คุยกับทูต : อับดุรเราะฮีม เราะห์ฮาลี 37 ปี สัมพันธ์ไทย-โมร็อกโก ดินแดนแห่งอารยธรรมสุดขอบทวีป (จบ)

รายงานพิเศษ

ชนัดดา ชินะโยธิน

[email protected]

คุยกับทูต : อับดุรเราะฮีม เราะห์ฮาลี

37 ปี สัมพันธ์ไทย-โมร็อกโก

ดินแดนแห่งอารยธรรมสุดขอบทวีป (จบ)

 

ชาวโมร็อกโกให้ความเคารพนับถือพระมหากษัตริย์อย่างยิ่งเช่นเดียวกับคนไทย

แทบทุกบ้านและทุกสถานที่จึงมักจะมีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ตั้งไว้บูชา

และจากการที่อยู่ห่างจากประเทศสเปนประมาณ 14 กิโลเมตร เพียงแค่ข้ามช่องแคบยิบรอลตาร์ (Gibraltar) เท่านั้น

จึงทำให้โมร็อกโกใกล้ชิดกับยุโรปมาก

นายอับดุรเราะฮีม เราะห์ฮาลี เอกอัครราชทูตโมร็อกโก

ศิลปวัฒนธรรมของโมร็อกโก

เป็นการผสมผสานวัฒนธรรมของอาหรับและยุโรปเข้าไว้ด้วยกัน งานศิลปะของโมร็อกโกที่ได้รับการยกย่องว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะและทำด้วยมือ คือ Moroccan Craft ได้แก่ พรม และผ้าห่ม ศิลปะการทำเครื่องเงินและเครื่องประดับที่ทำจากโลหะฝีมือก็มีชื่อเสียงไม่แพ้พรมทอมือ

เรามักจะได้ยินเสียงดนตรีทั่วทุกหนแห่งในโมร็อกโก ถือเป็นการแสดงออกซึ่งวัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวโมร็อกโกและมักจะเป็นแนวบันเทิงมากกว่าเพื่อรับใช้ศาสนา รวมทั้งมีแหล่งวัฒนธรรมท้องถิ่นที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปสัมผัสได้อย่างใกล้ชิด เช่น ตลาดเก่าพื้นเมือง หรือซุก (Souq หรือ Souk)

โมร็อกโกจึงนับเป็นประเทศที่มีเสน่ห์มาก ทั้งในเรื่องศิลปะ วัฒนธรรม และงานดีไซน์

เอกอัครราชทูตโมร็อกโก นายอับดุรเราะฮีม เราะห์ฮาลี (Abderrahim Rahhaly) กล่าวว่า

“ปัจจุบันราชอาณาจักรโมร็อกโกเป็นหนึ่งในตลาดการท่องเที่ยวที่มีการพัฒนาที่ดีที่สุดในแอฟริกา มีภูมิประเทศและสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลายโดยมีสภาพอากาศแตกต่างกันตั้งแต่เหนือจรดใต้ ทั้งได้รับประโยชน์จากสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะการเมืองและความมั่นคงที่มีเสถียรภาพ ได้ช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวของโมร็อกโก ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางชั้นนำสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางไปสู่ทวีปแอฟริกา”

“เรามุ่งมั่นให้การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในราชอาณาจักร มีวิสัยทัศน์ในปี 2020 ที่ขึ้นอยู่กับค่านิยมพื้นฐานสี่ประการ คือ ความถูกต้องแท้จริง (Authenticity), ความหลากหลาย (Diversity), คุณภาพ (Quality) และความยั่งยืน (Sustainability)”

“มีการเพิ่มจำนวนที่พักมากขึ้นเป็นสองเท่า ตามจำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้าที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งเพิ่มจำนวนการเดินทางภายในประเทศอีกเป็นสามเท่า”

“ผมเชื่อว่าอุตสาหกรรมด้านการบริการในโมร็อกโกจะเติบโตขึ้นอีก 4.3% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า”

ส่วนที่ดีที่สุดของอาหารโมร็อกโก

“ต้องขอบคุณส่วนผสมและเทคนิคการทำที่นำมาใช้ อาหารโมร็อกโกได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นอาหารที่มีความโดดเด่นในโลก อาหารโมร็อกโกถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในครัวที่เก่าแก่และโบราณที่สุด โดยได้รับตำแหน่งที่มีเกียรติในประเภทครัวนานาชาติที่ดีที่สุด ซึ่งจัดโดยเว็บไซต์ The Top Ten โดยที่ “พ่อครัว” ของโมร็อกโกอยู่ในตำแหน่งที่ 16 ในระดับโลก และตำแหน่งที่ 1 ในระดับประเทศอาหรับ”

“องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศให้ราชอาณาจักรโมร็อกโกเป็นผู้แทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติในปี 2013 เป็นประเทศที่มีอาหารเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean Diet) ซึ่งเกี่ยวข้องกับชุดของทักษะ ความรู้ พิธีกรรม สัญลักษณ์และประเพณีในพืชผล การเก็บเกี่ยว การตกปลา การเลี้ยงสัตว์ การอนุรักษ์ การแปรรูป การทำอาหาร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแบ่งปันและการบริโภคอาหาร”

Mediterranean Diet คือการกินอาหารแบบผู้คนที่อาศัยอยู่ในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เช่น กรีซ อิตาลีตอนใต้ และสเปน เน้นการกินผัก ผลไม้ และธัญพืชเป็นหลัก รวมทั้งอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนล่า อัลมอนด์ วอลนัต ส่วนผลิตภัณฑ์จากนมและชีส จะเลือกกินแบบไขมันต่ำ และไม่กินเนื้อสัตว์ที่เป็นเนื้อแดง แต่นิยมกินสัตว์ปีก เช่น ไก่ นก และอาหารทะเลแทน

จุดเด่นของการกินแบบชาวเมดิเตอร์เรเนียนอยู่ที่การกินผักผลไม้ในปริมาณมาก เรียกว่าเกินครึ่งของมื้ออาหารจะต้องมีผักและผลไม้ โดยนิยมกินทั้งแบบสดและนำไปราดน้ำมันมะกอก และมักปรุงอาหารด้วยสมุนไพร

การกินอาหารแบบชาวเมดิเตอร์เรเนียนจึงได้รับการรับรองด้วยงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดว่า เป็นหลักการกินที่ดีสำหรับการควบคุมน้ำหนักและมีประโยชน์ต่อร่างกายวิธีหนึ่งเลยทีเดียว

“ส่วน กุสกุส (Couscous) ของโมร็อกโก ได้รับการจารึกไว้ในรายการมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โดย UNESCO ในปี 2020 ซึ่งให้การรับรองในความรู้ แนวทาง และวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการบริโภคกุสกุส”

กุสกุสเป็นอาหารหลักอย่างหนึ่งทำจากแป้งเซโมลินา ธัญพืช และแป้งสาลีในตำรับอาหารมอริเตเนีย โมร็อกโก แอลจีเรีย ตูนิเซีย และลิเบีย ซึ่งอยู่ในภูมิภาคอัลมัฆริบ (Al- Maghreb) นอกจากนี้ยังมีการบริโภคกุสกุสในฝรั่งเศส โดยผู้ที่นำเข้าไปเผยแพร่คือชาวฝรั่งเศสที่เกิดในแอลจีเรียสมัยอาณานิคมและผู้ย้ายถิ่นเข้าจากอัลมัฆริบ (โดยเฉพาะชาวแอลจีเรีย โมร็อกโก และตูนิเซีย)

“ลักษณะเด่นที่สุดของอาหารโมร็อกโก คือความสามารถในการผสมผสานรสชาติที่ตรงกันข้ามกับส่วนผสมที่หลากหลาย ทำให้เกิดประสบการณ์การรับประทานอาหารอย่างประทับใจเพราะมีครบทุกรส ทั้งหวานและเค็ม”

นายอับดุรเราะฮีม เราะห์ฮาลี เอกอัครราชทูตโมร็อกโกประจำประเทศไทย

คุณสมบัติในการเป็นนักการทูต

แห่งศตวรรษที่ 21

ที่ประสบความสำเร็จ

เอกอัครราชทูตเราะห์ฮาลีให้ความเห็นว่า

“นักการทูตทุกคนมีความแตกต่างขึ้นอยู่กับแนวคิด ลักษณะในการทำงาน และวิธีที่เขาหรือเธอจัดการกับความเครียดที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน”

“อย่างไรก็ตาม ผมขอแนะนำว่าความสำเร็จของนักการทูตนั้นขึ้นอยู่กับระดับความเชื่อมั่นในตัวเองว่าจะสามารถเป็นตัวแทนของประเทศในต่างประเทศได้”

“การผสมผสานระหว่างความหลงใหลในงานที่ทำ และความรู้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”

 

วิธีการผ่อนคลายในชีวิตประจำวัน

“เมื่อใดก็ตามที่พอจะมีเวลาว่าง ผมจะฟังเพลงคลาสสิก หรือใช้เวลากับธรรมชาติ ต้นไม้ พื้นที่กว้างๆ สีเขียว นอกเหนือจากสังสรรค์กับครอบครัวและเพื่อนฝูง”

“อย่างไรก็ตาม ผมรู้สึกทึ่งเพราะคนไทยมีจิตใจดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และให้ความช่วยเหลือ ส่วนผมและครอบครัวเพิ่งมาที่นี่เป็นครั้งแรกและอยู่ได้ไม่กี่เดือน จึงยังไม่มีโอกาสได้ออกไปไหนไกลๆ ดีที่สุดคือในกรุงเทพฯ”

 

คาซาบลังกา (Casablanca)

“ในโอกาสนี้ ผมใคร่ขอเชิญคนไทยได้โปรดไปค้นพบโมร็อกโก หนึ่งในประเทศที่มีเอกลักษณ์ที่สุดของโลก ประเทศที่ร่ำรวยด้วยศิลปวัฒนธรรม อารยธรรมโบราณ สถาปัตยกรรมสไตล์โมร็อกโกตามสุเหร่า สุสาน ป้อมปราการ จนถึงเครื่องหนังหลากสี และเครื่องปั้นดินเผาโมเสก ทัศนียภาพของชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน หรือมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่มัดใจผู้คนจากทั่วโลกให้ไปเยือนซ้ำแล้วซ้ำอีก”

โมร็อกโกเป็นประเทศที่มีเสน่ห์ลึกลับ เป็นที่ชุมนุมของนักคิด นักเขียน และศิลปินจากทุกมุมโลก โดยเฉพาะการเป็นฉากในภาพยนตร์อมตะสองเรื่องของฮอลลีวู้ด ที่ผู้อ่านหลายท่านยังไม่ลืมคือ คาซาบลังกา (Casablanca, 1942) และลอว์เรนซ์แห่งอาระเบีย (Lawrence of Arabia, 1962) รวมทั้งภาพยนตร์จากซีรีส์เรื่องดังของอเมริกาคือ Sex & the City 2 ที่ได้ยกกองไปถ่ายฉากประทับใจที่โมร็อกโกด้วย •

 

 

ประวัติ

นายอับดุรเราะฮีม เราะห์ฮาลี

H.E. Mr. Abderrahim RAHHALY

เอกอัครราชทูตโมร็อกโกประจำประเทศไทย

กัมพูชา ลาว และเมียนมา

เกิด : 29 มิถุนายน 1963 เมืองโมฮัมมีเดีย (Mohammedia) ราชอาณาจักรโมร็อกโก

ประสบการณ์ :

2022-ปัจจุบัน : เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มในสมเด็จพระราชาธิบดีมุฮัมมัดที่ 6 แห่งราชอาณาจักรโมร็อกโก ประจำราชอาณาจักรไทย

2016-2021 : กงสุลใหญ่ราชอาณาจักรโมร็อกโก ประจำดูไบและเอมิเรตส์เหนือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

2012-2016 : รองหัวหน้าคณะผู้แทน สถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรโมร็อกโก ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา

2009-2012 : รองอธิบดีกรมอเมริกาเหนือและแคริบเบียน กรมกิจการอเมริกา กระทรวงต่างประเทศ กรุงราบัต ราชอาณาจักรโมร็อกโก

2008-2009 : หัวหน้าแผนกความร่วมมือระหว่างรัฐสหภาพอาหรับ กรมกิจการอิสลามและอาหรับ กระทรวงต่างประเทศ กรุงราบัต ราชอาณาจักรโมร็อกโก

2004-2008 : ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจและการเมือง สถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรโมร็อกโก กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

2000-2004 : ที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง สถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรโมร็อกโก กรุงแอลเจียร์ ประเทศแอลจีเรีย

1999-2000 : หัวหน้าส่วนองค์กรยุโรประดับภูมิภาค กรมกิจการยุโรป กระทรวงต่างประเทศ กรุงราบัต

1998-1999 : กรมการสื่อสาร กระทรวงต่างประเทศ กรุงราบัต ราชอาณาจักรโมร็อกโก

1992-1998 : เลขาธิการฝ่ายการเมือง สถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรโมร็อกโก กรุงพริทอเรีย แอฟริกาใต้

1988-1992 : เลขานุการฝ่ายต่างประเทศ กรมการปกครอง กระทรวงต่างประเทศ กรุงราบัต

ภาษา : อารบิก ฝรั่งเศส อังกฤษ

การศึกษาและฝึกอบรม :

1984 : ประกาศนียบัตร General University Studies สาขาสังคมศาสตร์, Fran?ois Rabelais University, Tours ประเทศฝรั่งเศส

1986 : ปริญญาโท สาขาสังคมวิทยา Mohammed V University กรุงราบัต

2000 : กระบวนการยูโร-เมดิเตอร์เรเนียน ประเทศมอลตา

2010 : การสื่อสารเชิงกลยุทธ์และการทูตสาธารณะ, National Defense University (NESA), กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา

2012 : เทคนิคการเจรจาระหว่างประเทศ กรุงราบัต

สถานภาพสมรส : กับ Madam Halima AMEZIAN บุตรธิดาสามคน