“นกบ่บิน บ่จ้างก๋ำปีกอ้า ควายบ่กิ๋นหญ้า บ่จ้างข่มเขามันลง” / ล้านนาคำเมือง

ล้านนาคำเมือง

ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

“นกบ่บิน บ่จ้างก๋ำปีกอ้า

ควายบ่กิ๋นหญ้า บ่จ้างข่มเขามันลง”

 

น฿กฯบ่บินฯ บ่ช่างฯกำปีกฯอ้า ฅวฯายฯบ่กินฯหยฯ้า่ช่างฯข฿่มฯเขัามันฯล฿งฯ

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “นกบ่บิน บ่จ้างก๋ำปีกอ้า ควายบ่กิ๋นหญ้า บ่จ้างข่มเขามันลง”

แปลว่า นกไม่ยอมบิน มิอาจไปกางปีกให้มันบินได้ ส่วนควายหากไม่ยอมกินหญ้าก็ไม่สามารถกดหัวหรือข่มเขาให้มันก้มลงกินได้

ความหมายคือ คนเราไม่อาจบังคับขืนใจให้ผู้อื่นทำตามที่ตนต้องการได้

สำนวนล้านนานี้สะท้อนให้เรายอมรับว่า แต่ละคนต่างจิตต่างใจ จะให้คิดเหมือนกัน ทำเหมือนกัน

บางครั้งวิธีการบังคับก็ไม่อาจทำได้สำเร็จ มีแต่เราต้องยอมรับความคิดอ่านของผู้อื่น และไม่ไปรบกวนแนวคิดซึ่งกันและกัน

คนเราจึงจะอยู่ร่วมสังคมเดียวกันอย่างเป็นสุขได้

 

ที่จริงธรรมชาติของมนุษย์นั้นน่าจะปฏิเสธการบงการของผู้อื่นอยู่แล้ว

จิตวิทยาของเด็กวัยหัดพูด อายุประมาณ 2 ปี เด็กกำลังเติบโตเป็นตัวของตัวเอง เด็กจะปฏิเสธคำสั่งหรือคำชวนของผู้ใหญ่ โดยใส่คำว่า “ไม่” ไว้หน้าประโยค ทุกครั้ง เช่น

หากชวนเด็กกินข้าว เด็กจะพูดว่า “ไม่กินข้าว”

หากบอกให้เขาแปรงฟัน เด็กก็จะปฏิเสธว่า “ไม่แปรงฟัน”

หากบอกให้เขาออกไป เด็กก็จะว่า “ไม่ออกไป”

นี่คือธรรมชาติของมนุษย์เรา หากต้องการให้เด็กวัยนี้ทำตามที่คุณต้องการ ก็ต้องหาอุบายมาหลอกล่อเอง เพราะถ้าใช้คำสั่ง ใช้คำชวน เด็กก็จะปฏิเสธหมด จนกว่าเด็กจะรู้ความและอาศัยการอธิบายให้เด็กยอมรับนั่นแหละ ซึ่งเขาต้องผ่านวัยนี้ไป และโตพอรู้ความ เขาจึงจะไม่ปฏิเสธอีก

นอกจากเรื่องของเด็กแล้ว ผู้ใหญ่ล้านนาสอนว่า การบังคับให้ผู้อื่นทำตามความคิด คำสั่ง หรือคำขอของตนเองอาจจะเกิดความผิดพลาด และอาจจะเป็นอันตรายได้ เช่น ไปข่มเขาควายให้กินหญ้า ดีไม่ดีมันจะไล่ขวิดเอา

นิทานอีสปเรื่อง “กบกับหนู” ก็สอนเอาไว้ว่า หากบังคับผู้อื่น บางครั้งก็อาจจะเกิดความเสียหายได้

จะไพเตงฯเตกฯะใจฅ฿นฯอื่นฯ มันฯจะฯเสยฯหายฯได้ จะไปเด๋งเต็กใจ๋คนอื่น มันจะเสียหายได้ แปลว่า อย่าบังคับขืนใจคนอื่น มันจะเสียหายได้

นิทานมีเนื้อหาอยู่ว่า

หนูเเก่ตัวหนึ่งต้องการจะข้ามแม่น้ำไปยังฝั่งตรงข้ามจึงเข้าไปหากบ เอ่ยขอให้กบช่วยพาข้ามลำธาร

กบมองหนูเเล้วปฏิเสธว่า “ฉันตัวเล็กพอๆ กับท่าน เเล้วจะพาท่านข้ามไปได้อย่างไรเล่า”

เเต่หนูไม่ยอม กลับอ้างว่าตนเป็นสัตว์ผู้อาวุโสกว่า ถ้ากบไม่ช่วยตนก็จะไปป่าวประกาศให้สรรพสัตว์ทั้งหลายรู้ถึงความใจดำของกบ

เมื่อถูกขู่เข็ญเช่นนั้น กบจึงต้องจำยอมให้หนูเอาเท้าผูกติดกับเท้าของตนเเล้วก็พาว่ายข้ามลำธาร เเต่พอว่ายไปได้ครึ่งทางเท่านั้น กบก็เริ่มหมดเเรง ก่อนที่ทั้งคู่จะจมน้ำตาย

เหยี่ยวตัวหนึ่งก็โฉบลงมาจิกเอาทั้งกบเเละหนูไปกิน •