ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 ตุลาคม - 3 พฤศจิกายน 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | ล้านนาคำเมือง |
เผยแพร่ |
ตำบ่าตืนฯ อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ต๋ำบ่าตื๋น”ต๋ำ คือ ตำ
บ่าตื๋น แปลว่า กระท้อน
ต๋ำบ่าตื๋น คือ ตำกระท้อน
บ่าตื๋นเป็นผลไม้ บางท้องถิ่นเรียก บ่าต้อง ออกผลตามฤดูกาลปีละครั้ง คนล้านนานิยมเอามาประกอบอาหาร เช่น ใส่แกงฮังเล เอามายำ ตำ และดอง
กระท้อนเนื้อจะฝาดรสชาติไม่นุ่มนวล ก่อนนำมากินจึงต้องทุบเสียก่อน ก่อนกินคนล้านนาถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมาว่า “บ่าตุ๊บจิ๊นจะฝาดบ่นวน”
กลางฤดูฝน อากาศเปลี่ยนแปลงไปมา บางช่วงก็ร้อนอ้าว บางทีก็เย็นชื้น บางวันมีอากาศทั้งสองแบบ ร่างกายของคนเราปรับตัวไม่ทัน อากาศทำให้ป่วยง่ายในฤดูฝน
สมัยก่อนคนล้านนาอาศัยกินอาหารตามฤดูกาลแก้อาการป่วยไข้ กระท้อนที่มีรสเปรี้ยว หวาน ฝาดปนกันมีสารต้านอนุมูลอิสระเพิ่มภูมิต้านทาน ทำให้ป้องกันหวัดและไข้หวัดได้ดี รวมทั้งทำให้ชุ่มคอ แก้เสมหะ ไอ ได้ด้วย
สมัยนี้อะไรๆ ก็กินยา ทำให้ลืมภูมิปัญญาเรื่องอาหารการกินแบบโบราณไป ยิ่งตอนนี้การทำมาหากินเริ่มฝืดเคือง เงินทองต้องใช้จำกัด อาหารการกิน เนื้อสัตว์ หมู เป็ด ไก่ ปลา ไข่ ล้วนมีราคาแพง ลองย้อนกลับมามองอาหารแบบโบราณบ้านนาจะดีกว่า
อาหารตามฤดูกาลจำพวกพืชผัก บางครั้งหาได้จากในบ้าน ไม่ต้องซื้อหา พืชผักผลไม้ตามฤดูกาลก็มีราคาถูกอยู่ในวิสัยที่จ่ายได้
เมนูแนะนำวันนี้คือ ตำกระท้อน ที่อร่อยแบบไม่แพง
ซื้อกระท้อนมาก่อน ตอนนี้ยังพอมีขาย
เครื่องปรุงน้ำพริกมี พริกขี้หนูแห้ง กะปิ ปลาร้าสับ กระเทียมสด น้ำปลา น้ำตาลปี๊บ
เอาพริกขี้หนูแห้งไปย่างไฟ หรือถ้าอยากใช้พริกขี้หนูสดก็ได้
เครื่องปรุงที่เหลือเอาห่อใบตองแล้วนำไปปิ้งไฟให้สุก
วิธีทำ
โขลกกะปิ ปลาร้า กระเทียม พริก จนละเอียด ใส่น้ำตาลปี๊บเพิ่มรสชาติ แล้วตักออกเตรียมไว้
นำกระท้อนมาทุบจนน่วม ปอกเปลือก สับลงครก โขลกให้เข้ากัน ชิมดูให้มีรสเผ็ด เค็ม หวาน หอมน้ำปลาร้า เรียกให้น้ำลายไหล จึงถือเป็นเมนูเจริญอาหารในหน้าฝน ทำให้กินข้าวได้
เสร็จแล้วตักใส่ถ้วย โรยปลาเล็กปลาน้อยทอดกรอบ ถั่วลิสงคั่วใหม่ๆ กินกับข้าวสวยร้อนๆ หรือข้าวเหนียวก็ได้ กินแกล้มกับปลาปิ้ง แคบหมู ใบชะพลู
อาการตะครั่นตะครอจะหายไป ทำให้สบายเนื้อสบายตัวขึ้น
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022