วิกฤตข้าว วิกฤตคน-วิกฤตโลก | เทศมองไทย

ภัสสิ อัคภารปุระ เขียนบทความว่าด้วย “วิกฤตข้าว” ไว้อย่างน่าสนใจ ครอบคลุมครบถ้วนใน ดิ อีโคโนมิสต์ ชนิดที่ว่า ในฐานะที่เป็นชาติผู้ผลิต-ส่งออกข้าวระดับหัวแถวของโลก ผู้ที่เกี่ยวข้องกับแวดวงข้าว ตั้งแต่ชาวนาเรื่อยไปจนถึงผู้กำหนดนโยบายในรัฐบาลควรได้อ่านทบทวนอย่างละเอียดถี่ถ้วน

ผมเข้าใจเอาเองว่า บทความชิ้นนี้อาศัยผลการศึกษาวิจัยชิ้นใหม่ล่าสุดที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ เนเจอร์ ฟู้ด เมื่อเร็วๆ นี้เป็นพื้นฐาน

โดยภัสสิเริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นว่า ข้าวเป็นธัญพืชที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้คนนับพันล้านคนในเอเชีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ผลิตข้าว (Oryza sativa หรือข้าวเอเชีย) คิดเป็น 90 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตทั้งโลก และบริโภคข้าวในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับที่ผลิตได้ดังกล่าว

คนในเอเชียได้พลังงานในแต่ละวันราว 1 ใน 4 จากข้าว ที่สหประชาชาติประมาณเอาไว้ว่า ปีหนึ่งๆ คนเอเชียจะบริโภคข้าวถึง 77 กิโลกรัม มากกว่าการบริโภคโดยเฉลี่ยของคนในแอฟริกา, ยุโรปและอเมริการวมกันด้วยซ้ำไป

พืชอาหารสำคัญที่ให้พลังงานแก่ผู้คนในเอเชียซึ่งมีสัดส่วนเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกกำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้นทั้งในเอเชียเองและในแอฟริกา

แต่ในเวลาเดียวกันผลผลิตกลับลดน้อยลง พื้นที่เพาะปลูก, น้ำสำหรับการเพาะปลูกและแรงงาน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในกระบวนการผลิตข้าวก็ลดลงและเป็นปัญหาไปทั้งหมด

การเพาะปลูกข้าว อ่อนไหวอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นกระบวนการผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวออกมามาก มากพอๆ กับอุตสาหกรรมการบินด้วยซ้ำไป

ผลวิจัยที่เผยแพร่ในเนเจอร์ ฟู้ด ระบุว่าในปี 2050 ประชากรในเอเชียจะเพิ่มขึ้นเป็น 5,300 ล้านคนจาก 4,700 ล้านคนในขณะนี้ ในแอฟริกาเพิ่มเป็น 2,500 ล้านคนจาก 1,400 ล้านคน ส่งผลให้ความต้องการข้าวทวีสูงขึ้น เพราะในเอเชียมีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่ไม่ได้บริโภคข้าวเป็นหลัก นั่นคือ ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้

ในเวลาเดียวกันผลผลิตข้าวกลับมีแนวโน้มลดต่ำลง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยเพียง 0.9 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ลดลงมากจาก 1.3 เปอร์เซ็นต์ต่อปีในช่วง 10 ปีก่อนหน้า

และข้อมูลของยูเอ็นบ่งบอกด้วยว่าภูมิภาคที่ผลผลิตลดลงมากที่สุดก็คือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผลก็คือ ในตอนนี้ประเทศอย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ จำเป็นต้องนำเข้าข้าวเป็นปริมาณมากทุกปีแล้ว

 

เมื่อทศวรรษ 1960 เกิดวิกฤตอาหารขึ้นในจีน และในอินเดียก็ร่ำๆ จะตกลงสู่หายนะ ข้าวสายพันธุ์ IR8 ที่คิดค้นโดยสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (ไออาร์อาร์ไอ) ซึ่งตั้งอยู่ในฟิลิปปินส์ ก่อให้เกิด “การปฏิวัติเขียว” ขึ้นเป็นครั้งแรก ช่วยจีนพลิกฟื้นจากทุพภิกขภัย และทำให้อินเดียเลี่ยงพ้นจากหายนะได้ในที่สุด

กระนั้นการสร้างความมั่นคงด้านอาหารครั้งใหม่ยากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะการพัฒนาเมืองทำให้พื้นที่เพาะปลูกลดน้อยลง

เห็นได้ชัดในกรณีของอินเดียที่นาข้าวลดขนาดลงกว่าครึ่ง จาก 2.3 เฮกตาร์ เหลือเพียง 1.1 เฮกตาร์เท่านั้น

ปัญหาไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น แรงงานเริ่มหันไปหา “ทางเลือก” อย่างอื่นที่มีมากขึ้นแทนการทำนา น้ำสำหรับการเพาะปลูกหายากมากขึ้น ดินจืดลงและกลายเป็นพิษจากการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงมากเกินไป

นักวิทยาศาสตร์ของไออาร์อาร์ไอ ยืนยันว่าข้าวเป็นพืชอาหารที่อ่อนไหวต่อภาวะโลกร้อนมากที่สุด ผลการศึกษาวิจัยในปี 2004 พบว่า ทุกๆ 1 องศาของค่าเฉลี่ยอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดลงมากถึง 10 เปอร์เซ็นต์

ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น ทำลายพื้นที่เพาะปลูกในพื้นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขง ภาวะน้ำท่วมก็ส่งผลต่อข้าวมหาศาลเช่นเดียวกัน ผลการสำรวจระบุว่าน้ำท่วมใหญ่ในปากีสถานเมื่อปีที่แล้ว ทำลายผลผลิตข้าวไปถึง 15 เปอร์เซ็นต์

 

ในเวลาเดียวกันการปลูกข้าวที่ใช้การปล่อยให้น้ำท่วมขังผืนนา ทำให้ดินขาดออกซิเจน กระตุ้นให้แบคทีเรียที่สามารถปล่อยก๊าซมีเทนออกมาเติบโต

ผลก็คือ การปลูกข้าวปล่อยก๊าซมีเทนออกสู่บรรยากาศได้มากถึง 12 เปอร์เซ็นต์ของมีเทนทั้งหมด และคิดเป็น 1.5 เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุกชนิดเทียบเท่ากับการปล่อยมีเทนในอุตสาหกรรมการบิน ในเวียดนาม การทำนาก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าการจราจรทั้งหมดของประเทศด้วยซ้ำ

อีกปัญหาที่ทับซ้อนเข้ามาและก่อความกังวลมากขึ้นทุกที ก็คือ คุณภาพทางโภชนาการ ข้าวมีกลูโคสสูง แต่ระดับธาตุเหล็กและสังกะสีต่ำ ผลก็คือก่อให้เกิดเบาหวานและโรคอ้วนในผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ

ยีน เบลลี ผู้อำนวยการไออาร์อาร์ไอ ระบุว่า การแก้ปัญหาหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นกับข้าวในเวลานี้ไปพร้อมๆ กันนั้นมีความซับซ้อนมากเป็นพิเศษ สิ่งที่อุตสาหกรรมข้าวต้องการในเวลานี้ ก็คือ “การปฏิวัติสีเขียวครั้งใหม่” ที่ไม่ได้เกิดขึ้นได้โดยการแสวงหาข้าวสายพันธุ์ใหม่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องมีการปฏิรูปนโยบายข้าวให้ดีขึ้นพร้อมกันไปด้วย

การแก้ปัญหาระดับวิกฤตของข้าวต้องทำ “ทั้งระบบ” ไม่ได้จำกัดอยู่แต่บนผืนนาหรือสายพันธุ์เท่านั้นครับ