รู้จัก ที่มา กลองสะบัดไชย ในประวัติศาสตร์ชาวล้านนา ที่หลายคนอาจไม่ทราบมาก่อน!

ล้านนาคำเมือง โดย ชมรมฮักตั๋วเมืองสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

กลองสะบัดไชย

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ก๋องสะบัดไจ”

หมายถึง กลองสะบัดไชย

กลองสะบัดไชย เป็นทั้งเครื่องดนตรีและการแสดงพื้นบ้านล้านนาอย่างหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันมักจะพบเห็นในขบวนแห่หรืองานแสดงศิลปะพื้นบ้านโดยทั่วไป ลีลาในการตีมีลักษณะโลดโผน เร้าใจ มีการใช้อวัยวะหรือส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ศอก เข่า ศีรษะ ประกอบในการตีด้วย

ทำให้การแสดงการตีกลองสะบัดไชยเป็นที่ประทับใจของผู้ที่ได้ชม จนเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

อาจกล่าวได้ว่า การตีกลองสะบัดไชย เป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่ได้นำชื่อเสียงทางด้านวัฒนธรรมพื้นบ้านสู่ล้านนา

และบทบาทของกลองสะบัดไชยจึงอยู่ในฐานะการแสดงในงานวัฒนธรรมต่างๆ เช่น งานพิธีต้อนรับแขกเมือง และขบวนแห่ เป็นต้น

แต่โอกาสในการใช้กลองสะบัดไชย ตั้งแต่เดิมมาจนถึงปัจจุบันยังมีอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการตีบอกสัญญาณโจมตีข้าศึก ตีบอกข่าวในชุมชน ตีประโคมฉลองชัยชนะ ประโคมเพื่อความสนุกสนาน และตีเป็นมหรสพ

ถ้าสังเกตจากการปรากฏทางเอกสารโบราณจะพบว่าบทบาทและหน้าที่ของกลองสะบัดไชยในอดีตจะเกี่ยวพันกับฝ่ายอาณาจักรกษัตริย์หรือเจ้าเมืองและกองทัพอย่างเดียว

ต่อมาเมื่อสถาบันกษัตริย์เจ้าเมืองของล้านนาถูกลดอำนาจจนสูญสิ้นไปในที่สุด กลองสะบัดไชยซึ่งถือได้ว่าเป็นของสูง จึงเปลี่ยนที่อยู่ใหม่ไปอยู่กับ “ศาสนจักร” ซึ่งมีบทบาทคู่กับ “อาณาจักร” มาตลอด

ศาสนสถานของพุทธศาสนาคือวัด ฉะนั้นวัดจึงเป็นสถานที่รองรับกลองสะบัดไชยมาอีกทอดหนึ่ง และเมื่อเข้าไปอยู่ในวัดหน้าที่ใหม่ที่เพิ่มขึ้น คือตีเป็น “พุทธบูชา” จนได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า กลองปูชา (อ่าน “ก๋องปู๋จา”) เวลาตีก็บอกว่า ตีกลองปูชา

กระนั้นก็ตามหลายแห่งยังพูดว่า ตีกลองสะบัดไชย อยู่ดี

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้หน้าที่ใหม่แล้ว หน้าที่เดิมที่ยังคงอยู่ก็คือเป็น “สัญญาณ” เพราะวัดเป็นศูนย์รวมของชุมชน ข่าวสารต่างๆ จึงมักออกจากวัด

ปัจจุบันจึงได้ยินเสียงกลองจากวัดอยู่บ้าง เพื่อเป็นสัญญาณเรียกประชุม สัญญาณบอกเหตุฉุกเฉิน สัญญาณบอกวันโกน วันพระ

และหน้าที่รองลงมาที่เกือบจะสูญหายแล้ว คือใช้ใน “มหรสพ” ซึ่งเหลือเฉพาะในงานบุญคือ บุญสลากภัต แม้จะพบว่ามีการปรากฏตัวในฐานะมหรสพในสถานที่อื่นนอกเหนือจากวัด แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลัง กล่าวคือมีการเข้าขบวนแห่โดยย่อส่วนลงให้มีน้ำหนักเบาลงแล้วติดคานหาม

กล่าวถึงลักษณะการตี เดิมทีมีลีลาออกชั้นเชิงชาย เพราะการตีกลองเป็นเรื่องของผู้ชายเท่านั้น การออกลวดลายหน้ากลองของผู้ตีก็เพื่อแสดงให้เห็นความสามารถในชั้นเชิงการต่อสู้ของตนในขณะที่มีจังหวะการตีควบคุมอยู่ การออกอาวุธขณะตีอยู่กับที่ในหอกลอง

นอกจากไม้ตีที่เรียกว่า “ค้อน” แล้ว ยังใช้อวัยวะส่วนบนที่เป็นอาวุธได้ เช่น หัว ศอก ประกอบด้วย

แต่อวัยวะดังกล่าวจะไม่ให้สัมผัสหน้ากลองเลย เพียงทำท่าทางเท่านั้น เพราะถือกันว่ากลองเป็นของสูงและศักดิ์สิทธิ์

เมื่อกลองสะบัดไชยเริ่มเข้าขบวนแห่ อวัยวะเบื้องล่างที่เป็นอาวุธได้ เช่น เท้า เข่า ก็เริ่มมีบทบาท แต่ยังอยู่ในลักษณะเดิม คือเพียงทำท่า ไม่ได้ให้สัมผัสหน้ากลองนอกจากไม้ตี

เมื่อประมาณ 70 ปีที่ผ่านมา การทำท่าเงื้อง่าจะใช้ศอก เท้า เข่า โดยไม่ให้สัมผัสหน้ากลอง แต่ต่อมาใช้อวัยวะสัมผัสจริง ลีลาจึงโลดโผนเข้มข้นยิ่งขึ้น

หลายคนที่ไม่เห็นด้วยจึงเรียกการตีลักษณะนี้ว่า “กลองรุงรัง” กลองลูกตุบก็ตัดออก ด้วยเห็นว่าไม่จำเป็นและเกะกะ ไม่สะดวกต่อการตีแบบโลดโผน

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา การตีกลองสะบัดไชยแบบสัมผัสหน้ากลองได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีฝ่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูของหลายหน่วยงานให้การสนับสนุน เพราะเห็นว่าเป็นศิลปะการแสดงที่ตื่นเต้นเร้าใจและออกลีลาได้ชัดเจน

ศิลปะในการตีเริ่มมีมาตรฐานเมื่อวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่บรรจุวิชาการตีกลองสะบัดไชยเข้าในหลักสูตร

 

ลีลาตีกลฯอฯงสะบัดฯไชยฯ
ลีลาตีกลองสะบัดไชย

กล่าวโดยสรุปกลองสะบัดไชยในปัจจุบันนี้มีสามประเภท คือ

ประเภทแรกเป็นกลองสองหน้าขนาดใหญ่ มีกลองขนาดเล็กประกอบเรียกว่า “กลองปูชา” แขวนอยู่ในหอกลองของวัดต่างๆ ลักษณะการตีมีจังหวะทั้งช้าและเร็ว บางจังหวะมีฉาบและฆ้องประกอบ บางจังหวะมีคนตีไม้ด้วยไม้เรียวประกอบอย่างเดียว

ประเภทที่สองเป็นกลองสองหน้า มีกลองขนาดเล็กประกอบ ติดคานหามซึ่งเป็นกลองที่จำลองแบบมาจากประเภทแรก เวลาตีผู้ตีจะใช้มือข้างหนึ่งมือถือไม้เรียวฟาด อีกข้างหนึ่งถือไม้ตีกลองตี การตีลักษณะนี้อาจมีฉาบและฆ้องประกอบ

ประเภทสุดท้าย ได้แก่ กลองสองหน้า มีคานหาม ไม่มีกลองเล็ก มีฉาบฆ้องประกอบจังหวะและมักมีนาคไม้แกะสลักประดับซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายในปัจจุบัน

กลองสะบัดไชยทั้งสามประเภท ปัจจุบันได้ส่งเสริมให้มีการฟื้นฟูให้หวนกลับมาสู่ความนิยมอีก โดยประเภทแรกนอกจากจะมีการสอนให้ตีและมีบทบาทในวัดแล้ว ยังมีการนำเข้าสู่ขบวนแห่ โดยยกขึ้นค้างแล้วติดล้อเลื่อน ประเภทที่สองมีการเผยแพร่และกำลังเป็นที่นิยม สำหรับประเภทสุดท้ายก็ปรากฏแพร่หลาย เกือบจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของกลองล้านนาไปแล้ว •