับไฟใต้ได้จริง เพราะคณะเจรจายอมรับหลักการที่จะต้องจัดการปกครองในพื้นที่ แบบยอมรับสถานะของคนส่วนใหญ่ในด้านศาสนาวัฒนธรรม

ขณะที่ฝ่ายกองทัพเองและเครือข่ายอำนาจอนุรักษนิยม ดูจะไม่พึงพอใจวิธีการเจรจาสันตินี้

ดังนั้น เมื่อเกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ล้มยิ่งลักษณ์ การเจรจาก็ลดระดับลงไป เพราะกลุ่มอำนาจฝ่ายขวาจัดของสังคมไทย ไม่เห็นด้วยที่จะยอมเปิดกว้างเปิดให้จัดการปกครองแบบสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่

ในวาระครบ 18 ปี ตากใบ ทักษิณก็ได้ออกมากล่าวคำขอโทษอีกครั้ง แต่ได้ตั้งประเด็นถึงการสลายการชุมนุมและการจับกุมประชาชนจนทำให้เกิดโศกนาฏกรรมว่า เป็นการสั่งการของกองทัพเอง จนนำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้อย่างเข้มข้นอีกครั้ง

คนของพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาตอกย้ำความผิดพลาดยุคทักษิณ พร้อมกับชี้ว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า ที่พรรคเพื่อไทยหวังจะมี ส.ส.ในภาคใต้ เป็นเรื่องยากมากๆ เพราะประชาชนไม่เคยลืมความรุนแรงของนโยบายยุคทักษิณ

แน่นอนว่า 85 ศพตากใบ เป็นความผิดพลาดในยุครัฐบาลทักษิณ ต้องมีการตอกย้ำเพื่อเตือนรัฐบาลทุกรัฐบาล อย่าคิดแก้ปัญหาด้วยอำนาจด้านเดียว

แต่อย่างน้อยทักษิณก็ยอมรับ ยอมขอโทษ และพยายามแก้ตัว ด้วยการพลิกนโยบายใช้การเจรจาสันติภาพในยุคยิ่งลักษณ์

พร้อมๆ กันก็เกิดคำถามถึงความรุนแรงในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่สลายม็อบเสื้อแดงใจกลางเมืองกรุง จนมีคนตายถึง 99 ศพ

ยังเป็นปมปัญหาที่ยากจะลบเลือน ยังถูกปกปิด ไม่มีการพิสูจน์ความจริง ไม่ยอมให้คดีพิสูจน์ในชั้นศาล

รัฐบาลอ้างว่า คนเสื้อแดงมีผู้ก่อการร้ายแอบแฝง มีชายชุดดำใช้ความรุนแรง แต่เมื่อคดีจะขึ้นสู่ศาล เพื่อสืบพยานหลักฐานพิสูจน์ความจริง ฝ่ายรัฐบาลยุคนั้นกลับต่อสู้ด้วยข้อกฎหมาย จนทำให้คดีตกไปจากชั้นศาล

ทั้งยังเห็นได้ว่า การรัฐประหารล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่เริ่มต้นจากการชุมนุมของม็อบนกหวีด นำโดยแกนนำของพรรคประชาธิปัตย์ นำไปสู่การรัฐประหารนั้น

ทั้งผู้นำม็อบ ทั้งผู้นำกองทัพที่ก่อรัฐประหาร เป็นชุดเดียวกันในเหตุการณ์ 99 ศพนั่นเอง

แล้วหลังจากล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ทำให้คดี 99 ศพหยุดนิ่งไปในทันที

ไม่ว่า 85 ศพตากใบ ไม่ว่า 99 ศพกลางเมืองกรุง คือความรุนแรงที่เกิดจากรัฐ ซึ่งยังต้องค้นหาความจริงและความเป็นธรรมต่อคนตายต่อไป!!