นางพญาวิสุทธิเทวี ศึกชิงบัลลังก์ตั่งทอง (2) / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

นางพญาวิสุทธิเทวี

ศึกชิงบัลลังก์ตั่งทอง (2)

 

แน่ใจอย่างไรว่านางพญาวิสุทธิเทวี

เป็นชายาพระเมืองแก้ว และเป็นชนนีพระแม่กุ?

ในรัชสมัยของพระเมืองแก้ว กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 11 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2038-2068) จากการศึกษาเอกสารต่างๆ พบว่าพระองค์น่าจะมีมเหสีและอัครชายาระดับเจ้านายหลักๆ 3 องค์ (ไม่นับบรรดาพระสนมอีกจำนวนหนึ่ง)

มเหสีองค์แรกคือองค์ที่เราเชื่อมั่นว่าต้องเป็น พระราชมารดาของพระเมืองเกษเกล้าแน่ๆ เนื่องจากกษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 12 องค์นี้มีอีกพระนามว่า “พระเมืองอ้าย” หรือ “พระญาเกศเชษฐราช” ฟังคล้ายว่าน่าจะเป็น “พี่ชายคนโต”

แต่จะเป็นพี่ใหญ่จริงหรือไม่ ค่อยมาดูหลักฐานกันอีกที อัครมเหสีของพระเมืองแก้วองค์นี้ไม่มีใครทราบชื่อจริง แต่ถูกเรียกว่า “อโนชาเทวี/อโนชาราชเทวี” อันเป็นชื่อตำแหน่ง

องค์ที่สอง ก็คือพระนางจิรประภามหาเทวี (จิรประภาก็เป็นชื่อตำแหน่งอีกเช่นกัน) อัครชายาองค์ที่สองนี้ (หรือจะเป็นองค์แรก แต่เหตุที่ไม่มีลูก ทำให้คนเข้าใจว่าเป็นองค์ที่สอง?) ถูกสถาปนาขึ้นเป็นราชเทวีตอนอายุ 42 ปี ซึ่งช่วงนั้นพระนางอโนชาเทวีก็ยังไม่สวรรคต

จากการศึกษาของอาจารย์ชัยวุฒิ ไชยชนะ และคุณธีรานนท์ โพธะราช พบว่าจิรประภาไม่มีโอรส-ธิดา จึงน่าจะเป็นเหตุให้พระนางมีความเป็นกลางและน่าไว้วางใจมากที่สุด เนื่องจากไม่มีผลประโยชน์ใดๆ ในราชบัลลังก์ที่จะต้องหวงไว้ให้แก่พระราชโอรส จนทำให้ขุนนางพร้อมใจกันยกพระนางขึ้นนั่งเมืองขัดตาทัพในช่วงวิกฤตหลังจากที่พระเมืองเกษเกล้าสวรรคต

องค์ที่สาม คือ นางพญาวิสุทธิเทวี หรือ พระมหาเทวีราชวิสุทธิ์ ชื่อนี้ก็อาจเป็นสมัญญาตอนนั่งเมืองในภายหลังแล้ว น่าจะเป็นสตรีเพียงไม่กี่นาง ที่เราพบชื่อจริงว่า “นางจอมใจ” หรือ “มหาเทวีจอมใจ” มหาเทวีท่านนี้เป็นพระมารดาของพระแม่กุ กษัตริย์ล้านนายุคพม่าปกครอง

ผังอธิบายทำเนียบวงศาคณาญาติของพระเมืองแก้วกับราชเทวีองค์ต่างๆ มาสู่รุ่นพระเมืองเกษเกล้า

หากกล่าวเช่นนี้ ก็ย่อมหมายความว่า พระแม่กุเป็นน้องชายต่างมารดาของพระเมืองเกษเกล้าหรือเช่นไร รวมไปถึงคำถามที่ว่า พระเมืองแก้วมีโอรสเพียงแค่สองพระองค์เท่านั้นหรือ? หากเป็นเช่นนี้ก็ต้องถือว่าพระองค์ประสบความสำเร็จอย่างสูง ที่ทายาททั้งสององค์ (แม้จะต่างมารดากัน) ล้วนได้เป็นกษัตริย์สืบต่อมาทั้งคู่

ทว่า ในตำนานพระธาตุเจ้าหริภุญไชย มีการระบุจำนวนโอรสธิดาของพระเมืองแก้วไว้อย่างน่าสนใจ (แต่ถูกมองข้ามมาโดยตลอด) ว่ามีจำนวน 6 พระองค์ มิใช่มีเพียง 2 พระองค์นี้เท่านั้น

องค์แรก ชื่อท้าวเอื้อย เป็นลูกสาวคนโต ไม่ทราบว่าใครเป็นพระมารดา

องค์ที่สอง ไม่ออกนาม ซ้ำไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นหญิงหรือชาย

องค์ที่สาม คือท้าวอ้าย องค์เดียวกันกับพระเมืองอ้าย/พระเมืองเกษเกล้า

องค์ที่สี่ คือท้าวยี่

องค์ที่ห้า คือท้าวสาม

องค์ที่หก น้องสุดท้องคือท้าวไส (ไสแปลว่า 4)

อาจารย์ชัยวุฒิได้หลักฐานเพิ่มเติมจากคัมภีร์ใบลานตำนานพระธาตุแช่แห้ง กล่าวถึงพระเมืองแก้วได้ส่งลูกคนหนึ่งให้ครองเมืองน่านมีชื่อว่า “ท้าวบุญขวาง” ในปี จ.ศ.874 (พ.ศ.2055) เมื่อเทียบกับศักราชปีที่พระเมืองเกษเกล้าประสูติตรงกับ จ.ศ.859 (พ.ศ.2040) พบว่าพระเมืองเกษเกล้ามีอายุเพียง 15 ปี ดังนั้น “ท้าวบุญขวาง” คนนี้มีอายุแก่กว่า น่าจะเป็นโอรสอันดับ 2 ที่ตำนานพระธาตุเจ้าหริภุญไชยไม่ระบุรายละเอียด

การนับลำดับ “พระเมืองอ้าย” ว่าเป็นโอรสองค์ใหญ่ ทั้งๆ ที่เป็นลูกคนที่สาม เนื่องมาจากลูกคนโตเป็นหญิง ส่วนคนที่สอง “ท้าวบุญขวาง” น่าจะเป็นโอรสของพระเมืองแก้วที่เกิดจากพระสนม จึงไม่เริ่มนับตั้งแต่องค์นี้ว่าเป็นพี่ใหญ่

แต่กลับมาเริ่มนับ อ้าย ยี่ สาม ไส โดยนับพระเมืองอ้าย (ลำดับสาม) เป็นโอรสองค์โต แสดงว่าช่วงนั้นพระเมืองแก้วเริ่มมีราชเทวีองค์ต่างๆ ที่มีการอภิเษกขณะครองราชย์อย่างเป็นทางการแล้ว

เรื่องนี้ถือเป็นประเด็นใหม่ที่เชื่อว่าหลายท่านก็ไม่เคยทราบมาก่อน

อาจารย์ชัยวุฒิ ไชยชนะ ทำคำอธิบายว่าทำไมเมื่อเขียน “เม” จึงต้องหมายถึง “แม่” ไม่ใช่ “เมีย”

อีกหนึ่งจิ๊กซอว์ ที่อาจารย์ชัยวุฒินำมาปะติดประต่อก็คือ ตำนานเชียงราย-เชียงแสน กล่าวว่า พระแม่กุมีน้องชายคนหนึ่งชื่อ “คัมภีระ” (กำพีระ) สองคนนี้เติบโตมาด้วยกันที่เมืองนาย ถ้าเป็นดังนี้ แสดงว่า พระแม่กุน่าจะเป็น ท้าวสาม และคัมภีระคือ ท้าวไส แสดงว่านางเทวีจอมใจ (วิสุทธิเทวี) ต้องมีโอรสสองพระองค์

ปัญหาที่ตามมาได้แก่ แล้วใครคือท้าวยี่ ลูกจากมหาเทวีองค์ไหนอีก ในเมื่อจิรประภาก็ไม่มีลูก

ประเด็นท้าวแม่กุหรือพระแม่กุ จะเป็นท้าวสามจริงหรือไม่ เป็นท้าวยี่ไม่ได้หรือ? อาจารย์ชัยวุฒิได้ตรวจสอบกับเอกสารประวัติศาสตร์พม่าของ “อูกาลา” มหายาซาเวง และซินเหม่ยาซาเวง มีการระบุว่า พระแม่กุมีชื่อเดิมว่า “อ้ายพระสาม”

ส่วนนาม “แม่กุ” นั้น ตำนานวัดเจดีย์หลวง แปลโดยอาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ พบว่าชื่อนี้ได้มาจากตอนที่บวชเรียนจนมีความรู้ในทางบาลีธรรม สามารถแก้หนังสือ ตอบโต้อธิบายพระไตรปิฎกได้ถึงขั้น “แม่กุ” ซึ่งฉายาพระภิกษุยุคนั้นถูกกำหนดเรียกตามระดับภูมิปราชญ์ ว่าพระรูปไหนสามารถบอกพระวินัยได้ในระดับไหน มีทั้ง แม่กิ แม่ไก แม่โก แม่กุ ฯลฯ

ตำนาน 15 ราชวงศ์ และตำนานมหาชาติ จัดลำดับพระแม่กุเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายลำดับที่ 15 โดยใช้ชื่อย่อว่า “ทา/ทรา” สอดคล้องกับโคลงมังทรารบเชียงใหม่ ที่ระบุถึงสถานะของนางพญาวิสุทธิเทวีว่า “เป็นแม่มังทราศรี ก่อมเถ้า”

อาจารย์ชัยวุฒิกล่าวว่า มีบางคนเข้าใจผิดคิดว่า นางพญาวิสุทธิเทวีเป็นชายาของพระแม่กุไปก็มี เนื่องจาก ตำนานมังรายเชียงใหม่-เชียงตุง ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ไปนั้น ระบุว่า วิสุทธิเทวีเป็น “เม” ของพระแม่กุ ทำให้หลายท่านไปถอดความคำว่า “เม” หมายถึง “เมีย” โดยคิดว่าเป็นการเขียนด้วยสำเนียงของชาวไทลื้อไทขึน ที่ออกเสียง “เมีย” ว่า “เม” ออกเสียง “ผัว” ว่า “โผ”

ประเด็นนี้เคยสร้างความสงสัยมาอย่างยาวนาน ว่าตกลงแล้ว วิสุทธิเทวีเป็นเมียหรือแม่ของพระแม่กุกันแน่? ทำให้อาจารย์ชัยวุฒิต้องไล่อ่านตำนาน 15 ราชวงศ์ใหม่อย่างละเอียด ย้อนไปถึงรัชกาลของพระญาสามฝั่งแกน พบว่ามีอีกชื่อว่า “แม่ใน” แต่คัมภีร์เขียน “เมใน” ด้วยเช่นกัน จึงเป็นที่แน่ชัดว่า การเขียนด้วย “เม” ในยุคก่อน หมายถึง “แม่” ไม่ใช่ “เมีย”

จากการที่เอกสารโบราณใช้คำว่า “แม่” ปะปนกับ “เม” เช่นนี้นี่เอง น่าจะเป็นที่มาของการแผลงคำว่า “แม่กุ” เป็น “เมกุฏิ” ส่วนสร้อยหลัง “สุทธิวงศ์” ที่มาเติมต่อท้ายกลายเป็น “พระเมกุฏิสุทธิวงศ์” นั้น อาจารย์ชัยวุฒิกล่าวว่ายังไม่เคยพบว่ามีต้นฉบับในเอกสารเล่มใดเขียนเต็มๆ แบบนั้นมาก่อน

 

ตํานานอีกเล่มหนึ่งคือ โหราศาสตร์ล้านนา กล่าวถึงดวงชะตาของเจ้าเมืององค์ต่างๆ มีการระบุว่าช่วงที่พระเมืองแก้วสวรรคต เกิดการชิงราชบัลลังก์กันวุ่นวาย ในขณะที่ขุนนางหารือกันว่าจะยกพระเมืองอ้าย (พระญาเกศเชษฐราช/พระเมืองเกษเกล้า) ขึ้นครองราชย์ต่อ ทว่า ยังไม่ทันได้ราชาภิเษก ขุนนางอีกฝ่ายรีบนำเอาโอรสของพระเมืองแก้วอีกองค์ชื่อ “พระเมืองไชย” มาจากเวียงแหง กระทำพิธีราชาภิเษกตัดหน้าเสียก่อน

“พระเมืองไชย” คนนี้ก็คือ “ท้าวยี่” โอรสอีกองค์ที่เรากำลังตามหานั่นเอง เนื่องจากเราเจอองค์อื่นครบหมดแล้ว (ซึ่งก็ไม่ทราบว่าเกิดจากเทวีองค์ไหนของพระเมืองแก้ว?)

เรื่องราวของพระเมืองไชย ไม่ได้ปรากฏเพียงแค่ในโหราศาสตร์ล้านนาเท่านั้น หากยังพบในพื้นเมืองน่าน ระบุว่าพระเมืองเกษไม่ได้กระทำพิธีราชาภิเษก แต่มีการยกเอา “ท้าวไชย” จากเมืองแหงมาสวมพิธีราชาภิเษก ท้าวที่มาแทนพระเมืองแก้วเสวยราชย์ปี จ.ศ.888 อยู่ได้ 11 ปี ตรงกับ จ.ศ.900 ก็หายไป (ไม่ได้บอกว่าตาย/ถูกฆ่าหรือหายไปไหน?)

อ้าว ทำไมเหตุการณ์มันถึงได้โอละพ่อ ความวุ่นวะวุ่นวายของฝ่ายชายก็ไม่แพ้ฝ่ายหญิงหรือนี่ ขนาด “ท้าวไชย” หรือ “พระเมืองไชย” (ท้าวยี่) อุตส่าห์ผ่านพิธีราชาภิเษกขึ้นนั่งเมืองที่เชียงใหม่ถึงขนาดนี้แล้ว แต่ในตำนาน 15 ราชวงศ์ ก็ยังไม่นับว่าพระองค์เป็นหนึ่งในกษัตริย์ที่ครองราชย์สืบต่อจากพระราชบิดาพระเมืองแก้วอีกหรือนี่

ภาพจิตรกรรมรูปนางสีไวย (โมนาลิซ่าล้านนา) วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน

เหตุที่นครพิงค์ในขณะนั้น ยังมีศูนย์อำนาจอยู่อีกแห่งหนึ่งซึ่งแข็งแกร่งมั่นคงว่านครเชียงใหม่ นั่นคือ “เวียงกุมกาม” เมืองซึ่งหลายคนคิดว่าจมหายไปแล้วใต้บาดาลตั้งแต่ครั้งน้ำท่วมใหญ่สมัยพระญามังราย ทว่า ในความเป็นจริง ฝ่ายพระเมืองเกษเกล้าช่วงที่ไม่สามารถเข้านั่งเมืองเชียงใหม่ได้ พระองค์หาทางออกด้วยการรีบมายึดราชธานีเก่าแห่งนี้เป็นศูนย์บัญชาการปกครองแทน

ในฐานะที่เป็น “พระเมืองอ้าย” (เป็นพี่ชายของท้าวยี่-พระเมืองไชย ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นพี่น้องท้องเดียวคลานตามกันมาหรือไม่) ย่อมมีผู้สนับสนุนมากกว่าการนั่งบัลลังก์ที่เชียงใหม่ของน้องชาย

บทบาทของเวียงกุมกามกลับมาโดดเด่นกลายเป็นราชสำนักล้านนาอีกครั้งในสมัยพระเมืองเกษเกล้า น่าจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ไม่มีใครกล่าวถึง เราพบหลักฐานยืนยันเรื่องนี้ชัดเจน ในช่วงที่พระไชยราชายกทัพขึ้นมาประจัญหน้ากับเชียงใหม่

ช่วงที่พระไชยราชาจากกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาปราบศึกเชียงทอง (แถวตาก หรือจอมทอง?) ตรงกับสมัยของพระนางจิรประภามหาเทวี (ภายหลังการสวรรคตของพระเมืองเกษเกล้าใหม่ๆ) หลังจากนั้นพระไชยราชาก็ขึ้นมาจนถึงนครลำพูน

ในบันทึกของฝ่ายโปรตุเกสระบุว่า เมืองลำพูนเป็นพรมแดนอาณาเขตของนครพิงค์ และนครพิงค์มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เวียงกุมกาม (ไม่ได้บอกว่าศูนย์กลางอยู่ที่เชียงใหม่แต่อย่างใด) ที่เวียงกุมกามพระไชยราชาได้พบ “มหาเทวีแม่พระจอมเมือง” (โอรสอายุ 9 ขวบ) อัครชายาหม้ายของพระเมืองเกษเกล้า ซึ่งตอนแรกพระไชยราชาเข้าใจผิดคิดว่านางคือจิรประภามหาเทวี

มหาเทวีแม่พระจอมเมือง เกรงอำนาจบารมีของพระไชยราชาจึงได้ยกพระโอรส พระจอมเมือง ไปอยู่กับพระไชยราชาในราชสำนักอยุธยา

ต่อมาพระไชยราชายกทัพไปตีพันนาเชียงเรือ (ปัจจุบันอยู่แถวอำเภอสันทราย) ทรงได้ยินว่ากษัตริย์เชียงใหม่ (ไม่แน่ใจว่าหมายถึงจิรประภาหรือตั้งแต่ยุคพระเมืองเกษเกล้า?) กับเจ้าเมืองเชียงเรือไม่เป็นมิตรต่อกัน จึงรีบเดินทางไปเชียงใหม่ ในระหว่างที่รอเครื่องบรรณาการจากฝ่ายจิรประภามหาเทวีนั้น พระไชยราชาตั้งทัพอยู่ที่หนองเทพ เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่นอกเมืองเชียงใหม่ เมื่อรับเครื่องบรรณาการแล้ว พระไชยราชาประทับอยู่เชียงใหม่สักระยะก็เสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา

ทันทีที่เสด็จกลับอยุธยาได้ไม่นาน ฝ่ายลาวล้านช้างมีการส่งขุนนางเดินทางมารักษาเมืองที่เชียงใหม่ พระไชยราชาจักไม่มีวันทราบเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ได้เลย หากไม่มีราชเทวีที่ชื่อ “จอมใจ” คอยส่งข่าวเขียนสาส์นไปบอกให้พระองค์รู้ว่าทางล้านช้างเริ่มรุกคืบมาแล้ว อย่ารอช้าอยู่เลย

ยังความแค้นพระทัยมาสู่พระไชยราชาเป็นที่ยิ่งนัก ต้องยกทัพกลับมาอีกครั้ง พระองค์ทำการเผาเมืองลำพูน เข้ารั้งทัพอยู่ที่เมืองกุมกาม ให้ขุนนางเอาบรรณาการไปถวายมหาเทวีหม้าย (แม่พระจอมเมือง) เพราะยังเข้าเชียงใหม่ไม่ได้ ต้องใช้เวียงกุมกามเป็นฐานที่มั่น ในที่สุดเมื่อพระไชยราชายกทัพไปสู้กับเชียงใหม่ (เป็นกองกำลังผสมกับฝ่ายล้านช้าง) พระองค์ก็พ่ายแพ้กลับไป ซ้ำยังถูกท้าวศรีสุดาจันทร์วางยาจนสิ้นพระชนม์อีก

เหตุการณ์ช่วงนี้ค่อนข้างชุลมุนชุลเก บทบาทของ “นางเทวีจอมใจ” หรือ “นางพญาวิสุทธิเทวี” ชายาอีกองค์หนึ่งของพระเมืองแก้ว ค่อยๆ ปรากฏกายขึ้นมา เพื่อทวงชิงบัลลังก์ให้กับพระโอรสของพระนาง •