CYRANO ‘นิยายรักคลาสสิค’

นพมาส แววหงส์

CYRANO ‘นิยายรักคลาสสิค’

 

นักเรียนการละครย่อมจะรู้จักชื่อ ซีราโน จากบทละครสมัยปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเขียนโดยนักเขียนชาวฝรั่งเศส เอ็ดมันด์ รอสตงด์ เรื่อง Cyrano de Bergerac

เป็นบทละครที่จัดประเภทว่าเป็น แทรจิ-คอเมดี้ (tragi-comedy) เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งในวรรณกรรมการละครโลก

เวลานึกถึงแนวแทรจิ-คอเมดี้ทีไร ชื่อ “ซีราโน เดอ แบร์เฌอรัค” จะก็ผุดขึ้นมาทุกที

และซีราโนที่ทุกคนรู้จักคือพระเอกนักรัก-นักรบที่มีปมด้อยขนาดเขื่อง ตีตราปรากฏชัดอยู่บนใบหน้า ลบความหล่อเหลาส่วนอื่นของเขาไปหมด

เขาเป็นหนุ่มจมูกโตเกินขนาดจมูกปกติของคนทั่วไป

ซึ่งทำให้เขาไม่กล้าเอ่ยปากฝากรักต่อหญิงสาวสวยในดวงใจที่เป็นหมายปองของใครๆ

และหาทางออกเพื่อระบายความรักอันท่วมท้นอยู่ในใจด้วยการบอกรักเธอผ่านทางจดหมายที่เขาเขียนแทนหนุ่มซื่อบื้ออีกคนซึ่งจนปัญญาเขียนจดหมายบอกรักสาวในดวงใจ

ความหลอกลวง การเสแสร้ง การปิดบังอำพราง และความเข้าใจผิดนี้เป็นสาเหตุของรักคุดรักแห้วของตัวละครทั้งหมดในเรื่อง

นอกจากละครเวทีแล้ว ผู้เขียนเคยดูหนังใหญ่ที่สร้างจากบทละครเรื่องนี้มาแล้วอย่างน้อยสองเรื่อง

เรื่องหนึ่งเล่นโดยเฌอราร์ด เดอปาดิเออ พระเอกหนุ่มฝรั่งเศสที่มีจมูกโตผิดรูปผิดขนาด แต่ก็ยังเป็นพระเอกยอดนิยมชื่อดังคนหนึ่งจากฝรั่งเศส

และที่จำได้คือ หนังอีกเรื่อง ซึ่งตั้งชื่อตามชื่อนางเอกว่า Roxanne เล่นโดยสตีฟ มาร์ติน ที่ใส่จมูกปลอมยื่นยาวแหลมเปี๊ยบ เหมือนจะเล่นบทของตัวละครอันโด่งดังอีกเรื่อง คือนิทานเด็กชื่อ พินอคคิโอ

แต่ Roxanne เปลี่ยนตอนจบให้เป็นแฮปปี้เอ็นดิ้ง จึงเปลี่ยนแนวจากแทรจิ-คอเมดี้ ไปเป็นคอเมดี้ เพื่อเอาใจคนดู และมุ่งเรียกเสียงฮาเพียงอย่างเดียว

จากบทละครต้นเรื่อง โศกนาฏกรรมของซีราโนคือ โทษของการปิดบังอำพรางความจริงไว้ หรือโทษของความจริงแบบลักปิดลักเปิด หรือ ความจริงครึ่งๆ กลางๆ

ซีราโนเป็นตัวละครที่ไม่ยอมเสี่ยงที่จะเปิดเผยความในใจ เพราะกลัวความอับอาย กลัวความผิดหวัง กลัวการถูกปฏิเสธ ซึ่งนับเป็นความกลัวในกมลสันดานซึ่งนำไปสู่ความอ้างว้างโดดเดี่ยวของมนุษย์

คนเราชอบสร้างเกราะขึ้นกำบังตัวตนและปกป้องตัวเองไว้ด้วยความกลัว…กลัวเสียหน้า กลัวถูกหัวเราะเยาะ กลัวความคำประณามและกลัวความคิดเห็นของสังคม ได้แต่วางท่าดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ต่อหน้าสาธารณะ เก็บงำความรู้สึก ปกปิดความเร่าร้อนรุ่มร้อน ความวาดหวังในใจ และปิดประตูสู่ความสมหวังและความสำเร็จไปเสียดื้อๆ โดยไม่ยอมเสี่ยง

นี่เป็นคุณค่าของบทละครดั้งเดิมของเอ็ดมันด์ รอสตงด์ ซึ่งยังสื่อความหมายต่อมาได้อีกนานนับศตวรรษ

Cyrano สร้างจากละครมิวสิคัล (2018) ซึ่งเขียนโดยเอริกา ชมิดต์ คู่ชีวิตของปีเตอร์ ดิงค์เลจ ซึ่งดัดแปลงจากบทละครดั้งเดิม โดยเปลี่ยนปมด้อยของพระเอกจากจมูกโตให้เป็นความพิการทางร่างกาย

ปีเตอร์ ดิงค์เลจ เป็นนักแสดงร่างแคระผู้มีชื่อเสียงที่สุดในโลกก็ว่าได้

แม้ว่าเขาจะได้บทดีๆ มาก่อนหลายบท (เช่นใน In Bruges) แต่อาชีพนักแสดงของเขาเริ่มโด่งดังเป็นพลุแตกจากบทบาท “ทีเรียน แลนนิสเตอร์” คนร่างแคระใจใหญ่ผู้แสบสันต์และฉลาดล้ำ ซึ่งเป็นบทบาทที่ไม่มีใครลืมเลือนได้ใน Game of Thrones

มาถึง Cyrano นี่ ดิงค์เลจเลยได้เป็นพระเอกเต็มตัวในเรื่องราวความรักอันไม่สมหวังคล้ายจะเป็นโรมิโอเลยทีเดียว และมีบทบาทคล้ายโรมิโอในฉากปีนระเบียงไปหานางเอกเสียด้วย

ผู้กำกับฯ โจ ไรต์ เองก็มีผลงานเป็นที่น่าประทับใจมาก่อน ด้วยหนังอย่างเช่น Anna Karenina, Pride and Prejudice และ Atonement)

ใน Cyrano ซึ่งเป็นมิวสิคัลที่ใช้เพลงและแดนซ์เป็นส่วนสำคัญในการเดินเรื่อง งานออกแบบโปรดักชั่น เครื่องแต่งกาย การออกแบบลีลาท่าเต้น และเพลง จึงมีส่วนสำคัญยิ่ง

ทั้งหมดนี้ช่วยให้ดูหนังได้สนุกและเพลิดเพลิน แต่เห็นจะต้องบอกว่า ส่วนสุดท้ายคือเพลงนั้นยังไม่ติดหูและไม่น่าจดจำเท่าไรนัก

ดิงค์เลจเองก็ไม่ใช่นักร้องเสียงทอง แต่เขาเป็นนักแสดงผู้มากความสามารถและเล่นบทของซีราโนได้แบบที่จะต้องมีผู้กล่าวขวัญถึงต่อไปอีกนาน

ที่ผู้เขียนชอบเป็นพิเศษ คือ โทนสีน้ำตาลอ่อนของหนัง ชอบงานออกแบบโปรดักชั่น ชอบคอสตูม ชอบงานออกแบบลีลาท่าเต้น

แต่ยังรู้สึกว่าตัวละครในบทรองอื่นๆ เช่น คริสเตียน (เคลวิน แฮร์ริสัน จูเนียร์) และดยุค เดอ กีช (เบน เมนเดลโซห์น) ยังไม่ได้รับการพัฒนาลักษณะนิสัยมากนัก

อย่างไรก็ตาม มีฉากการออกแบบลีลาที่งดงามจับตาตราตรึงมากหลายตอน โดยเฉพาะในช่วงการเขียนและรับส่งจดหมายรัก ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญอยู่ในเรื่องนั้น ทำได้ดีมาก แสดงความถวิลหาและดื่มด่ำของซีราโน ผู้เขียนจดหมายรักแทนใจในนามของชายอื่น แต่ก็ดื่มด่ำอยู่ในความรักในใจตัวเอง และร็อกซานน์ผู้รับจดหมายและอ่านอย่างดื่มด่ำซาบซึ้งในถ้อยคำงดงามที่รังสรรค์มาเป็นจดหมายรัก จดหมายปลิวไปในอากาศ ในห้องนอน รอบเตียงนอน หล่นใส่บนร่างของสาวเจ้า ปลิวคว้างไปกลางถนน ขณะที่ได้ยินเสียงอ่านจดหมายไปด้วย…

นับเป็นการสื่อความถึงความรู้สึกอันลึกล้ำลึกซึ้งได้อย่างถึงแก่นและนัยยะความหมาย

สำหรับคนที่ไม่ได้ดูหนังเพื่ออยากได้ใคร่รู้เกี่ยวกับพล็อตเท่านั้น…และสำหรับหลายคน ก็คงจะพอรู้ถึงพล็อตของเรื่องราวคลาสสิกนี้ดีอยู่แล้ว…นัยยะอันละเมียดละไมเหล่านี้น่าจะสื่อสารทางด้านอารมณ์ด้วยเป็นอย่างดี

แต่จากข้อมูล เห็นว่าหนังไม่ประสบความสำเร็จทางด้านบ็อกซ์ออฟฟิศเลย ก็แปลว่าไม่ใช่หนังแบบที่คนทั่วไปชอบดูนะคะ… •

กำกับการแสดง

Joe Wright

นำแสดง

Peter Dinklage

Haley Bennett

Kevin Harrison Jr.

Ben Mendelsohn

 

ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์