คุยกับทูต : อับดุรเราะฮีม เราะห์ฮาลี 37 ปีสัมพันธ์ไทย-โมร็อกโก ดินแดนแห่งอารยธรรมสุดขอบทวีป (1)

รายงานพิเศษ

ชนัดดา ชินะโยธิน

[email protected]

คุยกับทูต : อับดุรเราะฮีม เราะห์ฮาลี

37 ปีสัมพันธ์ไทย-โมร็อกโก

ดินแดนแห่งอารยธรรมสุดขอบทวีป (1)

 

ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ ปัจจุบันมี 54 ประเทศในแอฟริกา แต่มีเพียง 7 ประเทศเท่านั้นที่ก่อตั้งสถานเอกอัครราชทูตในประเทศไทย ได้แก่ โมร็อกโก เคนยา อียิปต์ แอฟริกาใต้ ลิเบีย ไนจีเรีย และซูดาน

ราชอาณาจักรโมร็อกโก ซึ่งเป็นหนึ่งใน 7 ประเทศดังกล่าวสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยตั้งแต่ปี 1985 ไทยเปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงราบัต เมื่อเดือนมีนาคม 1994

กรุงราบัต -Rabat เมืองหลวง

ส่วนโมร็อกโกเปิดสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ความสัมพันธ์ได้ดำเนินไปอย่างราบรื่น

นายอับดุรเราะฮีม เราะห์ฮาลี (Abderrahim Rahhaly) เดินทางจากอัลมัฆริบ (Al-Maghrib) ซึ่งยังเป็นที่รู้จักกันในชื่อ แอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ มาถึงประเทศไทยพร้อมกับภริยาและบุตรสาวเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

นายอับดุรเราะฮีม-เราะห์ฮาลี-เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรโมร็อกโกประจำราชอาณาจักรไทย

นอกจากดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตในสมเด็จพระราชาธิบดีมุฮัมมัดที่ 6 แห่งราชอาณาจักรโมร็อกโก (Ambassador of His Majesty the King of Morocco) ประจำราชอาณาจักรไทยแล้ว ยังมีเขตอาณาครอบคลุมอีกสามประเทศ ซึ่งรอโอกาสที่จะเดินทางไปในไม่ช้า คือ กัมพูชา ลาว และเมียนมา

เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

“ผมรู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจที่ได้มาปฏิบัติหน้าที่ประจำราชอาณาจักรไทยซึ่งนับเป็นครั้งแรกของผมที่นี่ ถือได้ว่าเป็นการค้นพบครั้งใหญ่ ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งสมเด็จพระราชาธิบดีมุฮัมมัดที่ 6 พระมหากษัตริย์แห่งโมร็อกโก และด้วยความตั้งใจอันแน่วแน่ของผมในการปฏิบัติหน้าที่อย่างสุดกำลัง เพื่อให้สมพระเกียรติที่ได้ทรงไว้วางพระราชหฤทัย”

สมเด็จพระราชาธิบดีมุฮัมมัดที่ 6 แห่งราชอาณาจักรโมร็อกโก

“ได้เริ่มต้นพบปะและทำความรู้จักกับผู้คนทั่วไป ข้าราชการระดับสูงของประเทศ และทูตานุทูตจากประเทศต่างๆ รู้สึกประทับใจในความเป็นมิตรของคนไทย ในประเทศที่เสรีและเปิดกว้าง เริ่มได้เห็นความหลากหลายทางศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมไทย” นายอับดุรเราะฮีม เราะห์ฮาลี กล่าว

 

บทบาทของนักการทูตจากโมร็อกโก

“เริ่มต้นที่กระทรวงต่างประเทศ กรุงราบัต (โมร็อกโก) ในปี 1988 ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งต่างๆ ได้แก่ ที่ปรึกษาทางการเมือง ณ กรุงพริทอเรีย (แอฟริกาใต้) กรุงแอลเจียร์ (แอลจีเรีย) กรุงเบอร์ลิน (เยอรมนี) รองหัวหน้าคณะผู้แทนในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (สหรัฐอเมริกา) และตำแหน่งล่าสุดก่อนมาประจำประเทศไทยคือกงสุลใหญ่ ณ นครดูไบ (UAE)”

เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรโมร็อกโกประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้ารับหน้าที่

“ผมมีความเคารพและชื่นชมต่อชาวไทยและชาวโมร็อกโกทั้งชายและหญิงที่มีความสามารถ เสียสละ พร้อมให้บริการในส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีของเรา การรักษาซึ่งมรดกอันน่าภาคภูมิใจและการนำทีมสถานเอกอัครราชทูตของเราให้มีมาตรฐานสูงสุดของความเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่อยู่ในวาระการดำรงตำแหน่งของผม”

“การทูตโมร็อกโกเป็นการแสดงออกถึงเจตจำนงที่จะทำให้วิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ของราชวงศ์ในการมองการณ์ไกลตามนโยบายต่างประเทศของโมร็อกโกให้สามารถปฏิบัติและเกิดได้จริง และเพื่อเสริมสร้างอิทธิพลของโมร็อกโกในระดับสากล”

“บทบาทสำคัญในฐานะเอกอัครราชทูต เพื่อให้แน่ใจว่ามีการแลกเปลี่ยนกันระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่องและถาวร รวมถึงการประสานงานกิจกรรมระหว่างประเทศ คือสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง โดยหวังว่าจะได้สานต่อความสัมพันธ์อันยอดเยี่ยมระหว่างโมร็อกโกและประเทศไทย ด้วยประสบการณ์ของผมในระหว่างการดำรงตำแหน่งนี้ เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือในอีกหลายด้านต่อไป”

“ในขณะที่โมร็อกโกและไทยแบ่งปันเรื่องราวของการพัฒนากันอย่างมากทั้งในแอฟริกาและเอเชีย จึงเป็นหน้าที่ของผมในการริเริ่มดำเนินการต่างๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และวิชาการ เพื่อให้มั่นใจว่างานที่ทำได้มีส่วนเสริมสร้างให้เกิดความเข้าใจที่ดีขึ้นระหว่างชาวโมร็อกโกและชาวไทย ทั้งนี้ ด้วยความเคารพ ความตระหนักทางวัฒนธรรม และเห็นคุณค่าร่วมกัน”

“ผมตั้งตารอโอกาสที่จะได้ร่วมงานกับภาครัฐและภาคเอกชน และเปี่ยมด้วยความหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย จึงขอให้มั่นใจว่า การปฏิบัติงานของผมจะช่วยก่อให้เกิดความเข้าใจที่ดีขึ้นอย่างมากระหว่างชาวโมร็อกโกและชาวไทย”

เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรโมร็อกโกประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

การกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคี

ระหว่างโมร็อกโกและไทย

“ผมคาดว่าจะมีส่วนในการเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันอีกหลายด้าน จะสามารถทำได้ดีและประสบความสำเร็จมากขึ้นในส่วนของการลงทุนร่วมกันของภาคเอกชน เนื่องจากทั้งสองประเทศมีศักยภาพที่พร้อมสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ”

“ในด้านการพัฒนา โมร็อกโกทำได้ดีมากในท่ามกลางบรรยากาศที่เอื้อต่อธุรกิจต่างชาติในปัจจุบัน เนื่องจากเราสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศโดยนำการปฏิรูปใหม่ ที่มีเป้าหมายเพื่อลดความซับซ้อนของขั้นตอน การลงทุนในภูมิภาคต่างๆ ในโมร็อกโก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดทางตอนใต้ของประเทศ ส่วนใหญ่ที่เมืองดักคลา (Dakhla)”

“เราให้การสนับสนุนการเดินเรือทางทะเลโดยตรง และกำลังสร้างห่วงโซ่โลจิสติกส์ที่แข็งแกร่งระหว่างโมร็อกโกและไทยเพื่อเป็นเวทีสำหรับการส่งออกไปยังแอฟริกา ซึ่งจะทำให้พันธมิตรจากประเทศไทยได้รับประโยชน์ภายใต้กฎหมายระหว่างโมร็อกโกและแอฟริกา รวมทั้งประเทศที่เชื่อมโยงกับเขตการค้าเสรี”

ท่าเรือพาณิชย์ที่สำคัญของโมร็อกโก มีทั้งหมด 9 ท่าเรือคือ Nador, Mohammedia, Casablanca, Jorf Lasfar, Safi, Agadir, Laayoune, Dakhla และ Autres

“ในขณะที่ประเทศของเราทั้งสองมีวัฒนธรรมที่สุดพิเศษและไม่เหมือนใคร เรายังมีความคล้ายคลึงกันและมีค่านิยมที่เป็นสากลมากมาย ทำให้เราเป็น “สมอ แห่งความหวังอันถาวรในโลกที่ท้าทาย” โดยถือเอาความคล้ายคลึงและความเกื้อหนุนเหล่านี้เป็นทรัพย์สิน”

ไทยและโมร็อกโกมีความคล้ายคลึงกัน คือ มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร และมีระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยภาคอุตสาหกรรมการเกษตร

นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ กับเอกอัครราชทูตโมร็อกโก ในงานวันแอฟริกา

ต่างเป็นประตูการค้า

ให้แก่กันและกัน

สู่ภูมิภาคอาเซียน (ASEAN) และแอฟริกา

“โมร็อกโกเป็นประเทศยุทธศาสตร์และเป็นประเทศที่สำคัญสำหรับยุโรป แท้จริงแล้วสำหรับทวีปยุโรป โมร็อกโก คือประตูสู่ทวีปแอฟริกา ต้องขอบคุณสำหรับการพัฒนาและเสถียรภาพที่มั่นคงของโมร็อกโก จึงได้เป็นศูนย์กลางของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและเป็นสะพานเชื่อมเศรษฐกิจระหว่างแอฟริกาและยุโรป”

“ราชอาณาจักรโมร็อกโกกำลังได้รับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมากมาย เป็นประเทศที่ลงทุนรายแรกในทวีปแอฟริกาและเป็นประเทศที่สองที่ยินดีรับการลงทุนจากต่างประเทศในภูมิภาคนี้”

โมร็อกโกได้ออกแผนพัฒนาฉบับใหม่ (New Development Model) เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2021โดยมีวิสัยทัศน์ให้เป็นประเทศที่มีความมั่งคั่ง ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ความยั่งยืน มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางในการพัฒนา 5 แนวทางหลัก ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเป็นตัวเร่งการพัฒนา, การปรับคุณภาพการให้บริการภาครัฐ, การจัดสรรทรัพยากรรวมทั้งงบประมาณให้เพียงพอในการพัฒนา , การมีส่วนร่วมของชาวโมร็อกโก ทั้งที่อาศัยอยู่ในประเทศ-ต่างประเทศ และการส่งเสริมความร่วมมือกับต่างประเทศ อาทิ สหภาพยุโรป สหรัฐ จีน อินเดีย บราซิล และกลุ่มประเทศอาหรับ (GCC) โดยเป้าหมายหลักที่พยายามจะบรรลุภายในปี 2035

“นอกจากนี้ ยังรักษาความสัมพันธ์หุ้นส่วนที่เชื่อถือได้ระหว่างยุโรปกับราชอาณาจักรโมร็อกโก ซึ่งเป็นทางแยกของอารยธรรมและวัฒนธรรม และเป็นผู้แสดงที่มีบทบาทสำคัญทางภูมิศาสตร์”

ด้วยลักษณะอันโดดเด่นทางภูมิศาสตร์ของโมร็อกโกประเทศในแถบแอฟริกาเหนือ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับทวีปยุโรปเพียงช่องแคบยิปรอลตากั้น ทำให้โมร็อกโกกลายเป็นประตูเชื่อมโยงระหว่างทวีปแอฟริกาและทวีปยุโรป จึงไม่ใช่เรื่องยากหากจะใช้โมร็อกโกเป็นฐานการส่งออกสินค้าสู่ตลาดยุโรป

ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ให้การรับรอง เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรโมร็อกโกประจำประเทศไทย ในโอกาสเข้ารับหน้าที่

“ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่น่าประทับใจ สามารถแสดงสัญญาณของการพัฒนาได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน สามารถสร้างตลาดภายในประเทศที่แข็งแกร่งด้วยชนชั้นกลางที่กำลังเติบโต สามารถขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดีได้”

“นอกจากนี้ ไทยยังเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในครอบครัวอาเซียน โดยได้รับการพิจารณาว่าเป็นดินแดนที่น่าดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมและเพียงพอ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจอาเซียน และมีบทบาทสำคัญในความสัมพันธ์ทางการค้าของอาเซียน”

“ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะใช้ประโยชน์จากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของทั้งสองประเทศในด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าให้ก้าวไปข้างหน้า เรายังต้องทำงานเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่หลากหลายและกระชับความสัมพันธ์รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่อกันกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย”

“หนึ่งในภาคส่วนที่น่าสนใจและมีศักยภาพที่ราชอาณาจักรโมร็อกโกและไทยสามารถตรวจสอบได้คือสาขาพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)”

ศักยภาพด้านพลังงานทดแทนของโมร็อกโกนั้น สอดคล้องกับนโยบายสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยโดยใช้โมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ (BCG Economy) ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน คือ ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ (B-Bioeconomy ) ซึ่งมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า, ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (C-Circular Economy) ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และระบบเศรษฐกิจสีเขียว(G-Green Economy) ซึ่งมุ่งแก้ไขปัญหามลพิษ เพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน

“ต้องขอบคุณความพยายามในด้านนี้อย่างมากเพราะพลังงานหมุนเวียนทำให้โมร็อกโกกลายเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ โดยทำหน้าที่รับผิดชอบและให้คำมั่นต่อประชาคมระหว่างประเทศอย่างเต็มที่ ทั้งได้ระบุว่าพลังงานหมุนเวียนในปัจจุบันคิดเป็น 42% ของการผลิตไฟฟ้าในโมร็อกโก โดยมีเป้าหมายที่จะไปให้ถึงมากกว่า 52% ในปี 2030” •