ด๊ำดำ (2) / จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร
“แต่งงานขุนช้างกับนางวันทอง” จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผนที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี จิตรกรผู้วาดภาพ เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๗

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี

ญาดา อารัมภีร

 

ด๊ำดำ (2)

 

สีในจำพวกดำมีหลายสี เช่น สีมินหม้อ สีเขม่า สีหมึก ฯลฯ

“อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์อธิบายความหมายว่า

“ดำ, คือ อาการสิ่งของทั้งปวงที่ศรีเปนเขม่า, เหมือนอย่างหมึก เปนต้น (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

น่าสังเกตว่าเมื่อกวีกล่าวถึงสีดำมักนำสีของมินหม้อ เขม่า หรือหมึกมาเทียบเคียง ทั้งสามล้วนเป็นสิ่งใกล้ตัวอยู่ในวิถีชีวิตคนไทยสมัยก่อน

เขม่าเป็นได้ทั้งละอองดำๆ ที่เกิดจากควันไฟหรือดินปืน ทั้ง ‘เขม่า’ และ ‘มินหม้อ’ ล้วนเป็นผงดำๆ หรือละอองดำๆ เหมือนกัน เขม่าดำๆ ที่ติดก้นหม้อดิน คือ ‘มินหม้อ’

พูดเพี้ยนเป็น ‘ดินหม้อ’ ก็มี

 

ในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอนขุนช้างคลั่งรักคิดถึงแต่นางพิมพิลาไลย สภาพสิ้นสง่าราศี หน้าเคยผ่องใสกลับดำคล้ำ เคยสะอาดกลับสกปรก เคยอ้วนกลับผอม ทำให้แม่ผิดสังเกต

“ครานั้นเทพทองผู้มารดา เห็นหน้าขุนช้างนั้นมัวหมอง

กิริยาจริตผิดทำนอง ยกสองมือลูบเจ้าขุนช้าง

หน้าคล้ำดำสิ้นดังมินหม้อ ขี้ไคลท่วมคอดูผิดอย่าง

เอวไหล่ไผ่ผอมจนย่อมบาง บอกมาอย่าพรางแก่มารดา”

ในที่นี้ ‘ดำสิ้นดังมินหม้อ’ คือ ดำมอมแมมกระดำกระด่าง เปรอะเปื้อน หน้าดำเพราะความทุกข์กัดกร่อนใจ สภาพของขุนช้างวัยหนุ่มรุ่มร้อนรัก (ตอนยังไม่ได้นางพิมฯ) กับขุนช้างวัยกลางคน (มีนางพิมฯ หรือวันทองเป็นเมียแล้ว) ดูจะครือๆ กัน ดังจะเห็นได้จากตอนที่พระไวยเดินตามรอยพ่อขุนแผนสะกดคนขึ้นเรือนขุนช้าง อ้อนวอนขอพาแม่วันทองไปอยู่ด้วยกันแม่ลูกอีกครั้ง โดยให้เหตุผลต่างๆ นานาว่าแม่ควรทิ้งขุนช้างเสีย

“มาอยู่ไยกับอ้ายหินชาติ แสนอุบาทว์ใจจิตริษยา

ดังทองคำทำเลี่ยมปากกะลา หน้าตาดำเหมือนมินหม้อมอม”

‘ดำเหมือนมินหม้อ’ ก็แย่อยู่แล้ว ยังเน้นว่าเป็น ‘มินหม้อมอม’ เพิ่มความขะมุกขะมอมมอซอให้ขุนช้างพ่อเลี้ยงอีกหลายเท่า

พระไวยขอร้องแกมบังคับพาแม่กลับไปด้วยจนได้ พ่อขุนแผนเห็นเป็นโอกาสฟื้นสัมพันธ์รัก แต่นางวันทองไม่ยอมทำผิดซ้ำอีก กับขุนแผนถึงเคยเป็นเมียเก่า แต่ตอนนี้มิได้ตัวเปล่า ได้ชื่อว่าเป็นเมียขุนช้าง

“ถึงตัวไปใจยังนับอยู่ว่าผัว น้องนี้กลัวบาปทับเมื่อดับจิต

หญิงเดียวชายครองเป็นสองมิตร ถ้ามิปลิดเสียให้เปลื้องไม่ตามใจ”

นางเท้าความให้ฟังว่าครั้งก่อนที่ถูกขุนแผนพาหนีขุนช้าง นางจำยอมตกที่นั่งคนชั่ว ตั้งท้องพลายงามหรือพระไวย

“คราวนั้นเมื่อตามไปกลางป่า หน้าดำเหมือนหนึ่งทามินหม้อไหม้”

ทุกข์ที่โถมทับทำให้นางหม่นหมองไร้สุข ฉายชัดผ่านใบหน้าดำคล้ำราวกับทาด้วยมินหม้อไหม้

กวีไม่เพียงเปรียบสีดำกับ ‘มินหม้อ’ ยังนำ ‘เขม่า’ มาเทียบเคียง ดังตอนที่หมื่นหาญพ่อตาลองฤทธิ์ลูกเขย สั่งให้ทหารระดมยิงปืน 20 กระบอกใส่ขุนแผน ยิงแล้วยัดลูกปืนใส่ใหม่ ยิงติดต่อกันไปไม่หยุด เสียงปืนดังสนั่นหวั่นไหว ไม่เห็นตัวขุนแผน เห็นแต่ควันปืน ยิงจนกระสุนหมดเกลี้ยง สิ้นเสียงปืนทหารทั้งหลายตกตะลึงภาพขุนแผนดำมอมแมมไร้รอยขีดข่วน ทั้งยังมีท่าทีสบายๆ เหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น

“ว่าพลางทางลุกมาผลัดผ้า หน้าตาดำดังเขม่าไต้

ด้วยดินปืนเปื้อนตัวออกทั่วไป เพื่อนมิได้อนาทรร้อนรน”

ใบหน้าขุนแผนดำไม่ต่างกับเขม่าดำๆ จากไต้ ซึ่งเป็นของใช้สำหรับจุดไฟให้สว่าง ทำด้วยไม้ผุหรือเปลือกเสม็ดคลุกน้ำมันยาง ห่อด้วยใบไม้เป็นดุ้นยาวๆ

 

นอกจากมินหม้อและเขม่ายังมี ‘หมึก’ ที่กวีนำมาเปรียบกับหน้าตาและผิวพรรณ ตอนหนึ่งของบทละครนอกของรัชกาลที่ 2 เรื่อง “ไชยเชษฐ์” นางอุบลวดีประชดประชันพระไชยเชษฐ์สวามีไปถึงนางสุวิญชาที่คลอดลูกเป็นท่อนไม้ว่า

“ข้านี้ขี้ข้าอยู่ในเรือน มันไม่เหมือนหม่อมแม่เจ้าท่อนสัก

แต่ขับไล่ไปแล้วยังร่ำรัก จนพระพักตร์ดูดำดังหมึกทา”

หน้าดำในที่นี้เปรียบเทียบว่า ทุกข์ทรมานใจจนความผ่องใสบนใบหน้าหายสิ้น ราวกับมีหมึกทาหน้าไว้

‘หมึก’ คืออะไร เสฐียรโกเศศอธิบายไว้ในบทความ “เรื่องของสี” ว่า

“สีดำ เรียกกันว่า ‘เขม่า’ นั่นเป็นคำเพี้ยนมาแต่เขมร เขม่าเขาว่าดำ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘หมึก’ นี่เป็นคำไทย หมายถึง น้ำดำที่ปลาหมึกพ่นออกมา (จีนเรียกหมึกว่า ‘หมัก’ ในกวางตุ้ง หรือ ‘บั๊ก’ ในแต้จิ๋ว) แต่เรียกยักกันอยู่หน่อย ถ้าเป็นผงเรียกเขม่า ถ้าทำเป็นแท่งเรียกหมึก แต่ก็ไม่แน่ เมื่อเอาน้ำยาผสมกันเรียกว่าหมึก ก็มี”

เมื่อใดที่กวีนำเอาหมึก หรือน้ำหมึกมาเปรียบเทียบก็ให้สีดำเช่นเดียวกับเขม่าและมินหม้อ

ในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” วันทองไม่ยอมมีสัมพันธ์รักกับขุนแผนผัวเก่า นางรำพันด้วยความเจ็บช้ำถึงการกระทำไม่คิดหน้าคิดหลังของพระไวยลูกชายว่า

” เจ้าพลายงามตามรับเอากลับมา ทีนี้หน้าจะดำเป็นน้ำหมึก

กำเริบใจด้วยเจ้าไวยกำลังฮึก จะพาแม่ตกลึกให้จำตาย”

ความหมาย คือ ความทุกข์ครั้งนี้ทำให้ใบหน้านางวันทองดำเป็นน้ำหมึก สิ้นสุขมีแต่ทุกข์

สีดำเช่นหมึกนอกจากหมายถึงความรู้สึกหม่นหมองที่สะท้อนผ่านใบหน้า ยังหมายถึงสีผิวดำมะเมื่อมราวกับหมึกได้เช่นกัน ดังที่กวีพรรณนาถึงพรานเจตบุตรใน “มหาเวสสันดรชาดก” ว่า

“ยังมีบุรุษผู้หนึ่งนั้นเติบโตดำล่ำสันเห็นพิลึก ผิวกายดำเป็นมันหมึกมืดดั่งมหาเมฆ”

นี่สิดำแท้ ดำแน่ๆ แต่กำเนิด •