จับสัญญาณ ‘ปรับ ครม.’ พรรคร่วมยึดโควต้าเดิม สกัด ‘พปชร.’ แชร์เก้าอี้ ปชป.จ่อขยับ-ภท. ‘นิ่ง’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

จับสัญญาณ ‘ปรับ ครม.’

พรรคร่วมยึดโควต้าเดิม

สกัด ‘พปชร.’ แชร์เก้าอี้

ปชป.จ่อขยับ-ภท. ‘นิ่ง’

 

เงื่อนไขการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนี้ โอกาสและความเป็นไปได้ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ผู้มีอำนาจสามารถจะตัดสินใจได้ หากคิดจะปรับ ครม.

เนื่องด้วยเมื่อวันที่ 5 กันยายน นายนิพนธ์ บุญญามณี ได้แสดงสปิริตชิงแต้มทางการเมือง ด้วยการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

ภายหลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งสำนวนฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กรณีไม่เบิกจ่ายให้บริษัทที่ชนะการประมูลรถอเนกประสงค์ของ อบจ.สงขลา หลังตรวจสอบพบว่ามีการสมยอมราคา (ฮั้วประมูล) โดยทางจังหวัดสงขลาสั่งให้ชะลอการจ่าย แต่ ป.ป.ช.เห็นว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

โดยนายนิพนธ์ให้เหตุผลว่า ขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากคดีของตัวเข้าสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมแล้ว จึงไม่ขอใช้สถานะในตำแหน่ง หน้าที่ ความเป็นรัฐมนตรี รวมทั้งเวลาราชการมาต่อสู้คดี ให้เกิดข้อครหาได้

เมื่อนายนิพนธ์ลาออกส่งผลให้เก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นโควต้าของพรรคประชาธิปัตย์ ว่างลง 1 ตำแหน่ง หากจะไล่เรียงตำแหน่งรัฐมนตรีที่ว่างลงก่อนหน้านั้น

คือ การปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า พ้นตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยเกษตร และปลด ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พ้นตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยแรงงาน ซึ่งเป็นโควต้าของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

รวมทั้งกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งให้นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กรณีถูก ป.ป.ช.ยื่นฟ้องกรณีรุกป่าสงวนแห่งชาติที่เขาใหญ่ ซึ่งเป็นโควต้าเก้าอี้รัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย (ภท.)

นับรวมทั้งหมดมีเก้าอี้รัฐมนตรีว่างถึง 4 ที่นั่ง ที่พอจะเป็นเงื่อนไขให้มีการปรับ ครม.ได้ รอเพียงสัญญาณจากแกนนำพรรค พปชร. ที่ปัจจุบันมี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. ที่มีอำนาจปรับ ครม.จะส่งสัญญาณมายังแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อใด

จากท่าทีล่าสุด พล.อ.ประวิตรดูเหมือนจะให้เกียรติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุติปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ชั่วคราว ในกรณีคำร้องการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี หรือไม่ เนื่องจาก พล.อ.ประวิตรอยากให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีดังกล่าวเสียก่อน

หาก พล.อ.ประยุทธ์สามารถกลับมาปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ได้ ก็ควรให้เกียรติ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะนายกฯ ที่จะมีอำนาจในการปรับ ครม. ส่งผลให้พรรคร่วมรัฐบาลทั้งแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ยังคงรอความชัดเจนจากคำวินิจฉัยวาระนายกฯ ครบ 8 ปี ว่าจะออกมาเช่นใด

แต่เงื่อนไขที่พรรคร่วมรัฐบาลยังคงยืนกรานและส่งสัญญาณผ่านมายังแกนนำพรรค พปชร. และผู้มีอำนาจในรัฐบาลคือ โควต้าของรัฐมนตรี ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล ยังคงเป็นไปตามข้อตกลงเดิม จะไม่ยอมให้เกิดการดึงเก้าอี้รัฐมนตรีของพรรคร่วมมาเป็นโควต้าของพรรค พปชร. ตามที่ ส.ส.ภาคใต้ของพรรค พปชร.ออกมาเรียกร้องแต่อย่างใด เนื่องจากจะส่งผลต่อการทำงานร่วมกันได้

ในส่วนของการจัดสรรบุคคลเข้ามาเป็นรัฐมนตรีแทน ตามโควต้าของพรรคร่วมรัฐบาลจึงเป็นหน้าที่ของแกนนำพรรค ปชป. และพรรค ภท.จะเป็นคนจัดการกันเอง

 

ในส่วนของพรรค ปชป. คงต้องยึดตามกระบวนการคัดเลือกของคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ที่จะต้องประชุมเพื่อคัดเลือกบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

แต่ยังมีข้อถกเถียงกันว่า เก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ควรจะเป็นโควต้าของภาคใด โดย ส.ส.ภาคใต้ยืนยันว่า ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้องเป็นโควต้าของภาคใต้

ขณะที่แกนนำอีกฝ่ายเห็นแย้งว่า ต้องเป็นโควต้ากลาง เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่นายนิพนธ์ได้รับจัดสรรจากพรรค ภายหลังเป็นแกนนำไปเจรจาต่อรองเมื่อครั้งเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรค พปชร.

ซึ่งบุคคลที่แกนนำพรรค ปชป. โดยเฉพาะ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้การสนับสนุนมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย คือ

เดชอิศร์ ขาวทอง หรือ “นายกชาย” ส.ส.สงขลา และรองหัวหน้าพรรค ปชป. ภาคใต้ มือขวาคนสำคัญของ “เฉลิมชัย” ในการเตรียมความพร้อมสู้ศึกเลือกตั้งครั้งต่อไปของพรรค ปชป. มาดำรงตำแหน่ง แม้จะต้องเจอกับแรงต่อต้านภายในพรรค ปชป. เนื่องจากต้องผ่านขั้นตอนการคัดเลือกของ กก.บห. ที่มีเกณฑ์ทั้งเรื่องวาระการเป็น ส.ส. หลักความอาวุโส มาเป็นตัวชี้วัดด้วย

ส่วนแกนนำพรรค ปชป. จะถือโอกาสปรับเก้าอี้ ครม.ในสัดส่วนของพรรคที่นั่งกันยาวกว่า 3 ปี ด้วยหรือไม่ คงเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกันภายในพรรค

ทั้งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ของ “จุติ ไกรฤกษ์” ที่มี ส.ส.บางกลุ่มของพรรค ปชป. ต้องการให้สลับสับเปลี่ยนบุคคลเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม.ด้วย

 

ขณะที่เก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในโควต้าของพรรค ภท. ด้วยความเป็นเอกภาพของพรรค แรงกระเพื่อมในการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีของกลุ่ม ส.ส.ภายในพรรค ภท. อาจจะมีไม่มากเท่ากับพรรค ปชป. ซึ่งแคนดิเดตบุคคลที่คาดว่าจะรับคัดเลือกให้มานั่งเป็นรัฐมนตรี หากยึดตามโควต้าเดิมซึ่งเป็นของกลุ่ม ส.ส.จาก จ.ปราจีนบุรี บุคคลที่เข้าข่ายจะได้ขยับเป็นรัฐมนตรี คือ “ชยุต ภุมมะกาญจนะ” ที่เป็น ส.ส.ปราจีนบุรีมาแล้ว 5 สมัย

โดยมีคู่แข่งอย่าง “บุญลือ ประเสริฐโสภา” ส.ส.ราชบุรี และรองหัวหน้าพรรค ภท. ในฐานะอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมเป็นตัวชิง

ส่วนพรรค พปชร. หากมีสัญญาณการปรับ ครม. จากผู้มีอำนาจ ยังต้องลุ้นกันว่าจะมีการปรับแค่ทดแทนในส่วนเก้าอี้รัฐมนตรีที่ว่างลงแค่ 2 ตำแหน่ง หรือจะถือโอกาสปรับเก้าอี้รัฐมนตรีในโควต้าพรรค พปชร.ครั้งใหญ่ด้วยหรือไม่ เพราะมี ส.ส.ของพรรค พปชร. ทั้งกลุ่มภาคใต้ กลุ่มปากน้ำ ที่ต้องการให้ตัวแทนของกลุ่มเข้ามาเป็นรัฐมนตรีในการดูแล ส.ส.และประชาชนในพื้นที่

อำนาจความเป็นรัฐมนตรี ย่อมไม่มีพรรคร่วมรัฐบาลยุคไหนยอมทิ้งความได้เปรียบในการใช้อำนาจผ่านตำแหน่งรัฐมนตรี ยิ่งในห้วงเข้าสู่โค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งครั้งต่อไป

การใช้ทุกกลไกผ่านอำนาจรัฐจนถึงนาทีสุดท้าย จึงเป็นเรื่องที่ฝ่ายกุมอำนาจรัฐจะต้องใช้ เพื่อไปสู่เป้าหมายการคว้าชัยชนะเลือกตั้ง ได้กลับมาบริหารอำนาจรัฐอีกครั้ง