สะล้อซอซึงในสวนป่า / เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

สะล้อซอซึงในสวนป่า

 

วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้ไปร่วมงานประลองดนตรีสะล้อ ซอ ซึง ที่ลำปาง สนุกนักกับเสน่ห์สำเนียงเหนือ

งานนี้จัดที่ไร่ผดุงธรรม อยู่ในป่าสักของอาจารย์ผดุง พรมมูล อาจารย์ศิลปะคนสำคัญซึ่งมาสร้างอาณาจักรศิลปะอยู่ที่นี่ ห่างจากตัวจังหวัดราวสามสิบกว่ากิโล

เจ้าภาพคือความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน คือองค์การบริหารส่วนจังหวัด สภาวัฒนธรรมจังหวัด สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ม.สวนดุสิต ศูนย์การศึกษา สำนักวัฒนธรรม และมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข

ไร่ผดุงธรรมที่ว่าเป็นป่าสักนั้นสมเป็นป่าโดยแท้ ด้วยรื่นร่มไปด้วยต้นสักสูงใหญ่ตระหง่าน มีสิ่งปลูกสร้างที่กลมกลืนเข้าบรรยากาศดีจริง

ดีจริงยิ่งกว่านั้น งานนี้ยังเปิดโอกาสให้ชาวบ้านนำผลิตภัณฑ์ของตนมาจำหน่ายเป็นเชิงตลาดวัฒนธรรม กับพิเศษคือมีศิลปินมานั่งเขียนรูปทั้งแสดงทั้งจำหน่ายกันอย่างคึกคัก

 

งานนี้มีสามวันคือ 9-11 มิถุนายน 2565 แต่ละวันมีชาวบ้านชาวเมืองมาเยี่ยมชมและดูการแข่งขันวงสะล้อ ซอ ซึงนับเป็นพันๆ คน

ดนตรีร่วมประลองเพลงนั้นมีถึง 17 วง คัดเลือกจนเหลือสี่วงสุดท้ายคือ วงนพเนรมิต จ.เชียงใหม่ วงจุ๋มป๋าลาว จ.ลำพูน วงแสนละเมา จ.เชียงใหม่ และวงเสลารัตน์ จ.ลำปาง

วงชนะเลิศคือวงแสนละเมา นอกนั้นเป็นรองชนะเลิศเท่ากันหมดทั้งสามวง

เท่าที่ดูล้วนเป็นหนึ่ง ดีเยี่ยมเท่ากันทั้งสี่วง ด้วยแต่ละวงมีความเป็นเอกเฉพาะตน เช่น

วงแรก นพเนรมิต นำด้วยนักร้องสาวสวยเสียงหวานจับใจสำแดงพลังของเสน่ห์ล้านนาเต็มที่ครบถ้วนลำดับกระบวนเพลงแต่อดีตถึงปัจจุบัน

วงสอง จุ๋มป๋าลาว จุ๋มป๋าก็คือจำปา ฉะนั้น จำปาลาวคือดอกลั่นทม ที่ลาวเรียกกันอยู่นั่นเอง วงนี้มีแค่ห้าคน พอดีเครื่องดนตรีมีสะล้อ (ซอ) ขลุ่ย ซึง กับกลองให้จังหวะ แต่ละเครื่องแต่ละเพลงสะกดจิตสะกดใจดีนักเหมือนได้ฟังต้นฉบับดั้งเดิม

คำว่า “ซอ” นั้นหมายถึงการขับลำนำหรือขับร้อง ส่วนเครื่องดนตรีที่ใช้คันสีแบบซอทั่วไปนั้น เรียก “สะล้อ”

วงจุ๋มป๋าไม่มีขับซอคือไม่มีขับร้อง แต่ดนตรีล้วนๆ นี่แหละได้บรรยากาศและอารมณ์ดีนัก

เสียงสะล้อนั้นเหมือนสายฝนโปรยปราย

เสียงซึงเหมือนสายน้ำในแก่งธารผ่านเพิงหิน

เสียงขลุ่ยคือสายลมแผ่วผิวและหวิวหวีด

นึกดูเถิด หลับตาฟังเสียงสายฝน สายธาร สายลมที่กลางป่า นั้นแสนจะระรื่นชื่นใจปานใด

วงสาม แสนละเมา เป็นวงสนุกสนานสุดได้ใจทั้งกรรมการและประดาแฟนชาวบ้านดีนัก โดดเด่นตรงการขับลำหรือการร้องนั้นได้นำมาประยุกต์เป็นการแสดงกึ่งละครเพลงที่มีชาวบ้านผู้ทำมาค้าขายมาบ่นมาแข่งขาย ทั้งเรื่องขึ้นราคาน้ำมัน แต่ไม่ขึ้นค่าหวย ยังมีพ่อหลวงเป็นตัวกลางคอยกำกับกำหนดอีก จนชาวบ้านต่อว่า “คิดแบบหลวงไม่คิดแบบราษฎร” เฮฮาสนุกนัก

วงเสลารัตน์ นับเป็นวงเน้นมาตรฐานเต็มที่ทั้งเครื่องดนตรีหลากหลายครบครัน สลับสับเปลี่ยนกัน ไพเราะนักหนาคือ ปี่จุมห้าเลาให้เสียงอารมณ์ดึกดำบรรพ์ดีแท้ กับคนขับลำหญิงชายที่นั่งร้องนั่งรำร่ายตลอด ทั้งไพเราะและงดงามยิ่ง

ทุกวงคือเสน่ห์ล้านนาอันจะหาฟังยากยิ่งขึ้นทุกวัน เพราะฉะนั้น ชาวบ้านจึงแห่กันมาฟังเหมือนได้คืนสู่อดีตอันเฝ้าโหยหาด้วยหล่นหายไปกับยุคสมัยนานนักแล้ว

ถ้างานนี้ไปจัดในศูนย์การค้าเชื่อแน่เลยว่าจะเป็น “อีเวนต์” จืดชืดที่ชาวบ้านไม่กล้าเข้าไปร่วมเลย ด้วยร่มแอร์นั้นไหนเลยจะสู้ร่มไม้ เหยียบได้ทั้งแผ่นดินและดูได้ทั้งแผ่นฟ้า สวยสลับสลักสีอ่อนแก่ให้กับใบไม้ที่เป็นดังหลังคาชีวิต

ดนตรีอย่างนี้ในบรรยากาศอย่างนี้แหละที่สังคมทำหล่นหายไปจากชีวิตคน ไม่ใช่เป็นเรื่องหมดสมัยหรือล้าสมัย หากมหาพายุแห่งยุคสมัยที่โหมกระหน่ำทุกทิศทางนี่ต่างหากได้ฉุดกระชากลากถูรสนิยมของสังคมไทยให้กลายเป็น

“ตามเขาแล้วเก่ง คิดเองแล้วโง่”

การเปิดพื้นที่วัฒนธรรมทำนองนี้จึงเป็นความจำเป็นยิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายต้องเร่งตระหนัก

ภาคราชการต้องมองความจริงให้ออกว่า งานศิลปวัฒนธรรมต้องนำพัฒนาสังคมทุกภาคส่วน

ภาคเอกชนโดยเฉพาะภาคธุรกิจต้องเร่งทำความเข้าใจพื้นฐานมั่นคงของสังคมนั้นอยู่ที่ประชาชน อย่ามองเห็นแค่ประชาชนเป็นลูกค้าเท่านั้น และต้องตระหนักให้ได้ว่า

วัฒนธรรมไม่ใช่สินค้า

แต่สินค้าต้องอาศัยวัฒนธรรม

ภาคประชาสังคมต้องรวมตัวรวมใจให้เข้มแข็งสร้างสรรค์งานศิลปวัฒนธรรมอันเป็นจิตวิญญาณของประชาชนให้ปรากฏทั้งคุณค่าและเป็นมูลค่าได้จริง

และต้องตระหนักด้วยว่า “ทำความดีไม่ต้องขออนุญาตใคร เพียงขอความร่วมมือ” เท่านั้น

นั่นคือการ “สานพลังสามภาคส่วน” ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน (ธุรกิจ) ภาคประชาสังคม ในลักษณะ “ไตรภาคี” อย่างได้ดุลยภาพ

นี้คือ ข้อด้วยของงานศิลปวัฒนธรรมบ้านเรา •