รวมแผ่นดิน รวมไทยสร้างชาติ บุพเพอาละวาด/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

รวมแผ่นดิน

รวมไทยสร้างชาติ

บุพเพอาละวาด

 

เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว

สำหรับพรรคตระกูล “รวม”

คือ “รวมแผ่นดิน” และ “รวมไทยสร้างชาติ”

พรรครวมแผ่นดิน เปิดตัวเมื่อ 1 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา

เป็นพรรคที่สืบเนื่องต่อจากพรรคพลังชาติไทย ของ พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรค ซึ่งเสียชีวิตลงก่อนหน้านี้

พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ได้เข้าไปเทกโอเวอร์ และจัดประชุมใหญ่วิสามัญ โดยเปลี่ยนชื่อมาเป็น “พรรครวมแผ่นดิน”

และมีการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ทั้งหมด 14 คน

ประกอบด้วย พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นหัวหน้าพรรค นางบุญญาพร นาตะธนภัทร พล.อ.สุรวัช บุตรวงษ์ อดีต ผอ.ททบ.5 และอดีต ผบ.หน่วยข่าวกรองทหาร และ พล.ต.พิชิต บุตรวงศ์ เป็นรองหัวหน้าพรรค

นายจำลอง ครุฑขุนทด เป็นเลขาธิการพรรค นายณัฐพล ทองคำ เหรัญญิกพรรค นายมนตรี พรมวัน นายทะเบียนสมาชิกพรรค นายคมสันต์ พันธุ์วิชาติกุล โฆษกพรรค ส่วนนายชิงชัย ก่อประภากิจ นายมาโนช อุณหกาญจน์กิจ นายเฉลิมพล ระดาพัฒน์ นายสุริยา ยีลูมา น.ส.กานดา ถาวรประพาฬ และ พ.อ.ธีรเดช เบญจาทิกุล เป็นกรรมการบริหารพรรค

 

พล.อ.วิชญ์กล่าวถึงพรรครวมแผ่นดินว่า เป็นพรรคที่รวบรวมผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ มากไปด้วยประสบการณ์ทั่วแผ่นดินไทย ทุกอาชีพ ทุกเพศวัย แม้จะมีที่มาแตกต่าง แต่มีอุดมการณ์ในทิศทางเดียวกัน คือมุ่งลดความขัดแย้งทางการเมือง ปรองดอง ประสานงานกับทุกฝ่าย เพื่อรวบรวมสรรพกำลังความรู้ ความสามารถ ช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน หารายได้เข้าประเทศ ส่งเสริมการท่องเที่ยว สนับสนุนยกระดับการเกษตรของไทยสู่อุตสาหกรรมเกษตรที่สมบูรณ์

พล.อ.วิชญ์บอกว่า เหตุผลจริงๆ ในการตั้งพรรคก็ทำการเมืองได้มาระยะหนึ่ง และไปเจอกับสิ่งที่เราได้เห็น และยังมีสิ่งที่เราไม่ได้ทำ ซึ่งคิดว่าหากปล่อยทิ้งไปก็จะไม่ดี อีกทั้งยังมีคนที่เราพาเข้ามาในการเมือง และตอนนี้เขาไม่มีที่พึ่ง จึงต้องกลับมาหาบ้านให้เขาอยู่ให้เรียบร้อย นี่คือเหตุผล ส่วนคนที่จะมาร่วมงานด้วยนั้น ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคเดิมที่ตามมาด้วย ซึ่งก็มีหลายคนที่เขาอยากเล่นการเมือง จึงมาอยู่ร่วมกันในพรรคนี้ และต้องการหาพรรคการเมืองใหม่ที่ให้ตนเป็นผู้นำ จึงขอกลับมาอีกครั้ง เพราะเราไม่ได้ทำอะไรในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

“เราไม่ใช่พรรคอะไหล่ เพราะผมมาทำทุกอย่างก็เพื่อสมาชิกพรรคเดิม ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน” พล.อ.วิชญ์ระบุ และยืนยันว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไม่เกี่ยว ที่ทำตรงนี้ ทำเพื่อสมาชิกพรรคเก่า ที่เขาเดินตามมา จะทิ้งเขาไม่ได้ จึงต้องกลับมาดูแลเขาต่อ

เมื่อถูกถามว่าจะชูใครเป็นนายกรัฐมนตรี

พล.อ.วิชญ์บอกว่า ตอนนี้ยังไม่มี

ส่วนพร้อมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ หรือไม่ พล.อ.วิชญ์บอกแบบกั๊กๆ ว่า หากคิดว่าใครเหมาะสมมากที่สุดในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อถึงเวลาอาจมีคนที่ดีหรือใครก็แล้วแต่ที่เข้ามาช่วยบ้านเมืองแบบจริงจัง เราก็สนับสนุน

ขณะที่จุดยืนของพรรค ก็ทำพรรคการเมืองนี้ให้เป็นของประชาชนจริงๆ และทำงานให้กับประชาชน ไม่มีอย่างอื่นแน่นอน

ทั้งนี้ พล.อ.วิชญ์ตั้งเป้าหมายว่าจะได้ ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 25 คน

 

ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดตัวเมื่อ 3 สิงหาคม 2565 และมีการประชุมใหญ่วิสามัญของพรรควันเดียวกันเพื่อเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่

ปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นหัวหน้าพรรค ตามความคาดหมาย

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เป็นเลขาธิการพรรค นายปรากรมศักดิ์ ชุณหะวัน เหรัญญิก นายเกรียงยศ สุดลาภา นายทะเบียนสมาชิก

ส่วนกรรมการบริหาร ประกอบด้วย นายวิทยา แก้วภราดัย นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง นายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร นายชื่นชอบ คงอุดม และนายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์

ขณะที่มีการเอ่ยนามนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ นายสกลธี ภัททิยกุล ว่าอาจจะตามมาอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติด้วย แต่ยังไม่มีการเปิดตัว

นายเอกณัฏกล่าวถึงกรณีที่ถูกมองว่าพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นพรรคสาขาพรรคพันธมิตรของพรรคพลังประชารัฐ ว่า ยังไม่ได้คุยกันถึงขั้นดังกล่าว แต่เรามีแนวคิดอยากผลักดันทำการเมืองใหม่ๆ ไม่ยึดติดกับความขัดแย้งในอดีต

 

แม้จะไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากนายเอกณัฏ และจาก พล.อ.วิชญ์ ถึงการเป็น “แนวร่วม” กับพรรคใด

แต่ดูเหมือนก็ชัดเจนว่า กลุ่มพรรค “รวม” ทั้งสองพรรคนี้ มีจุดยืนเคียงข้างกับ “ขั้วที่กุมอำนาจอยู่ในรัฐบาลปัจจุบัน” อย่างไม่ต้องสงสัย

เพียงแต่เมื่อลงไปในรายละเอียด

จะพบว่าแม้จะอยู่ “ขั้วอำนาจ” เดียวกัน

แต่แนวทางของทั้งพรรครวมแผ่นดิน และพรรครวมไทยสร้างชาติ ต่างมีเป้าในการสร้าง “ดาว” คนละดวงด้วย

โดยในส่วน พล.อ.วิชญ์ อย่างที่ทราบ มีความสนิทแนบแน่นกับ พล.อ.ประวิตร

พล.อ.วิชญ์เคยเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ

นายจำลอง ครุฑขุนทด คือ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ

หัวใจจึงเทไปที่ พล.อ.ประวิตร มากกว่า พล.อ.ประยุทธ์

ต้องไม่ลืมว่า พล.อ.วิชญ์เคยออกไปร่วมพรรคเศรษฐกิจไทยกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ถือเป็นอริสำคัญกับ พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้น เส้นทางของ พล.อ.วิชญ์จึงคู่ขนานไปกับ พล.อ.ประยุทธ์ด้วย เพียงแต่มีเหตุต้องแตกกับ ร.อ.ธรรมนัสในตอนหลัง จึงแยกออกมาตั้งพรรคเอง

และมีเจตจำนงที่จะสนับสนุน พล.อ.ประวิตรอย่างแจ่มชัด

ซึ่ง พล.อ.ประวิตรก็ดูจะมีไมตรีกับ พล.อ.วิชญ์เช่นกัน โดยบอกว่า ก็ได้ให้กำลังใจเขาให้ต่อสู้เพื่อการเมือง เพื่อประเทศชาติ

ส่วนจะเป็นพรรคพันธมิตรกันหรือไม่

พล.อ.ประวิตรตอบชัดเจนว่า “เรารู้จักกันก็เป็นพันธมิตรสิ”

 

ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาตินั้น ก่อนที่นายพีระพันธุ์จะเข้ามากุมบังเหียนในฐานะหัวหน้าพรรคนั้น นายพีระพันธุ์เคยเข้าไปเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ

แต่ก็เป็นการเข้าไปแบบไม่สนิทแนบแน่นกับ พล.อ.ประวิตรนัก

ด้วยถูกมองว่า นายพีระพันธุ์ได้รับมอบภารกิจจาก พล.อ.ประยุทธ์ ให้เข้าไปถ่วงดุลอำนาจในพรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การนำของ พล.อ.ประวิตรมากกว่า

เส้นทางของนายพีระพันธุ์จึงไม่ราบรื่นและไม่มีบทบาทอะไรมากนัก กระทั่งต้องลาออกจากพรรค และมาทำงานสนอง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะที่ปรึกษาหลัก

และที่สุด ก็เข้าไปเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนพรรครวมไทยสร้างชาติ

ซึ่งคำว่า รวมไทยสร้างชาติ นั้นเป็นคำที่ พล.อ.ประยุทธ์ใช้ในการเรียกร้องการสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง

โดย พล.อ.ประยุทธ์รับว่าคำว่ารวมไทยสร้างชาตินั้นเป็นคำพูดของตนที่ต้องการให้รวมพลังกันในการสร้างชาติให้เดินไปข้างหน้า

“ส่วนที่เขาเอาไปตั้งเป็นชื่อพรรคการเมือง ไม่ได้ไปสั่งให้เค้าตั้งชื่อพรรคนี้เสียเมื่อไหร่ และผมก็ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคนี้นี่” พล.อ.ประยุทธ์ออกตัว

และย้ำอีกว่า “วันนี้ผมก็อยู่กับพรรคพลังประชารัฐไม่ใช่หรือ แล้วจะไปที่ไหนล่ะ เขาเป็นผู้สนับสนุนให้ผมเป็นนายกฯ ใช่หรือเปล่า ตอนนี้ก็ยังยืนยันเช่นนี้มาตลอด มีปัญหาอะไรหรือ”

เมื่อถูกจี้ถามว่า จะสมัครเป็นสมาชิกพรรค พปชร.อยู่ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “ก็ยังคิดอยู่” ส่วนถึงขนาดจะเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเองหรือไม่ในอนาคต พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า “ยังไม่พูด”

 

แม้จะไม่ปฏิเสธถึงความสัมพันธ์กับพรรคพลังประชารัฐ

แต่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่อาจปฏิเสธได้เต็มปากเช่นกันว่าไม่ใช่เป็นพรรคที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสนับสนุนตนเอง

และยิ่งกว่านั้น ยังถูกมองว่าเป็นพรรคที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อถ่วงดุลกับ พล.อ.ประวิตร ที่ดูเหมือนจะคุมพรรคพลังประชารัฐได้อย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งยากอย่างยิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อีก 1 ใน 3 ป. จะเข้าไปแชร์อำนาจกับพี่ป้อมได้

แถมมีแรงกดดันจาก ส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐ ไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ ให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี เพื่อตอบสนองคนในพรรคอย่างหนักด้วย

โดยเฉพาะการบีบคั้นให้ พล.อ.ประยุทธ์เปลี่ยนเก้าอี้รัฐมนตรีมหาดไทยของ พล.อ.อนุพงษ์ ไปให้ พล.อ.ประวิตร อ้างว่าเพราะจะดูแล ส.ส.ได้ดีกว่าและจะคุมการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ดีกว่า

จึงทำให้มองว่า 2 ป. พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ จะต้องมีพรรคแนวร่วมของตนเองเพื่อเป็นหลังพิงด้วย จะหวังพึ่งพรรคพลังประชารัฐอย่างเดียว จะเป็นการสุ่มเสี่ยงทางการเมืองเกินไป

 

นี่เองจึงทำให้มีการมองว่า การแตกพรรคไปสู่พรรครวมแผ่นดิน และพรรครวมไทยสร้างชาติ มิได้เป็นยุทธศาสตร์ร่วม เพื่อสู้กับขั้วฝ่ายตรงข้ามที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ไม่ให้มาขัดขวางการสืบทอดอำนาจต่อไปเท่านั้น

หากแต่เป็นการถ่วงดุลอำนาจในกลุ่ม 3 ป.อย่างเข้มข้นด้วย

การเมืองในหมู่ 3 ป. ที่ว่ากันว่า ผูกพันกันมานาน ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ดังเป็น “บุพเพสันนิวาส” ที่ร่วมสัมพันธ์หวานชื่น ไม่อาจเป็นอื่นต่อกันได้นั้น

มาตอนถึงนี้ เงื่อนไข และปัจจัยทางการเมือง บีบคั้นให้มิอาจเกี่ยวก้อยกันดังที่ผ่านมาได้อีกแล้ว

ตรงกันข้ามกลับมีภาวะ “บุพเพอาละวาด”

ที่ต่างคนต่างจำเป็นสร้างดาวของตัวเอง พร้อมกันไปด้วย

อันสะท้อนถึงความขัดแย้งและแย่งชิงอำนาจในหมู่พวกเดียวกันเอง อย่างเข้มข้นด้วย