‘ผักตบชวา’ จากดอกไม้แสนสวย สู่ ผักซอมบี้ที่ฆ่าไม่ตาย กระจายไปหลายมุมโลก

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ก่อนหน้าที่ สยาม จะเปลี่ยนชื่อมาเป็นประเทศไทย ปัญหาเรื่องผักตบชวา เคยเป็นวาระแห่งชาติถึงขนาดที่ต้องออก “พระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวา พ.ศ.2456” ขึ้นมาบังคับใช้ในสมัยรัชกาลที่ 6 กันเลยทีเดียว

ใจความสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็คือ ให้ทุกคนช่วยกันคนละมือ คนละไม้ เก็บผักตบชวาที่อยู่ในอาณาบริเวณพื้นที่ของตนเองไปทำลายทิ้งเสียให้หมด คล้ายๆ กับที่ท่านผู้นำถามว่าทำไมไม่ช่วยกันในปัจจุบันนี้นั่นแหละ

โดยหากไม่กำจัดทิ้งคนบ้านนั้นจะต้องความผิดลหุโทษ ปรับเงินไม่เกิน 10 บาทหรือจำคุกไม่เกิน 7 วัน ไม่ก็ทั้งจำทั้งปรับ

ยิ่งไปกว่านั้นคือถ้าใครปลูก เลี้ยง ปล่อยให้ ผักตบชวา งอกงามในพื้นที่ของตนเอง หรือเอาผักตบชวาไปทิ้งในห้วยหนองคลองบึงสาธารณะ หรือที่อื่น จะมีโทษปรับไม่เกิน 100 บาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่รัฐในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็ไม่ได้ใจร้ายถึงขนาดที่จะไม่เข้าใจหัวอกของคนที่อยู่ๆ ผักตบชวาก็ลอยเป็นแพมาอยู่หน้าบ้านเลย (อย่างน้อยท่านก็ไม่ได้ขู่ว่า ถ้าพบผักตบอยู่ในเขตบ้านใครจะปรับต้นละ 100 บาท เหมือนท่านผู้นำในบางยุคสมัย)

เพราะหลายครั้งผักเจ้ากรรมนี่ก็มีปริมาณเยอะมากเสียจนลำพังกำลังคนในแต่ละครอบครัวก็อาจจะเก็บกันได้ไม่หวาดไม่ไหว

ในพระราชบัญญัติฉบับนี้จึงระบุไว้ด้วยว่า ถ้าเจ้าผักนี่มันเยอะมากเกินกำลังคนในบ้านจริงๆ ก็ให้เจ้าพนักงานรัฐในท้องที่ ระดมกำลังราษฎรมาลงแขกช่วยกันกำจัดเจ้าผักตัวร้ายนี้ไปเสียให้สิ้น

ที่สำคัญคือพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวระบุเอาไว้ชัดเจนเลยด้วยซ้ำไปว่า การกำจัดผักตบชวา นี้ไม่ใช่แค่เอาไปทิ้ง หรือให้สัตว์เลี้ยงกินก็ได้ แต่เอาไปผึ่งบนบกเสียให้แห้ง แล้วค่อยเผาไฟทิ้งด้วยเท่านั้น

เรียกได้ว่า ต้องการกำจัดแบบถอนรากถอนโคนกันเลยทีเดียว

กฎหมายฉบับนี้จึงสะท้อนให้เราเห็นได้ว่า ที่จริงแล้ว แม้กระทั่งรัฐในโลกเมื่อร้อยกว่าปีเศษๆ ก็ยังตระหนักได้เลยว่า ปัญหาเรื่องผักตบชวาไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่แค่มันลอยเท้งเต้งเข้าไปในเขตบ้านใครแล้วช่วยกันคนละไม้ คนละมือ ก็กำจัดมันได้หมด

ชื่อก็บอกอยู่แล้วนะครับว่า “ผักตบชวา” ผักชนิดจึงนำเข้ามาจากเกาะชวา โดยพระวิมาดาเธอฯ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา (พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์) ซึ่งได้ตามเสด็จรัชกาลที่ 5 ไปยังเกาะชวาเมื่อ พ.ศ.2444 แล้วทรงนำกลับเข้ามายังสยาม เนื่องเพราะทรงโปรดดอกผักตบชวามาก (ส่วนเรื่องที่นินทากันว่า สมเด็จพัชรินทรา บรมราชินีนาถ เป็นทรงผู้นำเข้ามานั้น ไม่มีหลักฐานยืนยัน และน่าจะเป็นเรื่องเข้าใจผิดเสียมากกว่า)

และก็คงไม่ใช่มีเฉพาะ พระวิมาดาเธอฯ กรมพระสุทธาสินีนาฏ เท่านั้นหรอกนะครับที่ทรงเห็นว่าดอกผักตบชวานั้นงามนัก เพราะอันที่จริงแล้ว ผักตบชวาไม่ใช่พืชพื้นเมืองของชวา เสียหน่อย แต่เป็นพืชที่มีถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมในทวีปอเมริกาใต้ต่างหาก

ไม่มีบันทึกระบุไว้เลยว่า เมื่อแรกที่มีคนนำเจ้าผักตบชวาออกจากทวีปอันห่างไกลแห่งนั้น เป็นเพราะอะไร? แต่หากจะถูกนำออกมาเพราะมันมีดอกที่งดงาม เหมือนอย่างที่พระวิมาดาเธอฯ กรมพระสุทธาสินีนาฏ นำเข้ามาในสยามนั้นก็ไม่แปลก

เพราะไม่ว่าใครก็ตามที่นำเจ้าผักตบชวาออกมานั้น ก็คงไม่รู้หรอกว่า เจ้าผักตัวร้ายนี่จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ ทั้งกีดขวางทางคมนาคม เบียดบังพื้นที่ทำการเกษตร อุดตันไม่ระบาย แย่งออกซิเจนสัตว์น้ำ และอีกสารพัด แถมกำจัดเท่าไหร่ก็ไม่หมดไม่สิ้น เพราะพวกมันสามารถแพร่พันธุ์ได้ไวอย่างไม่น่าเชื่ออีกต่างหาก

แถมในภูมิภาคอุษาคเนย์ของเราก็ไม่ได้มีเฉพาะแค่ไทย กับชวา เท่านั้น ที่เมื่อแรกหลงรูปแล้วจึงเกิดปัญหากับเจ้าผักนี่ในภายหลัง

เพราะปัญหาเดียวกันก็เกิดในดินแดนเพื่อนบ้านของเราอย่าง ตนเลสาบเขมร ในประเทศกัมพูชาด้วยเช่นกัน


ในสถานที่ซึ่งไกลออกไปจากละแวกบ้านเราอย่างประเทศรวันดา ในทวีปแฟริกา ที่เจ้าอาณานิคมคือ ประเทศเบลเยียม ก็มี ซึ่งลามปามออกไปถึงทะเลสาบวิกตอเรีย ที่ครอบคลุมพื้นที่ประเทศแทนซาเนีย เคนยา และอูกันดา ทั้งที่เพิ่งจะมีคนเคยเห็นเจ้าผักตบชวาในทะเลสาบใหญ่แห่งนี้เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2531 เท่านั้นเอง

แต่ปัจจุบันเรื่องการควบคุมปริมาณผักตบชวา กลายเป็นปัญหาใหญ่ของทะเลสาบแห่งนี้ไปซะแล้ว ไม่ต่างอะไรกับปัญหาเดียวกันในประเทศเอธิโอเปีย ที่มีรายงานคนพบเห็นเจ้าผักชนิดนี้ลอยเท้งเต้งอยู่ในน้ำครั้งแรก เมื่อราว พ.ศ.2508 เท่านั้น

แต่การแพร่กระจายแถมยังตายยากไม่ต่างจากซอมบี้ของผักตบชวานั้น อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นเพราะใครต่อใครเผลอไปหลงรูปของมันแต่เพียงอย่างเดียว เพราะในพระราชบัญญัติสำหรับกำจัดผักตบชวา พ.ศ.2456 ที่ผมกล่าวถึงตั้งแต่ต้นนั้น มีสาเหตุการแพร่กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ของประเทศอยู่อีก เช่น ถูกนำไปปลูกเป็นอาหารเลี้ยงปลา ด้วยเห็นว่าเป็นพืชที่งอกเร็วทันใจ ปรากฏว่าเจ้าผักพวกนี้งอกไวกว่าปลาที่จะกินมันเสียอีก

และก็ในพระราชบัญญัติเดียวกันนี้เองที่ระบุไว้ด้วยว่า บางคนในช่วงสมัยนั้นก็เอาเจ้าผักตบชวานี่แหละ บังแดดไว้บนกุ้งสด ปลาสด ในตะกร้า แล้วเอาบรรทุกขึ้นในรถไฟ เรือไฟ ออกเร่ขายไปต่างเมือง ผลก็คือกุ้งและปลาก็ยังสดกว่าไม่มีอะไรบัง แถมเจ้าผักตบชวายังได้ออกท่องโลกกว้าง แพร่พันธุ์ผ่านลำรางของเส้นทางรถไฟอีกด้วย

เรียกได้ว่ามีสารพัดวิธีที่จะส่งทอดเจ้าผักตบชวานี้ไปยังภาคส่วนต่างๆ ของสยามเลยทีเดียว

ปัญหาเดียวกันนี้ก็เกิดในประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา แถมกลายเป็นเรื่องใหญ่ระดับวาระแห่งชาติทีเดียวด้วยนะครับ เมื่อผักตบชวาถูกนำเข้ามาในสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2427 ในฐานะของขวัญจากชาวญี่ปุ่น เนื่องในงานแฟร์ที่ชื่อ World Cotton Centennial (ก่อนหน้าที่ผักเจ้าปัญหานี่เจ้าเข้ามาในสยาม 17 ปีเท่านั้น)

แน่นอนว่า พวกพี่ยุ่นเหล่านี้เขาก็คงนำ “ผักตบชวา” ไปมอบให้ในฐานะ “ของขวัญ” คล้ายๆ ช่อดอกไม้หน้าตาน่ารักงดงาม ที่คงเป็นของแปลกและหายากในสมัยนั้น ด้วยความหวังดี เสียแต่ว่าดอกไม้ในกระเช้าของขวัญอันนั้น มันยังมีชีวิตอยู่แถมยังตายยาก และแพร่พันธุ์ไวยิ่งกว่าซอมบี้ โดยที่ทั้งผู้ให้ และผู้รับต่างก็นึกฝันไปไม่ถึงพอๆ กันนั่นแหละ

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องแน่นอนอีกเหมือนกันว่า หลังจากนั้นแม่น้ำหลุยเซียน่าก็ประสบปัญหา “ผักตบชวา” ลอยเต็มแม่น้ำจนกีดขวางเส้นทางสัญจร และทำให้ปริมาณสัตว์น้ำในแม่น้ำดังกล่าวลดฮวบฮาบลงไป ไม่ต่างจากปัญหาในประเทศไทยเลย

ปัญหาดังกล่าวจึงนำมาซึ่งความพยายามในการจัดการกับเจ้าผักตบชวานี่ ไม่ต่างกับในประเทศกรุงเทพฯ ของเราเลยสักนิด ครั้งหนึ่งกระทรวงกลาโหมของสหรัฐ ถึงกับเอาน้ำมันไปราดรดลงบนดอกของเจ้าผักตบชวา ที่ลอยคออยู่ในแม่น้ำหลุยเซียน่าทั้งสาย

ส่วนผลน่ะหรือครับ? ก็บอกแล้วว่า เจ้าผักพวกนี้ตายยากยิ่งกว่าซอมบี้เสียอีก น้ำมันแค่นี้ทำอะไรพวกมันไม่ได้เลย

แต่กลวิธีอันโด่งดังที่สุดในการพยายามกำจัดเจ้าผักพวกนี้ออกไปจากแม่น้ำสายนั้นก็คือ การเสนอให้อิมพอร์ตเอา “ฮิปโปโปเตมัส” จากแอฟริกาใต้ มาปล่อยลงในแหล่งน้ำ เพื่อเขมือบเอาเจ้าผักตบชวาให้มันหมดๆ ไปเสียทีนี่แหละ

เรื่องของเรื่องมันเกิดจากการที่ช่วงปี พ.ศ.2453 ซึ่งแม่น้ำหลุยเซียน่ามีผักตบชวา ลอยเป็นผักสวะอยู่เต็มลำน้ำมานานปีแล้ว ในสหรัฐอเมริกาเกิดวิกฤตการณ์ขาดแคลนเนื้อสัตว์สำหรับใช้เป็นอาหาร ท่านสมาชิกสภาคองเกรสแห่งรัฐหลุยเซียน่า ณ ขณะจิตนั้นอย่าง โรเบิร์ต บรูส์ซาร์ด (Robert Broussard) จึงได้เสนอนำเข้าเจ้าฮิปโปฯ เหล่านี้มากำจัดผักตบชวา พร้อมๆ กับที่นำเนื้อของเจ้ายักษ์ใหญ่นี่มาเป็นอาหารสำหรับชาวอเมริกันชนมันเสียเลย

แน่นอนว่าไอเดียดังกล่าวของบรูส์ซาร์ดต้องถูกต่อต้านเป็นอย่างมากจากคณะกรรมการด้านการเกษตรของรัฐสภาสหรัฐ (Agricultural Committee of the U.S. House of Representatives)

เนื่องจากสภาพแวดล้อมของหลุยเซียน่ามันจะไปเหมือนกับแอฟริกาไปได้อย่างไร แถมยังไม่มีอะไรเป็นหลักประกันได้ด้วยว่า เจ้าฮิปโปฯ พวกนี้จะมาสร้างปัญหาเกี่ยวกับระบบนิเวศวิทยาปัญหาใหม่ เช่นเดียวกับกรณีผักตบชวาด้วยหรือเปล่า? ต่อให้พวกมันจะถูกจำกัดพื้นที่อยู่เฉพาะในฟาร์มก็เถอะ

แต่คำอ้างของฝ่ายบรูส์ซาร์ดอย่างสัตว์ที่ถูกนำมาใช้เป็นอาหารในสหรัฐอเริกาทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น ไก่ หมู วัว แกะ ฯลฯ ก็ล้วนแต่เป็นชาวยูโรเปียนที่หอบกระเตงข้ามทวีปมาด้วยเหมือนกัน แถมบรูส์ซาร์ดยังไปเอาคน ลูกเสือคนหนึ่งที่เกิดและเติบโตในแอฟริกามาให้การด้วยว่า ฮิปโปฯ นั้นสามารถใช้เป็นอาหารได้โดยที่ไม่มีผลกระทบและโรคภัยตามมา (ภายหลังลูกเสือนายนี้ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นสายลับให้กับประเทศเยอรมนี)

คำให้การและเหตุผลต่างๆ ของฝ่ายบรูส์ซาร์ดก็เล่นเอาสภาคองเกรสเคลิ้มไปเหมือนกัน

แต่สุดท้ายผลก็คือแพ้โหวตไปเพียงหนึ่งเสียง เจ้าฮิปโปฯ แห่งแอฟริกา ก็เลยอดย้ายนิวาสสถานมาสวาปามผักตบชวาชิลๆ กันในแม่น้ำหลุยเซียน่าไปด้วยประการฉะนี้

อันที่จริงแล้ว บรูส์ซาร์ดไม่ได้เสนอให้นำฮิปโปฯ เข้ามาเป็นอาหารสำหรับอเมริกันชนอย่างเดียวเท่านั้นนะครับ

แต่ยังเสนอให้นำเข้ากวางแอนทีโลป นกกระจอกเทศ รวมถึงสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ อีกด้วย แต่มีเฉพาะฮิปโปฯ ที่ถูกนำมาเกี่ยวโยงเข้ากับผักตบชวาซึ่งเป็นปัญหาหนักของแม่น้ำหลุยเซียน่าในยุคนั้น

ซึ่งเมื่อบรูส์ซาร์ดขีดเส้นใต้ตัวหนาๆ ไว้ที่เจ้าฮิปโปฯ ว่าสามารถแก้ปัญหาผักตบชวาได้แล้ว ผู้คนจึงให้ความสำคัญกับเจ้ายักษ์ใหญ่ที่ชมชอบแช่อยู่ในน้ำนี้เป็นพิเศษ โปรเจ็กต์นี้จึงรู้จักกันในชื่อ “American Hippo Bill”

ปัจจุบันผักตบชวาก็ยังมีอยู่ที่อเมริกา และกลายเป็นพันธุ์ไม้น้ำที่ต้องเฝ้าระวังการขยายพันธุ์อย่างเข้มงวด “ปัญหาผักตบชวา” จึงไม่ได้เป็นแค่ “ปัญหาเล็กๆ” ที่เจออยู่หน้าคลองบ้านใครก็เก็บเอาไปทิ้งแล้วจะแก้ให้หาย ทำให้มันหมดไปจากแม่น้ำลำคลองได้ง่ายๆ แต่ต้องมีการวางแผนการจัดการที่ดี และเป็นระบบต่างหาก