คณะทหารหนุ่ม (8) | ข้อเสนอ “ถุงเงิน” ท้ายรถเบนซ์ หาแนวร่วมยึดอำนาจ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ บันทึกต่อไป

“ท่านเอารายชื่อกองกำลังต่างๆ ที่จะเข้าร่วมในการปฏิวัติครั้งนั้นให้ดู ผมเห็นรายชื่อกองพันต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ ปราจีนบุรี ลพบุรี กาญจนบุรี แต่ผมก็ยังไม่เชื่อใจคนบางคนได้เต็มร้อยนัก ส่วนที่ผมไม่มั่นใจคือส่วนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ผมไม่แน่ใจว่าเขาจะมีความกล้าพอ หลายคนแล้วก็หลายหน่วยด้วย เพราะการปฏิวัติครั้งนี้ เราไม่ได้เป็นฝ่ายรัฐบาลแล้วทำการปฏิวัติ คือไม่ใช่เป็นฝ่ายที่ได้เปรียบแล้วทำ แต่เป็นฝ่ายที่เสียเปรียบ เป็นฝ่ายที่มีกำลังพลน้อยกว่า ไม่มีอำนาจรัฐ กระแสก็ไม่ให้เพราะเขาเพิ่งปฏิวัติกันไปใหม่ๆ สีหน้าผมคงแสดงออก

พระศิริหิรัญโญจึงเอ่ยขึ้นว่า ถ้าน้องไม่พร้อมก็กลับบ้านไปเถอะ ไม่ว่าอะไร ผมถึงกับอึ้ง จ้องหน้าพระภิกษุผู้เคยเป็นนายที่มีเมตตาและพร่ำสอนเรามา เห็นแววตาอันเด็ดเดี่ยวและสีหน้าที่บ่งบอก ไม่มีอะไรจะมาเปลี่ยนใจท่านได้แล้ว ผมถึงกับถอนหายใจเบาๆ พร้อมกับพยักหน้าให้ท่าน พลางพึมพำในลำคอว่า…ตายก็ต้องตาย ท่านจึงยิ้มออกพลางพูดปลอบใจผมด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนว่า ขอให้วางใจพวกเขาเถอะ

หลังจากนั้นท่านอธิบายแผนทั้งหมดและภารกิจต่างๆ ในส่วนที่ผมต้องรับผิดชอบ เมื่อผมได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบรองลงไปจากท่าน ผมจึงต้องทราบหมดว่ากำลังส่วนไหนเข้ายึดอะไร ในเวลาเท่าไหร่ ปฏิบัติการในครั้งนี้ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ท่านเป็นคนวางแผนเอง ประสานกำลังส่วนต่างๆ เอง

เมื่อแผนต่างๆ วางไว้เสร็จ กำลังส่วนทั้งหมดจัดวางตามแผนเรียบร้อยแล้วถึงขั้นปฏิบัติการ ผมจึงต้องคอยประสานกำลังเหล่านั้นให้เข้ามาตามแผนให้ได้ตรงตามเวลาแต่ละจุด นั่นเป็นภารกิจอันหนึ่ง อีกอันหนึ่งผมต้องติดตามข่าวตรวจสอบการเคลื่อนไหวของฝ่ายรัฐบาลตลอดเวลา

แผนการยึดอำนาจครั้งนี้กำหนดวันดีเดย์เอาไว้เป็นวันที่ 26 มีนาคม 2520 กำลังหลักที่จะเข้ายึดสวนรื่นฤดี เราจะใช้กำลังทหารจากกาญจนบุรี ภายใต้การนำของ พ.ต.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ และ พ.ต.วิศิษฐ์ คงประดิษฐ์ จะนำกำลังทหารเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ เวลา 03.00 น. ของเช้าวันที่ 26 มีนาคม นั่นเอง”

 

ความเกี่ยวข้องกับคณะทหารหนุ่ม

ในบันทึก “ผมผิดหรือที่ยึดกรือเซะ” พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ก็ได้รับการชักชวนจาก พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ให้เข้าร่วมก่อการครั้งนี้ด้วย

“ท่านสนิทกับผมตอนผมยังเป็นเด็ก ท่านเป็นผู้บังคับกองร้อยอยู่ที่อุดรธานี บ้านท่านติดกับบ้านผม แล้วนายทหารสมัยก่อนเขาจะขี่ม้า เวลาท่านมา ผมก็จะเอาม้าของท่านไปเลี้ยง ไปขี่เล่น ก็เลยสนิทกันเรียกคำว่า ‘อา’ มาตลอด

ช่วงหนึ่งท่านมีปัญหาทางการเมืองก็โดนย้ายประจำโดนแขวน แล้วท่านก็ไปบวช ผมก็นำกำลังพลขึ้นภูหินร่องกล้า ท่านไปหาผมที่เมืองกาญจน์ แต่ไม่ได้เข้าไปในกองพัน ไปพบผมกับ พ.ต.วิศิษฐ์ คงประดิษฐ์ ซึ่งเป็นรองผู้บังคับกองพันหนึ่งไม่ใช่กองพันผม ท่านขอพบผมที่วัดห้วยน้ำตื้นที่เมืองกาญจน์ ท่านก็ระบายถึงความคับแค้นใจ ท่านก็ชวนผมปฏิวัติ

ผมก็เรียนท่านว่า คุณอา การปฏิวัตินั้นมันต้องมีเงื่อนไข เพราะช่วงนั้นมันไม่มีเงื่อนไขอะไรเลย แล้วมันเพิ่งเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคมไปไม่นาน เขาเพิ่งฟอร์มรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ‘รัฐบาลหอย’ ขึ้นมา ท่านก็เดินไปเปิดท้ายรถเบนซ์ของท่าน โอ้โห…เงินเป็นตั้ง ท่านว่าเราจะเอาเงินเท่าไหร่

ผมบอกคุณอา เงินไม่สำคัญสำหรับผม แต่มันไม่มีเงื่อนไขจริงๆ เพราะการปฏิวัติต้องมีเงื่อนไข ท่านโกรธมากปิดท้ายรถปัง ผมก็บอกคุณอารอไปก่อนสิครับ ท่านก็บอกว่าจะปล่อยให้จนกระทั่งเหี่ยวตายไปหรือไง ตอนนั้นท่านแค้นเรื่องโดนย้ายประจำ เพราะท่านเป็นรอง ผบ.ทบ. ท่านโกรธผมมาก ท่านก็กลับไป

ผมก็ขึ้นไปภูหินร่องกล้า วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ผมได้มาราชการที่พล 9 และก่อนที่ผมจะขึ้นภูหินร่องกล้า พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ขณะนั้นยศพันตรี เป็นรองผู้พัน ผมให้เขาเฝ้ากองพันไม่ได้ให้ขึ้นไปด้วย เซ็นคำสั่งให้เขาทำการแทนผมได้มาหาผมที่บ้าน เอาเงินมาถุงใหญ่ ผมกะว่าคงหลายล้านมาชวนผมพร้อมกับเอาเงินให้ผม ผมอบรมเขาว่า ไอ้เลิศ อย่าไปคิดทำเลย ไม่มีทางสำเร็จเพราะว่า หนึ่ง…เงื่อนไขไม่มี สอง…ผู้บังคับกองพันที่อยู่ในกรุงเทพฯ รุ่นเดียวกับผมทั้งนั้น แล้วเขาไม่เอา พล.อ.ฉลาด”

ทั้งเงินที่ท้ายรถเบนซ์และเงินถุงใหญ่ที่ พ.ต.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หอบมาให้ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี นั้นทำให้เชื่อได้ว่า ความพยายามยึดอำนาจของ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ครั้งนี้น่าจะต้องมี “สปอนเซอร์” รายใหญ่ให้การสนับสนุนอย่างแน่นอน

 

หน่วยทหารในกรุงเทพฯ

ที่พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี กล่าวว่า เพื่อน จปร.7 ในกรุงเทพฯ ไม่เอา พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ นั้น ขณะนั้น จปร.7 ที่คุมกำลังในกรุงเทพฯ มีดังนี้…

พ.ท.มนูญ รูปขจร ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 4

พ.ท.ชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล ผู้บังคับกองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 1

พ.ท.เชิดศักดิ์ แสงช่วงโชติ ผู้บังคับกองพันบริการ มณฑลทหารบกที่ 1

พ.ท.ธีระวัฒน์ เอมะสุวรรณ ผู้บังคับกองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 11

พ.ท.นานศักดิ์ ข่มไพรี ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1

และ พ.ท.แสงศักดิ์ มังคละศิริ ผู้บังคับกองพันทหารช่างที่ 1

 

กำลังจากกาญจนบุรี

พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ เล่าให้ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ฟังถึงภารกิจการนำกำลังจากกาญจนบุรีมายึดอำนาจครั้งนั้นว่า

“เมื่อรับปากเข้าร่วมกับ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ แล้วก็ได้รับมอบหมายให้เอากำลังเข้าไปยึดสวนรื่นฤดี ผมเองมีความมั่นใจมากต่อภารกิจนี้ เพราะเมื่อจบโรงเรียนนายร้อยก็ไปประจำอยู่ที่กองพล 9 กาญจนบุรี พอปี 2515-2516 ผมเอากำลังขึ้นไปรอยต่อ 3 จังหวัดพิษณุโลก เลย และเพชรบูรณ์ พอปี 2518 ก็ขึ้นเชียงราย ผมก็เอากำลังพล 9 นี่แหละไป ก็เลยมั่นใจว่าต้องเอากำลังไปได้ตามแผนวันดีเดย์นั้น

อีกอย่างหนึ่งตอนนั้นผมทำการแทนอยู่ 2 กองพัน เพราะผู้พันท่านเอากำลังขึ้นรอยต่อที่หล่มสัก เวลานั้นท่านเป็นผู้พัน ผมเป็นรองผู้พันก็ต้องทำการแทน ในขณะเดียวกันเขาก็จัดให้ผมอยู่ ร.19 พัน 3 คือกรมทหารราบที่ 19 กองพันที่ 3 และกองทัพบกกำลังจะออกคำสั่งให้ผมเป็นผู้พันอยู่แล้ว ตอนนั้นก็เท่ากับว่าผมมีกำลังอยู่ 2 กองพันไม่เต็ม เพราะกำลังส่วนหนึ่งต้องขึ้นไปรบที่ภูหินร่องกล้า ที่เหลือพอนับได้ก็ราวๆ 300 กว่าคน และผมก็มีเพื่อนร่วมด้วยอีกคนหนึ่งคือ พ.ต.วิศิษฐ์ คงประดิษฐ์ ผมกับเพื่อนก็ตกลงกันว่า เราจะยึดรถบรรทุกอ้อยเอามาบรรทุกกำลังพลเข้าไปกรุงเทพฯ เพื่อพรางกำลังไม่ให้ฝ่ายรัฐบาลรู้การเคลื่อนไหวของเรา

เวลา 23.30 น.ของคืนวันที่ 26 มีนาคม เราจะออกเดินทางให้เข้าถึงพื้นที่ราว 03.00 น. ถึง 04.00 น. ของวันที่ 26 มีนาคม ผมกะเวลากันไว้อย่างนั้น…”