‘ฉาก’ กินยาเม็ดสีฟ้าหรือเม็ดสีแดง/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

มีเกียรติ แซ่จิว

 

‘ฉาก’

กินยาเม็ดสีฟ้าหรือเม็ดสีแดง

 

‘ฉาก’ คำสั้นๆ แต่เล่าเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ของสิ่งที่อยู่ ‘หลังฉาก’ ได้อย่างเห็นภาพ

เรื่องสั้นลำดับที่ 7 ของ ‘นพพร สันธิศิริ’ ที่ผ่านเข้ารอบประกวดมติชนอวอร์ด เล่าเรื่องราวของนักศึกษาสาวมหาวิทยาลัยที่โดนอาจารย์ตำหนิเลยยังไม่อยากกลับบ้าน จึงอยากจะเข้าไปนั่งเล่นที่สวนสาธารณะก่อนกลับ ทว่า สวนสาธารณะที่มองเห็นตอนเดินลงจากรถไฟฟ้ากลับเป็นเพียงผืนผ้าใบขนาดใหญ่ขึงพาดไว้ เธอหยิบคัตเตอร์ในกระเป๋ามากรีดลากเป็นแนวดิ่งแล้วชะโงกหน้าเข้าไปดูกลับพบว่ามันเป็นสถานที่รกร้างว่างเปล่า

ชายสูงอายุในชุดออกกำลังกายผ่านมาเห็นจึงเข้ามาเตือนเธอว่าอย่าเข้าไปยุ่ง แต่ไม่ทันมีชายสองคนในชุดซาฟารีสวมแว่นดำมายึดคัตเตอร์ กล่าวตักเตือนว่า “นี่เป็นเรื่องของราชการ” ก่อนนำตัวนักศึกษาสาวขึ้นรถไปสอบปากคำที่อาคารแห่งหนึ่งซึ่งหน้าต่างทุกบานติดฟิล์มดำ หลังจากนั้นตอนมืดจึงปล่อยตัวเธอออกมา

ผ่านไปไม่กี่วันเธอได้มาเจอชายสูงอายุในชุดออกกำลังกายอีกครั้ง ทั้งสองนั่งลงที่ม้านั่งยาวพูดคุยกันถึงเรื่องดังกล่าว ชายสูงอายุเล่าถึงเบื้องหลังของฉาก กลไกของบ้านเมืองที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ครั้งหนึ่งเขาเคยพยายาม แต่ตอนนี้เขายอมพ่ายแล้ว เด็กสาวได้แต่รับฟังแล้วมองผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมา จริงดังที่ชายชราว่า ทุกคนต่างต้องดิ้นรนทำงาน รีบเร่ง ไม่มีใครมาสนใจ ‘ฉาก’ ที่ข้างในรกร้างว่างเปล่า

“หนูเคยดูลิเกไหม เดี๋ยวนี้คงหาดูยากหน่อย ถ้าหนูสังเกตด้านหลังของเวทีลิเก เขาจะใช้ผ้าขึงเป็นฉาก แล้วก็วาดให้เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เล่น เป็นคฤหาสน์บ้าง เป็นป่าบ้าง ส่วนใหญ่เราไม่ค่อยสนใจฉากหลังหรอก แค่รับรู้ว่ามันคือที่ไหนแล้วเราก็เพลินไปกับเรื่องที่เขาเล่น ไอ้ที่หนูเห็น มันใช้วิธีแบบเดียวกัน มันคือฉาก”

ผ่านไปอีกหนึ่งปีต่อมา เด็กสาวได้มาเจอชายสูงอายุในชุดออกกำลังกายอีก ที่เดิม ม้านั่งยาวตัวเดิม เธอบอกไม่เชื่อชายชราว่าไม่มีวันเปลี่ยนแปลง เธอนำเรื่องที่คุยกันไปปรึกษาหารือกับเพื่อนต่างมหาวิทยาลัยที่มีอุดมการณ์เดียวกัน คนที่มีแนวคิดเดียวกัน ร่วมด้วยช่วยกันคนละไม้ละมือ

“แอบไปทำลายฉากต่าง ๆ ห้องสมุดมั่ง แหล่งเรียนรู้มั่ง ข้างในไม่ได้สวยงามอย่างฉากที่เขาวาดไว้จริงๆ ด้วย ส่วนใหญ่มันเป็นตึกร้าง”

จนกระทั่งตอนนี้ทุกคนพร้อม ‘เปิดหูเปิดตา’ ให้คนในบ้านเมืองนี้ได้เห็นพร้อมกันว่า เบื้องหลังฉากที่ยิ่งใหญ่มีอะไรน่ากลัวมากกว่าที่คิด

และแล้วเมื่อถึงเวลา เด็กสาวเงยหน้าขึ้นมองบนท้องฟ้า ชายชรามองขึ้นตาม คนที่เดินผ่านไปผ่านมาเริ่มมองขึ้นไปทีละคนสองคนและตื่นตะลึงไปพร้อมกันกับสิ่งที่เห็นอยู่ด้านบน เมื่อความจริง ‘หลังฉาก’ ได้ปรากฏภาพอันน่าสะทกสะท้อนใจของบ้านเมืองนี้

“ฉิบหายเอ๊ย ลุงไม่เคยรู้เรื่องนี้เลย” ชายสูงอายุหันไปมองหน้าเด็กสาว

 

สิ่งที่เห็นอาจจะเป็นภาพลวงตาคือ ‘แนวคิด’ (concept) ของเรื่องสั้น ‘ฉาก’ ซึ่งเมื่อความลวงถูกทะลวงรื้อถอน ‘ความจริงก็ปรากฏ’

จึงน่าสนใจว่า สองสถานที่หลักๆ ที่ปรากฏในเรื่องอย่าง ‘สวนสาธารณะ’ และแหล่งเพิ่มพูนคลังปัญญาอย่าง ‘ห้องสมุด’ ถูกนำมากล่าวถึงเป็นลำดับต้นๆ และตัวละครที่ตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าก็เป็นเด็กผู้หญิงนักศึกษามหาวิทยาลัยกับผู้มาก่อนและเลิกตั้งคำถามไปนานแล้วอย่างชายชราในชุดออกกำลังกาย สองตัวละครหลักต่างเพศต่างวัย ซึ่งคนหนึ่งวางมือแล้ว แต่อีกคนยังสานต่อ เดินหน้าเพื่อพิสูจน์ความจริงต่อไป

คำถามที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้น อาจเป็นสิ่งที่เรารู้เห็นกันอยู่แล้วก็เป็นได้ในระบบ ‘ผักชีโรยหน้า’ ที่มักคุ้นในบ้านเมืองของเรา อาจจะคล้ายๆ กับการเลือก ‘กินยาเม็ดสีฟ้าหรือยาเม็ดสีแดง’ เหมือนอย่างที่ ‘มอร์เฟียส’ หยิบยื่นให้ ‘นีโอ’ เลือกในภาพยนตร์เรื่อง The Matrix

หากเลือกในสิ่งที่อยากเชื่อต่อไปก็กินยาเม็ดสีฟ้า

แต่ถ้าอยากกระทบความจริงประจักษ์แก่สายตาลบล้างความเชื่อเดิมๆ ก็กินยาเม็ดสีแดง

 

นี่คงเป็นอีก ‘ฉากหนึ่ง’ ของชีวิตที่เรื่องสั้นเรื่องนี้ได้ตั้งคำถามเอาไว้ ชายชราบอกว่าเราเป็นคนตัวเล็กๆ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ บอกเด็กสาวว่าเรียนจบแล้ว “ทำงานหาเงินดีกว่า” ราวกับให้ ‘มองข้าม’ ผ่านฉากที่ปรากฏแก่สายตา อย่าไปสนใจอะไร นั่นไม่ต่างไปจากการเลือกที่จะเชื่อต่อไปและกินยาเม็ดสีฟ้า

ต่างจากเด็กสาว (คนรุ่นใหม่) ซึ่งเลือกที่จะไม่เชื่อ ‘ผู้มาก่อน’ (อาบน้ำร้อน ผ่านร้อนผ่านหนาวมาก่อน) เธอเลือกเชื่อมต่อเครือข่ายกับเพื่อนต่างมหาวิทยาลัยที่มีแนวความคิดไปในทิศทางเดียวกัน และช่วยกันเผาไหม้ความลวงระบบความเชื่อเก่าๆ ไม่ก้มหน้าก้มตาวิ่งอยู่รอบสวนสาธารณะเหมือนอย่างชายชรา แต่เธอต้องการสวนสาธารณะที่ใช้สูดอากาศบริสุทธิ์ได้จริง ห้องสมุดที่เข้าไปใช้ค้นคว้าอ่านหนังสือได้จริง มิใช่ผืนผ้าที่ขวางกั้น เธอเลือกที่จะไม่เชื่อและกินยาเม็ดสีแดง

หลังฉากของเรื่องสั้นดังกล่าว จึงคือมือของผู้คนที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง มือหนึ่งจับอีกมือหนึ่งและจับอีกมือหนึ่งจับต่อกันไปเป็นทอดๆ เชื่อมส่งต่อความเชื่อในรูปแบบเดียวกันจากจุดตั้งต้นที่ว่า เพราะไม่เชื่อว่าจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่เชื่อว่าถ้าร่วมมือร่วมใจกันอะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ แม้จะต้องใช้เวลา แต่ก็ดีกว่าเชื่อตามๆ กันและไม่ได้เริ่มต้นลงมือทำอะไรเลย (ในส่วนนี้เราจึงเห็นว่าเด็กสาวไม่ได้คิดเปลี่ยนแปลงเพียงคนเดียว)

และอีกส่วนจึงตีวัวกระทบคราดไปได้อีกโสตหนึ่งว่า ไม่ว่าจะเป็นหลังฉากของข้าราชการทหาร ตำรวจหรือบุคคลในเครื่องแบบ หลังฉากของเหล่านักการเมืองในชุดสูทผูกไท้ หรือจะหลังฉากของคำอันคุ้นหูติดปากว่า “ไม่รู้ ไม่รู้” อะไรก็ไม่รู้เหล่านี้ เราจะเลือกกินยาเม็ดสีฟ้าและเชื่อหน้าฉากตบตาเหล่านี้ต่อไป หรือจะเลือกกระชากผ้าใบผืนใหญ่ลงมาแล้วพบความจริงที่ลวงตาเราอยู่

อยู่ที่เราอยากรู้อยากเห็นแบบไหน ก็เลือกหยิบยาเม็ดสีนั้น

จิตวิเคราะห์ว่าด้วย คัตเตอร์ เด็กสาว

และพลังของผู้หญิงคนอื่นๆ

 

ทีนี้เราลองมาวิเคราะห์เรื่องสั้น ‘ฉาก’ ในอีกแง่มุมกันดูพอสังเขป

‘คัตเตอร์’ สื่อถึงอะไรได้บ้างในทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ฟรอยด์คงบอกว่าคัตเตอร์คือ ‘จ้าวโลก’ ของผู้ชายไม่ต่างจากมีดของแหลมคมที่ใช้ทิ่มแทง และหากอนุมานตามฟรอยด์ว่าคัตเตอร์=จ้าวโลก ทีนี้ลองจินตภาพตามว่าเด็กสาวหยิบของเล่นอย่างคัตเตอร์ออกมา

“แล้วยกขึ้นสุดแขน ลากกรีดลงแนวดิ่งอย่างรวดเร็ว ภาพสวนกว้างใหญ่ต้องหน้าแยกออกจากกัน”

สวนกว้างใหญ่ และสิ่งที่แยกออกน่าโดยคัตเตอร์ จะเปรียบได้ไหมว่า เด็กสาวอยู่ในช่วงวัยอยากรู้อยากเห็นเลยอยากทดลอง ‘ช่วยตัวเอง’ ก่อนในเบื้องต้น

เราจึงไม่แน่ใจว่า “คำตำหนิของอาจารย์เรื่องงาน” นั้นหมายถึงเรื่องใดกันแน่ และสาเหตุใดเด็กสาวจึงไม่อยากกลับบ้าน โดยทั้งนี้จึงอาจกล่าวได้ว่าอาจารย์นั้นน่าจะเป็น ‘ผู้ชาย’ (เพราะโดยโครงสร้างตัวบท ตัวละครเด็กสาวจะปะทะกับเหล่าผู้ชายเสียเป็นส่วนใหญ่)

คราวนี้ลองทดอาจารย์ที่ถูกกล่าวถึงเป็นชายคนที่หนึ่งไว้ในใจก่อน ส่วนชายคนที่สองที่เข้ามาลอบมองโดยพลการคือ ‘คนขี่มอเตอร์ไซค์วิน’ เดินมาดู “รอยโหว่” และคนที่สามคือ ‘ชายสูงอายุ’ “กำลังจ้องเธออยู่” แต่เหมือนไม่สนใจเรื่องอย่างว่า จึงบอกเด็กสาวว่าให้เก็บ “แล้วรีบเดินออกมา” แต่ไม่ทันที่เธอจะเก็บของเล่น ชายในชุดซาฟารีสองคนก็ “พุ่งเข้ามาหาเด็กสาว” (นับถึงตอนนี้เด็กสาวปะทะกับผู้ชายถึงห้าคนแล้วด้วยกัน)

คนหนึ่งหยิบของเล่นไปจากมือเธอ อีกคนหนึ่งใช้เทปกาว “ปะผ้าใบที่ขาดให้ติดกัน” ก่อนจะพาตัวเด็กสาวไปที่อาคารสำนักงานแห่งหนึ่ง “หน้าต่างทุกบานของอาคารติดฟิล์มดำ” จากนั้น “สอบสวนเธออยู่พักใหญ่” แล้วบอกให้เด็กสาว “ลืมเรื่องนี้เสีย” ก่อนจะปล่อยตัวเธอออกมาตอนดึกของวันนั้น

เป็นไปได้หรือไม่ว่าเด็กสาวอาจจะไม่ยอมอาจารย์ในตอนแรก เธอเลยโดนตำหนิ แต่เธออยากทดลองด้วยตัวเองก่อน จึงหยิบของเล่นปลอมมาลอง แต่บังเอิญมีชายอื่นผ่านมาเห็นเข้าและถูกชายมีอำนาจสองคนยึดของปลอมแล้วปกปิด ‘สิ่งที่แยกออก’ ไม่ให้ใครเห็น จากนั้นจึงพาตัวเด็กสาวเข้าไปสอบสวนในห้องที่ “ติดฟิล์มดำ” พร้อมออกคำสั่งว่า “ให้ลืมเรื่องนี้เสีย”

เด็กสาวไม่กล้าบอกใครกับเรื่องที่เกิดขึ้น “เธอจึงเก็บเรื่องนี้ไว้คนเดียว” ตรงนี้จึงไม่ต่างไปจากความอับอาย หากบอกไปก็ไม่มีใครเชื่อ แม้กระทั่งชายชราที่เธอไปปรึกษา เพราะเห็นว่าครั้งก่อนเคยให้ความช่วยเหลือ เธออยากจะเปิดโปงเรื่องดังกล่าว แต่ก็ไม่มีใครให้ความร่วมมือ

จนกระทั่งวันหนึ่งเธอได้ไปเจอเพื่อนต่างมหาวิทยาลัย “ที่รู้เรื่องนี้” จึงรวมตัวกันเพื่อกระชากหน้าฉาก

เธอกลับมาหาชายชราอีกครั้ง แล้วฉายภาพใหญ่ให้ทุกคนได้เห็นพร้อมกันถึงความโสมมที่ถูกหมกเม็ดนี้ว่ายังมีผู้หญิงอีกหลายคนที่ถูกกระทำจากอำนาจมืดที่ไม่สามารถบอกใครได้ แต่เมื่อรวมตัวกันแล้วกลับกลายเป็นปากเสียงที่ยิ่งใหญ่เผาไหม้ ‘ฉาก’ ที่เคยถูกปกปิดมานาน

“ฉิบหายเอ๊ย ลุงไม่เคยรู้เรื่องนี้เลย” ชายสูงอายุหันไปมองหน้าเด็กสาว

“ตอนนี้ทุกคนได้เห็นความจริงพร้อมกัน และนี่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงค่ะคุณลุง”

จึงกล่าวได้ว่าในส่วนขยายเพิ่มเติมนี้ นำหลักการวิเคราะห์และ ‘การตีความนอกตัวบท’ มาปรับใช้ สนับสนุน แต่ก็ยังสอดรับไปในแนวทางเดียวกัน คือเปิดโปงสิ่งที่ถูกปกปิด หน้าฉากกับหลังฉาก และนี่จึงเป็นอีกมุมมองหนึ่งในการอ่านอีกด้านของ ‘ฉาก’ อยู่ที่เราอยากรู้อยากเห็นแบบไหน ก็เลือกหยิบยาเม็ดสีนั้น

หมายเหตุ : การเน้นความ เป็นของผู้เขียนบทความ