นางพญาวิสุทธิเทวี ศึกชิงบัลลังก์ตั่งทอง (1) / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

นางพญาวิสุทธิเทวี

ศึกชิงบัลลังก์ตั่งทอง (1)

 

พระราชประวัติของ “นางพญาวิสุทธิเทวี” กษัตริย์องค์สุดท้ายของอาณาจักรล้านนานั้นมีความสับสนคลุมเครือ ไม่ต่างจากมหาเทวีจิรประภา ยิ่งยุคหลังๆ มานี้ นักประวัติศาสตร์ล้านนาแทบจะต้องคอยแก้ไข ปรับเปลี่ยนข้อมูลใหม่ของพระนางปีต่อปีเลยทีเดียว

จากที่เคยเชื่อกันว่า พระนางเป็นชายาองค์หนึ่งของพระเจ้าบุเรงนอง และมีโอรสชื่อ “มังนรธาช่อ” ก็เริ่มรู้แล้วว่า ไม่ใช่! โอรสของพระนางชื่อ “ท้าวแม่กุ” ต่างหาก

และจากที่เคยคิดกันว่า นางน่าจะเป็นชายาของเจ้าชายไทใหญ่เชื้อปลายแถวแถบเมืองนาย ทำให้โอรสคือท้าวแม่กุมีสิทธิ์ขึ้นเป็นกษัตริย์

กลับกลายเป็นว่า นางคือชายาองค์หนึ่งของพระเมืองแก้ว ซึ่งเรื่องนี้บางท่านก็เพิ่งทราบ หลายท่านยังไม่ทราบ คงต้องขยายความกันอย่างละเอียดต่อไปว่าเอาหลักฐานอะไรมายืนยัน

อาจกล่าวได้ว่า เป็นมหาเทวีอีกนางที่ “ข้อมูลยังไม่นิ่ง” ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับพระนางหลายต่อหลายเรื่องยังไม่มีข้อยุติ โดยรวมแล้วคนทั่วไปทราบแต่เพียงว่า พระนางคือกษัตรีย์ล้านนาองค์สุดท้าย ซึ่งครองราชย์ในช่วงที่ล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า

ก็ถ้าข้อมูลยังไม่นิ่ง แล้วจะไปเขียนถึงพระนางทำไมเล่า เดี๋ยววันข้างหน้าก็ต้องแก้ไขปรับเปลี่ยนกันอีก

การที่ดิฉันมีความจำเป็นจะต้องนำเสนอเรื่องราวของมหาเทวีพระองค์นี้ ก็เนื่องมาจากเหตุผลสองข้อ

ข้อแรก ตอนที่เราพูดถึงเรื่องราวของมหาเทวีจิรประภา กับมหาเทวีแม่พระจอมเมือง (คนที่ “ทือเมืองเชียงใหม่หลังพระไชยเชษฐา) มีการทิ้งคำถามถึง “มหาเทวีอีกองค์หนึ่ง” ซึ่งอยู่ในสถานะ “คู่แข่ง” ไว้เป็นปริศนาอยู่ 2-3 จุด ดังนั้น ถึงคราวแล้วที่ต้องเฉลย

ข้อสอง อาจารย์ชัยวุฒิ ไชยชนะ ได้ค้นพบหลักฐานใหม่ๆ มีการอ่าน-ปริวรรตคัมภีร์ใบลานใหม่ จนได้ข้อมูลชัดเจนมากยิ่งขึ้น สำหรับการต่อจิ๊กซอว์ ไม่เพียงแต่ช่วยเติมเต็มประวัติของพระนางจิรประภามหาเทวีให้กระจ่างชัดขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงช่วยสะสางประวัติอันสับสนของนางพญาวิสุทธิเทวีได้อีกด้วย

 

ตำนาน 15 ราชวงศ์ไม่นับกษัตริย์หญิง

คําว่า “กษัตรีย์องค์สุดท้ายของล้านนา” เราสามารถกล่าวเช่นนี้ได้หรือไม่ ในเมื่อเอกสารโบราณของล้านนาเกือบทุกเล่ม ไม่ยอมนับเพศหญิงที่นั่งเมืองว่าเป็นกษัตรีย์เลย

คำว่า 15 ราชวงศ์ อันที่จริงควรใช้คำว่า 15 รัชกาลมากกว่า เป็นการนับกษัตริย์เฉพาะเพศชายที่ปกครองเมืองเชียงใหม่และล้านนาสืบต่อกันมาจนเสียเมืองให้แก่พม่า ดังนี้

1) พระญามังราย 2) พระญาไชยสงคราม 3) พระญาแสนพู 4) พระญาคำฟู 5) พระญาผายู 6) พระญากือนา 7) พระญาแสนเมืองมา 8) พระญาสามฝั่งแกน 9) พระเจ้าติโลกราช 10) พระญายอดเชียงราย 11) พระเมืองแก้ว 12) พระเมืองเกษเกล้า 13) ท้าวซายคำ 14) พระไชยเชษฐา และ 15) ท้าวแม่กุ

บางตำนานไม่นับพระไชยเชษฐา เนื่องจากเห็นว่าเป็นชาวล้านช้าง แต่กลับนับท้าวน้ำท่วมแทรกก่อนท้าวแสนพู รวมแล้วก็ 15 ในขณะที่บางตำนานไม่นับพระไชยเชษฐาและไม่เอาท้าวน้ำท่วม แต่นับพระเมืองเกษเกล้าครองบัลลังก์ 2 ครั้ง คือก่อนและหลังท้าวซายคำ รวมแล้วก็ 15 เช่นเดียวกัน

ถ้าเช่นนั้น จิรประภามหาเทวี คนที่รั้งเมืองก่อนพระไชยเชษฐา 1 ปี กับมหาเทวีแม่พระจอมเมือง อีกทั้งนางพญาวิสุทธิเทวี คนที่มานั่งเมืองปิดท้ายใต้ร่มเงาหงสาวดี สามนางนี้หายไปไหน

อยากจะชวนท่านช่วยนับลำดับกษัตริย์และกษัตรีย์ของล้านนาใหม่อีกครั้ง หากเราใจกว้างพอที่ไม่รังเกียจเพศแม่ นับกันแบบแฟร์ๆ ตามอย่างมาตรฐานสากล โดยที่ไม่จำเป็นต้องนับท้าวน้ำท่วม (เพราะปกครองเชียงใหม่แค่ช่วงสั้นๆ ในระหว่างที่พระราชบิดาพระญาไชยสงครามยังนั่งเมืองอยู่ที่เชียงรายด้วย) กรณีพระเมืองเกษเกล้าก็นับแค่ครั้งเดียวพอ ส่วนพระไชยเชษฐานั้นจำเป็นต้องนับ

ก็จะได้ผังออกมาว่า ลำดับกษัตริย์จาก 1 ถึง 13 ย่อมเหมือนเดิม แต่จะมีการเพิ่ม 3 มหาเทวีเข้ามาในช่วงปลายอาณาจักร ได้แก่

ลำดับที่ 14) มหาเทวีจิรประภา 15) พระไชยเชษฐา 16) มหาเทวีแม่พระจอมเมือง (บุคคลที่ถูกลืม ด้วยไปเข้าใจว่ามหาเทวีองค์นี้เป็นคนเดียวกันกับจิรประภา) 17) ท้าวแม่กุ และ 18) นางพญาวิสุทธิเทวี สรุปแล้วพระนางจะอยู่ในลำดับที่ 18

ทว่า ตำนานล้านนาเวลานับรายชื่อกษัตริย์ กลับบอกว่ามีแค่ 15 รัชกาล (ใช้คำเพี้ยนเป็น 15 ราชวงศ์) สะท้อนว่ามหาเทวีทั้งสามองค์นี้ ถูกมองว่าเป็นแค่การมานั่งเมืองแบบขัดตาทัพเท่านั้น กรณีของจิรประภา กับแม่พระจอมเมือง นั่งเมืองแค่ 1 ปี กับ 3 ปี อาจจะเรียกว่าขัดตาทัพพอได้

แต่กรณีของวิสุทธิเทวีนี่สิ นั่งเมืองนานถึง 14 ปี ยังควรเรียกว่าขัดตาทัพได้อีกล่ะหรือ?

ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ จ.น่าน

พระไชยเชษฐาส่งสาส์นถึงใคร

ฉบับก่อนดิฉันได้เปิดประเด็นว่า ช่วงที่พระไชยเชษฐาเสด็จกลับล้านช้างไปแล้ว และมหาเทวีจิรประภาก็สวรรคตไปก่อน พระไชยเชษฐาได้เขียนสาส์นมอบหมายให้ “มหาเทวีองค์หนึ่ง” ช่วยนั่งเมืองสืบต่อจากพระองค์

พระไชยเชษฐายังจะเขียนสาส์นไปหาใคร เพื่ออะไรอีก ในเมื่อความเป็นจริง ทันทีที่พระองค์กลับล้านช้างปั๊บ มีคนช่วงชิงบัลลังก์ได้นั่งเมืองก่อนแล้วคือ “มหาเทวีแม่พระจอมเมือง” ผู้ที่เราไม่ทราบชื่อจริง ทราบแต่ว่าเป็นชายาองค์หนึ่งของพระเมืองเกษเกล้า

การที่เรารู้ว่าพระนางได้นั่งเมือง ก็เพราะตำนานพระธาตุเจ้าหริภุญไชย เขียนไว้ชัดว่ามหาเทวีองค์นี้มีศักดิ์และสิทธิ์ในการนำเอาทองคำจำนวนมหาศาลจากท้องพระคลังไปถวายองค์พระมหาธาตุ

มหาเทวีแม่พระจอมเมืององค์นี้ จึงไม่สามารถเป็นคนเดียวกันกับมหาเทวีที่พระไชยเชษฐาเขียนจดหมายไปฝากฝังให้นั่งบัลลังก์แทนได้อีก

อาจารย์ชัยวุฒิ ไชยชนะ สันนิษฐานว่า “มหาเทวี” คนที่ได้รับจดหมายจากพระไชยเชษฐาก็คือ “นางพญาวิสุทธิเทวี” นั่นเอง แต่ในเอกสารก่อนหน้าที่นางจะได้นั่งเมืองเป็นกษัตรีย์ลำดับที่ 18 ต่อจากโอรสพระแม่กุนั้น นางมีชื่อเดิมว่า “มหาเทวีจอมใจ”

การส่งจดหมายของพระไชยเชษฐาไปยัง “มหาเทวีจอมใจ” (นางพญาวิสุทธิเทวี) นั้น อาจารย์ชัยวุฒิให้เหตุผลว่า ก็เพื่อใช้มือนางช่วย “คานอำนาจ” กับมหาเทวีแม่พระจอมเมือง นั่นเอง ประมาณว่าพระไชยเชษฐาไม่พอใจการฉวยโอกาสชิงบัลลังก์แบบฉับพลันทันด่วนของมหาเทวีแม่พระจอมเมือง ผู้เป็นชายาของพระเมืองเกษเกล้า

อีกทั้งพระไชยเชษฐาคงรู้ว่า ยังมีมหาเทวีอีกองค์หนึ่ง ซึ่งมีศักดิ์และสิทธิ์สูงพอๆ กัน เพราะนางเป็นชายาอีกองค์ของพระเมืองแก้ว ดังนั้น หากนางเองก็มีความปรารถนาในราชบัลลังก์ก็อาจใช้มือของนางช่วยจัดการมหาเทวีแม่พระจอมเมืองออกไปจากสารบบได้ง่ายขึ้น

เหตุการณ์ช่วงนี้แยบยลมาก ต้องอ่านเอกสารทุกชิ้นประกอบกันแบบวรรคต่อวรรค บรรทัดต่อบรรทัด หลายปีที่ผ่านๆ มา เราตีขลุมเอาทั้งหมดเองว่า “มหาเทวี” คนที่นั่งเมืองต่อจากไชยเชษฐาก็คือ จิรประภา มหาเทวีที่ไชยเชษฐาเขียนจดหมายมาถึงมอบบัลลังก์ให้ ก็คือจิรประภา ซ้ำจิรประภายังติดตามไชยเชษฐาไปล้านช้างอีก

จุดนี้เองที่อาจารย์ชัยวุฒิกล่าวว่า ต้องมีการชำระสะสางใหม่ทั้งหมด ทำให้เขาได้ทราบว่า ช่วงที่พระไชยเชษฐาใกล้เสด็จมาล้านนานั้น มีมหาเทวีที่จ้องจะช่วงชิงอำนาจกันอยู่ 3 นาง

คนแรกคือ จิรประภามหาเทวี เทวีองค์หนึ่งของพระเมืองแก้ว พระนางได้นั่งเมือง 7 เดือน และกำลังใกล้เสียชีวิตแล้วในวัย 64

คนที่สองคือ แม่ของพระจอมเมือง ผู้เป็นเทวีหม้าย หลังจากสวามีคือพระเมืองเกษเกล้าสวรรคต นางและโอรสวัย 9 ขวบ ต้องหลบหนีราชภัยจากราชสำนักเชียงใหม่ ไปประทับที่เวียงกุมกาม

คนที่สามคือ มหาเทวีจอมใจ หรือต่อมาคือนางพญาวิสุทธิเทวี คนที่เรากำลังจะวิเคราะห์เจาะลึกอย่างละเอียด ในเมื่อมหาเทวีองค์หนึ่งประทับอยู่เชียงใหม่ อีกองค์ก็ยึดเวียงกุมกามเป็นหัวหาด มหาเทวีองค์ที่สามนี้ จำต้องถอยร่นลงไปทางใต้แถบเมือง “หัวเคียน” ปัจจุบันอยู่แถวอำเภอจอมทอง

มหาเทวีผู้นี้เองที่พระไชยเชษฐาหมายตาไว้ว่า ในระหว่างที่พระองค์ประสบกับภาวะอันยากลำบากไม่สามารถกลับมาปกครองล้านนาได้อีกแล้ว ควรยืมมือนาง (เพราะรู้ว่านางเองก็ปรารถนาในบัลลังก์) มาช่วยคานอำนาจกับแม่พระจอมเมือง

ผังคำอธิบายจัดทำโดยอาจารย์ชัยวุฒิ ไชยชนะ

มหาเทวีจอมใจ VS มหาเทวีแม่พระจอมเมือง

เมื่อตัดมหาเทวีจิรประภาออกไป 1 ราย (เนื่องจากสวรรคตตั้งแต่ปี 2089 แล้ว) “ศึกชิงบัลลังก์ตั่งทองของราชสำนักฝ่ายใน” ก็จะตกอยู่ในการช่วงชิงระหว่างสองมหาเทวีคือ จอมใจ (ชายาพระเมืองแก้วผู้พ่อ) กับแม่พระจอมเมือง (ชายาพระเมืองเกษเกล้าผู้ลูก)

อนึ่ง ทั้งสองนางนี้ เคยมีการชิงไหวชิงพริบกันมาก่อนแล้ว ตั้งแต่การเสด็จมาเชียงใหม่ของพระไชยราชา กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา

ก็อีกเช่นเคย เราทุกคนต่างก็คิดว่า มหาเทวีคนเขียนสาส์นไปเชิญพระไชยราชาให้ขึ้นมาเชียงใหม่ คือ มหาเทวีจิรประภา (เพราะคิดว่าช่วงนั้นมีมหาเทวีอยู่แค่คนเดียว) บางท่านวิเคราะห์ไปถึงว่า เป็นเพราะจิรประภาเป็นญาติฝ่ายแม่ทางสุโขทัยกับพระไชยราชาอีกด้วย ซึ่งข้อสมมุติฐานเหล่านี้เราไม่ว่ากัน ทุกท่านพยายามจะไขข้อข้องใจ ว่าทำไมเดี๋ยวจิรประภาดึงพระไชยราชามา เมื่อพระไชยราชากลับ ก็ยังไปดึงพระไชยเชษฐามาอีก

จุดนี้เราต้องค่อยๆ ชำระสะสางกันอย่างละเอียด ว่าใครอยู่ฝ่ายไหนกันแน่ ใครเป็นคนเขียนสาส์นไปเชื้อเชิญพระไชยราชาขึ้นมา ใครหนอแอบส่งข่าวไปบอกถึงสภาพความอ่อนแอของเชียงใหม่ให้พระไชยราชาทราบ คนผู้นั้นจะเป็นคนเดียวกันกับมหาเทวีจิรประภาได้อย่างไรกัน เพราะหากจิรประภาทำเช่นนั้นก็เท่ากับการเผาบ้านตัวเอง

ผู้ทำการชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน ในช่วงที่จิรประภากำลังนั่งเมือง ควรเป็นใคร จอมใจหรือแม่จอมเมือง?

เรื่องค่อนข้างซับซ้อน ต้องอรรถาธิบายกันยืดยาว โปรดติดตามฉบับหน้า •