บวชผีให้เป็นพราหมณ์ เปลี่ยนงานธุรกรรมช้างในศาสนาผีให้อยู่ในมือเทพเจ้า / On History : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

On History

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

บวชผี ให้เป็นพราหมณ์

เปลี่ยนงานธุรกรรมช้างในศาสนาผี

ให้อยู่ในมือเทพเจ้า

 

จารึกฐานพระอิศวร กำแพงเพชร ช่วงกลางสมัยอยุธยา มีข้อความระบุว่า

“ศักราช 1432 (ตรงกับ พ.ศ.2054) มะเมียนักษัตรอาทิตยพาร เดือนหกขึ้นสิบสี่ค่ำได้หษตฤกษ์ เพลารุ่งแล้วสองนาฬิกา จึงเจ้าพระญาศรีธรรมาโสกราชประดิษฐานพระอิศวรเป็นเจ้านี้ไว้ให้ครองสัตว์สี่ตีนสองตีนในเมืองกำแพงเพชร และช่วยเลิกศาสนาพุทธศาสตร์และไสยศาสตร์และพระเทพกรรมมิให้หม่นให้หมอง ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน”

ข้อความในจารึกกล่าวถึงการเลิก คือ ทำนุบำรุงพระศาสนาทั้งสาม ได้แก่ 1.พระพุทธศาสนา 2.ไสยศาสตร์ คือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู (ดังนั้น ‘ไสยศาสตร์’ จึงควรเขียนว่า ‘ไสยศาสน์’ ดังที่นักประวัติศาสตร์ระดับไอคอนของไทยในปัจจุบันอย่าง อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเสนอไว้เมื่อนานมาแล้ว เพราะคนโบราณถือว่าเป็นศาสนา ไม่ใช่ศาสตร์ความรู้) และสุดท้าย 3.คือศาสนาพระเทพกรรม์ ซึ่งแยกออกจากศาสนาพราหมณ์ต่างหาก โดยจะสังเกตได้ว่า ข้อความในจารึกให้ศักดิ์ฐานะของศาสนาทั้งสามที่ว่านี้มีศักดิ์ศรีที่เสมอเท่าเทียมกันอย่างชัดเจน

“ศาสนาพระเทพกรรม์” ที่ว่านี้ก็คือ “ศาสนาผี” พื้นเมืองสุวรรณภูมินี่แหละครับ เพียงแต่ว่าให้ความสำคัญกับอะไรที่คนสมัยนั้นเรียกว่า “พระเทพกรรม์” เป็นหลักสำคัญ

และถึงแม้ว่าในหนังสือเก่าจำพวกตำราภาพพระเทวรูปฉบับต่างๆ ซึ่งน่าจะเขียนกันขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 จะปรากฏชื่อ พระเทพกรรม์ กำกับอยู่ที่รูปเทพเจ้าที่มีเศียรเป็นช้างคล้ายพระคเณศ ซึ่งเป็นเทพสำคัญในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

แต่ในสมัยอยุธยาพระเทพกรรม์จึงไม่น่าจะเป็นองค์เดียวกับพระคเณศ

 

ลิลิตโองการแช่งน้ำ วรรณกรรมชิ้นสำคัญยุคต้นกรุงศรีอยุธยา (หรืออาจจะเก่าแก่กว่านั้น) มีข้อความว่า “เชือกบาศด้วย ชันรอง ชื่อพระกรรมบดี ปู่เจ้า”

“เชือกบาศ” ที่ว่านี้ย่อมหมายถึง “เชือกปะกำ” เพราะมีข้อความกำกับอยู่ว่า “พระกรรมบดี ปู่เจ้า” คือปู่เจ้าผู้เป็นใหญ่แห่งการกรรม์ โดย “การกรรม์” ที่ว่านี้ คงจะเป็นคำเก่าที่หมายถึงการคล้องช้าง ดังปรากฏข้อความกล่าวถึงการคล้องช้าง ในวรรณกรรมสมัยอยุธยาตอนกลางอย่าง สมุทโฆษคำฉันท์ ว่า “หมายต้นตูมงาม และควรที่จำทำการกรรม์”

ดังนั้น “พระเทวกรรม์” หรือ “พระกรรมบดี” ก็คือ “ผีปะกำ ปู่เจ้า” ซึ่งเป็นผีผู้ใหญ่ ที่ทำหน้าที่ดูแลการช้างทั้งหลาย ในศาสนาผีพื้นเมืองอุษาคเนย์ คำว่า เทวกรรม์ หรืออะไรต่างๆ เทือกนี้ก็คือการจับบวชผีพื้นเมืองให้เป็นพราหมณ์ ด้วยการเปลี่ยนชื่อให้เป็นภาษาบาลี-สันสกฤต

การที่พ่อพราหมณ์ทั้งหลายจะเทคโอเวอร์เอากิจการที่เกี่ยวกับการคล้องช้าง ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ และสำคัญเป็นอย่างมากในอุษาคเนย์ยุครัฐจารีตนั้น มีหลักฐานปรากฏมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงศรีอยุธยาแล้วนะครับ ดังปรากฏข้อความในวรรณกรรมเรื่องยวนพ่ายโคลงดั้นว่า “การช้างพิฆเณศรน้าว ปูนปานท่านนา” ถอดความออกมาได้ว่า “รอบรู้วิชาคชกรรมจนเปรียบปานได้กับพระพิฆเนศวรŽ”

พูดง่ายๆ ว่าจะยึดเอาหน้าที่ของ “ผีปะกำ” มาเป็นของ “พระคเณศ” ซึ่งมีเศียรเป็นช้างมันดื้อๆ นั่นแหละ

 

แต่ความพยายามที่ว่าก็ดูไม่น่าจะประสบผลสำเร็จได้ง่ายดั่งใจนึกนัก เพราะท้ายที่สุด พระคเณศก็ต้องมามีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พระเทพกรรม์” ดังปรากฏหลักฐานอยู่ในกลุ่มสมุดภาพพระเทวรูปต่างๆ ที่เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 นั่นเอง

และนี่ก็แสดงให้เห็นถึงกระบวนการที่ช้านานของการปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ในศาสนาผีพื้นเมือง ให้กลายเป็นกิจการของพ่อพราหมณ์ (ซึ่งก็คงเป็นไปในทำนองเดียวกับการบวชผี ให้เป็นพุทธในอีกหลายกรณี) โดย “พระคเณศ” อาจจะถูกนับถือให้เป็น “เทพแห่งการช้าง” อย่างแพร่หลายมาก่อนสมัยที่จะมีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์

หลักฐานก็คือ เทวสถาน หรือที่เรียกกันอย่างคุ้นปากคนทั่วไปมากกว่าว่า “โบสถ์พราหมณ์” ของกรุงเทพฯ ซึ่งสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 นั้น ประกอบไปด้วยอาคารเก่าแก่ 3 หลัง มีโบสถ์หลังใหญ่สำหรับพระอิศวรตั้งอยู่ทางทิศใต้ และโบสถ์สำหรับประดิษฐานพระคเณศกับพระนารายณ์ ไล่เรียงไปทางทิศเหนือ ตามแนวแกนทิศ ตามลำดับ

น่าสังเกตว่าเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสามตามคติอย่างพราหมณ์ชมพูทวีป ประกอบด้วย พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ที่มักจะเรียกเหมารวมกันว่าพระตรีมูรติ 2 องค์แรกมีการสร้างโบสถ์บูชาเป็นสัดส่วนเฉพาะองค์ที่เทวสถาน ส่วนพระพรหมนั้นไม่มี มีก็แต่ศาลพระพรหมที่ตั้งอยู่หน้าโบสถ์ใหญ่ของพระอิศวร ซึ่งพระครูวามเทพมุนีเพิ่งจะจัดสร้างถวายเนื่องในมหามงคลสมัยวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 3 รอบ พระนักษัตร พุทธศักราช 2514 นี้เอง

หมายความว่า ภายในโบสถ์พราหมณ์ พระนคร ไม่มีสถานที่บูชาพระพรหมเป็นการเฉพาะมาแต่เดิม เพิ่งมาสร้างขึ้นเมื่อไม่ถึง 40 ปีมานี้เท่านั้น ในขณะเดียวกับที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพระคเณศตามทัศนคติอย่างพราหมณ์สยาม ที่มีการสร้างสถานบูชาเป็นการเฉพาะได้อย่างชัดเจน

ที่สำคัญก็คือ โบสถ์พระคเณศหลังนี้ควรจะเกี่ยวข้องกับพราหมณ์สยามกลุ่มหนึ่ง ที่เรียกกันว่า “พราหมณ์พฤฒิบาศ” ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการช้างทั้งหลาย แน่นอนว่าพราหมณ์ประเภทนี้ไม่มีในอินเดีย และควรจะเป็น “หมอช้าง” หรือ “หมอผี” ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการช้าง ที่นับถือผีปะกำมาก่อน เพราะแม้แต่ชื่อเรียกประเภทของพราหมณ์กลุ่มนี้นั้น ยังแปลว่า “เชือกบาศอันยิ่งใหญ่” (พฤฒิ แปลว่า ความยิ่งใหญ่, ความเจริญ, ความมั่งคั่ง หรือความอุดมสมบูรณ์ ก็ได้)

 

แน่นอนว่า “เชือกบาศ” ที่ว่านี้ก็คือ สิ่งที่ในโองการแช่งน้ำกล่าวถึงว่า “เชือกบาศ ด้วยชันรอง” ของ “พระกรรมบดี ปู่เจ้า” คือ “เชือกปะกำ” เพราะเป็นที่สิงอยู่ในเชือกปะกำ จึงถือเป็นของขลังของบรรดาหมอผี และหมอช้าง ในศาสนาผีพื้นเมืองนับถือ

แต่ “ผี” หรือ “ครูช้าง” ที่ถูกจับบวชให้เป็นพราหมณ์นั้น ไม่ได้มีแค่ “ผีปะกำ” เท่านั้นนะครับ

ในคำฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง ซึ่งเป็นงานวรรณกรรมยุคอยุธยาตอนกลาง หรือเก่าไปกว่านั้น สามารถแบ่งเนื้อหาออกได้เป็นสามส่วนหลักๆ คือ ส่วนที่ 1 สดุดีอวยสังเวย เป็นบทสรรเสริญเทพเจ้าและผี ได้แก่ กำเนิดพระคเณศ, ผีปะกำ (พระกรรม), ผีภูเขา (พระพนม) และผีป่า (พระไพร) ส่วนที่ 2 สดุดีขอช้าง คือบทสรรเสริญเทพ และผีที่สถิตอยู่ในขอช้าง และส่วนที่ 3 สดุดีสิทธิดาบส คือบทสรรเสริญสิทธิดาบส (สิทธ แปลว่า ความสำเร็จ) ผีพื้นเมืองเกี่ยวกับช้าง ที่ถูกจับบวชเข้าไปเป็นดาบสของฝ่ายพราหมณ์

เมื่อเร็วๆ นี้ นักประวัติศาสตร์-โบราณคดีนอกเครื่องแบบอย่าง คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เพิ่งจะตั้งข้อเกตว่า ชื่อ “สิทธิ” ยังพบในบทพระอัยการนาพลเรือน (ปัจจุบันถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งในกฎหมายตราสามดวง) ว่า “กรมพฤฒิบาศ” ตำแหน่งจางวางชื่อ “พระอีศวรธิบดีศรีสิทธิฤทธิบาศ” และตำแหน่งเจ้ากรมชื่อ “หลวงสิทธิไชยบดี” ซึ่งก็คือการนำชื่อของผี มาใช้ผูกเข้ากับชื่อตำแหน่งในกรมกองที่รับผิดชอบเกี่ยวกับช้างนั่นเอง

ในสมุดภาพพระเทวรูปฉบับต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น หลายภาพก็ถูกระบุชื่อไว้ว่า “พระสิทธิเทพ” และ “พระสิทธิกรรม” โดยมักจะปรากฏร่วมอยู่กับกลุ่มภาพที่เกี่ยวข้องกับการช้าง เช่น ภาพพระคเณศ พระเทพกรรม เป็นต้น ดังนั้น พระสิทธิเทพ และพระสิทธิกรรม ที่ว่านี้ ก็ย่อมคือ “สิทธิดาบส” ในคำฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง ซึ่งก็คือ ผีพื้นเมืองที่เกี่ยวกับการช้าง ที่ถูกจับบวชเข้าเป็นเทพเจ้าในจักรวาลวิทยาของสยามสยามแน่

กระบวนจับ “ผี” พื้นเมือง บวชเข้าเป็น “เทพเจ้า” ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนั้น จึงไม่ใช่การบวชเฉพาะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชาเพียงอย่างเดียว แต่หลายครั้งน่าจะเกี่ยวข้องกับอำนาจของกลุ่มก้อนทางสังคมบางอย่าง ดังมีตัวอย่างจากกระบวนการจับเอา กลุ่มอำนาจที่เกี่ยวพันกับการคล้องช้างในศาสนาผี (แน่นอนด้วยว่า ย่อมเกี่ยวข้องกับธุรกิจค้าช้าง ซึ่งเป็นธุรกิจสำคัญของกรุงศรีอยุธยา และรัฐจารีตในยุคก่อนหน้านั้น) ให้กลายมาเป็นพราหมณ์ เป็นต้น •