นางพญาวิสุทธิเทวี ศึกชิงบัลลังก์ตั่งทอง (จบ) | ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

นางพญาวิสุทธิเทวี ศึกชิงบัลลังก์ตั่งทอง (จบ)

แย่งบัลลังก์กันแทบตาย สุดท้ายลูกชายกลายเป็นองค์ประกัน

หลังจากที่ “มหาเทวีแม่พระจอมเมือง” (มหาเทวีองค์นี้เป็นชายาหม้ายของพระเมืองเกษเกล้า) ครองนครพิงค์ (ราชธานีอยู่เวียงกุมกาม) ได้ 3 ปีแล้ว กองทัพฝ่ายล้านช้างของพระไชยเชษฐา ก็ค่อยๆ เลิกราและวางมือต่อภารกิจการทวงล้านนาคืน

เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่กองกำลังฝ่าย “นางพญาวิสุทธิเทวี” เริ่มแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ “พระแม่กุ” ถูกสึกออกจากเพศฆราวาสที่เมืองนาย แว่นแคว้นไทใหญ่ สามารถนั่งบัลลังก์เมืองเชียงใหม่ได้ท่ามกลางเสือสิงห์กระทิงแรดรอบทิศ

ในเวทีเสวนาทั้งคลับเฮาส์และที่สถาบันวิจัยสังคม มช. อาจารย์ชัยวุฒิ ไชยชนะ ไม่ได้กล่าวถึงฉากสุดท้ายหรือ “การหายไป” ของ “มหาเทวีแม่พระจอมเมือง” ว่าชะตากรรมนางเป็นอย่างไรบ้าง กล่าวแต่เพียงว่า โอรสที่อายุ 9 ขวบนั้น ได้ไปเติบใหญ่ในราชสำนักอยุธยา

โดยที่ไม่แน่ใจว่าโอรสองค์นี้ถูกส่งไปในลักษณะไหนกันแน่ เป็นกึ่งๆ องค์ประกันให้กับพระไชยราชา เพื่อแลกกับการสร้างความเชื่อมั่นว่าฝ่ายอโยธยาจะไม่ทำลายเชียงใหม่ หรือไปแบบหนีราชภัย?

เอาเป็นว่า แม่ลูกต้องพรากจากกัน 1 คู่แล้ว

โอรสผู้นี้ตอนไปอยุธยาตรงกับปี จ.ศ.907 (พ.ศ.2088) มีอายุเพียง 9 ขวบ จะเป็นคนเดียวกันกับบุคคลในประวัติศาสตร์ที่ชื่อ “ออกญารามเดโช” ได้หรือไม่ ซึ่งในปี 963 (2144) มีอายุ 65 ปี ถูกราชสำนักอโยธยาส่งมาครองเมืองเชียงแสน โดยพงศาวดารอยุธยาระบุว่า ออกญารามเดโชผู้นี้มีเชื้อสายขุนนางชั้นสูงจากเชียงใหม่ตั้งแต่วัยเยาว์

ข้างฝ่ายนางพญาวิสุทธิเทวีเองก็เช่นกัน กว่าจะช่วงชิงบัลลังก์ให้ลูกชายได้ เลือดตาแทบกระเด็น แถมช่วงที่นางได้นั่งบัลลังก์เอง ก็เป็นห้วงเวลาเดียวกันกับที่ลูกชายคือ ท้าวแม่กุ ต้องถูกจับไปเป็นองค์ประกันในกรุงหงสาวดีอีก

ชะตากรรมของสองมหาเทวีที่ขับเคี่ยวเคี้ยวฟันกัน ลงท้ายหาได้มีความแตกต่างกันแต่อย่างใดเลย

ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน

เมืองหัวเคียนกับราชเทวีจอมใจ

เรายังไม่พบหลักฐานใดๆ ว่า “ราชเทวีจอมใจ” มีถิ่นกำเนิดอยู่แถวไหนกันแน่ (เฉกเดียวกับที่ไม่อาจทราบถึงเชื้อสายของมหาเทวีจิรประภา, มหาเทวีแม่พระจอมเมือง, มหาเทวีอโนชาแม่พระเมืองเกษเกล้า และราชนารีองค์อื่นๆ ได้แน่ชัด แต่ละนางปูมหลังล้วนคลุมเครือ)

ประเด็นเชื้อสายไทใหญ่เมืองนายของพระนางคงตัดทิ้งไปก่อน เพียงแค่การที่โอรสของนางคือ “พระแม่กุ” หนีราชภัยไปบวชอยู่ที่เมืองนายค่อนข้างนานนั้น ไม่อาจใช้เป็นข้อบ่งชี้ได้ว่านางจอมใจจักต้องเป็นชาวเมืองนายตามไปด้วย

ในทางกลับกันจากเหนือสุด หันไปมองจุดใต้สุดของเชียงใหม่ นั่นคือ “เมืองหัวเคียน” (ครอบคลุมตั้งแต่ตอนล่างของอำเภอหางดง สันป่าตอง จอมทอง จนถึงฮอด ดอยเต่า) ชื่อนี้ปรากฏขึ้นว่าเป็นเขตปกครองภายใต้อำนาจของนางพญาวิสุทธิเทวีและเครือญาติ

หลังจากที่พระเมืองแก้วสวรรคต เหตุการณ์ช่วงนี้หากเราอ่านตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่แบบผิวเผิน ก็จะเข้าใจไปว่า พระเมืองเกษเกล้าคงขึ้นนั่งบัลลังก์โดยปกติสืบจากพระราชบิดากระมัง

ที่ไหนได้ ราชสำนักล้านนาแทบนองเลือด พระเมืองเกษเกล้าโอรสองค์หลักที่ประสูติแต่มหาเทวีอโนชา (มเหสีเอกของพระเมืองแก้ว) จำต้องจรลีลี้ภัยไปรั้งวังอีกแห่งที่เวียงกุมกาม ยอมให้เมืองเชียงใหม่ตกอยู่ในอำนาจของพระมเหสีจิรประภาและโอรส (ท้าวยี่) คือพระเมืองไชย ที่ยึดบัลลังก์ไว้ได้ก่อน

ในขณะที่ชะตากรรมของอัครชายาอีกองค์ของพระเมืองแก้วชื่อ “เทวีจอมใจ” จักเป็นเช่นไร นางก็ต้องหลบหนีไปให้ไกลจากศูนย์อำนาจของ “พระเมืองไชยและมหาเทวีจิรประภา” เช่นเดียวกัน น่าคิดทีเดียวว่าสถานที่ที่นางซ่องสุมกองกำลังนั้น ทำไมจึงเลือกเมืองหัวเคียน ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าที่นี่อาจเป็นดินแดนบ้านเกิดของพระนางก็เป็นได้

หลังจากท้าวไชย (พระเมืองไชย) ลูกมหาเทวีจิรประภา ซึ่งนั่งเมืองเชียงใหม่ (แต่ประวัติศาสตร์ไม่ให้การยอมรับ) ถูกฆ่า พระเมืองเกษเกล้าก็ถือว่าหมดคู่แข่งไปหนึ่งรายแล้วโดยปริยาย (ท้าวไชยเป็นน้องชายต่างมารดาของพระเมืองเกษเกล้า)

แทนที่พระเมืองเกษเกล้าจะนั่งเมืองแบบราบรื่น กลับถูกขุนนางทำรัฐประหารอีก ด้วยการเชิญพระองค์ไปอยู่เมืองน้อย (ปัจจุบันเมืองนี้อยู่ที่อำเภอปาย แม่ฮ่องสอน เป็นเมืองห่างไกลทุรกันดารเหมาะสำหรับการเนรเทศเจ้านายชั้นสูง) แล้วอัญเชิญ “ท้าวซายคำ” (บ้างเรียกท้าวชาย-อย่าสับสนกับท้าวไชยนะคะ) ผู้เป็นโอรสในไส้ของพระเมืองเกษเกล้า มาจากเมืองเชียงแสนขึ้นครองราชย์แทนพ่อ

ขุนนางที่ “ทำคด” ต่อพระเมืองเกษเกล้า หาใช่ใครที่ไหนไม่ เขาคือ “หมื่นหัวเคียน” เจ้าเมืองสอย (อยู่ที่น้ำแม่สอย อ.จอมทอง ไม่ใช่แถวแก่งสร้อย จ.ตาก) สั่งให้ “หมื่นคำฮอม” (ต่อมาเป็นแสนคำฮอม) เป็นคนนำพระเมืองเกษเกล้าไปขังที่เมืองน้อย

ท้าวซายคำปกครองล้านนาได้ไม่นานก็ถูกทำรัฐประหารโดยขุนนางอีก คนฆ่าท้าวซายคำคือพินญาเสนา (แสนยี่มโน) เมืองมโนก็คือเวียงมโน ปัจจุบันอยู่อำเภอหางดง เป็นปลายขอบของเมืองหัวเคียนตอนบน

มีการเอาพระเมืองเกษเกล้ากลับมาขัดตาทัพจากที่เคยเนรเทศไปแล้วหนหนึ่ง แต่แล้วพระเมืองเกษเกล้าก็ถูกฆ่าโดยขุนนางชั้นสูงชื่อ “แสนคร้าว” (บ้างเรียกแสนคราว) ชาวเชียงตุง เคยเป็น “หมื่นเตริน” ครองเมืองเถินมาก่อน บุคคลผู้นี้เป็นพันธมิตรกับฝ่ายมหาเทวีจิรประภา

ชีวิตของคนชื่อ “แสนคร้าว” ผู้นี้ก็น่าสนใจไม่น้อย เขาเคยเป็นพี่เลี้ยงของพระเมืองแก้ว แถมยังเป็นพ่อนมให้กับพระเมืองเกษเกล้า ดูแลสองกษัตริย์พ่อลูกตั้งแต่ทรงพระเยาว์ แต่แล้วอยู่ๆ ก็เบนเข็มมาค้ำบัลลังก์ให้กับฝ่ายจิรประภา

สะท้อนให้เห็นว่า ขุนนางสองฝ่ายทั้งสายหัวเคียนของราชเทวีจอมใจ และสายเชียงตุงของจิรประภาผลัดกันสำแดงฤทธานุภาพในการสังหารกษัตริย์สองพ่อลูก (พระเมืองเกษเกล้า-ท้าวซายคำ)

จิรประภาขึ้นนั่งเมืองต่อจากพระเมืองเกษเกล้า (รายละเอียดเคยกล่าวไปแล้วในตอนก่อนๆ) จากนั้นพระโพธิสาลราชจากล้านช้าง (ผ่านการเชื้อเชิญของจิรประภา) พร้อมโอรสพระไชยเชษฐาเข้ามาครองล้านนา

เมื่อพระไชยเชษฐากลับล้านช้าง มหาเทวีแม่พระจอมเมือง (ชายาของพระเมืองเกษเกล้า) สามารถดึงอำนาจกลับมาได้อีกครั้งในฐานะราชินีหม้าย ทำการแข็งเมืองนานถึง 3 ปี

ระหว่างนั้น ราชเทวีจอมใจ (วิสุทธิเทวี) ชายาอีกคนของพระเมืองแก้วแอบลักลอบเขียนสาส์นไปเชิญพระไชยราชาให้ขึ้นมาจัดการกับมหาเทวีสองนาง (ทั้งจิรประภา และแม่พระจอมเมือง) ถึงสองครั้ง (ครั้งแรกจิรประภายังไม่เสียชีวิตออกมาต้อนรับ ครั้งที่สองพระไชยราชาเสียชีวิตเอง แต่พระจอมเมืองต้องไปเป็นองค์ประกันที่อยุธยา) กระทั่ง กองกำลังของวิสุทธิเทวีแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ นำมาซึ่งการครองบัลลังก์ของโอรสนาม ท้าวแม่กุ

การปลงศพด้วยนกหัสดีลิงค์ ถอดรหัสชื่อนางมัทรีจอมใจ

เมื่อราวทศวรรษก่อน ดิฉันได้ตั้งคำถามว่า ประเพณีการชักลากจูงศพด้วยนกหัสดีลิงค์บนแผ่นดินล้านนานั้น เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ เคยมีมาก่อนการปลงศพของพระนางวิสุทธิเทวีหรือไม่ เป็นประเพณีของชาติพันธุ์ใด หรือแว่นแคว้นแดนไหนคิดขึ้นก่อน อินเดีย มอญ พม่า ไทลื้อ?

เรื่องนี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนนัก ว่ากษัตริย์ล้านนาองค์ก่อนๆ ในราชวงศ์มังรายปลงศพกันด้วยวิธีใด เอกสารหลายชิ้นมักเขียนแค่ว่า “ส่งสการ”

พงศาวดารโยนกกล่าวถึงช่วงที่มหาเทวีองค์สุดท้ายซึ่งสวรรคตในปี พ.ศ.2121 ว่า

“นางพญาวิสุทธิราชเทวีผู้ครองนครพิงค์เชียงใหม่ถึงพิราลัย พระยาแสนหลวงแต่งการศพทำเป็นพิมานบุษบก ตั้งบนหลังนกหัสดินทร์ขนาดใหญ่รองด้วยเลื่อนแม่สะดึง เชิญหีบพระศพขึ้นไว้ในบุษบกนั้น แล้วฉุดชักไปด้วยแรงคชสาร เจาะพังกำแพงเมืองไปถึงทุ่งวัดโลก ก็กระทำฌาปนกิจถวายพระเพลิง ณ ที่นั้น เผาพร้อมทั้งรูปสัตว์และวิมานที่ทรงศพนั้นด้วย จึงเป็นธรรมเนียมลาวในการปลงศพเจ้าผู้ครองนครทำเช่นนี้สืบกันมา”

วัดโลก คือชื่อเดิมของวัดโลกโมฬี ได้ชื่อ “โลกโมฬี” ก็ด้วยการเอาคำว่า “พระราชโมฬี” สมเด็จพระสังฆราชาซึ่งเคยประทับ ณ นครหริภุญไชย มาสวมเป็นชื่อให้วัดแห่งนี้ อาจารย์ชัยวุฒิมองว่าเป็นการเคลื่อนย้ายอำนาจทางสงฆ์จากลำพูนให้มาอยู่ที่เชียงใหม่

ทำไมต้องปลงศพนางพญาวิสุทธิเทวีไว้ที่วัดแห่งนี้? ในเมื่อพระราชสวามีของพระนางคือพระเมืองแก้ว ปลงศพที่วัดพระสิงห์ คนที่ถูกปลงศพ ณ วัดโลก พร้อมเอาอัฐิบรรจุไว้ที่นี่ก็คือพระเมืองเกษเกล้าต่างหาก บุคคลที่นางพญาวิสุทธิเทวีให้คนใกล้ชิดนำตัวเนรเทศไปให้พ้นปริมณฑลแห่งอำนาจ

ไม่มีใครทราบว่า มเหสีของพระเมืองเกษเกล้าที่เราเรียกตลอดเวลาว่า “มหาเทวีแม่พระจอมเมือง” นั้นมีการนำอัฐิของนางบรรจุไว้ที่ไหน รวมทั้งมหาเทวีจิรประภา เนื่องจากบางเหตุการณ์ไม่ได้มีการบันทึกรายละเอียดไว้ หรือบางทีเราอาจยังไม่พบหลักฐานอะไรอีกจำนวนมากที่ซุกซ่อนอยู่

อาจารย์ชัยวุฒิได้นำเสนอเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เกี่ยวกับคีย์เวิร์ดคำเหล่านี้ฝากไว้ชวนให้คิด ว่าจะมีความสัมพันธ์กันหรือไม่ ระหว่างชื่อ ราชเทวีจอมใจ การปลงศพด้วยนกหัสดีลิงค์ กับในตำนานเทศมหาชาติ หรือเวสันตระชาดกที่พบในใบลานเขียนปี จ.ศ.1128 (พ.ศ.2309) เขียนช่วงก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก 1 ปี

มีการบรรยายปราสาทศพช่วงที่จะเผาพระนางมัทรี เรียกนางว่า “จอมใจเมืองมิ่ง” โดยเผาศพนางมัทรีด้วยนกหัสดีลิงค์เช่นกัน และพรรณนาว่าเป็นการทำศพของพญามาแต่ก่อน

ส่วนเทศมหาชาติสมัยรัชกาลที่ 5 เรียกนางมัทรีช่วงทำศพว่า “นางจอมใจม้วยมิ่ง” อาจารย์ชัยวุฒิตั้งคำถามว่า เหตุไรคำว่า “จอมใจ” จึงถูกนำไปเชื่อมโยงกับการเผาศพด้วยนกหัสดีลิงค์หลายครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องราวเฉพาะของนางพญาวิสุทธิเทวีเท่านั้น

ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน

เป็นไปได้หรือไม่ว่า ชนชั้นสูงในราชสำนักสยามน่าจะยังรู้จักราชเทวีจอมใจกันอยู่

สรุป จากการที่ดิฉันได้รับฟังและติดตามการนำเสนอเอกสารหลักฐานชิ้นใหม่ๆ ที่อาจารย์ชัยวุฒิ ไชยชนะ ได้ค้นพบและพยายามถอดรหัสตีความ ต่อเติมจิ๊กซอว์ในหน้าประวัติศาสตร์ที่ขาดหายของอาณาจักรล้านนาตอนปลายในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมานั้น

ดิฉันเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยกับการที่จะให้ผู้อ่านรื้อ “ภาพจำ” หรือสลัด “องค์ความรู้เดิม” ทิ้งไป ทั้งๆ ที่ประวัติศาสตร์ล้านนาที่เรารับรู้กันนั้น ยิ่งศึกษาก็จะยิ่งพบช่องโหว่เว้าแหว่งว่ามีหลายจุดที่ไม่มีความกระจ่างชัด

การลำดับเหตุการณ์ของตัวละครที่อาจารย์ชัยวุฒิพยายามร้อยเรียงเรื่องราวโดยอิงหลักฐานที่ค้นพบใหม่มาทั้งหมดนี้ โปรดอย่ามองว่าเป็นเรื่องเมาธ์มอยเขียนเอามันส์ แต่งนิยายเลอะเทอะ แน่นอนว่าตัวดิฉันในฐานะคอลัมนิสต์ย่อมต้องเพิ่มสำบัดสำนวนและสร้างสีสันให้ชวนอ่านไม่มากก็น้อย

ทว่า เหนือสิ่งอื่นใดนั้น “ข้อมูลก็คือข้อมูล” “หลักฐานก็คือหลักฐาน” มันวางกองอยู่เบื้องหน้าคุณแล้ว ผู้สนใจด้านประวัติศาสตร์ล้านนา สามารถหยิบมันไปใช้เองได้ โดยสร้างข้อสมมุติฐานใหม่ด้วยตัวเอง ตั้งโจทย์ วางไทม์ไลน์ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรบ้างช่วงปลายราชวงศ์ล้านนา

ข้อสำคัญลองแกะหรือดึงคำว่า “มหาเทวี” ออกมาวางเรียงทีละจุดอีกครั้ง แล้วท่านจะพบว่า ความทับซ้อนของคำคำเดียวกันนี้ สามารถแยกร่างออกได้หลายนาง •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ

นางพญาวิสุทธิเทวี ศึกชิงบัลลังก์ตั่งทอง (1) / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

นางพญาวิสุทธิเทวี ศึกชิงบัลลังก์ตั่งทอง (2) / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

นางพญาวิสุทธิเทวี ศึกชิงบัลลังก์ตั่งทอง (3) / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ