ประลัยจุมพ่าย ‘กับระเบิดทางตัวอักษร’ ของ ‘บัญชา อ่อนดี’ | บทความพิเศษ

บทความพิเศษ | มีเกียรติ แซ่จิว

 

ประลัยจุมพ่าย

‘กับระเบิดทางตัวอักษร’

ของ ‘บัญชา อ่อนดี’

 

สารภาพว่า ‘แพ้ทาง’ งานเขียนประเภทนี้ ประเภทที่ ‘ผู้หญิง’ ต้องถูกบททดสอบในชีวิตมาอย่างสาหัสสากรรจ์ (หนักยิ่งกว่าผู้ชาย) และไม่ได้รับความเท่าเทียมในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ อีกทั้งยังต้องยอมจำนนต่อโชคชะตาดังต้องคำสาปให้พ่ายหมดสิ้นหนทาง

มองตามเนื้อผ้าในสื่อสังคมที่มักตีแผ่ปัญหาและนำเสนออยู่บ่อยครั้ง หญิงสาวถูกลวงมาขายบริการมีมานานจนแทบเป็นส่วนหนึ่งในความคุ้นชิน (อย่างน้อยๆ ในบทเพลงนางงามตู้กระจก ก็ได้บันทึกย่อหน้าประวัติศาสตร์นี้ไว้) ทั้งพ่อแม่ขายใช้หนี้สิน ทั้งมาด้วยตัวเอง ทั้งถูกบังคับขืนใจมา โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย โดนข่มขู่ต่างๆ นานา ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใครได้จากที่ไหน เมื่อลี้ภัยมาอยู่ต่างบ้านต่างเมือง

การถูกนำไปค้าบริการโดยไร้มือเมตตามองเห็น หยิบยื่นเข้าช่วยเหลือ จากประเทศหนึ่งข้ามสู่อีกประเทศหนึ่ง ถูกกระทำชำเรารุมโทรมราวกับร่างกายเป็นของเล่น ไร้หัวจิตหัวใจ ความเป็นมนุษย์ถูกกดให้ต่ำ

และยากเกินกว่าที่จะกลับมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ได้อีกครั้ง

 

สารภาพว่าอ่านงานเขียนประเภทนี้แล้วหดหู่ สิ้นหวัง แต่ก็เป็นความจริงที่ยากปฏิเสธและแสดงให้เห็นถึงมนต์เสน่ห์ของเรื่องสั้น ‘ประลัยจุมพ่าย’ ของ ‘บัญชา อ่อนดี’ ที่เข้ารอบการประกวดเรื่องสั้นมติชนอวอร์ด ซึ่งหากลองได้อ่าน จะรู้ซึ้งว่าทุกตัวอักษรที่บรรจงร้อยเรียงออกมาถูกจัดวางไว้อย่างกระชับรัดกุมราว ‘กับระเบิดทางตัวอักษร’ ที่เหยียบแล้วดังก้องอยู่ในหัวใจผู้อ่านแทบจะทุกย่อหน้า ทุกบรรทัด ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง

และขอสารภาพดังๆ อีกสักครั้งว่า ที่กล่าวมาแต่ต้นเป็นเพียงแค่ ‘ส่วนหนึ่ง’ ที่หยิบยกมาพูดถึงเท่านั้น

ผู้เขียนบทความสนใจการวางกับระเบิดเป็นระยะๆ ของบัญชา อ่อนดี นักเขียนหน้าเก่าที่คว้ารางวัลมาแล้วหลายเวที แต่ก็ยังไปไม่สุดทางในเวทีประกวดใหญ่อย่างรางวัลซีไรต์ (ถ้าเราตั้งธงว่าซีไรต์เป็นหลักไมล์) แต่ในแง่ของตัวเนื้องานนั้นคงไม่ต้องพูดถึง (และในบทความชิ้นนี้ก็จะไม่เยิ่นเย้อย้อนทวนให้มากความ) เรียกได้ว่าบัญชาดึงคนอ่านเข้าสู่ความใคร่สงสัยตั้งแต่ย่อหน้าแรก (เผลอเหยียบกับระเบิดดังตู้ม!)

‘…คนอย่างพวกเรามันจะมีสิทธิ์อะไร…’

คำถามนี้ผุดเงียบงันอยู่ในใจผมเสมอ เมื่อได้ฟังเธอกล่าวอ้างอย่างจริงใจใสซื่อ

เราคนอ่านสนใจแทบจะในทันทีว่า เธอเผชิญวิบากกรรมใดในชีวิตมาให้ต้องร้าวรานรันทดและเรียกร้องหาสิทธิ์ คำถามที่อยากตะโกนออกไปดังๆ ถึง ‘คนอย่างพวกเรา’ ความสงสัยทำให้ละสายตาจากความลื่นไหลทางตัวอักษรไปได้ยาก

นอกจากการเรียกร้องหาสิทธิ์ ผมในเรื่องสั้นยังเปรียบเธอเป็นดัง ‘แม่หงส์ไพรในโลกใบเล็กของผม’

 

ผู้เขียนบทความจำเป็นต้องขอคาราวะหนึ่งจอกให้กับไม่กี่บรรทัด ระเบิดทางตัวอักษรลูกแรกที่บัญชาวางไว้ ถัดมาอีกลูกก็ดังตูมเข้าใส่หัวใจเมื่อผมย้อนถึงตอนเจอเธอครั้งแรก

“ทำไมหนูไม่มีสิทธิ์”

“ลองนึกดูดีๆ อีกสักครั้งสิ บ้านคุณเลขที่เท่าไหร่” พูดพร้อมกดสัญญาณให้เหล็กกั้นประตูเข้าหมู่บ้านเปิดแล้วจึงยกมือทำท่าวันทยหัตถ์แสดงความเคารพรถเก๋งคันสีดำกับสีขาวที่ขับตามกันมา

คนหนึ่งเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยของหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่ง ส่วนอีกคนมาตามหาบ้านที่จำเลขที่บ้านไม่ได้ ซ้ำไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีนามสกุล เธอแปลกหน้าสำหรับเขา แต่เป็นคนบ้านเดียวกันที่อพยพย้ายถิ่นเข้ามาต่างบ้านต่างเมืองเหมือนแรงงานต่างด้าวคนอื่นๆ ที่ข้ามเขตแดนเข้ามาหางานทำ เขาไม่รู้จักเธอเป็นการส่วนตัว แต่ความเป็นรกรากเดียวกัน ทำให้เขาอยากให้ความช่วยเหลือคนบ้านเดียวกันที่จดจำบ้านเลขที่ตัวเองไม่ได้

ฉากดังกล่าวเล่าผ่านภาพเปรียบเทียบของคนตัวเล็กที่กำลังทำหน้าที่ ‘ยกมือทำท่าวันทยหัตถ์แสดงความเคารพรถเก๋ง’ ซึ่งแสดงถึงความมีฐานะและอำนาจที่เหนือกว่าของคนขับที่อยู่ภายในยวดยานพาหนะที่ทั้งเย็นและสะดวกสบาย ต่างกับสภาพอากาศภายนอกตอนกลางวันที่ร้อนและคนตัวเล็กต้องยืนตะเบ๊ะทำหน้าที่ในชุดเครื่องแบบ (บัญชาเน้นย้ำภาพเปรียบนี้อีกหลายครั้ง) อีกทั้งในเนื้อที่สั้นกระชับ ผู้เขียนยังส่งสารบอกเล่าเรื่องราวที่ร้อนระอุยิ่งกว่าภาพของคนตัวเล็กในบ้านเมืองอื่น แต่เป็นสภาพบ้านเมืองที่ร้อนระอุยิ่งกว่าเพลิงนรก

‘ผมมองหน้าเธอแล้วเบือนไปหาวิทยุทรานซิสเตอร์ เอื้อมมือไปหรี่เสียงที่กำลังรายงานสถานการณ์นองเลือดในมัณฑะเลย์ โดยล่าสุดเด็กหญิงวัยเจ็ดขวบถูกกระสุนลูกหลงฝ่ายทหารถึงขั้นเสียชีวิตอยู่ในตักพ่อ’

 

จากนั้นระเบิดลูกถัดมายิ่งทวีความรุนแรงหนักขึ้น เมื่อเราได้รู้จักชื่อของเธอ ‘จันทร์นารี’ พร้อมทั้งเรื่องราวแต่หนหลัง ต้นสายปลายเหตุที่เธอมายืนอยู่หน้าหมู่บ้านแห่งนี้ (“อาจเป็นเพราะบ้านใหญ่หลังนั้นอยู่ไม่ห่างจากบึงขนาดใหญ่ ระหว่างบึงกับบ้านมีต้นฉำฉายักษ์คั่นกลาง”) พร้อมทั้งนิทานเรื่อง ‘ประลัยจุมพ่าย’ ที่แม่เคยเล่าให้เธอฟัง

‘หงส์ตัวหนึ่งจำใจต้องบินไกลจากเมืองเกิด ฝ่าภูเขา ข้ามแม่น้ำ เลาะลำธาร บากหน้ามายังอีกบ้านเมืองหนึ่ง ท้ายที่สุดแม้นชะตากรรมอนุญาตให้มีชีวิตรอด ทว่า กลับต้องแลกด้วยสถานภาพอีกแบบหนึ่ง

จากหงส์กลายเป็นนกกระจอกที่บินไปได้ไม่เกินขอบเขตที่ถูกกำหนด’

ฉากดังกล่าวโยงใยให้พนักงานรักษาความปลอดภัยหวนคิดถึงเรื่องราวแต่หนหลังของตนเช่นเดียวกัน ความที่ครอบครัวไม่ได้มีอะไรพร้อมไม่ต่างจากหญิงสาวที่ตอนนี้ไม่แปลกหน้าต่อกันแล้ว ทำให้คนหัวอกเดียวกันเข้าใจกันได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัวที่เข้ามาเป็นแรงงานก่อสร้างตอนที่พวกเขายังเด็กๆ ความทรงจำในเรื่องผ้าผืนเก่า สายรกที่ถูกฝังอยู่ใต้ร่มไทรใหญ่ในหมู่บ้าน ‘ปาลัยตุมพ่าย’ ที่จากมา

แต่ถึงที่สุดเรื่องราวของเขาก็ยังไม่หนักเท่ากับเรื่องราวของเธอที่ได้ประสบพบเจอ เมื่อชีวิตของจันทร์นารีต้องระหกระเหินและร่วงดิ่งยิ่งกว่านิทานที่แม่เล่าให้เธอฟัง เธอไม่ได้เป็นทั้งหงส์หรือนกกระจอก แต่เธอเป็นเหมือน ‘นกกระดาษ’ ที่ถูกพับ ขว้างปาแล้วลอยตกพื้น ก่อนจะถูกมือชายอีกหลายคนฉีกขาดโปรยเกลื่อนพื้น ยิ่งกว่าความเจ็บปวดในชีวิต

คือแม้แต่สิทธิ์ที่จะปกป้องร่างกายตัวเองยังไม่มี โดนกระทำย่ำยีจากอำนาจอภิสิทธิ์ที่มีเหนือกว่าบำเรอกามจากร่างกายที่ร่ำร้องจนแทบไม่เหลือน้ำตา

‘ชีวิตเธอผ่านประสบการณ์มากพอแล้ว มากกว่าผมที่แบกปืนปกป้องชาติพันธุ์ตัวเองตั้งแต่อายุสิบขวบ ก่อนจะผ่านมาเป็นคนขับเรือรับส่งนักท่องเที่ยว กระทั่งเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านจัดสรรชานเมืองที่โครงการด้านหน้าติดแม่น้ำ ด้านหลังติดภูเขา ซึ่งราคาสูงสุดของจังหวัดนี้’

 

เราคงได้ยินเสียงระเบิดตูมตามดังในหัวใจอยู่เป็นระยะๆ ขณะที่อ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้ นอกจากเธอจะเป็นคนต่างด้าว ไม่มีบ้าน ไม่มีนามสกุล ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีการศึกษา แม้แต่ร่างกายของตัวเองก็ยังไม่มีสิทธิ์ แต่หนึ่งสิ่งที่หล่อเลี้ยงให้ชีวิตของเธอยังดำรงอยู่จนได้มาพบเขาหน้าหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่งคือภาพของครอบครัวพร้อมหน้าตอนที่พ่อแม่อยู่ด้วยกัน ตอนนั้นแม่เล่านิทานเรื่องหงส์ที่กลายมาเป็นนกกระจอกให้เธอฟัง

‘แม่หงส์ไพรในโลกใบเล็กของผม’ เสียงในความนึกคิดตอนแรกที่กล่าวถึงเธอ ก็เป็นระเบิดอีกลูกหนึ่งเมื่อเขาตัดสินใจพาเธอซ้อนจักรยานปั่นเข้าไปในหมู่บ้านตอนดึกดื่นเพื่อพาเธอไปชี้ ‘บ้านหลังใหญ่’ ที่มีต้นฉำฉาคั่นกลางระหว่างบึงขนาดใหญ่ และสิ่งสุดท้ายที่เธอเคยคิดว่าเป็นเจ้าของมาตลอดก็เป็นที่ของคนอื่น สิ่งปลูกสร้างที่มาจากหยาดเหงื่อแรงงานทุกหยาดหยดของคนตัวเล็กๆ แต่ไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของ

‘กว่าจะยินยอมซ้อนท้ายจักรยานกลับห้อง ผมต้องใช้เวลาเกลี้ยกล่อมอยู่หลายนาที ระหว่างทางจันทร์นารีซบหน้ากับแผ่นหลังของผมก่อนรู้สึกได้ถึงน้ำอุ่นซึมผ่านเสื้อแล้วทุบใส่นับครั้งไม่ถ้วน ผมไม่ตอบโต้ เพียงแค่ปลอบประโลม กระนั้นเธอยิ่งทุบแรงขึ้น คราวนี้ผมปิดปากเงียบปล่อยให้เธอทำตามอารมณ์

กับระเบิดทางตัวอักษรในย่อหน้าสุดท้ายนี้ ได้เน้นย้ำประเด็นเกี่ยวกับ ‘สิทธิ์’ ที่ละเอียดอ่อนที่สุดนอกจากประเด็นแรงงานต่างด้าวไม่มีสิทธิ์ในบ้านเมืองอื่น ไม่มีสิทธิ์ในร่างกายที่ถูกเหล่าชายมักมากในกามลิดรอนสิทธิ์ แต่หนึ่งสิทธิ์ในแง่ของความรู้สึก เธอสามารถระบายออกมาได้เต็มที่บนแผ่นหลังของคนที่พร้อมจะให้สิทธิ์นั้นแก่เธอ

‘เพราะนี่เป็นสิทธิ์ของเธอ’

สารที่ทรงพลังที่สุดคงอยู่ที่ประโยคนี้ คนจะเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นหงส์หรือนกกระจอก ไม่ว่าอาชีพการงานใด คนจะเท่าเทียมกัน อยู่ที่เราจะ ‘ให้เกียรติ’ หรือ ‘รังเกียจ’ สิทธิ์ขั้นพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ด้วยกัน

งานชิ้นนี้ของ ‘บัญชา อ่อนดี’ จึงทิ้งกับระเบิดลูกสุดท้ายนี้เอาไว้ เพื่อให้เรากลับมาถามหัวใจของตัวเอง