ปิดจ๊อบคดีสยองเกาะไต้หวัน รวบทีมสังหารผัวเมียลูก 4 ศพ รู้จักมือสอบ ‘รองผู้การเอนก’/บทความโล่เงิน

บทความโล่เงิน

 

ปิดจ๊อบคดีสยองเกาะไต้หวัน

รวบทีมสังหารผัวเมียลูก 4 ศพ

รู้จักมือสอบ ‘รองผู้การเอนก’

 

ในที่สุดตำรวจไทยสางคดีฆ่าโหดผัวเมียคนไทย พร้อมลูกแฝด 4 ศพที่ไต้หวันได้อย่างรวดเร็ว พร้อมจับ 3 ผู้ต้องหาร่วมฆ่าได้ครบ ในข้อหา “ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน”

ถือเป็นเรื่องราวสะเทือนขวัญในไต้หวันอย่างยิ่ง เมื่อ 10 มิถุนายน หลังตำรวจตรวจสอบท้ายรถเอสยูวียี่ห้อบีเอ็มดับเบิลยูคันที่ส่งกลิ่น พบ 2 ศพหญิงชายชาวไทย ที่ศีรษะถูกตีด้วยของแข็ง และยิ่งหดหู่มากขึ้นไปอีก หลังพบว่าหญิงสาวผู้นั้นมีลูกแฝดอยู่ในครรภ์

ทางการไต้หวันประสานตำรวจไทยให้ติดตามจับกุมนายสันติ ศุภอภิรดีไพลิน หรือหวัง อายุ 35 ปี ชาวเชียงใหม่ ถือทั้งสัญชาติไทยและไต้หวัน ผู้ก่อเหตุที่ได้หนีกลับไทยเมื่อ 13.00 น. วันที่ 9 มิถุนายน

“บิ๊กปั๊ด” พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. มอบกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) เป็นแม่งานเร่งรัดจับกุมโดยเร็ว และเน้นย้ำว่าเป็นคดีอุกฉกรรจ์ สะเทือนขวัญ อีกทั้งผู้ต้องหายังมีพฤติกรรมเหี้ยมโหด

“บิ๊กก้อง” พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ขานรับทันที

 

17 มิถุนายน หลังนายสันติถูกกดดันอย่างหนัก ชุดจับกุม กก.4 บก.ป.ได้รับการติดต่อจากบิดานายสันติ พาลูกชายมอบตัว ที่หมู่บ้านอรุโณทัย หมู่ 10 ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ จึงไปทำการจับกุมตัว และนำมาสอบปากคำยัง บก.ป. โดย “บิ๊กปั๊ด” สอบปากคำเอง

ตอนแรกผู้ต้องหายังปากแข็ง ให้การภาคเสธ รับแค่มีส่วนรู้เห็นแต่ไม่ได้เป็นผู้ลงมือ แต่หลังโดนสอบเค้นทั้งคืนก็เปลี่ยนใจ รับสารภาพว่าร่วมกับเพื่อนอีกสองคนร่วมกันฆ่า ไม่ใช่กลุ่มมาเฟีย โดยเป็นผู้สั่งการวางแผนลวงสองสามีภรรยาให้มาพบเพื่อลงมือสังหาร

ส่วน “ปม” ขัดแย้งให้น้ำหนักธุรกิจมืด นายสันติบอกว่ารับยาจากแก๊งยาเสพติดมาส่งต่อให้กับผู้ตายทั้งสองคนเพื่อนำไปขายต่อ แต่ผู้ตายอ้างว่าเก็บเงินไม่ได้ จึงเกิดปัญหากัน

จากนั้นขยายผลออกหมายจับอีก 2 คน คือ นายสามารถ แซ่หลี อายุ 33 ปี และนายธนวัฒน์ พุ่มเข็มทอง อายุ 42 ปี ผู้ร่วมสังหารโหด ที่หนีกลับไทยเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ต่อมาตำรวจได้ทยอยรวบตัวทีละคนจนครบ

นายธนวัฒน์ที่จับกุมได้เป็นคนที่สอง รับสารภาพว่าร่วมกับนายสันติและนายสามารถใช้ท่อนเหล็กทุบตีสามีภรรยาจนถึงแก่ความตาย

โดยนายสันติสัญญาว่าจะให้เงินผู้ร่วมงานทั้งสองคนละ 500,000 บาท ได้จ่ายมัดจำไว้ก่อน 20,000 บาท

วันเกิดเหตุ 8 มิถุนายน นายธนวัฒน์และนายสามารถมารอที่สำนักงานนายสันติ

จากนั้นนายสันติพาคู่เหยื่อทั้งสองมา ก่อนลงมือก่อเหตุตามแผนที่วางไว้ และได้แยกย้ายกันหนีกลับไทย โดยมีนายสันติออกค่าตั๋วเครื่องบินให้

แม้นายสันติและนายธนวัฒน์จะรับสารภาพ แต่ยังไม่มีใครระบุว่าเป็นผู้ลงมือใช้ท่อนเหล็กทุบตี

กระทั่งนายสามารถถูกตามรวบได้หลังสุด ให้การรับสารภาพและรับเป็นคนใช้ท่อนเหล็กทุบตีร่วมกับนายธนวัฒน์ ส่วนนายสันติเป็นคนล็อกตัวคู่สามีภรรยา

นอกนั้นเรื่องเงินค่าจ้าง หรือพฤติการณ์อื่น ถือว่าสอดคล้องกัน

ทั้งสามคนจึงมีพฤติการณ์ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

 

ส่วนปมความขัดแย้งเรื่องยาเสพติดยังคงเป็นคำให้การ บก.ป.จึงส่งทีมไปไต้หวันหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมให้สิ้นกระแสความ ภายในกรอบระยะเวลาฝากขัง 84 วัน

หนึ่งในทีมคลี่คลายคดีคนสำคัญ คือ พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รอง ผบก.ป. ได้ชี้แจงว่า แม้เป็นคดีนอกราชอาณาจักร แต่ไม่ต้องส่งตัวผู้ต้องหาในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน เพราะการก่อเหตุครั้งนี้เป็นความผิดต่อชีวิต ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) ประกอบกับกฎหมายอาญา มาตรา 8(ก) วรรคสอง (4) บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร และเป็นคนไทย และผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร กรณีนี้ แม้เหตุเกิดขึ้นที่ไต้หวัน แต่นายสันติมีสัญชาติไทย และบิดาผู้เสียชีวิตเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย ได้ร้องขอให้ลงโทษผู้ต้องหา จึงดำเนินคดีได้ตามกฎหมาย

หากนายสันติอ้างสัญชาติไต้หวัน เป็นบุคคลต่างด้าว กฎหมายอาญา มาตรา 8(ข) ได้บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร และเป็นคนต่างด้าว และรัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหาย แล้วได้ร้องขอให้ลงโทษ จะต้องรับโทษในราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ไทยจะดำเนินคดีในข้อหาฆาตกรรม ส่วนข้อหาอื่น เช่น คดีอำพรางศพ ไม่สามารถดำเนินคดีในประไทศไทยได้ เนื่องจากมาตรา 8 ไม่ให้อำนาจไว้

พ.ต.อ.เอนกให้ข้อมูลเพิ่มอีกว่า คดีที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 ได้บัญญัติให้อัยการสูงสุดเป็นพนักงานสอบสวน ดังนั้น ภายหลังตำรวจสอบสวนไประยะหนึ่ง จะรายงานให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาต่อไป

 

ต้องยกความชอบให้ทีมสอบสวนที่เค้นนายสันติจนคลายความจริง ทราบตัวผู้ร่วมขบวนการ

ถือว่า พ.ต.อ.เอนกเป็นมาสเตอร์ด้านนี้ เพราะตั้งแต่ทำงานอยู่กับงานสอบสวนมาตลอด

พื้นเพรองผู้การเป็นชาว จ.อุทัยธานี จบจาก ตท.29 และ นรต.45

เริ่มรับราชการ รอง สว. (สอบสวน) ที่ สน.ทองหล่อ เมื่อปี 2536 และทำงานสอบสวนในพื้นที่นครบาลตลอด

กระทั่งปี 2553 ย้ายมาอยู่ บก.ป. เป็นรอง ผกก. (สอบสวน) กก.5 บก.ป. ดูงานสอบสวนเช่นเดิม ถือเป็นผู้คร่ำหวอดงานสอบสวน มีส่วนร่วมคดีดังมากมาย

ไม่ว่าจะเป็นคดีอดีต รมช.บรรยินฆาตกรรมอำพรางเสี่ยชูวงษ์, คดีหลงจู๊สมชาย, คดีอดีต ผกก.โจ้, คดีทวงคืนที่ดินมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุฯ, คดียักยอกเงินวัดบวรฯ รวมไปคดีทุจริตโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน”

เป็นที่รู้กันว่างานสอบสวนเป็นงานหนัก แบกรับความเครียดสูง แต่ พ.ต.อ.เอนกมองว่า งานสอบสวนไม่ได้ยาก แต่ก็ไม่ง่าย หากมีความตั้งใจแล้วทำจริงจัง งานสอบสวนก็สัมฤทธิผล

“ผมเป็นพนักงานสอบสวนที่ไม่เคยคิดหนีงานสอบสวนเลย ที่สำคัญคือความตั้งใจ หากทำงานสอบสวนแค่ตามหน้าที่ก็คงไม่สำเร็จ แต่ต้องทำตามหน้าที่บวกด้วยใจ ซึ่งผมใช้วิธีสอบสวนในเชิงรุก ไม่รอข้อมูลอย่างเดียว แต่เป็นพนักงานสอบสวนที่กระหายข้อเท็จจริง” รอง ผบก.ป. มือสอบสวนกล่าว