วิช่วลคัลเจอร์ ประชา สุวีรานนท์/Peters Projection : แผนที่โลกกับมุมมองใหม่ (จบ)

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

Peters Projection : แผนที่โลกกับมุมมองใหม่ (จบ)

ตลอดสี่สิบปีที่ผ่านมา นักทำแผนที่ “มืออาชีพ” และวงการวิชาการด้านภูมิศาสตร์พยายามปฏิเสธแผนที่ปีเตอร์ส์ บางคนที่ไม่ชอบบอกว่า “เหมือนผ้าขี้ริ้วแขวนบนราว”

ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970s แผนที่ฉบับนี้สร้างความอื้อฉาวเพราะถูกเอาไปเปรียบเทียบกับเมอร์เคเตอร์ นอกจากนั้น ยังอ้างว่าแสดงขนาดได้จริงกว่า แต่ตัวเองกลับไปบิดเบือนรูปร่างมาก เช่น กรีนแลนด์เล็กและสั้นลงมาก

ส่วนบริเวณขั้วโลกทั้งเหนือและใต้ก็หายไปเลย ก็ทำให้คนไม่ยอมรับง่ายๆ

บางคนชี้ว่าเมอร์เคเตอร์บิดเบือนก็จริง แต่ปีเตอร์ส์ก็ทำไม่น้อยเหมือนกัน และอ้างว่าการบิดเบือนเป็นเรื่องธรรมดาของแผนที่

บางคนบอกว่าเขาไม่ได้เป็นคนแรกที่สร้างเส้นโครงแผนที่แบบนี้ เพราะเหมือนแผนที่ศตวรรษที่ 19 ของชาวสก๊อตคนหนึ่งชื่อ เจมส์ กัลล์ ซึ่งมีชื่อว่า Orthographic Equal-Area Projection และนี่ทำให้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า The Gall-Peters Projection

แผนที่เป็นเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับกับการเมืองเรื่อยมา การถูกใช้ในแบบเรียนหรือสอนภูมิศาสตร์ในห้องเรียนก็สำคัญ ทั้งหมดนี้ ก่อให้เกิดความคุ้นเคยกับรูปแบบดั้งเดิม

แม้แต่การกำหนดว่าอะไรอยู่เหนือหรือการที่ซีกโลกเหนือครอบครองพี้นที่ที่ดูเด่นกว่าก็มีการเมือง ดังนั้น เมื่อซีกโลกใต้รู้สึกว่าตนเองถูกกดขี่ขูดรีดมากเกินไป แผนที่ของแม็กอาร์เธอร์ส (McArthur”s Universal Corrective Map of the World) ซึ่งเอาซีกโลกที่เคยเรียกกันว่าใต้ขึ้นไปอยู่ข้างบนจึงเป็นที่ยอมรับมาก

ถ้าเอาแผนที่ปีเตอร์ส์ไปติดในห้องเรียน ใครๆ มองเห็นก็ต้องตกใจ อย่างไรก็ตาม นี่อาจเป็นสิ่งที่ทำให้นักการศึกษาในบอสตันตัดสินใจเอาแบบนี้ไปใช้

เมอร์เคเตอร์สำคัญแค่ไหนนั้น เป็นเรื่องที่รู้กันทั่วไป เช่น แม้ในยุคก่อน แผนที่จะโชว์โลกทั้งใบได้ แต่เมอร์เคเตอร์เป็นแบบแรกที่ใช้ในการเดินทางข้ามทวีป อีกทั้งในทุกวันนี้ ก็เป็นที่รู้จักและคุ้นเคยมาก พูดง่ายๆ ถ้าคุณใช้ Google, Bing, Yahoo, OpenStreetMaps หรือ MapQuest ก็คือใช้เส้นโครงเมอร์เคเตอร์

ทั้งๆ ที่วาดขึ้นด้วยเหตุจำเป็น ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เมอร์เคเตอร์เป็นแผนที่สำหรับชาวเรือและใช้คู่กับเข็มทิศ เพื่อช่วยให้การกำหนดทิศทางและวัดระยะทางเดินเรือ ความถูกต้องในเรื่องมุมและองศาทำให้สามารถลากเส้นตรงจากทวีปหนึ่งไปสู่อีกทวีปหนึ่ง หรือแล่นเรือตามเข็มทิศได้

จุดที่ต่างกันคือวิธี projection จึงต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้สักหน่อย : แผนที่โลกที่เราเห็นจะเกิดจากการฉายภาพจากลูกโลกลงบนแผ่นเรียบ และกลายเป็นสองมิติ ซึ่งมีได้หลายแบบ หรือมี projection หรือ “เส้นโครงแผนที่” หลายแบบ

ถ้ายอมรับว่า การแผ่ลูกโลกออกเป็นสองมิตินั้นเป็นไปไม่ได้ หรือถ้าเป็นไปได้ก็จะเป็นแผนที่โลกที่แปลกมาก ที่ผ่านมา เขาจึงวาดแบบใช้เส้นโครงแผนที่ และปรับให้มุมของเส้นรุ้ง/แวงของแต่ละซีกโลกเป็นไปตามความเหมาะสม ในทางเทคนิค การปรับนี้มีหลักการหลายแบบและเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น generalisation และ conformity

เส้นโครงที่ว่านี้มีถึงกว่าสิบแบบ หนังสือ “มองโลกผ่านแผนที่ : ร้อยแผ่นร้อยเรื่องราว” (หน้า 238-251 ภาคผนวก ข. : เส้นโครงแผนที่กับภาพลักษณ์โลก) จะอธิบายได้ดี โดยเฉพาะบอกด้วยว่าแต่ละแบบมีจุดแข็งจุดอ่อนตรงไหน

ที่สำคัญ เมอร์เคเตอร์เหมาะสำหรับการเดินเรือในสมัยก่อน และที่สำคัญ ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อใช้กันทั่วไปหรือเพื่อสอนภูมิศาสตร์ในห้องเรียน

นอกจากนั้น การทำให้ยุโรป, อเมริกาใหญ่กว่าจริง ส่วนแอฟริกา, อเมริกากลาง/ใต้, เอเชียเล็กกว่าจริง ไม่เพียงทำให้เห็นปัญหาความถูกต้อง แต่ส่อให้เห็น “อคติ” ทางการเมือง เมอร์เคเตอร์เกิดมาเพื่อรับใช้การล่าอาณานิคม เพราะแผนที่และการเดินเรือของตะวันตกตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา แปลว่าการล่าเมืองขึ้น และเกิดขึ้นพร้อมกับการกดขี่ขูดรีดดินแดนต่างๆ รวมทั้งเข่นฆ่าผู้คนจำนวนมาก

นักภูมิศาสตร์ส่วนมากไม่ยอมรับว่าแบบใหม่นั้นจริงกว่า แต่เห็นร่วมกันว่าต่างมีจุดอ่อนคนละอย่าง หรืออาจจะเรียกได้ว่าออกแบบเพื่อทำงานคนละอย่างหรือทำหน้าที่ที่ต่างกัน

แม้แต่ เดนิส วู้ด ซึ่งไม่ได้เห็นว่าแผนที่ปีเตอร์สถูกต้องกว่า

แต่ยอมรับว่ามันมีคุณค่าสำหรับการศึกษา โดยเฉพาะเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับแบบอื่นๆ และในแง่เทคนิคการวาดแผนที่ ซึ่งต้องมีการรักษาบางอย่างและทิ้งบางอย่างไป มันจึงขึ้นต่อมุมมองของผู้อ่าน

หรือดังที่บรอตตันบอก ผลของปรากฏการณ์แผนที่ปีเตอร์ส์ คือ ทำให้คนเห็นว่าแผนที่ฉบับหนึ่งๆ ไม่ได้ดีกว่าแบบอื่น แต่ขึ้นอยู่กับว่าฉบับนั้นทำขึ้นเพื่ออะไรและรับใช้ใคร

วู้ดสรุปว่า ในการดูแผนที่ เราต้องใช้สายตาหลายคู่ ไม่ใช่คู่เดียว หรือต้องใช้แผนที่หลายฉบับจึงจะเข้าถึงความเข้าใจที่แท้จริง และนั่นอาจจะเป็นจุดแข็ง ไม่ใช่จุดอ่อนของการมองโลกผ่านแผนที่

อาจจะเหมือนมาร์กซิสม์ นั่นคือ แม้ในทางปฏิบัติจะผิดพลาด แต่ในทางทฤษฎี ได้ทำให้ความเชื่อดั้งเดิม เช่นในเมอร์เคเตอร์ รวมทั้งที่มีมาตั้งแต่สมัยของปโตเลมี ซึ่งบอกว่าแผนที่ต้องสะท้อนความจริง ถูกวิพากษ์วิจารณ์และส่งผลไปไกลมาก

การใช้แผนที่ปีเตอร์ส์ในห้องเรียนและระบบการศึกษาของบอสตัน

จะสามารถ “ล้าง” ความคิดอาณานิคมหรือ “พลิก” โลกเก่าได้ง่ายเหมือนพลิกแผ่นกระดาษที่ติดไว้บนผนังหรือไม่?

เป็นสิ่งที่ต้องรอดูกันต่อไป