มุกดา สุวรรณชาติ : หนี้ครัวเรือนจะท่วมท้น… บัตรคนจน…บัตรคน(เคย)รวย ช่วยไม่ได้ (1)

มุกดา สุวรรณชาติ

หนี้ครัวเรือน 11.47 ล้านล้านบาท

กลับมาดูปัญหาชาวบ้าน พบว่าน้ำท่วม ยังเบากว่าหนี้ท่วม

น้ำท่วมยังลดลงตามฤดูกาล แต่หนี้ไม่ลดตามฤดู แถมเพิ่มขึ้นตามเวลา ตามดอกเบี้ย…

ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว ในปี 2553 เป็น 60% ต่อ GDP ในปี 2558 เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 80% และปี 2560 ก็จะอยู่ประมาณนี้

หนี้ครัวเรือน คือหนี้ของบุคคลที่ได้จากการกู้ยืมเงินจากการซื้อบ้าน รถยนต์ การใช้จ่ายอุปโภคบริโภค จากธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ จากองค์กรธุรกิจสินเชื่อบุคคลที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือที่เรียกกันว่า Non Bank จากสหกรณ์ออมทรัพย์ เมื่อนำหนี้ครัวเรือนไปเปรียบเทียบกับ GDP หรือรายได้ของประชาชาติ ถ้าต่ำกว่า 50% ก็ถือว่าต่ำ ถ้าสูงกว่า 80% ก็เป็นสัญญาณอันตรายที่ต้องระมัดระวัง

แต่ถ้าหากนับรวมหนี้นอกระบบเชื่อว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยน่าจะถึงระดับ 100% ซึ่งถือเป็นระดับอันตรายของหนี้ครัวเรือน และจะทำให้เกิดการล้มละลายในภาคประชาชนกลายเป็นปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคต

อาจส่งผลเครดิตเรตติ้งของธนาคาร ทำให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ เศรษฐกิจซบเซาหดตัวเป็นเวลานาน

ระดับการบริโภคภาคครัวเรือนลดลงมากและยาวนานมากกว่าปกติ สถาบันการเงินจะมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากยิ่งขึ้น

ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือน อยู่ที่ 11.47 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2559 (เติบโต 3.4% เทียบกับปี 2558) บ่งชี้ว่า ภาระหนี้ครัวเรือนสะสมยังคงอยู่ในระดับสูงและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งก็ยังคงเป็นโจทย์ระยะกลาง-ยาวของเศรษฐกิจไทยต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพราะภาระหนี้ดังกล่าวอาจสร้างแรงกดดันต่อการบริโภคและกำลังซื้อของภาคครัวเรือน และส่งผลเชื่อมโยงไปถึงรายได้ของผู้ประกอบการที่พึ่งพิงกำลังซื้อในประเทศ

การที่มีผู้มาขอรับบัตรคนจน 11.76 ล้านใบ จึงเป็นเรื่องปกติ และจะต้องเพิ่มขึ้นในอนาคต

 

จากผลสำรวจ 100 คน เป็นหนี้ 91 คน

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงข่าวถึงผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2560 สำรวจทั่วประเทศ วันที่ 26 กันยายน-10 ตุลาคม 2560 ว่า ครั้งนี้มีกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจซ้ำเดิม 30% พบว่ามีสัดส่วนคนไม่มีหนี้ 8.9% ซึ่งมีสัดส่วนต่ำสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ที่เริ่มทำสำรวจ และมีคนเป็นหนี้ 91.1%

ยอดหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 299,266 บาท เพิ่มขึ้น 0.4% จากปีก่อนซึ่งมียอดหนี้ 298,005 บาท เพิ่มขึ้น 20.2% ปีนี้ในแง่ยอดหนี้สูงสุดรอบ 10 ปี แต่การขยายตัวต่ำสุดรอบ 10 ปี แบ่งสัดส่วนยอดหนี้เป็นในระบบ 74.60% และนอกระบบ 26.40%

สาเหตุที่ยอดหนี้โดยรวมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะอันดับแรกมีการซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น รองลงมารายได้ลดลง ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ค่าเล่าเรียนของบุตรหลาน การผ่อนสินค้ามากเกินไป มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมาก ขาดรายได้เนื่องจากถูกถอดออกจากงาน ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้จากภัยธรรมชาติ และมีหนี้จากการพนันบอลเล็กน้อย

วัตถุประสงค์ที่ก่อหนี้ อันดับแรกมี 23.3% ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน, รองลงมา 21.9% ซื้อยานพาหนะ, 11.9% ชำระหนี้เก่า, 10.6% ลงทุนประกอบอาชีพ, 10.6% ซื้อที่อยู่อาศัย และ 8.8% เพื่อการศึกษา จะเห็นว่ายังกู้ยืมเงินไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันตามรายได้ที่ไม่พอรายจ่าย แต่มีการนำไปใช้หนี้เก่าด้วยเป็นสัญญาณที่ดีที่หนี้ในอนาคตจะลดลง

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนหนี้เพื่อการลงทุนประกอบอาชีพยังอยู่ระดับต่ำ ปกติควรจะอยู่ระดับ 20-40% สะท้อนเศรษฐกิจยังฟื้นไม่เต็มที่

 

หนี้ 91% เป็นจริงหรือ?…มาจากไหน?

เรามาดูกันว่ามีคนเป็นหนี้ 91% จริงหรือไม่เป็นจริง หมายความว่าคนที่เดินสวนกับเรา 99 คนมีคนเป็นหนี้ 90 คนรวมทั้งตัวเราด้วยเป็น 91 คนไทยจะเป็นหนี้มากขนาดนั้นจริงหรือ

ปัจจุบันสถิติประชากรเมื่อกลางปี 2560 มีคนไทยเกิน 66 ล้านคนแล้ว เป็นเด็กเล็กเด็กโตและคนที่อยู่วัยเรียนประมาณ 17.8 ล้าน คนแก่อายุเกิน 65 ปี ประมาณ 7.5 ล้าน ถ้าคิดว่าคน 2 กลุ่มนี้ไม่ได้ก่อหนี้ก็จะเหลือคนที่ทำงานได้ก่อหนี้ได้อยู่ 41 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยทำงาน ถ้าคำนวณจากผลสำรวจ 91%…ของ 41 ล้านคนก็คือ 37.31 ล้านคน

ถ้าเยอะขนาดนี้จะต้องรวมเกษตรกรที่เป็นหนี้ ธ.ก.ส. 3.6 ล้านราย ชาวบ้านที่เป็นหนี้กองทุนหมู่บ้านด้วย (ยังไม่รู้จำนวน แต่มี 79,000 กองทุน ถ้ามีแห่งละ 80 รายก็ตกเกือบ 7.5 ล้านราย)

ตัวเลขยอดหนี้ครัวเรือนคงค้างที่สำรวจได้ในระบบ ณ ปลายปี 2559 คือ 11.47 ล้านล้านบาท

ผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่ออกมา (คงสำรวจจากคนทำงาน) ประมาณ 2,000 คน สรุปว่ามีหนี้เฉลี่ยคนละ 300,000 บาท แต่ในชีวิตจริงคงมีมูลค่าหนี้หลายระดับ ส่วนใหญ่จะเป็นหลักหมื่นกับหลักแสน

แล้วหนี้มาจากไหน… จากการกู้ธนาคาร สถาบันการเงิน สหกรณ์ออมทรัพย์ กู้เงินตามโครงการของรัฐ บริษัทประกัน และกู้จากบุคคลธรรมดา (หนี้นอกระบบ)

 

จากหนี้นอกระบบยุคโบราณ
มาเป็นหนี้ในระบบยุคใหม่
สินเชื่อส่วนบุคคล 15.4 ล้านบัญชี
บัตรเครดิต18.47 ล้านบัญชี…

สินเชื่อส่วนบุคคล คือ เงินกู้รูปแบบหนึ่งที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินอนุมัติให้กับบุคคลทั่วไปผู้ซึ่งมีรายได้มั่นคง เช่น พนักงานที่มีเงินเดือนประจำ

ผู้ขอกู้เงินใช้ชื่อของตนเองในการขอกู้เพื่อนำเงินสดไปใช้จ่ายตามที่ต้องการ ธนาคารจะอนุมัติวงเงินให้สูงสุดประมาณ 5 เท่าของเงินเดือน การกู้เงินลักษณะนี้ไม่ต้องมีบุคคลหรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งคุณจะได้พบคำเชิญชวนบ่อยครั้ง

“สวัสดีค่ะดิฉันโทร.มาจากธนาคาร…อยากแนะนำสินเชื่อส่วนบุคคล”” …หลายคนภูมิใจว่าตนเองมีเครดิตดี ธนาคารอุตส่าห์โทร.มาให้ยืมเงิน หลายคนจำเป็นเพราะเงินที่ยืมในวงเงินธุรกิจเต็มแล้วก็เอาเครดิตส่วนตัวนี้ไปยืมเงินมา เติมเข้าไปในธุรกิจซึ่งกำลังมีปัญหา แต่เงินที่ยืมจากส่วนตัวจำนวนน้อยมากก็อาจจะจมหายไปในทะเลธุรกิจ กลายเป็นหนี้ทั้งสองส่วน

บางคนก็ไม่มีความจำเป็นอะไรมาก แต่ก็ไปยืมมาใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นก็เลยเป็นหนี้เพิ่มขึ้น

การที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินจะอนุมัติสินเชื่อส่วนบุคคล ธนาคารจะพิจารณาจากตำแหน่งหน้าที่การงาน เงินเดือน ประวัติทางการเงินและความสามารถในการจ่ายเงินคืน ทั้งผู้มีเงินเดือน และผู้ที่ประกอบธุรกิจ ผู้ขอสินเชื่อที่ผ่านการอนุมัติแล้ว ธนาคารจะโอนเงินก้อนเข้าไปในบัญชีของผู้ขอกู้เงิน ผู้กู้จะต้องชำระเงินคืนให้แก่ธนาคารตามที่ตกลงกันไว้เป็นงวดๆ ตามระยะเวลาที่กำหนด

ซึ่งจำนวนที่ผ่อนคืนในแต่ละงวดจะมีทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยรวมกันอยู่ สำหรับอัตราดอกเบี้ย ธนาคารจะคิดตามจำนวนวงเงินที่ขอกู้เป็นขั้นบันได

โดยอัตราดอกเบี้ยสูงสุดอยู่ที่ 28% ระยะเวลาการผ่อนชำระนานสูงสุดถึง 5 ปี ธนาคารบางแห่งอาจคิดอัตราดอกเบี้ยโดยพิจารณาจากอาชีพ และรายได้ต่อเดือน

อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อส่วนบุคคลที่สูงมากนั้น เนื่องจากว่าธนาคารให้กู้ยืมเงินโดยที่ไม่มีหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน ซึ่งธนาคารก็ต้องรับความเสี่ยงในการไม่ได้รับเงินคืน ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยจึงสูงกว่าการกู้เงินโดยทั่วไปที่มีหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกันนั่นเอง

ผู้ที่มีสิทธิ์ขอสินเชื่อส่วนบุคคล ได้แก่ ผู้ที่มีเงินเดือนประจำ มีอายุระหว่าง 20-60 ปี ทำงานในที่ทำงานปัจจุบันไม่น้อยกว่า 3-4 เดือน และมีฐานเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท สำหรับผู้ที่ทำธุรกิจส่วนตัวและต้องการขอสินเชื่อต้องมีอายุระหว่าง 30-60 ปี ทำธุรกิจในประเทศไม่น้อยกว่า 2 ปี มีรายได้ต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท ข้อกำหนดขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารด้วย

สำหรับสินเชื่อบุคคล พบว่าจำนวนบัญชีอยู่ที่ 15.4 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้น 14.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีบัญชี 13.4 ล้านบัญชี วงเงินสินเชื่อ 1.91 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.4% จาก 1.73 ล้านล้านบาท ขณะที่มีเอ็นพีแอลอยู่ที่ 1.59 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.5% จากไตรมาส 1 ปีก่อนที่มีเอ็นพีแอลเพียง 1.30 แสนล้านบาท

เดือนกรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา สินเชื่อแบบนี้ก็ถูกลดวงเงิน

 

บัตรเครดิตของคนเคยรวย ถูกคุมแล้ว

ส่วนเรื่องบัตรเครดิตจากข้อมูลเครดิตบูโรพบว่า ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2560 จำนวนบัญชีบัตรเครดิตอยู่ที่ 18.47 ล้านบัญชี เติบโต 0.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีบัญชีอยู่ที่ 18.40 ล้านบัญชี ขณะที่วงเงินสินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ที่ 3.83 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับหนี้เสียหรือเอ็นพีแอลของบัตรเครดิตอยู่ที่ 5.53 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีเอ็นพีแอล 5.09 หมื่นล้านบาท

เดือนกรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมาบัตรเครดิตที่มีการควบคุมโดยการลดวงเงิน เช่น คนเงินเดือนไม่เกิน 30,000 จะมีวงเงินรูดบัตรเพียง 1.5 เท่าของเงินเดือน จะส่งผลกระทบต่อทั้งธุรกิจบัตรเครดิตไม่น้อย เพราะกลุ่มเริ่มทำงานถือเป็นฐานลูกค้าใหม่ของบัตรเครดิตและยังมีเงินเดือนเริ่มต้นไม่มาก

คนจนจริงๆ ไม่มีโอกาสจะทำบัตรเครดิต ถ้าจะยืมเงินต้องไปยืมเงินนอกระบบ ดอกเบี้ยคิดเป็นวัน เป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน เรื่องคิดดอกเบี้ยเป็นปี ไม่มีใครทำกัน เมื่อระบบเงินกู้ของธนาคารและบริษัทการเงินทำให้เล็กย่อยลงมากินตลาดคนจนข้างล่าง

จึงมีข่าวว่าหนี้นอกระบบลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี แต่หนี้ในระบบพุ่งสูงสุดในรอบ 10 ปีเช่นกัน ดูเหมือนเป็นเรื่องน่ายินดีที่ชาวบ้านไม่ต้องกู้เงินร้อยละ 5-10 ต่อเดือนของเงินกู้นอกระบบ แต่ก็ต้องมาเสียดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมให้กับเงินกู้ในระบบ ประมาณร้อยละ 3 ต่อเดือน ต่อเดือนถ้าคิดเป็นปีคือร้อยละ 36

ถามว่าในปัจจุบันเราทำธุรกิจอะไรถึงจะมีกำไรหรือมาจ่ายดอกเบี้ย 36 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

ในสภาพที่หนี้ท่วมหัว คนเคยรวยก็ไม่สามารถจะใช้บัตรเครดิตได้อีก ไม่ว่าจะมีกี่ใบ หลายคนมีหนี้เสีย ซึ่งถูกขึ้นบัญชีดำ ไม่มีโอกาสสร้างหนี้ในระบบอีก บางคนใช้หนี้แล้วก็ต้องรอถอดจากบัญชีดำ นานถึง 3 ปี แต่ถ้าถลำเข้าไปสู่วงจรหนี้นอกระบบ ก็ไม่มีทางรอด อีกไม่นานพวกเขาก็จะได้ใช้บัตรคนจน

เรื่องน่าเศร้าของคนจนเดิมและคนจนใหม่ จึงต้องดำเนินต่อไปตามชะตากรรมของปลาเล็ก เพราะพวกเขาไม่มีโอกาสสะสมทุนแม้ทำงานปีแล้วปีเล่าก็จะกลายเป็นค่าใช้จ่ายที่พออยู่พอกิน ไม่พอจ่ายหนี้ หนี้สินก็จะท่วมทบขึ้นมาอีก

บางคนไม่รู้จะแก้อย่างไรก็ต้องหนีหายจากถิ่นที่อยู่เดิม…

สภาพการต่อสู้ทางเศรษฐกิจตอนนี้ เหมือนปลาวาฬไล่กินปลาเล็ก

(ต่อฉบับหน้า)