ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 กรกฎาคม - 4 สิงหาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | On History |
ผู้เขียน | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ |
เผยแพร่ |
ประวัติชีวิตช่วงเด็กจนถึงวัยรุ่นของ “พระอนุวัฒน์ราชนิยม” (ฮง เตชะวณิช) หรือที่มักจะรู้จักกันในชื่อ “ยี่กอฮง” ผู้ก่อตั้งคณะเก็บศพไต้ฮงกง ที่ต่อมาจะกลายเป็นมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งนั้น ค่อนข้างจะคลุมเครือ
บ้างก็ว่า มีพ่อเป็นชาวจีน แต่แม่เป็นชาวไทย และเกิดในไทย แต่เดิมมีบ้านอยู่ที่หัวมุมสี่กั๊กพระยาศรี เสาชิงช้า
แต่บ้างก็ว่า ท่านเป็นชาวจีนแต้จิ๋วแท้ๆ เพราะเกิดที่มณฑลกวางตุ้ง ในประเทศจีน โดยเพิ่งจะเข้ามาในประเทศสยามเมื่ออายุ 16 ปีเท่านั้น
แถมยังมีอีกที่เล่ากันอีกอย่างด้วยว่า พ่อแม่ของยี่กอฮงนั้นเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว แต่ท่านเกิดที่ปากน้ำ สมุทรปราการ ต่อมาพ่อแม่ท่านพาครอบครัวกลับไปอยู่จีนตั้งแต่ท่านยังเล็ก แล้วพ่อก็มาเสียชีวิตไป ทำให้แม่ไปแต่งงานใหม่ แต่ท่านไม่ถูกกับพ่อเลี้ยง เลยหนีมาอยู่ประเทศไทยตั้งแต่ยังอายุเพียง 13 ขวบเท่านั้นอีกด้วย
แต่ไม่ว่าท่านจะเกิดที่ไหนก็ตาม ยี่ห้อ “ยี่กอฮง” ที่คนทั่วไปเรียกกันนั้น ก็ไม่ใช่ชื่อจริงๆ ของท่านหรอกนะครับ เพราะอันที่จริงแล้วท่านแซ่แต้ และมีชื่อว่า หงี่ฮง ต่างหาก
คำว่า “ยี่กอฮง” มีประวัติเล่าว่า แต่เดิมท่านทำงานเป็นเด็กรับใช้อยู่ย่านสำเพ็ง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมามีชาวจีนคนหนึ่งชื่อ หลิ่มมั่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในขบวนการกบฏเมืองแมนแดนสันติ (กบฏไท่ผิง) ในประเทศจีน หนีการปราบปรามเข้ามาในประเทศสยามแล้วก่อตั้งสมาคมลับ ทำนองเดียวกับสมาคมอั้งยี่ ตั้งตนเป็น “ตั่วกอมั่ง” (พี่ใหญ่มั่ง) แล้วชักชวนหนุ่มน้อยแต้หงี่ฮง ที่เพิ่งจะมีอายุเพียง 16 ปีเข้าร่วมในสมาคมลับที่ว่า
วันหนึ่งเมื่อหลิ่มมั่งเสียชีวิตลงแล้ว คนในสมาคมลับที่ว่านี้ ก็พากันยกแต้หงี่ฮงขึ้นเป็นหัวหน้าแทน แต่พ่อหนุ่มแซ่แต้คนนี้ไม่ยอมให้คนเรียกตนเองว่า “ตั่วกอ” คือ “พี่ใหญ่” นัยว่าไม่อยากนำตนไปเทียบกับตั่วกอมั่ง เลยให้ผู้คนเรียกตัวเองว่า ยี่กอฮง คือ “พี่รองฮง” แทน
เอาเข้าจริงแล้วก็ไม่มีใครรู้ว่า เรื่องของหลิ่มมั่ง และสมาคมลับที่ว่านี้จะเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า? แต่การที่ใครต่อใครพากันเรียก “แต้หงี่ฮง” ว่า “ยี่กอฮง” นั้น ก็ชวนให้เห็นว่า เรื่องนี้มีมูล และคงจะไม่ใช่เรื่องเหลวไหลเสียทีเดียว ที่สำคัญก็คือ มีหลักฐานด้วยว่า สมาคมลับที่หลิ่มมั่งก่อตั้งขึ้นนั้นก็ไม่ใช่สมาคมเดียวที่พี่รองฮงคนนี้สังกัดอยู่เสียด้วย
นักปฏิวัติคนดังในประวัติศาสตร์โลกอย่าง ดร.ซุนยัตเซน เคยเดินทางมาประเทศสยามอย่างน้อย 3 ครั้ง ในช่วงระหว่าง พ.ศ.2446-2451 โดยว่ากันว่า ท่านได้พบปะกับรัชกาลที่ 6 ซึ่งในขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร อยู่ด้วย
แต่นอกเหนือจากรัชกาลที่ 6 ซุนยัตเซนยังได้พบปะกับใครอีกหลายคน และแน่นอนว่าหนึ่งในนั้นก็คือ ยี่กอฮง นั่นเอง
โดยว่ากันว่า เมื่อครั้งสุดท้ายที่ซุนยัตเซนเดินทางเข้ามาในสยามเมื่อ พ.ศ.2451 นั้น ยี่กอฮงได้ต้อนรับซุนยัตเซนที่คฤหาสน์ของท่าน (ปัจจุบันคฤหาสน์หลังนี้ได้ถูกทุบทิ้ง และสร้างเป็นสถานีตำรวจพลับพลาไชย โดยมีศาลของยี่กอฮง สร้างเอาไว้อยู่ที่ดาดฟ้าจนถึงทุกวันนี้) เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน
และในการพบปะกันครั้งนั้นเอง ที่ทำให้ยี่กอฮงสาบานเป็นพี่เป็นน้องกับซุนยัตเซน โดยที่ซุนยัตเซนได้ตั้งชื่อให้กับยี่กอฮงว่า “ตี้ย้ง” จนทำให้ท่านมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “แต้ตี้ย้ง” อีกด้วย
การสาบานเป็นพี่น้องตามธรรมเนียมจีนยุคนั้นเลียนแบบมาจากการสาบานในสวนท้อของเล่าปี่, กวนอู และเตียวหุย ในวรรณกรรมเรื่องสามก๊กนะครับ ชาวจีนนั้นยึดมั่นในความคิดแบบขงจื๊อ จึงให้ความสำคัญกับครอบครัว ทำให้ชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพออกมาทำงานหาเงินส่งกลับเข้าไปให้ครอบครัวในจีน จึงพากันสาบานเป็นพี่น้องกับผู้คนที่อพยพออกมายังที่อยู่ ที่ทำกินใหม่ด้วยกัน ก็ด้วยความหวังว่าจะพึ่งพาอาศัยกันเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกันนี่เอง
การสาบานที่ว่านี้เป็นที่นิยมอย่างมากในยุคโน้น ดังนั้น จำนวนพี่น้องร่วมสาบานของแต่ละคนจึงมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเป็นอะไรที่เรียกกันว่า “สมาคมลับ” นั่นแหละ
ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมหลิ่มมั่งถึงถูกคนในสมาคมลับของตนเองเรียกว่า ตั่วกอมั่ง และทำไมยี่กอฮงจึงสมัครใจเป็นเพียงพี่รอง ไม่ยอมยกตนขึ้นเป็นพี่ใหญ่
แต่ดั้งเดิมนั้น อะไรที่เรียกว่า “สมาคมลับ” ของชาวจีน จึงไม่ได้เป็นเรื่องของธุรกิจสีเทาๆ เพียงอย่างเดียว ภาพของสมาคมอั้งยี่ หรือกบฏตั้วเหี่ย อย่างที่คนไทยมักจะจินตนาการถึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของบรรดาสมาคมลับเหล่านี้ ซึ่งหลายครั้งก็มีเจตนารมณ์ หรืออุดมการณ์ที่ชัดเจน มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของการกระทำผิดกฎหมาย
สมาคมลับของซุนยัตเซนที่ชื่อ “ถงเหมิงฮุ่ย” หรือ “สมาคมพันธมิตรปฏิวัติจีน” เองก็สร้างขึ้นมาด้วยอุดมการณ์ที่จะปฏิวัติสังคมจีนด้วยการล้มล้างราชวงศ์ชิง ซึ่งถือเป็นชาวต่างชาติ (แมนจู) ที่ก้าวขึ้นมาปกครองชาวฮั่น
ว่ากันว่าเมื่อวันที่ยี่กอฮงได้พบกันซุนยัตเซนนั้น ท่านถึงกับตัดผมเปีย (อันเป็นสัญลักษณ์ของแมนจู) ทิ้ง พร้อมกับอาสาเป็นผู้ก่อตั้งสมาคมลับถงเหมิงฮุ่ยประจำประเทศสยาม แถมยังมอบเงินสนับสนุนให้ซุนยัตเซนไปใช้ปฏิวัติถึงหนึ่งแสนหยวนอีกด้วย
ด้วยอุดมการณ์ดังกล่าว ทำให้ซุนยัตเซนต้องลี้ภัยออกจากประเทศจีน ก่อนหน้าที่จะเดินทางมาพบยี่กอฮงนานแล้วนะครับ สมาคมลับถงเหมิงฮุ่ยนั้นก็มีศูนย์กลางอยู่ที่เมือง โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2448 การที่ซุนยัตเซนเดินทางไปเยี่ยมชาวจีนโพ้นทะเลตามประเทศต่างๆ ก็เพื่อเผยแพร่อุดมการณ์ที่ว่า พร้อมกับหาทุนสนับสนุนการปฏิวัติ ซึ่งก็หมายรวมถึงในไทยด้วย
อันที่จริงแล้ว ก็ไม่น่าแปลกใจนักที่ซุนยัตเซนจะเดินทางมาพบกับยี่กอฮง เพราะถ้าหากว่าเรื่องราวระหว่าง “ตั่วกอมั่ง” กับ “ยี่กอฮง” ไม่ได้เป็นเพียงนิทานแล้ว พี่รองฮงท่านนี้ก็น่าจะมีจิตใจโอนเอียงไปในทางที่ไม่พอใจราชวงศ์ชิงนัก เพราะกบฏไท่ผิงที่มีหลิ่มมั่งเป็นส่วนหนึ่ง จนต้องลี้ภัยมาอยู่ในสยามประเทศนั้น ก็มีจุดมุ่งหมายที่จะโค่นราชวงศ์ชิง และปฏิรูปบ้านเมืองจีนขนานใหญ่ เช่นเดียวกับสมาคมลับถงเหมิงฮุ่ยของซุนยัตเซน
ที่สำคัญก็คือ ยี่กอฮงนั้นเป็นมหาเศรษฐี ที่ร่ำรวยขึ้นมาจากการนายอากรบ่อนเบี้ย คุมธุรกิจการออกหวย ก.ข. รวมทั้งมีธุรกิจกิจการอีกมากมาย จนเรียกได้ว่า เป็นขาใหญ่โดยเฉพาะในย่านไชน่าทาวน์ของประเทศสยาม อย่างย่านเยาวราช
ดังนั้น ถ้าซุนยัตเซนจะไม่เข้าหายี่กอฮงต่างหากจึงจะเป็นเรื่องแปลก
แต่การที่ซุนยัตเซนเข้ามายังประเทศสยามก็ดูจะเป็นเรื่องที่ทางการในสมัยนั้นไม่ใคร่ที่จะสบายใจนัก โดยเฉพาะเมื่อท่านได้ก่อตั้งสมาคมลับถงเหมิงฮุ่ยเรียบร้อยแล้ว แถมยังมากล่าวคำปราศรัยเกี่ยวกับอุดมการณ์ดังกล่าวในเขตพื้นที่เยาวราช เพราะราชวงศ์ชิงที่ซุนยัตเซนต้องการจะล้มล้างนั้น ก็คือการปกครองด้วยระบอบกษัตริย์
และนั่นก็ทำให้ทางการของสยามพยายามที่จะเชิญตัวซุนยัตเซนออกนอกประเทศ แต่ก็เชิญไม่สำเร็จนะครับ เพราะว่าซุนยัตเซนอ้างตัวเป็นคนในปกครองของสหราชอาณาจักร ซึ่งมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในประเทศสยาม
พ.ศ.2453 ปีเดียวกับที่รัชกาลที่ 5 สวรรคต และรัชกาลที่ 6 เสด็จขึ้นครองราชย์ ในประเทศจีนเกิดการปฏิวัติซินไฮ่ จักรพรรดิปูยี (ผู่อี๋) สละราชสมบัติ ราชวงศ์ชิงล่มสลาย จีนเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอกสาธารณรัฐ สมดังความตั้งใจของซุนยัตเซน
น่าสนใจนะครับว่า ถึงแม้รัชกาลที่ 6 จะพระราชทานบรรดาศักดิ์ พระอนุวัฒน์ราชนิยม และนามสกุลเตชะวณิช ให้กับยี่กอฮง แต่กลับประกาศยกเลิกบ่อนพนัน และหวย ก. ข. ไปตามลำดับ ทั้งๆ ที่อากรบ่อนเบี้ย และอากรที่ได้จากหวย ก.ข. นั้นคือรายได้หลักอย่างหนึ่งของรัฐสยาม มาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แม้กระทั่งรัชกาลที่ 5 ซึ่งเคยมีพระราชดำริจะยกเลิกทั้งสองอย่างมาก่อน แต่ก็ไม่สามารถกระทำได้ตามพระทัย เพราะจะทำให้แผ่นดินสูญเสียรายได้ไปเป็นจำนวนมหาศาล •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022