ร่องรอยประวัติศาสตร์ธุรกิจสยาม ในห้างอับดุลราฮิม (1)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ร่องรอยประวัติศาสตร์ธุรกิจสยาม

ในห้างอับดุลราฮิม (1)

 

“อับดุลราฮิมในแผ่นดินสยาม” คือหนังสือเล่มล่าสุดที่ผมเพิ่งอ่านจบไป

เมื่อหยิบอ่านตอนแรก คิดเพียงว่าเป็นหนังสือประวัติที่เล่าถึงตระกูลพ่อค้ามุสลิมชาวอินเดียตระกูลหนึ่งในสยาม ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทการค้า (โดยเฉพาะสินค้าหรูหราฟุ่มเฟือย) ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 และเป็นเจ้าของห้างที่มีชื่อเสียงชื่อ “ห้างอับดุลราฮิม” ริมถนนเฟื่องนคร เพียงเท่านั้น

แต่เมื่ออ่านจบ กลับพบความน่าสนใจที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดมากมาย

กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ จากคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้อธิบายไว้ว่า หนังสือเล่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการอับดุลราฮิมศึกษา” ภายใต้ “มูลนิธิคุณแม่เชย อับดุลราฮิม” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวม ดูแล หลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งหมดของตระกูล และต่อยอดไปสู่การศึกษาประวัติศาสตร์ในแง่มุมต่างๆ ของตระกูล

แม้เป้าหมายจะเริ่มต้นจากการเขียนประวัติศาสตร์ของตระกูล แต่ในความเป็นจริง หนังสือได้ทิ้งร่องรอยที่มากกว่าประวัติของครอบครัว

หลายอย่างผมคิดว่าเป็นการทิ้งร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่มีประโยชน์มากสำหรับคนที่สนใจหรือกำลังศึกษาประวัติศาสตร์ธุรกิจสยามในยุคเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นสมัยใหม่

เพียงแค่ในแง่มุมของหลักฐาน หนังสือเล่มนี้ก็ชี้ให้เห็นว่า มูลนิธิมีชุดเอกสารทางประวัติศาสตร์เป็นจำนวนมหาศาลเก็บรักษาไว้ ทั้งในแบบที่อาจสามารถหาอ่านได้จากแหล่งอื่น (เช่น หนังสือกว่า 4,000 เล่ม และวารสารเก่าในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5-7 มากกว่า 1,000 เล่ม) และหลักฐานในแบบที่เราไม่มีโอกาสหาอ่านและดูได้จากแหล่งอื่นอย่างแน่นอน

ที่สำคัญควรแก่การพูดถึง คือ เอกสารโบราณของตระกูล เช่น สมุดบันทึกประวัติตระกูล บันทึกส่วนตัว รายการสั่งซื้อสินค้า เอกสารซื้อขายสินค้าของห้างอับดุลราฮิมกับลูกค้า บัญชีทรัพย์สินของตระกูล ที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 1,600 ชิ้น และภาพถ่าย ฟิล์มขาวดำ และฟิล์มกระจกมากกว่า 1,600 ภาพ ซึ่งบันทึกเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ และบรรยากาศบ้านเมืองกรุงเทพฯ ในอดีตเอาไว้ ซึ่งหลายภาพเป็นมุมแปลกที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนจากที่อื่น

ทั้งหมดเป็นหลักฐานชั้นต้นที่ดีมากต่อการศึกษาและทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ธุรกิจการนำเข้าและส่งออกสินค้าหายากฟุ่มเฟือยในสยาม (ราวปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20) ซึ่งดำเนินการผ่านกลุ่มพ่อค้ามุสลิมดาวูดีโบห์รา (Dawoodi Bohra) จากเมืองท่าสุรัต แคว้นคุชราต ในประเทศอินเดีย (ผ่านกรณีศึกษาของตระกูลอับดุลราฮิม) ที่เข้ามาตั้งรกรากและทำการค้าประเภทนี้

หน้าปกหนังสือ อับดุลราฮิมในแผ่นดินสยาม

ต้นตระกูลอับดุลราฮิม คือ นายซรัฟอาลี อับดุลราฮิม (นายห้างรุ่นที่หนึ่ง) เริ่มต้นธุรกิจขึ้นครั้งแรกบริเวณ “ย่านตึกแขก” ฝั่งธนบุรี บริเวณวัดอนงคาราม เมื่อราว พ.ศ.2415 โดยสินค้าหลักที่นำเข้ามาขาย คือ เครื่องแก้วเจียระไน และภาชนะเครื่องเคลือบจากต่างประเทศ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของเจ้านายและผู้ดีสยาม ภายใต้บรรยากาศของการเปลี่ยนผ่านทางสังคมไปสู่ความศิวิไลซ์แบบตะวันตก

ต่อมามีการย้ายธุรกิจข้ามมาสู่ฝั่งพระนครเมื่อ พ.ศ.2433 โดยมาเช่าตึกแถวแบบตะวันตกบนถนนเฟื่องนคร เยื้องวัดราชบพิธฯ ซึ่ง ณ ช่วงเวลานั้น ย่านนี้กำลังเจริญเติบโตเป็นอย่างมาก กำลังกลายเป็นศูนย์รวมห้างร้านทันสมัยแบบตะวันตก ซึ่งเหมาะเจาะพอดีกับการประกอบธุรกิจนำเข้าสินค้าหรูหราฟุ่มเฟือยจากตะวันตกของห้างอับดุลราฮิม เรียกได้ว่าเป็นการเลือกที่ตั้งของห้างได้อย่างลงตัวและชาญฉลาด

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่ห้างอับดุลราฮิมในยุคนี้ได้กลายเป็นห้างที่มีชื่อเสียงมาก ทั้งในแง่ของสินค้าและการตกแต่งร้านอย่างทันสมัย ลูกค้าก็ครอบคลุมกว้างขวาง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ดี ชนชั้นสูง ไปจนถึงพระมหากษัตริย์

 

ในช่วงสุดท้าย ราวปลายทศวรรษ 2470 ได้มีเปลี่ยนกิจการและที่ตั้งของห้างอีกครั้ง มาอยู่บริเวณตำบลศาลาแดง หน้าสวนลุมพินี เมื่อ พ.ศ.2478 และเปลี่ยนประเภทธุรกิจด้วย จากการเน้นขายของฟุ่มเฟือยหายากมาสู่การขายวิทยุ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่ประชาชน

ซึ่งน่าสังเกตอีกเช่นกันว่า ตำแหน่งห้างใหม่ที่ตำบลศาลาแดง ก็สัมพันธ์กับภาพลักษณ์ของพื้นที่เช่นกัน เพราะในบริเวณนี้ในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “สถานีวิทยุศาลาแดง” ขึ้นในบริเวณดังกล่าว

เหตุผลในการปรับรูปแบบธุรกิจในช่วงนี้ อ.กรรณิการ์อธิบายไว้ว่า เกิดขึ้นจากเหตุหลายประการ ทั้งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกที่ทำให้สินค้าฟุ่มเฟือยราคาแพงนำเข้าจากต่างประเทศไม่ได้รับความนิยมเหมือนเมื่อก่อน

และผลพวงจาก “การปฏิวัติ 2475” ที่ทำให้กลุ่มเจ้านายชั้นสูง ซึ่งเคยเป็นกลุ่มลูกค้าหลัก ถูกลดสถานะและบทบาททางสังคมลง จนส่งผลกระทบต่อการสั่งซื้อสินค้าของห้างอับดุลราฮิม

ภาพถ่าย นายฮาซันอาลี อับดุลราฮิม (นายห้างอับดุลราฮิม รุ่นที่สอง) และครอบครัว

แม้ประวัติศาสตร์ความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจห้างอับดุลราฮิมที่เล่ามาข้างต้นจะน่าสนใจ แต่ประเด็นที่ผมคิดว่าน่าสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ก็คือ ร่องรอยการดำเนินธุรกิจบนการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับเจ้านายระดับสูงและพระมหากษัตริย์สยาม ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่สำคัญที่สุดของห้าง

ความสัมพันธ์นี้ถูกสะท้อนให้เห็นมากมายหลายเหตุการณ์ในหนังสือ แต่ที่พิเศษสำหรับผมมากก็คือ เหตุการณ์ตอนจัดงานแต่งงานของนายฮาซันอาลี อับดุลราฮิม (ลูกชายนายซรัฟอาลี อับดุลราฮิม) กับ น.ส.เชย ปีสุคารา ซึ่งจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ที่ตึกห้างอับดุลราฮิม บนถนนเฟื่องนคร พ.ศ.2437

หนังสือให้รายละเอียดงานไว้ว่า มีเจ้านายชั้นผู้ใหญ่มากถึง 10 พระองค์มาร่วมงาน คือ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงษ์, เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี, เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา, กรมพระนเรศวรฤทธิ์, กรมหลวงอดิศรอุดมเดช, กรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจ, กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และพระองค์เจ้าอลังการ ยังไม่นับรวมขุนนางระดับสูงที่มาร่วมงาน คือ เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์, เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์, พระยาไพบูลย์สมบัติ และเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ โดยท่านนี้ยังทำหน้าที่ปูที่นอนให้บ่าวสาวอีกด้วย

ด้วยรายชื่อแขกดังกล่าว เราคงพอจะมองเห็นถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นมากระหว่างเจ้านายราชวงศ์จักรี (และขุนนางชั้นผู้ใหญ่ด้วย) ที่มีต่อห้างอับดุลราฮิม

 

นายฮาซันอาลี อับดุลราฮิม ซึ่งต่อมารับช่วงกิจการทั้งหมดต่อจากพ่อ ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากรัชกาลที่ 5 มากเช่นกัน เช่น พระองค์ทรงอนุญาตให้นายฮาซันอาลีเข้าเฝ้าฯ เป็นการส่วนพระองค์หลายครั้ง ณ พระราชวังดุสิต

และมีอยู่คราวหนึ่ง นายฮาซันอาลีถึงกับได้มีโอกาสนำเครื่องฉายภาพยนตร์ซึ่งถือเป็นของแปลกใหม่มาก ณ ตอนนั้นเข้าไปฉายให้เจ้านายฝ่ายในได้ดู

โดยหลังการฉายภาพยนตร์ รัชกาลที่ 5 ได้เรียกนายฮาซันอาลีเข้าไปพูดคุย และยกพระหัตถ์ขึ้นลูบหัวบุตรชายคนโตของนายฮาซันอาลี ซึ่งสร้างความปลาบปลื้มเป็นอย่างมากให้กับคนในตระกูลอับดุลราฮิม

เมื่อลองพิจารณามูลค่าการซื้อขายในกลุ่มเจ้านายที่มีกับห้าง ก็ไม่แปลกใจถึงความสัมพันธ์ดังกล่าว โดยจากข้อมูลที่หนังสือให้ไว้บางส่วนก็ได้ให้ภาพที่น่าสนใจมาก อาทิ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงษ์ เพียงพระองค์เดียว สั่งซื้อสินค้าจากห้างในปีหนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่า 200 ชั่ง (50 ชั่งในอดีตมีค่าประมาณ 1 ล้านบาทในปัจจุบัน)

รัชกาลที่ 5 เองก็ถือเป็นลูกค้าสำคัญที่สุดของห้าง พระองค์เคยซื้อโถแก้วเจียระไนเป็นจำนวนมากในคราวเดียว เป็นเงินมากถึง 500 ชั่ง นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้ นายฮาซันอาลีเป็นผู้จัดหาเครื่องเพชรและสินค้าต่างๆ ถวายกรมขุนสุพรรณภาควดี (หม่อมเจ้าศรีไวไลยลักษณ์) เพื่อใช้สำหรับซื้อขายกับเจ้านายฝ่ายใน

ในทางกลับกัน นายฮาซันอาลีก็ได้ถวายของมีค่ามากมายในโอกาสต่างๆ ที่ได้เข้าเฝ้าฯ เช่น ถวายโคมไฟระย้า 12 ก้าน ราคา 800 บาท เมื่อคราวออกร้านในงานไหว้พระประจำปี ณ วัดเบญจมบพิตรฯ

หรือเมื่อคราวรัชกาลที่ 5 เสด็จกลับจากประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ห้างก็ได้ถวายเงิน 400 บาทในการจัดสร้างเสาโคมในการประดับตกแต่งพระนคร

และตัวนายห้างเองก็ยังถวายเงินส่วนตัวอีก 100 บาทสำหรับสร้างหีบทองคำบรรจุคำถวายพระพรชัยมงคล

การสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ทั้งทางธุรกิจและส่วนตัวกับกลุ่มเจ้านายชั้นสูงของสยามอย่างกว้างขวาง มีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้กิจการห้างเจริญรุ่งเรือง ซึ่งสัญลักษณ์ที่สะท้อนประเด็นนี้ได้ดีที่สุดก็คือ การได้รับพระบรมราชานุญาตตั้งเป็น “ร้านหลวง” ที่สามารถใช้ “ตราอาร์มแผ่นดิน” ประดับหน้าร้านได้