จากสวนหม่อน สู่เซ็นทรัลพาร์ก / มองบ้านมองเมือง : ปริญญา ตรีน้อยใส

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง

ปริญญา ตรีน้อยใส

 

จากสวนหม่อน สู่เซ็นทรัลพาร์ก

 

สวนสาธารณะในพื้นที่โรงงานยาสูบเดิม เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่าง แม้จะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ตามแบบที่วาดฝันไว้ แต่ก็มีผู้คนไปเที่ยวชมกันหนาตา และไวรัลแรงในโลกโซเชียล

พื้นที่สวนใหม่ยังต่อเนื่องกับสวนเก่า สวนเบญจสิริ ริมถนนรัชดาภิเษก ที่มีแก้มลิงขนาดใหญ่ เมื่อสองสวนรวมกัน จึงเป็นพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่ ปอดแห่งใหม่ของคนกรุงเทพฯ

ยังมีสะพานเขียว เชื่อมต่อสวนทั้งสองกับสวนลุมพินี สวนสาธารณะดั้งเดิม ทุกวันนี้มีคนไปเดิน วิ่ง และปั่นจักรยานกันเป็นที่สนุกสนาน

สะพานเขียวหรือกรีนสกายวอล์กนั้น ลอยข้ามชุมชนร่วมฤดีและชุมชนซอยโปโล ทั้งสองชุมชนอยู่ติดกับพื้นที่ของราชกรีฑาสโมสรโปโลคลับ ที่เป็นพื้นที่สีเขียวอีกเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ พื้นที่ตั้งแต่ถนนราชดำริ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ผ่านถนนวิทยุ ทางด่วนเฉลิมมหานคร ไปจนถึงถนนรัชดาภิเษก จะเห็นเหมือนเป็นพื้นที่สีเขียวต่อเนื่องกัน

เพราะมีเพียงสองชุมชนดั้งเดิม และแฟลตบ่อนไก่แทรกอยู่ ส่วนโครงการใหม่ตั้งแต่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มาจนถึงถนนพระรามสี่ ต่อเนื่องกับโครงการวันแบงค็อก รวมทั้งสถานทูตญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และฝรั่งเศส จะเรียงรายริมถนนพระรามที่สี่

พื้นที่สีเขียวและพื้นที่พัฒนา จึงอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม โดยมีย่านธุรกิจพระรามสี่ รัชดา สุขุมวิท ล้อมรอบอยู่ คล้ายๆ กับเซ็นทรัลพาร์ก สวนใหญ่กลางมหานครนิวยอร์ก

 

คงไม่มีใครคาดคิดว่า ที่ดินผืนงามกลางกรุงเทพมหานครในปัจจุบันนั้น มีที่มาจากสวนหม่อนชานพระนครสมัยพระพุทธเจ้าหลวง

ย้อนกลับไป คราที่เกิดวิกฤต ร.ศ.112 สยามประเทศ นอกจากจะเสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง อีกทั้งเมืองเสียมเรียบและพระตะบองไปแล้ว ยังเจอภาวะคุกคามของมหาอำนาจฝรั่งเศส ที่มุ่งหวังจะขยายมาผนวกรวมภาคอีสาน

หนึ่งในพระราโชบายสำคัญของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ การยกระดับความเป็นอยู่และเสริมสร้างรายได้ของราษฎร ผ่านโครงการพัฒนาผ้าไหม งานศิลปาชีพพื้นถิ่น

หลังจากผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นมาสำรวจวิจัยเกี่ยวกับผ้าไหม การทอเส้นไหม ไปจนถึงตัวด้วงไหม ที่ยังชีพด้วยใบหม่อนแล้ว จึงเสนอให้แผนพัฒนาผ้าไหมไทย เริ่มจากการทดลองปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้า ในบริเวณวังสวนดุสิต

เมื่อกิจการสำเร็จตามแผน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงเกษตราธิการ ซื้อนาที่ตำบลศาลาแดง ประทุมวัน ทางทิศตะวันออกของวังใหม่ (ปัจจุบันคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เพื่อขยายผลการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ในปี พ.ศ.2448

ความสำเร็จในการพัฒนาพันธุ์หม่อน พันธุ์ตัวด้วงไหม รวมทั้งการทอ จึงเริ่มดำเนินงานพัฒนากิจการทอผ้าไหมในแผ่นดินอีสาน โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่อำเภอปักธงชัย โคราช จนเป็นต้นทางกิจการทอผ้าไหมในหลายจังหวัดของภาคอีสานวันนี้

ส่วนพื้นที่ปลูกหม่อน โรงเลี้ยงไหม และอื่นๆ ตรงศาลาแดง เปลี่ยนสภาพมาเป็นพื้นที่รองรับการพัฒนาบ้านเมืองด้านต่างๆ ตั้งแต่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สวนลุมพินี สนามคลี โรงงานยาสูบ โรงเรียนเตรียมทหาร รวมทั้งเป็นถิ่นอาศัยของผู้คนในเวลาต่อมา จนถึงปัจจุบัน

คล้ายจะเป็นเซ็นทรัลพาร์ก กรุงเทพฯ ด้วยประการฉะนี้ •