เชื่อ-ไม่เชื่อ / ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ : หนุ่มเมืองจันท์

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ

หนุ่มเมืองจันท์

www.facebook.com/boycitychanFC

 

เชื่อ-ไม่เชื่อ

 

วันก่อน ดู “เคน” นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ของ The Standard สัมภาษณ์พี่เสถียร เศรษฐสิทธิ์ ผู้ยิ่งใหญ่แห่ง “คาราบาวแดง” และคุณพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย

ธนาคารกสิกรไทยจะให้วงเงินกับพี่เสถียร 15,000 ล้านบาท

ก้อนแรก 8,000 ล้านบาท ให้วงเงินกู้สำหรับบริษัทในกลุ่มธุรกิจคาราบาวและบริษัทร่วมทุน

ก้อนที่สอง 5,000 ล้านบาท ลงทุนผ่านตราสารการลงทุน ที่ให้สิทธิการลงทุนในหุ้นของบริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด

และก้อนที่สาม 2,000 ล้านบาท เตรียมทยอยร่วมลงทุนในบริษัทร่วมทุน

มีชื่อ kbao แวบขึ้นมาตอนจบ

เรื่องที่คุยกันบนเวทีส่วนใหญ่เป็นเรื่องร้านถูกดี มีมาตรฐาน ของบริษัททีดี ตะวันแดง

ร้านถูกดีฯ ตอนนี้เป็น “ลูกรัก” ของพี่เสถียร

คุยกับพี่เสถียร เรื่อง “คาราบาวแดง” เขาจะคุยแบบเบื่อๆ

แต่พูดถึงร้านถูกดีฯ เมื่อไร

ตาลุกวาวทันที

ตอนนี้ร้านถูกดีฯ มีอยู่ 5,000 แห่งทั่วประเทศ

ปลายปีตั้งเป้าไว้ 10,000 สาขา

ปี 2566 จะขยายเป็น 20,000 สาขา

และปี 2567 ตั้งเป้า 30,000 สาขา

ร้านถูกดีฯ เป็นร้านสะดวกซื้อ จำนวนสินค้าที่ขายในร้านจึงมีเพียง 2,000 เอสเคยู

ในขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตมี 10,000 เอสเคยู

แต่อีก 8,000 เอสเคยู ผู้บริโภคก็อยากได้เหมือนกัน

เมื่อพื้นที่ไม่พอ แนวคิดของ “พี่เถียร” จึงใช้กลยุทธ์ให้พรีออเดอร์ได้

ดูสินค้าตัวไหนแล้วอยากได้ก็สั่งซื้อได้เลย

วิธีคิดเรื่องนี้ของพี่เสถียรน่าสนใจมาก

เขาบอกว่าสินค้าพรีออเดอร์ ก็คือ การขายออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซรูปแบบหนึ่ง

ไม่ใช่แพลตฟอร์มแบบอาลีบาบา ชอบปี้ หรือลาซาด้า

เพราะเขาศึกษาแล้วว่าประเทศที่มีประชากร 50-60 ล้านคนทำแพลตฟอร์มของตัวเองไม่ได้

แพลตฟอร์มขายของออนไลน์นั้นต้อง “เผาเงิน” ไปเรื่อยๆ เพื่อเรียกลูกค้า

สมมุติว่าต้องการลูกค้า 20 ล้านคนเพื่อเริ่มทำกำไร

ประเทศใหญ่ๆ ที่มีประชาชนหลัก 200-300 ล้านคน เผาเงินแล้วมีโอกาสได้ลูกค้า 20 ล้านคนตามเป้าหมาย

เพราะต่ำกว่า 10% ของประชากรทั้งหมด

แต่ถ้าประเทศที่มีประชากรแค่ 60 ล้านคน

20 ล้าน คือ 33%

“กว่าจะได้ 20 ล้านคนก็เจ๊งแล้ว”

ประเทศในอียู อังกฤษ หรือไทยจึงไม่มีแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ขนาดใหญ่ของตัวเอง

แต่ร้านถูกดีฯ ต้นทุนการขนส่งต่ำ เพราะรถต้องวิ่งส่งสินค้าอยู่แล้ว

“ค่าส่ง” แทบจะเป็น 0

สินค้าพรีออเดอร์ ก็คือ อีคอมเมิร์ซแบบไทยๆ รูปแบบหนึ่ง

ที่น่าจะเหมาะกับคนในชุมชน

 

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ คือ เรื่องเครดิต และความเป็นเจ้าของ

คุณพัชรเล่าว่า พี่เสถียรกับคุณบัณฑูร ล่ำซำ สนิทกันมานาน

แต่ตอนปล่อยกู้ครั้งแรกให้ “คาราบาวแดง” เขาเชื่อว่าธนาคารกสิกรไทยคงใช้เวลานานพอสมควรในการอนุมัติสินเชื่อ

เพราะธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลังในตอนนั้นมีรายใหญ่ครองส่วนแบ่งการตลาดสูงมาก

พิจารณาตามหลักการของแบงก์แล้ว “รายใหม่” ไม่น่ารอด

แต่ที่ยอมอนุมัติสินเชื่อให้เพราะเชื่อมั่นในตัวผู้บริหาร

และความเป็น “เจ้าของ”

… “เจ้าของ” ลุยเอง

ครับ ความสำเร็จทางธุรกิจนั้น “คน” มีส่วนสำคัญกว่า “โครงการ”

“แต่ครั้งนี้ขอ 15,000 ล้านอาจใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที”

จริงๆ คงนานกว่านี้เยอะ แต่เขาเปรียบเปรยให้รู้ว่า “เครดิต” นั้นมีความสำคัญขนาดไหนในการพิจารณาอนุมัติโครงการ

คุณพัชรนั้นเชื่อมั่นในพลังของความเป็น “เจ้าของ”

เพราะเขาดูแลสาขาแบงก์ 800 แห่ง รู้เลยว่าผู้จัดการสาขาไหนมีความรู้สึกเป็น “เจ้าของ” จะดูรายละเอียดทุกอย่าง

สาขานั้นจะดี

ดังนั้น คุณพัชรถึงเชื่อมั่นในโมเดลของร้านถูกดีฯ

เพราะคนที่ดูแลร้านถูกดีฯ คือ “เจ้าของ”

“ทีดี ตะวันแดง” จะเข้าไปช่วยร้านโชห่วยตั้งแต่การปรับปรุงร้านใหม่ให้สว่างสะอาด

มีระบบการขายที่ทันสมัย ช่วยคุมสต๊อกและรู้รายรับ-รายจ่าย

เขาจะติดต่อซัพพลายเออร์ มีคลังสินค้าที่ส่งสินค้าเข้าร้าน เจ้าของร้านไม่ต้องปิดร้านออกไปซื้อของเอง

ปรับปรุงใหม่หมด เหลือเพียงอย่างเดียวที่ยังเหมือนเดิม

คือ “เจ้าของ” ก็ยังเป็น “เจ้าของ” ร้านเหมือนเดิม

การปรับปรุงร้านต้องใช้เงินประมาณ 100,000-200,000 บาท

ถ้าเจ้าของร้านไม่มีเงินก็สามารถกู้กับธนาคารกสิกรไทยได้

เพราะแบงก์เชื่อมั่นในระบบของร้านถูกดีฯ

เหมือนพี่เสถียรเป็นคนคัดกรองมาแล้ว

วิธีคิดนี้ก็ใช้กับการเริ่มต้นปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าร้านถูกดีฯ ของบริษัทร่วมทุนระหว่างธนาคารกสิกรไทยกับพี่เสถียร

แต่ครั้งนี้คนคัดกรอง คือ เจ้าของร้าน

 

ปัญหาของการปล่อยสินเชื่อให้ “คนตัวเล็ก” ที่ไม่มีเงินเดือนประจำเป็นเรื่องยุ่งยากมากของแบงก์

ทั้งที่บางคนรายได้เยอะกว่าพนักงานประจำ

เครดิตดีกว่าคนรวยๆ บางคนอีก

แต่ใครจะเป็นคนชี้เป้าให้แบงก์ว่าคนนี้น่าเชื่อถือ ปล่อยกู้ได้

ในเมืองใหญ่คงยาก แต่ชุมชนเล็กๆ อย่างในหมู่บ้านที่ทุกคนรู้จักกันหมด เขาจะรู้ว่าใครน่าเชื่อถือหรือไม่น่าเชื่อถือ

ลองนึกถึง “กองทุนหมู่บ้าน” ที่ปล่อยกู้ให้คนในชุมชนสิครับ

เขาก็ใช้หลักคิดนี้

ปรากฏว่า “หนี้เสีย” ต่ำมาก

ตามปกติร้านโชห่วยในหมู่บ้านจะมีระบบ “เงินเชื่อ” กันอยู่แล้ว

บางช่วงไม่มีเงินก็มาเซ็นไว้ก่อน

แต่พอเข้าสู่ระบบร้านถูกดีฯ ของทุกชิ้นที่ขายไป เงินที่ได้ต้องส่งเข้าส่วนกลางก่อน

จะเซ็นไว้ก่อนก็ไม่ได้

ยกเว้นเจ้าของร้านยอมจ่ายเงินแทน

พี่เสถียรบอกว่าต่อไปอาจปล่อยสินเชื่อให้กับคนในชุมชน

อาจจะเริ่มต้นแค่ 1,000-2,000 บาท

ให้เป็นวงเงินในการซื้อของในร้าน

“อาจจะเริ่มสัก 50 คนต่อร้าน ค่อยเป็นค่อยไป”

จินตนาการของ “พี่เถียร” มองไกลไปถึงระบบเศรษฐกิจระดับรากหญ้า

เมื่อ “คนตัวเล็ก” ในชุมชนสามารถเข้าถึง “เงิน” ได้

เขาบอกว่าลองคิดง่ายๆ ถ้าแต่ละสาขาปล่อยสินเชื่อ 1,000 บาท 200 คน ก็ 200,000 บาท

“เงินที่ยังไม่จ่ายก้อนนี้จะหมุนเวียนในชุมชน”

ถ้า 10,000 สาขา เงินหมุนเวียนระดับฐานรากจะประมาณ 2,000 ล้านบาท

ลองปรับตัวเลขจำนวนสาขา จำนวนคน จำนวนเงินเพิ่มขึ้นสิครับ

ตัวเลขน่าสนใจทีเดียว

ถามว่าจะให้ใครเป็นพิจารณาว่าคนนี้ kbao ควรจะปล่อยกู้

“เจ้าของร้าน” ไงครับ

เพราะไม่มีใครรู้จักลูกค้าของร้านดีเท่ากับเจ้าของร้าน

เมื่อ “เจ้าของร้าน” เชื่อว่าลูกค้าคนนี้เครดิตดี

“แบงก์” ก็เชื่อ “เจ้าของร้าน”

เป็นการส่งต่อ “ความเชื่อ” เป็นทอดๆ •