คุยกับทูต : อับดุรเราะฮีม เราะห์ฮาลี 37 ปีสัมพันธ์ไทย-โมร็อกโก ดินแดนแห่งอารยธรรมสุดขอบทวีป (3)

รายงานพิเศษ

ชนัดดา ชินะโยธิน

[email protected]

 

คุยกับทูต : อับดุรเราะฮีม เราะห์ฮาลี

37 ปีสัมพันธ์ไทย-โมร็อกโก

ดินแดนแห่งอารยธรรมสุดขอบทวีป (3)

 

นับตั้งแต่เหตุการณ์อาหรับสปริงจนถึงปัจจุบัน โมร็อกโกถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับการยอมรับถึงเสถียรภาพทางการเมือง

สิ่งที่พิเศษกว่านั้นคือ เป็นหนึ่งในประเทศที่ยังคงมีกษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ท่ามกลางกระแสธารการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยของภูมิภาคแอฟริกาตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

นายอับดุรเราะฮีม เราะห์ฮาลี เอกอัครราชทูตโมร็อกโก

ประชาธิปไตยและเสรีภาพในโมร็อกโก

นายอับดุรเราะฮีม เราะห์ฮาลี (Abderrahim Rahhaly) เอกอัครราชทูตในสมเด็จพระราชาธิบดีมุฮัมมัดที่ 6 แห่งราชอาณาจักรโมร็อกโก ประจำราชอาณาจักรไทย ชี้แจงว่า

“ราชอาณาจักรโมร็อกโกมั่นคงต่อทางเลือกที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ในการปกครองด้วยหลักนิติรัฐ ประเทศของเราดำเนินตามกระบวนการในการควบรวมและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันของรัฐสมัยใหม่อย่างแน่วแน่ โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน พหุนิยมในความหลากหลายของกลุ่มคน สังคมและวัฒนธรรม มีการบริหารตามหลักธรรมาภิบาล”

“โมร็อกโกเป็นประเทศที่พัฒนาสังคมให้รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งทุกคนมีความมั่นคง มีเสรีภาพ มีโอกาสที่เท่าเทียมกัน มีความเคารพในศักดิ์ศรีของตนและมีความยุติธรรมในสังคม ภายใต้กรอบของหลักความสัมพันธ์ระหว่างสิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของพลเมือง”

“ในระหว่างการเลือกตั้ง โมร็อกโกได้สร้างความประทับใจที่ดีเสมอเกี่ยวกับกระบวนการ ตัวอย่าง หลังการเลือกตั้งในโมร็อกโกปี 2021 ศูนย์ประชาธิปไตยระหว่างประเทศ (IDC) แสดงความยินดีกับโมร็อกโกที่สามารถจัดการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติและการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นอย่าง ‘มีระเบียบและโปร่งใส’ โดยเคารพในกฎเกณฑ์การเลือกตั้ง”

ถ่ายภาพร่วมกับนายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ กับเอกอัครราชทูตโมร็อกโก

โมร็อกโกกับการปฏิวัติอาหรับสปริง

“โมร็อกโกเป็นข้อยกเว้นในอาหรับสปริง เราต้องข้ามช่วงนี้ไป แต่พูดได้เลยว่าเราข้ามได้อย่างปลอดภัย ทั้งยังได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นตัวอย่างชั้นนำในการจัดการวิกฤตการณ์ทางการเมืองโดยอิงจากยุทธศาสตร์ที่แข็งแกร่งและมองการณ์ไกล ซึ่งสมเด็จพระราชาธิบดีมุฮัมมัดที่ 6 ได้ทรงนำมาใช้ในปี 2011”

“ในระหว่างการปราศรัยครั้งประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2011 สมเด็จพระราชาธิบดีมุฮัมมัดที่ 6 ทรงประกาศการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงการผนึกกำลังครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างพระมหากษัตริย์และประชาชน”

การปฏิวัติตูนิเซีย (Tunisian Revolution) หรือการปฏิวัติดอกมะลิ (Jasmine Revolution) เป็นการลุกฮือของประชาชนในวงกว้างเพื่อทําการโค่นล้มรัฐบาลและเปลี่ยนแปลงระบอบเผด็จการที่ดํารงมาอย่างยาวนานของประเทศตูนิเซีย ถือว่าเป็นข่าวใหญ่โตอย่างยิ่งนับจากเดือนธันวาคมปี 2010 กล่าวได้ว่าการปฏิวัตินี้นับเป็นปรากฏการณ์สําคัญยิ่งใหญ่ที่สุดในต้นศตวรรษที่ 21 ท้าทายต่อระบอบอํานาจนิยมอย่างทรงพลังยิ่งนับจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

การประท้วงเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการกระทำที่คล้ายคลึงกันทั่วโลกอาหรับ ในปฏิกิริยาลูกโซ่ซึ่งกลายเป็นที่รู้จักในนามขบวนการอาหรับสปริง (Arab Spring) สร้างแรงบันดาลใจและส่งผลสะเทือนไปสู่การลุกฮือของประชาชนในประเทศใกล้เคียง เช่น อียิปต์ ลิเบีย โมร็อกโก เยเมน บาห์เรน จอร์แดน และซีเรีย ซึ่งผู้นำสายอำนาจนิยมล้วนถูกขับไล่

กล่าวกันว่า อาหรับสปริง คือชัยชนะครั้งสำคัญของประชาชน เป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองไปสู่ระบอบที่เสียงของประชาชนได้รับการรับฟังมากขึ้น ซึ่งอาจไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นประชาธิปไตยแบบตะวันตกเสมอไป

เมื่อกษัตริย์มุฮัมมัดที่ 6 แห่งโมร็อกโกขึ้นครองราชย์ ก็ได้ประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญ เริ่มด้วยการส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ จึงทำให้โมร็อกโกได้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลรับผิดชอบรัฐสภา ฝ่ายตุลาการมีความเป็นอิสระ มีการให้เสรีภาพส่วนบุคคลที่กว้างขวาง และให้สิทธิแก่สตรีในการชนะการเลือกตั้งเทียบเท่ากับบุรุษ มีการกระจายอำนาจไปยังภูมิภาค โดยเปิดให้ประชาชนเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นได้โดยตรง

ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาล กษัตริย์ กับประชาชน ได้คลี่คลายแบบค่อยเป็นค่อยไป จากการผลักดันของหลายฝ่าย ความจำเป็นในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มีส่วนในการพยุงสถานะของสถาบันกษัตริย์โมร็อกโกให้ดำรงอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน

ทะเลทรายซาฮารา

ซาฮาราตะวันตก (Western Sahara)

เป็นดินแดนที่มีข้อพิพาทและถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของโมร็อกโกในภูมิภาคมาเกร็บ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา

ซาฮาราตะวันตกมีพรมแดนชายฝั่งติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก มีอาณาเขตติดกับโมร็อกโก แอลจีเรียและมอริเตเนีย ตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของสเปนจนถึงปี 1974 และมีการอ้างสิทธิเหนือดินแดนโดยผนวกรวมกับโมร็อกโกในปี 1975 หลังสเปนถอนตัวออก จากการทำข้อตกลงมาดริด (Madrid Accord)

โมร็อกโกและมอริเตเนียจึงอ้างสิทธิ์ในการยึดครอง Western Sahara ซึ่งมีชาวโมร็อกโกสามแสนกว่าคนพากันอพยพเข้าไปอยู่เพื่อจับจอง

แต่ Western Sahara มีคนท้องถิ่นอาศัยอยู่แล้วคือชาวซาห์ราวี (Sahrawi) จึงเกิดสงคราม Western Sahara ระหว่างชาวซาห์ราวี นำโดยแนวร่วมโปลีซารีโอ (Front Polisario) กับผู้รุกรานดินแดนของเขา

ในปี 1976 ชาวซาห์ราวีและแนวร่วมโปลีซารีโอ สถาปนารัฐเอกราชใน Western Sahara ชื่อย่อว่า SADR

ต่อมา มอริเตเนียถอนตัวจากการอ้างสิทธิ์และออกจากสงครามปี 1979

สงครามสิ้นสุดลงในปี 1991จากการแทรกแซงของสหประชาชาติ โดย UN Peacekeepers เข้าประจำการใน Western Sahara ส่วนชาวซาห์ราวี (Sahrawi) หลายแสนคนต้องลี้ภัยไปอยู่ทางตอนใต้ของแอลจีเรีย

ปัจจุบันพื้นที่ของ Western Sahara ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การยึดครองของโมร็อกโก

จังหวัดทางใต้ (Southern Provinces) หรือซาฮาราโมร็อกโก (Moroccan Sahara) เป็นคำที่ใช้โดยรัฐบาลโมร็อกโกสำหรับ Western Sahara ข้อกำหนดของโมร็อกโกสำหรับสองคำนี้หมายรวมถึงซาฮาราตะวันตก (Western Sahara) ทั้งหมดอย่างชัดเจน ครอบคลุมสามเขตการปกครองระดับบนสุด 12 แห่งของประเทศ

โดยเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2020 นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศในกฤษฎีกาของประธานาธิบดีมีผลบังคับใช้ในทันที เกี่ยวกับการตัดสินใจของสหรัฐอเมริกาในการรับรองสถานะการมีอํานาจอธิปไตยเต็มรูปแบบของโมร็อกโก บนพื้นที่ทั้งหมดของ Moroccan Sahara พร้อมเปิดสถานกงสุล

โอเอซิสแห่งหนึ่งในทะเลทรายซาฮารา

นายอับดุรเราะฮีม เราะห์ฮาลี ชี้แจงว่า

“มีการหาวิธีแก้ปัญหาทางการเมืองเพื่อยุติความขัดแย้งเหนือ Moroccan Sahara ตามแผนปกครองตนเองของโมร็อกโกและอยู่ในกรอบของบูรณภาพแห่งดินแดนของราชอาณาจักรโมร็อกโก”

“การระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับ Moroccan Sahara ผ่านแผนการปกครองตนเองของโมร็อกโกมีขึ้นเพื่อประโยชน์ของพันธมิตรของเราทั้งหมดไม่ว่าจะในภูมิภาคหรือนอกภูมิภาค”

“ตั้งแต่ปี 2007 มติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ 18 ฉบับได้พิจารณาความโดดเด่นของความคิดริเริ่มของโมร็อกโกในการเจรจาถึงสถานะการปกครองตนเอง (Moroccan Autonomy Initiative) ในดินแดน Moroccan Sahara ตามลำดับ โดยถือว่ามตินั้นจริงจัง น่าเชื่อถือ และสามารถยุติความขัดแย้งได้”

“ราชอาณาจักรโมร็อกโกเชื่อมั่นอย่างหนักแน่นว่าการแก้ปัญหาข้อพิพาท Sahara ต้องมาจากการเจรจาที่ระบุว่าโมร็อกโกไม่เคยเจรจาเรื่องบูรณภาพแห่งดินแดนของตน แต่มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการหาทางแก้ไขทางการเมืองที่จะยุติข้อพิพาทที่เกิดขึ้นนี้”

“แผนปกครองตนเองถือเป็นโอกาสที่แท้จริงในการเริ่มต้นการเจรจาเพื่อหาทางแก้ไขขั้นสุดท้ายสำหรับข้อพิพาทนี้ โดยสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ บนพื้นฐานของข้อตกลงที่สอดคล้องกับเป้าหมายและหลักการที่บัญญัติไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ”

“หลายประเทศได้แสดงความสนับสนุนต่อแผนปกครองตนเองของโมร็อกโกในเวทีระหว่างประเทศจากส่วนต่างๆ ของโลก รวมถึงประเทศจากยุโรป ได้แก่ เยอรมนีและฝรั่งเศส และประเทศในทวีปอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศในภูมิภาคทะเลทรายซาฮารา และประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกยอมรับอธิปไตยในเขตแดนทั้งหมดของโมร็อกโก”

“การรับรองแผนปกครองตนเองของโมร็อกโกโดยสเปนล่าสุดนำเสนอในปี 2007 ต่อเลขาธิการสหประชาชาติ โดยพิจารณาว่ามีพื้นฐานที่น่าเชื่อถือที่สุดสำหรับการแก้ไขข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับทะเลทรายซาฮารา”

“เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ฟิลิปปินส์ได้แสดงการสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อบูรณภาพอาณาเขตของโมร็อกโกและอำนาจอธิปไตยเหนือทะเลทรายซาฮารา โดยยกย่องแผนปกครองตนเองที่โมร็อกโกเสนอให้ว่าเป็น ‘พื้นฐานที่ดี’ ในการหาทางแก้ไขทางการเมืองต่อความขัดแย้งในภูมิภาคทะเลทรายซาฮารา”

“นับถึงวันนี้ มี 24 ประเทศที่เปิดสถานกงสุลใหญ่ที่เมืองหลักสองเมืองในบริเวณ Moroccan Sahara นั่นคือ เมืองลายูน (Laayoune) และดักลา (Dakhla)”

“องค์กรต่างๆ เช่น คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) และองค์การของรัฐแคริบเบียนตะวันออก (OECS) ได้แสดงการสนับสนุนแผนปกครองตนเองของโมร็อกโก ซึ่ง OECS ก็เพิ่งเปิดสถานกงสุลใหญ่ในเมืองดักลา (Dakhla)”

“การมีอยู่ของสถานกงสุลดังกล่าวในสองเมืองนี้สะท้อนให้เห็นถึงพลวัตที่ได้รับจากสามภูมิภาค (ภาคเหนือ-เมดิเตอร์เรเนียน, ภาคกลาง และภาคใต้) ของทะเลทรายซาฮารา ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาที่ครอบคลุมอย่างยั่งยืน”

“จากนโยบายที่มองการณ์ไกลของสมเด็จพระราชาธิบดีมุฮัมมัดที่ 6 Moroccan Sahara จะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจสำหรับภูมิภาคแอฟริกาด้วยรูปแบบการพัฒนาใหม่ที่เปิดตัวในภูมิภาคแห่งนี้” •

 

อ่าน “คุยกับทูต : อับดุรเราะฮีม เราะห์ฮาลี 37 ปีสัมพันธ์ไทย-โมร็อกโก ดินแดนแห่งอารยธรรมสุดขอบทวีป (1)” ได้ที่นี่

คุยกับทูต : อับดุรเราะฮีม เราะห์ฮาลี 37 ปีสัมพันธ์ไทย-โมร็อกโก ดินแดนแห่งอารยธรรมสุดขอบทวีป (1)

 

อ่าน “คุยกับทูต : อับดุรเราะฮีม เราะห์ฮาลี 37 ปีสัมพันธ์ไทย-โมร็อกโก ดินแดนแห่งอารยธรรมสุดขอบทวีป (2)” ได้ที่นี่

คุยกับทูต : อับดุรเราะฮีม เราะห์ฮาลี 37 ปีสัมพันธ์ไทย-โมร็อกโก ดินแดนแห่งอารยธรรมสุดขอบทวีป (2)