เสฐียรพงษ์ วรรณปก : บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (11) ผู้ถูกแผ่นดินสูบเพราะผิดต่อพระองค์ (ภาคพระเทวทัต)

การที่บุคคลต่างๆ ที่ผิดต่อพระพุทธองค์ ถูกแผ่นดินสูบ จะสูบโดยวิธีใด ผมก็ไม่ติดใจ ในที่นี้ขอนำเรื่องราวของท่านเหล่านั้นมาขยายให้ฟังอย่างเดียว

ส่วนมากก็คงได้ยินได้ฟังกันมาบ้างแล้ว

แต่นี่เป็น version ใหม่เอี่ยมเลยนะครับ

บุคคลแรกที่โด่งดังมาก คือ พระเทวทัต

เรื่องราวของท่านหลายคนทราบดีแล้ว จะไม่ขยายอีก

ขอเล่าเพียงประเด็นที่ทำให้เทวทัตท่านเขวออกนอกทาง ตำราว่าเพราะลาภสักการะเป็นเหตุ ต้องการการยอมรับจากพุทธศาสนิกชน

เมื่ออยากดังอยากเด่นเกินหน้าพระภิกษุรูปอื่นๆ ก็จึงต้องแสวงหาผู้อุปถัมภ์

บังเอิญเห็นเจ้าชายอชาตศัตรู รัชทายาทแห่งราชบัลลังก์กรุงราชคฤห์ ยังอินโนเซนซ์ จึงครอบได้สบาย

ครอบไปครอบมาเลยเกิดถึงขั้นยุให้ปฏิวัติเสด็จพ่อ จับขังคุกให้อดพระกระยาหารจนสิ้นพระชนม์

ข้างฝ่ายพระเทวทัตก็วางแผนสารพัดแผนเพื่อกำจัดพระพุทธองค์

เริ่มต้นด้วย จ้าง นายขมังธนู (สมัยนี้คงหมายถึง มือปืนรับจ้าง หรือไม่ก็มือระเบิด)

แผนของเทวทัต วางแผนสังหารพระพุทธองค์ ท่านว่าจ้างคนถึง 33 คน สั่งคนแรกไปยิงพระพุทธเจ้าในถ้ำเชิงเขาคิชฌกูฏ ยิงเสร็จสั่งให้เดินไปยังจุดหนึ่ง

ณ จุดนั้นท่านได้วางเพชฌฆาตไว้สองคน หลังฆ่าเสร็จแล้วคนหนึ่งให้ไปทางเหนือ อีกคนหนึ่งให้ไปทางใต้

ณ ทิศเหนือก็มีอีกสองคนดักอยู่ ณ ทิศใต้ก็มีอีกสองคนดักอยู่ ฆ่าเสร็จแล้วก็ให้แยกย้ายกันไป

ฆ่ากันเป็นทอดๆ อย่างนี้จนครบ 16 ทอด

คิดดูแล้วกัน ถ้าแผนการสำเร็จ คนใดคนหนึ่งถูกจับ ณ ขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง จะจับมือใครดมไม่ได้เลย ไม่รู้ต้นตอมาจากไหน

เรียกว่า หาใบเสร็จไม่เจอเลย ว่าอย่างนั้นเถอะ

แผนการแรกล้มเหลว

แผนการที่สองท่านลงมือเอง ปีนขึ้นยอดเขา กลิ้งหินลงมาหมายให้ทับพระพุทธองค์ ขณะประทับเข้าฌานสมาบัติอยู่ ณ ถ้ำมัททกุจฉิ เชิงเขาคิชฌกูฏ อย่างมากก็ทำร้ายพระองค์ได้เพียง ยังพระโลหิตให้ห้อ ล้มเหลวอีก

แผนที่สามสั่งปล่อยช้างตกมัน วิ่งแปร๋นไป เพื่อเหยียบพระพุทธองค์ ขณะเสด็จออกโปรดสัตว์ มีพระอานนท์ตามเสด็จ ช้างก็แพ้แก่อานุภาพระเมตตาของพระพุทธองค์ สมัยนั้นไม่มีหนังสือพิมพ์ ไม่มีวิทยุ ทีวี ก็จริง แต่แผนการชั่วของท่านเทวทัตก็เป็นที่โจษจันกันทั่วไป รู้กันกว้างขวาง

ท่านเทวทัตจึงออกจากสำนักไปยื่นเงื่อนไข 5 ประการอ้างว่าเพื่อความเคร่งครัดของพระสงฆ์ เช่น ให้ห้ามพระฉันปลาและเนื้อ ให้พระอยู่โคนไม้ตลอดชีวิต ฯลฯ (ตัวคนเสนอเองก็ไม่อยากทำอย่างนั้น แต่เป็นแผน) ถูกพระพุทธองค์ปฏิเสธตรัสว่าขอให้เป็นความสมัครใจของปัจเจกบุคคล อย่าถึงกับตั้งเป็นกฎเลย มันยุ่งยาก เพราะชีวิตพระ เป็นอยู่ด้วยอาศัยคนอื่น เดี๋ยวแทนที่จะเป็นการเลี้ยงง่าย กลับเป็นการเลี้ยงยากไป

ท่านเทวทัตได้ทีจึงประกาศว่าไหนว่าพระศาสดานิยมความเข้มงวดเคร่งครัด ครั้นเราเสนอข้อปฏิบัติขัดเกลากลับไม่อนุญาต ใครเห็นด้วยกับเราก็ตามเรามา ว่าแล้วก็เดินออกจากที่ประชุมสงฆ์

พระบวชใหม่จำนวนหนึ่ง ยังเบบี้ทางศาสนาเห็นว่าเข้าทีจึงติดตามพระเทวทัตไป ร้อนถึงพระสารีบุตรต้องตามไปเกลี้ยกล่อมชี้ถูกผิดนำกลับมาสู่อ้อมอกพระพุทธองค์อีกครั้ง

ปฏิบัติการครั้งนี้ พระสารีบุตรได้ยกย่องว่าเป็น นักการทูต ที่สำคัญมาก ถึงตรงนี้ขอขยายนิดหน่อย คุณธรรมของนักการทูต (ทูเตยฺยา) ที่ดีมี 8 ประการ คือ

1. รู้จัก (โสตา) ฟังเป็น หรือรู้จักฟังว่าคนอื่นเขาจะพูดอะไร อย่างไร

2. รู้จักพูดให้คนอื่นฟัง (โสตาเปตา) รู้จังหวะไหนควรพูดไม่ควรพูด พูดอย่างไรเขาจึงจะฟัง

3. แจ่มแจ้งเอง (วิญฺญาตา) ตนเองต้องแจ่มแจ้งในเรื่องในประเด็นที่จะพูด

4. ให้คนอื่นแจ่มแจ้งด้วย (วิญฺญาเปตา) พูดให้เขาเข้าใจแจ่มแจ้ง ไม่คลุมเครือ

5. จำแม่น (ธาตา) จำเรื่องราวต่างๆ ได้แม่นยำ ข้อมูลต้องแม่น

6. เรียนรู้เสมอ (อุคฺคเหตา) ถือว่าการสนทนาเป็นการเขียนรู้สิ่งต่างๆ เสมอ ไม่คิดว่าตนรู้วิเศษคนเดียว

7. รู้จักประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ (กุสโล หิตาหิตฺสส) อะไรเป็นประโยชน์ หรือไม่เป็นประโยชน์ก็ให้เลือกเอา

8. ไม่ชวนทะเลาะ (น กลหการโก) นึกเสมอว่าเราไปเจรจาความไม่ใช่ไปโต้วาทีหักล้างกัน พยายามหลีกเลี่ยงการทะเลาะผิดใจกัน

พระสารีบุตรท่านประกอบด้วยคุณสมบัติของนักการทูต 8 ประการนี้จึงทำงานสำเร็จ พาพระที่หลงผิดจำนวนมากกลับไปพระเชตะวัน

เล่นเอา โกกาลิก ลูกน้องท่านเทวทัตโมโหโกรธมากเข้าไปหาท่านเทวทัต เอาเข่าซัดยอดอกท่านเทวทัตดังพลั่ก โลหิตอุ่นๆ พุ่งออกปากทันที

ว่ากันว่าตั้งแต่นั้นมาท่านเทวทัตก็ป่วยกระเสาะกระแสะ (ไม่ป่วยยังไงไหว ลูกศิษย์รำมวยไทยใส่ปานนั้นนี่ครับ) แต่ก็น่าชมนะครับ ท่านไม่ได้ประกาศลาออกจากหัวหน้าขบถด้วยความน้อยใจ ยังคงดำเนินการพระศาสนาต่อไป มาพักหลังสุด ท่านสำนึกผิดคิดจะเข้าไปขอขมาพระพุทธองค์ ขอร้องให้ศิษย์หามใส่แคร่ไปยังพระเชตะวัน

ไปถึงสระโบกขรณีหน้าพระเชตะวัน สานุศิษย์วางแคร่หามลง ลงไปล้างหน้าล้างมือกัน เทวทัตท่านก็ลุกขึ้นนั่งหย่อนเท้าลงพื้น ทันใดนั้นแผ่นดินตรงนั้นแยกออกเป็นช่องโหว่ สูบท่านเทวทัตจมมิดหายไปต่อหน้าต่อตาสานุศิษย์ทั้งหลายเป็นที่สยดสยอง

ว่ากันอีกนั้นแหละว่า ท่านเทวทัตจมลงไปตามลำดับ จนถึงคอท่านได้กล่าวขอขมาพระพุทธองค์ในความผิดฉกรรจ์ที่ท่านก่อขึ้น โดยกล่าวโศลกว่า

“ข้าพระองค์ขอถวายกระดูกคาง พร้อมลมหายใจ บูชาแด่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐยิ่งกว่าเทพ พระผู้ทรงเป็นยอดผู้ฝึกคน พระผู้มีสัพพัญญุตญาณ พระผู้มีพระลักษณะงดงาม อันเกิดจากผลบุญมากมาย”

สมัยเป็นสามเณรเรียนแปลบาลี ครูสอนบาลีเรียกคาถานี้ว่า “คาถาเทวทัตถวายคาง” เพราะการกล่าวถวายกระดูกคางด้วยความสำนึกผิดนี้แล ในที่สุดจะได้เป็นพระปัจเจกพุทธะ นามว่า อัฏฐิสสระ ตำราว่าอย่างนั้นครับ

ส่วนการ ถูกแผ่นดินสูบ คืออย่างไร ก็แล้วขอวิญญูชนโปรดไตร่ตรองเอาเองเทอญ