ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 กรกฎาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | คุยกับทูต |
เผยแพร่ |
รายงานพิเศษ
ชนัดดา ชินะโยธิน
คุยกับทูต : อับดุรเราะฮีม เราะห์ฮาลี
37 ปีสัมพันธ์ไทย-โมร็อกโก
ดินแดนแห่งอารยธรรมสุดขอบทวีป (2)
โมร็อกโกเป็นมิตรประเทศและคู่ค้าที่สำคัญของไทย ในภูมิภาคแอฟริกาตอนเหนือ โดยในปี 2021 การค้าระหว่างไทย-โมร็อกโกเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 24
นายอับดุรเราะฮีม เราะห์ฮาลี (Abderrahim Rahhaly) เอกอัครราชทูตในสมเด็จพระราชาธิบดีมุฮัมมัดที่ 6 แห่งราชอาณาจักรโมร็อกโก (Ambassador of His Majesty the King of Morocco) ประจำราชอาณาจักรไทยซึ่งให้ความมุ่งมั่นกับงานสำคัญหลายด้าน เล่าว่า
“ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เราพยายามหาโอกาสต่างๆ เพื่อเพิ่มความร่วมมืออย่างเข้มแข็งผ่านการหารือทางการเมืองและการสรุปข้อตกลงจำนวนหนึ่ง รวมถึงการยกเว้นวีซ่า หนังสือเดินทางราชการ ข้อตกลงทางการค้า การขนส่งทางอากาศ เสริมสร้างความร่วมมือทางเทคนิคและวัฒนธรรมเช่นเดียวกับการค้าและอุตสาหกรรม”
“งานของผมจะเกี่ยวพันกับเรื่องเหล่านี้โดยส่วนใหญ่โดยจะมุ่งมั่นพัฒนาให้ได้ผลดียิ่งขึ้น”

โควิด-19 : ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
ภัยคุกคามชาวโลกเมื่อปี 2020
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สร้างความโกลาหลวุ่นวายให้กับโลกอย่างหนักหน่วงทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมไปถึงวิถีชีวิตของผู้คน
ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 วิธีการของโมร็อกโก เริ่มตั้งแต่
“การวางกลยุทธ์ระดับชาติเพื่อการต่อสู้กับการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 โดยอาศัยการวางแผนงาน ความแม่นยำในการดำเนินการ และความสมจริงในการบรรลุผล ซึ่งเป็นไปตามแนวทางขั้นสูงของสมเด็จพระราชาธิบดีมุฮัมมัดที่ 6 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อหยุดการแพร่กระจายของการระบาดใหญ่ของไวรัสนี้ในทันทีที่มีการยืนยันผู้ป่วยรายแรก เราปิดพรมแดน ระงับการจราจรทางอากาศ และใช้มาตรการป้องกันเพื่อควบคุมการแพร่กระจาย”
“โมร็อกโกได้นำกลยุทธ์การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ระดับชาติมาใช้ ซึ่งมีการวางกรอบการทำงานอย่างเพียงพอทั้งในระดับกลาง ระดับภูมิภาค และระดับจังหวัด”
“ในระดับเศรษฐกิจและสังคม มีการดำเนินตามมาตรการหลายอย่างเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 รวมทั้งการล็อกดาวน์ แผนบริหารความต่อเนื่องของชีวิตทางสังคม การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ สนับสนุนการจ้างงานและการเงิน และสนับสนุนโครงการลงทุนระดับชาติและระดับภูมิภาค”
“โปรดทราบด้วยว่า ประสิทธิผลของมาตรการเหล่านี้ได้รับการต้อนรับจากหลายประเทศ รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก (WHO)

คณะผู้แทนทางการทูต
ของโมร็อกโกในต่างแดน
“ปัจจุบัน เรามีสถานทูตโมร็อกโกมากกว่า 106 แห่งและสถานกงสุลโมร็อกโกมากกว่า 50 แห่งทั่วโลก โดยมีอยู่ในทั้ง 5 ทวีป มีสถานทูตโมร็อกโกประมาณ 34 แห่งในแอฟริกา ประมาณ 16 แห่งในอเมริกา 26 แห่งในเอเชีย”
“และประมาณ 29 แห่งในยุโรป”

ความร่วมมือในการพัฒนา
เป็นการพัฒนาเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันที่สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) ของประเทศไทย
“ทุกประเทศต่างพยายามใช้เครื่องมือและโอกาสที่ดีที่สุดเพื่อรักษาความร่วมมือทวิภาคีให้อยู่ในรูปแบบที่ดีและพยายามใช้วิธีการที่เพียงพอเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันในทุกภาคส่วนของความร่วมมือ”
“ไม่ว่าจะเป็นการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษาวิชาการ และพลังงานทดแทน”

ด้านการค้า
การค้าระหว่างประเทศเป็นสาขาที่ก่อให้เกิดรายได้แก่โมร็อกโกมากที่สุด (ร้อยละ 87.5 ของ GDP ในปี 2019)
“การนำเข้าของโมร็อกโกจากประเทศไทยส่วนใหญ่ประกอบด้วยผ้า เส้นใยสังเคราะห์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์อาหารเกษตร อุตสาหกรรมยานยนต์ พลาสติก และ ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก”
“การส่งออกของโมร็อกโกไปยังประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นปุ๋ยและอาหารทะเล เรามีฟอสเฟตสำรอง 75% ซึ่งใช้สำหรับทุกอย่างตั้งแต่ปุ๋ยไปจนถึงแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟได้ ในเวลาเดียวกัน เนื่องจากเรามีแนวชายฝั่งยาวในมหาสมุทรแอตแลนติกและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเหนือสิ่งอื่นใดให้ประโยชน์อย่างมากในแง่ของการประมง”
“อย่างไรก็ตาม ผมยังเชื่อมั่นว่า เราสามารถทำได้ดีขึ้นอีกในด้านการค้าการลงทุน”
ข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงราบัต การลงทุนระหว่างไทยกับโมร็อกโกยังไม่มากนัก โดยตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา มีการลงทุนจากโมร็อกโกที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพียง 3 โครงการ คือ
(1) การลงทุนของบริษัท O’BRILLIANT ASIA PACIFIC จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องประดับและชิ้นส่วน มูลค่าการลงทุน 20 ล้านบาท
(2) การลงทุนของ Ely Cheikh N Tehah ในสาขาบริการการค้าระหว่างประเทศ มูลค่าการลงทุน 10 ล้านบาท
และ (3) การลงทุนของ Mr. Tristan, Albert, Henri Louette ในด้านซอฟต์แวร์และเนื้อหาดิจิตอล มูลค่าการลงทุน 1.2 ล้านบาท ในส่วนการลงทุนของไทยในโมร็อกโก มีการลงทุนของ Minor Group ในกิจการโรงแรมที่เมืองแทนเจียร์ (Tangier) โดยเริ่มเปิดทำการเมื่อปี 2020
นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนของผู้ประกอบการร้านอาหารไทยและร้านนวด/สปาไทยในโมร็อกโกรวมประมาณ 13 ราย

ด้านการท่องเที่ยว
ในปี 2019 มีนักท่องเที่ยวชาวโมร็อกโกเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย 9,910 คน
และนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปโมร็อกโก 71 คน
ด้านการศึกษา
“เรากำลังจัดทำบันทึกความเข้าใจจากสถาบันของโมร็อกโกและไทยหลายแห่ง รวมทั้งมหาวิทยาลัยแห่งโมร็อกโก Chouaib Doukkali และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในกรุงเทพฯ, มหาวิทยาลัย Cadi Ayyad และมหาวิทยาลัยศิลปากร” นายอับดุรเราะฮีม เราะห์ฮาลี ชี้แจง
“เช่นเดียวกันกับ Moroccan ISCAE กับ College of Graduate Study In Management และระหว่างมหาวิทยาลัย Mohammed V Unievrsity กับมหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัย Mohammed Ben Abdellah และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา”
“อย่างไรก็ตาม เรายังมีความต้องการขยายขอบเขตความร่วมมือด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ด้วย”
โมร็อกโกมีความโดดเด่นด้านมุสลิมสายกลาง ทำให้มีนักศึกษาไทยมุสลิมสนใจไปศึกษาต่อที่โมร็อกโกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยโมร็อกโกให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาบัตรแก่นักศึกษาไทยจำนวน 15 ทุน เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 1994 นักศึกษาไทยส่วนใหญ่ศึกษาด้านอิสลามศึกษา”
“นอกจากนี้ ไทยและโมร็อกโกยังได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาและการวิจัยไทย-โมร็อกโก เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ปี 2018”
พลังงานทดแทน
“ราชอาณาจักรโมร็อกโกได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่มาเป็นเวลาหลายทศวรรษในการพัฒนาพลังงานทดแทนรวมทั้งในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
“โมร็อกโกได้รับการเสนอชื่อในเวทีเสวนาระดับสูงด้านพลังงานในฐานะ Global Champion จากการเจรจาหัวข้อ นวัตกรรม เทคโนโลยี และข้อมูล (innovation, technology and data) ขององค์การสหประชาชาติ เมื่อเดือนกันยายน 2021 เป็นการรับรองต่อความพยายามเพื่อการพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนแบบบูรณาการและเป็นนวัตกรรมใหม่ ด้วยเหตุนี้ โมร็อกโกจึงกำลังดำเนินตามยุทธศาสตร์ด้านพลังงานที่นำมาใช้ในปี 2009 มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียน เสริมสร้างประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และสร้างความมั่นใจในการบูรณาการระดับภูมิภาค กลยุทธ์นี้มีวัตถุประสงค์ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในการเพิ่มส่วนแบ่งของพลังงานหมุนเวียนในพลังงานไฟฟ้าที่ติดตั้งไว้มากกว่า 52% ภายในปี 2030”
โมร็อกโกได้รับความสำเร็จในฐานะประเทศ 5 อันดับแรกของโลกในดัชนีประสิทธิภาพของปี 2022 ในการต้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
โดยมีการทดแทน 42% ของที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในประเทศ ด้วยการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน ซึ่งรวมถึงพลังงานแสงอาทิตย์ ลม และพลังงานน้ำ
การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐบาล องค์กรพลังงานหมุนเวียน และภาคอุตสาหกรรม
ส่งผลให้พลังงานหมุนเวียนในประเทศเติบโตอย่างรวดเร็วและสม่ำเสมอเพื่อควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“ในโอกาสนี้ ผมขอแสดงความยินดีกับราชอาณาจักรไทยสำหรับแบบจำลองเศรษฐกิจหมุนเวียนชีวภาพ (BCG Economy) ซึ่งดูเหมือนจะเป็นแบบอย่างที่ใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของประเทศในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความร่ำรวยมรดกทางวัฒนธรรม และผมเชื่อว่าเราสามารถยุติกรอบการทำงานด้านนี้ได้ในอนาคต”
U.S. News & World Report ประกาศรายชื่อการจัดอันดับ “ประเทศที่ร่ำรวยมรดกทางวัฒนธรรมมากที่สุดในโลก” ประจำปี 2021 โดยเป็นการร่วมมือกับ BAV Group หน่วยงานของบริษัทสื่อสารการตลาดระดับโลก และ The Wharton School แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ทำการสำรวจผู้คนมากกว่า 17,000 คน จาก 4 ภูมิภาค
“ประเทศไทย” ติดอันดับ 7 ในรายชื่อประเทศที่ร่ำรวยมรดกทางวัฒนธรรมมากที่สุดในโลก ประจำปี 2021 ประเทศในสิบอันดับแรกได้แก่ 1.สเปน 2.อิตาลี 3.กรีซ 4.ฝรั่งเศส 5.เม็กซิโก 6.อินเดีย 7.ไทย 8.อียิปต์ 9.ตุรกี และ 10.ญี่ปุ่น
โดยประเด็นในการพิจารณาจัดอันดับประเทศที่ร่ำรวยมรดกทางวัฒนธรรมมีทั้งการเข้าถึงวัฒนธรรมได้ มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน อาหารเลิศรส มีสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์มากมาย
เอกอัครราชทูต เราะห์ฮาลี กล่าวถึงความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสองราชอาณาจักรว่า
“เราทั้งสองฝ่ายทำงานเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน หาวิธีสร้างความผูกพันในสายงานที่กำหนด เรามีความจริงใจต่อกัน มีความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน และพยายามกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นต่อไป” •