รวยรินไร (1) / จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร
“นางพิมพิลาไลย” จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผนที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี จิตรกรผู้วาดภาพ เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๐

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี

ญาดา อารัมภีร

 

รวยรินไร (1)

 

จากสมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ แม้หญิงไทยจะนิยมทรงผมสารพัดแบบ ตั้งแต่ผมปีก ผมมวย ผมทัด ผมจุก ไปจนถึงผมยาวประบ่า ฯลฯ แต่สิ่งที่อยู่คู่ทรงผมหลากหลาย คือ ‘ไร’ บนศีรษะที่ไม่ใช่ ‘ยุงเหลือบริ้นไร’ ที่เป็นสัตว์ แต่เป็นแฟชั่นทรงผมสมัยก่อน

ลองสังเกตทรงผมของบรรดานางในราชสำนักสมัยอยุธยาที่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงบันทึกไว้ใน “กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก”

“ไรน้อยรอยระเรียบ เปนระเบียบเปรียบตามแนว

ริมเกล้าเพราสองแถว ปีกผมมวยรวยไรนาง”

จะผมปีกหรือผมมวยล้วนมี ‘ไร’ ไม่ต่างกับผมยาวประบ่าก็ขาด ‘ไร’ ไม่ได้ ดังที่ “บทเห่ชมปลา” ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรบันทึกว่า ลีลาปลาหางไก่ทำให้นึกถึงทรงผมของนางผู้เป็นที่รัก

“หางไก่ว่ายแหวกว่าย หางไก่คล้ายไม่มีหงอน

คิดอนงค์องค์เอวอร ผมประบ่าอ่าเอี่ยมไร”

ทรงผมของนางในสมัยอยุธยาครือๆ กันกับสาวสมัยรัตนโกสินทร์ อาทิ นางแก้วกิริยา ในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ดังจะเห็นได้จากตอนขุนแผนชมโฉมนางแก้วกิริยาที่กำลังนอนหลับ

“เจ้าร่างน้อยนอนนิ่งบนเตียงต่ำ คมขำงามแฉล้มแจ่มใส

คิ้วคางบางงอนอ่อนละไม รอยไรเรียบรับระดับดี

ผมเปลือยเลื้อยประลงจนบ่า งอนปลายเกศาดูสมศรี”

จะต่างอยู่บ้างก็ตรงผมยาวประบ่ามีปลายงอน

นอกจากนี้ สาวผมยาวใน “นิราศนรินทร์” ก็มีไรผมเช่นกัน ภาพของต้นช้องนางคลี่ (เฟิร์นชนิดหนึ่งซึ่งขึ้นอยู่ตามต้นไม้อื่น มีลำต้นเป็นเส้นกลมห้อยย้อยลงมา) ทำให้กวีหวนนึกถึงเส้นผมสยายยาวยามนางอาบน้ำสระผม

“ช้องนางคลี่รส่ายสรร สลายเซ่น

คือนุชสนานกายแก้ เกศแก้วกันไร”

 

‘ไร’ ในที่นี้คือ ‘ไรผม’ หรือ ‘ไรเกษ’ หนังสือ “อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์ อธิบายว่า

“ไรเกษ, คือ รอยวงรอบที่ศีรษะนั้น, คนปราฐนาจะจัดแจงให้งามและเอาแหนบถอนผมให้เปนวงรอบที่ศีศะนั้น” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ทั้งยังให้รายละเอียดอีกว่า

“แหนบถอนไรจุก, คือ แหนบเล็กๆ, เขาทำด้วยเหล็กสำหรับถอนผมทำให้เปนวงนั้น”

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้ความกระจ่างไว้ในหนังสือ “ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่” ดังนี้

“ไรผมนั้น ได้แก่ รอยถอนผมเป็นวงกลมรอบกระหม่อมบนหัว ไรนี้ใช้แหนบถอนเอาจึงเป็นทางบนหัวที่ไม่มีผมขึ้น”

จะถอนไรต้องอาศัย ‘แหนบ’ เป็นตัวช่วยสำคัญ กวีหลายท่านจึงรำพันถึงทรงผมสตรีคู่ไปกับแหนบ ดังที่ “กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก” พรรณนาว่า

“ไรน้อยรอยแหนบทึ้ง ถอนแถว

เป็นระเบียบตามแนว รอบเกล้า

ริมเผ้าเพราพริ้งแวว แลเลิศ

ผมมวยรวยปีกเจ้า เรียบร้อยไรงาม ฯ”

หลวงจักรปาณี (มหาฤกษ์) ให้รายละเอียดอุปกรณ์เก็บไรกันไรไว้ใน “โคลงนิราศกรุงเก่า” (แต่งเมื่อตามเสด็จรัชกาลที่ 4 เสด็จประพาสอยุธยาทางชลมารค) ว่า

แหนบนากจากนุชแล้ว ลืมถอน ไรฤๅ

เล็บจะลืมเจียนนอน นับนิ้ว

ไม้สอยซ่นงางอน งามสรัพ พี่เอย

จากจะวายวาดคิ้ว ขาดค้างเขียนไร” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ในที่นี้แหนบทำด้วยนาก เป็นโลหะผสมระหว่างทองแดง-ทองคำ-เงิน คนไทยนิยมนำมาทำเครื่องประดับ เช่น สร้อย กำไล แหวน เข็มขัด ฯลฯ

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เล่าถึงวิธีดูแลไรผมไว้ด้วยว่า

“ถึงแม้ว่าจะไว้เป็นผมประบ่าก็เป็นผมยาวที่อยู่นอกไรผมลงมา มิได้โกนทิ้งอย่างเมื่อไว้จุก ตรงกลางกระหม่อมก็ยังรักษาไรไว้ ด้วยการใช้แหนบถอนบ้าง แล้วใช้มีดโกนคมๆ กันให้เป็นเส้นเรียบร้อยด้วยตลอดจนลงฝุ่นให้เห็นเป็นเส้นขาว ส่วนผมภายในรอยไรนั้น ก็ไว้เป็นผมฝักบัว ด้วยการตัดสั้นให้ผมตั้งอยู่ในรูปกลมรีหรือรูปไข่ บางคนก็แสกกลางแล้วไว้ผมปีก คือการเอาน้ำมันตานีซึ่งเป็นน้ำมันเหนียวข้นเข้าใส่ผม แล้วปั้นเป็นปีกสองข้างปลายปีกนั้นให้งอน ส่วนผมโดยรอบนั้นก็ไว้ยาวประบ่า”

‘รอยไร’ บนศีรษะมิใช่แค่ถอน ต้องหมั่นดูแลเป็นประจำ

ทำอย่างไรบ้าง ติดตามฉบับหน้า •