กัญชาเสรี/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

สุประวัติ ใจสมุทร

 

กัญชาเสรี

 

บ้านเราเคยมีพระราชบัญญัติกัญชาและพืชกระท่อมตั้งแต่ปี พ.ศ.2486 แต่ถูกยกเลิกไปตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และบรรจุเป็นประเภท 5

แล้วถูกยกเลิกโดยเด็ดขาดตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา ตามนโยบายกัญชาเสรีของรัฐบาล

“กัญชา” ใช้เป็นยาสมุนไพรตั้งแต่ยุคสมัยพระนารายณ์มหาราช

หลักการกัญชาเสรีเมื่อรับไว้เพื่อใช้ประโยชน์แล้วผลักดันความเป็นยาร้ายออกไปให้ได้ก็จะเป็นเรื่องสุดวิเศษ ภายใต้กฎหมายอันรัดกุม จึงจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเดินหน้าบริหารจัดการ ไม่ปล่อยให้เกิดสุญญากาศนานจนผิดสังเกต โดยออกแบบกฎหมายกัญชากัญชง ไม่ว่าเสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่ดำเนินอยู่

แต่ถ้านานเกินไปก็จะไม่ทันปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวัน จึงมีผู้เสนอว่า จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่รัฐบาลชุดนี้เคยใช้ตลอดมาในการแก้ปัญหาโควิดและยังไม่ยอมยกเลิกเสียที นายกฯ ลงนามประกาศใช้ได้ มีผลทันที แล้วเชื่อว่าเมื่อขออนุมัติสภาผู้แทนฯ ก็คงจะไม่ขัดข้อง เพราะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมโดยตรง

ยามนี้มีข่าว “คนมือยาว” นำดอกกัญชามาขายที่ถนนข้าวสาร ย่านบางลำภู กรุงเทพฯ ในราคาถึงกิโลกรัมละ 800,000 บาท ซึ่งผม (“คนมือสั้น 5 ต้น”) ติดตามข่าวพบเรื่องราวรายวันตามคาดว่ามีการขายสูบเสพในหลายพื้นที่ ดังนั้น ในช่วงสุญญากาศ คือไม่มีกฎหมายบังคับใช้ควบคุมกัญชากัญชงและพืชกระท่อม สำคัญนอกเหนือจากเสพสูบ คือ การจำหน่าย การผลิต บรรทุก ขน ย้าย การส่งออก อยู่ในขณะนี้

ข้อสรุปเบื้องต้น จึงเชื่อว่าผู้เตรียมการผลิตกัญชาเข้าสู่ท้องตลาด อยู่ในซีกฝ่ายรัฐบาลเจ้าของแผน เป็นหลักใหญ่

ที่ได้ประโยชน์และรองลงไปก็อาจจะเป็นวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งผู้ติดตามความคืบหน้าในวงการ มีหูตากว้างไกล สร้างเม็ดเงินเข้ากระเป๋า จากผู้ซื้อรายใหญ่ในประเทศ เพื่อบริการนักท่องเที่ยวชาติต่างๆ ที่กำลังหลั่งไหลเข้ามาอยู่ในเวลานี้ เป็นงานหลัก

ปัญหาที่ตามมาอันเกี่ยวกับเยาวชนไทยผู้มีอำนาจคงเล็งเห็นว่ายาบ้ายังครองตลาดอยู่ ไม่รับรู้ ไม่บรรเทาเบาบางลง การเพิ่มกัญชาขึ้นอีก คงมิใช่เป็นฟางเส้นสุดท้ายแน่นอน

กัญชาเสรียังมีปัญหาเกี่ยวกับการฟอกเงิน หลังจากบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ไม่นาน ผมเขียนลงคอลัมน์ประจำ ในนิตยสาร “เส้นทางเศรษฐี” หัวข้อ “เศรษฐีเงินเหม็น” วิเคราะห์ข้อบกพร่องของกฎหมายฉบับนี้ราวปี พ.ศ.2544 ต่อมาหัวข้อนี้ได้รวมอยู่ในเล่มเดียวกันของพ็อกเก็ตบุ๊กของผมชื่อ “กฎหมายนอกตำรา” (สำนักพิมพ์มติชน 2548)

ในห้วงเวลานั้น ผมได้พบเจอสนามกอล์ฟ โรงแรมและรีสอร์ตต่างๆ ผุดขึ้นหลายที่ เกิดจากสมุนนอมินีออกหน้า ยักย้ายเงินที่ได้จากการค้ายาเสพติดของมาเฟีย แปรสภาพมาเป็นทรัพย์สินในรูปแบบต่างๆ

ซึ่งความผิดในการกระทำเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษจัดอยู่ในลำดับที่ 1 ของความผิดมูลฐาน (Predicate Offence) ตาม พ.ร.บ.ฟอกเงิน โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องออกมาหลากหลาย นอกเหนือจากฉบับนี้ อันเกิดจากพันธกรณีที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีสมาชิกในอนุสัญญา (Convention) หลายฉบับขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN และวันนี้กฎหมายหลากหลายเหล่านั้นจะรวมอยู่ใน “ประมวลกฎหมายยาเสพติด”

ดังนั้น เมื่อการปลดล็อกกัญชากัญชง รวมทั้งพืชกระท่อม จากสถานะยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายเดิม มีผลตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นอย่างช้าสุด จึงเชื่อเหลือเกินว่าพ่อค้ายาเสพติดประเภทที่ 1 ไม่ว่าจะเป็นเฮโรอีนหรือยาบ้า ย่อมใช้ช่วงเวลาสุญญากาศ นำเงินจากความผิดมูลฐานหมายเลข 1 ลงทุนค้ากัญชากัญชงเป็นการใหญ่ เนื่องจากได้รับความคุ้มครอง

เงินที่ได้จากการค้าเช่นนี้รวมทั้งที่แปรสภาพไปแล้วจึงมิใช่ “ทรัพย์สินอันเกี่ยวกับการกระทำความผิด” ที่อยู่ในข่ายต้องถูกยึดอายัด ตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (Money Launderings) อีกต่อไป

 

ในวันนี้ที่เปิดเสรีกัญชากัญชง ตามนโยบายรัฐบาลและตามกฎหมายที่ออกมายกเลิกปลดล็อก ความเสรีแห่งเดียวในโลกจึงเกิดขึ้นที่ประเทศไทยและเยาวชนไทยกำลังอยู่ในกลุ่มที่ต้องคอยเฝ้าระวัง

ถึงแม้เนติบริกรระดับ “หนุมานเหาะเกินลงกา” ยังเรียกพี่ มีคำขู่ตามบท ว่าห้ามขายดอกกัญชา จึงเป็นเหมือนการแยกเขี้ยวขู่ของลิงจ๋อเท่านั้น เพราะรู้ดีว่าไม่มีกฎหมายเอาโทษคนค้าขายกัญชาเวลานี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นช่อดอก หรือส่วนไหนของกัญชากัญชงพืชกระท่อม เราจึงเห็นแต่ป้ายเตือน “ระวังกัญชา” เกลื่อนกลาด โดยเฉพาะใกล้กับโรงเรียน

จะมีเป็นกระสายก็เฉพาะสิ่งที่เรียกว่า “สารสกัด” จากพืชเหล่านี้ที่มีการควบคุม

สารสกัดก็คือ วัตถุหรือน้ำมัน ที่ได้จากการแปรรูปหรือสกัดมาจากพืชกัญชากัญชง เป็นยารักษาโรคทางเลือกตามที่เรารู้กัน มีคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ควบคุมกำกับออกใบอนุญาตตามกฎหมาย

จากแพทย์ศัลยกรรมอาวุโสของโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง (ขอปกปิดนาม) ที่ค้นคว้าและจับต้องเรื่องนี้มานาน ยืนยันแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่าง “หมอความ” กับ “หมอคน” ได้ข้อสรุปมาอย่างน้อย 3 ข้อ

1) ร่างกายของมนุษย์สามารถตอบรับสารเสพติดไม่เท่ากัน บางรายแค่รับประทานใบกัญชาก็ถึงกับเป็นลมชักได้เลย ขณะที่อีกคนหนึ่งไม่ปรากฏอาการ

2) ในพืชกัญชาและกัญชง มีสารส่วนประกอบหลายชนิด บางอย่างเป็นโทษต่อร่างกาย และบางชนิดก็มีประโยชน์ต่อร่างกาย การแยกผิดแยกถูกจึงเป็นเรื่องสำคัญในเชิงการแพทย์ เพื่อนำเอาส่วนประโยชน์มาใช้รักษาไข้ได้

และ 3) อย.กำหนดสารสกัดจากพืชเหล่านี้ ให้มีค่า THC หรือคำเต็ม Tetrahydrocannabinal ไม่เกิน 0.2 ซึ่งสารดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญต่อจิตประสาท (Principal Psychoactive) ที่สำคัญคือมีมากในช่อดอกกัญชา แต่การตรวจสอบมีกระบวนการซับซ้อน และมีเครื่องมือราคาสูงถึง 4-5 ล้านบาทต่อเครื่อง ปัจจุบันมีใช้เฉพาะหน่วยงานบางหน่วยเท่านั้น

ดังนั้น กระบวนการทางกฎหมายจะเข้ามาแทรกแซงล่วงล้ำกัญชาเสรีได้ ก็เฉพาะกรณีที่ผู้จำหน่ายน้ำมันกัญชายื่นขออนุญาตต่อ อย. ส่วนในกรณีเจ้าหน้าที่ตรวจพบและยึดน้ำมันกัญชาจากผู้ครอบครองที่ไม่มีใบอนุญาตจาก อย.มา ก็ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบเพื่อทราบผลความเข้มข้นในสารสกัดเสียก่อน และถ้าผลการตรวจสอบเป็นอย่างไรก็ว่ากันไปตามนั้น อันเป็นส่วนปลีกย่อย

และไม่เกี่ยวกับตลาดกัญชงกัญชาพืชกระท่อมเสรีในบ้านเราแต่อย่างใด

 

เมื่อดูตามบริบทของพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ อันเกี่ยวกับกัญชา กำหนดเงื่อนเวลาไว้ 2 ปี คือวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ให้นำได้เฉพาะเมล็ดพันธุ์กัญชาเข้าในประเทศ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือการรักษาผู้ป่วย สำหรับบุคคลทั่วไปนอกเหนือจากหน่วยงานของรัฐจึงพอคาดคะเนเป้าหมายของรัฐบาลว่าจะเปิด “กัญชาเสรี” ตามระยะเวลานำเข้าเมล็ดพันธุ์ของพ่อค้าหรือราววันที่ 9 พฤจิกายน 2566 ที่นายกฯ พ้นตำแหน่งรอบแรก 4 ปีตามรัฐธรรมนูญแล้ว ในบริบทอื่นคือการยึด อายัด ขายทอดตลาดทรัพย์สิน เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด (จำหน่าย, ส่งออก, นำเข้า) ซึ่งมี “คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน” โดยปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน อาจจะไปซ้ำซ้อนกับงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ที่ผมกล่าวข้างต้น

ปัญหาที่รัฐบาลกำลังคิดหนักเกี่ยวกับการนำกัญชากัญชงรวมทั้งพืชกระท่อมกลับฟื้นคืนชีพ เป็นยาเสพติดให้โทษ ที่ตามมาก็คือ

(1) ระยะเวลา 2 ปีกว่ายังอีกไกล

(2) ทรัพย์สินที่แปรสภาพมาจากการขายกัญชาในช่วงสุญญากาศ จะอยู่ในข่ายถูกยึดอายัดทันทีตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและตามบรรทัดฐานของศาลฎีกาที่วินิจฉัยว่าการยึดอายัดทรัพย์สินไม่ใช่โทษทางอาญา แต่เป็นมาตรการทางแพ่ง ย่อมใช้บังคับย้อนหลังกับทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดได้ แม้ในช่วงเวลาที่กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดยังไม่คลอดออกมาก็ตาม

และ (3) จะต้องแก้ไขประมวลกฎหมายยาเสพติดที่เพิ่งประกาศใช้ไปหมาดๆ ด้วย

 

ในประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อใช้นโยบายความอดกลั้นทำให้กัญชาผลักดันยาเสพติดร้ายแรงจนหมดประเทศ ผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์นิยมชมชอบการสูบบุหรี่กัญชาในคอฟฟี่ช็อป (Coffeeshop) ที่มีใบอนุญาตจากเทศบาลท้องถิ่นทั่วประเทศ ไม่สูบเสพในที่สาธารณะ แบบที่ปรากฏใน “กัญชาเสรี” ของบ้านเรายามนี้ เนื่องจากมีระเบียบนโยบายชัดเจน

แต่ปัญหาให้แก้ตามมา เนื่องจากเจ้าของร้านผู้ละโมบ ลักลอบนำกัญชาเข้าทางช่องเล็กหลังร้านมากกว่าปริมาณ 500 กรัมตามระเบียบ ผมสังเกตช่วงที่ไปเยือนเห็นและให้ผู้จัดการร้านนำไปดูด้านหลัง ปรากฏเป็นสวนหย่อมต้นไม้บังไว้มิดชิด มองไม่เห็นช่องจากด้านหลัง

เมื่อเกิดปัญหาขึ้น จึงมีนโยบายประตูหลัง (Backdoor Policy) ตามมา แต่ไม่ประกาศ หากเป็นบรรทัดฐานของศาลที่จะใช้เมื่อเจ้าของร้านรวมทั้งผู้ส่งสินค้าถูกจับกุมและพบว่ายอดปริมาณกัญชาสูงกว่า 500 กรัมอันฝ่าฝืนระเบียบ ถือเป็นความผิดฐานครอบครองขนย้ายยาเสพติดให้โทษถึงแม้กัญชาจะเป็นยาอ่อนแต่ก็มีโทษจำคุก ศาลจึงใช้ดุลพินิจพิพากษาปรับและโทษจำคุกให้รอไว้ในกำหนดเวลา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 9A

ส่วนมาตรการทางปกครอง การฝ่าฝืนระเบียบแบบนี้ ผู้ถือใบอนุญาตจะถูกคณะกรรมการไตรภาคีสั่งปิดร้านทุกราย ในส่วนดีของระเบียบนโยบายชาวดัตช์ก็มี แต่เมื่อนำมาใช้ในประเทศไทย ควรตัดคำว่า “หลายมาตรฐาน” ออกไปให้ได้ตลอดไป ซึ่งเป็นเรื่องยากและไม่รู้จะสำเร็จเมื่อไร