เรียม-ยุทธศาสตร์กัมพูชา เปลี่ยนอำนาจทางทะเล/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

เรียม-ยุทธศาสตร์กัมพูชา

เปลี่ยนอำนาจทางทะเล

 

ปังกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว สำหรับเกมสร้างฐานทัพเรือเรียมโดยฝ่ายจีน ซึ่งในที่สุดกัมพูชาก็เปิดหน้าที่กำโปด

ก่อนร่วมประชุม “อินโด-แปซิฟิก” ที่วอชิงตันนั้น กัมพูชาปูดข่าวออกมาว่าจะพัฒนาเรียม/กำโปดให้เป็นท่าเรือน้ำลึกพาณิชย์แห่งที่ 2 รองจากสีหนุวิลล์ หรือ 3 แห่งเกาะกงที่ได้ชื่อว่าเป็นซัวเถาจีน?

ยังไม่จบ ใครๆ รวมทั้งฉันก็เดาพลันไปว่า เขมรจะหาทางออกให้ตัวเองมีทางไปกับนโยบายสายกลางระหว่างสหรัฐ-จีนที่ห้ำหั่นเรื่องไต้หวันแต่ก็แอบมีห้อยเรียมเป็นปัญหาคาราคาซัง เพราะฐานทัพแห่งนี้ก่อนนั้น เพนตากอนสร้างและใช้ก่อนยกให้เขมรทั้งยวง

แต่ทันทีที่พ้นประชุม “สหรัฐ-อาเซียน” วอชิงตัน ฯพณฯ ฮุน เซน ก็ให้ รมว.กลาโหม พล.อ.เตีย บันห์ ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ฐานทัพเรือเรียมที่กำโปดกับเอกอัครราชทูตจีนอย่างโอฬาริก จากนั้นก็บินไปปาฐกถาต่อหน้า รมว.กลาโหมสหรัฐ นายลอยด์ ออสติน ที่แชงกรี-ลาไดอะล็อก (IISS/2022) ที่สิงคโปร์อย่างไม่แคร์ว่านี่คือเวทีงัดข้อระหว่างจีน-อเมริกาว่าด้วยไต้หวัน และเรียมที่จะกลายเป็น 1 ในปัญหาของทะเลจีนใต้

แน่นอน นี่ยังไม่ใช่เวลาของเรียม แต่ก็เห็นแล้ว ภาษากายของตัวแทนกัมพูชาในเวทีนานาชาติด้านความมั่นคงนั้น ช่างมั่นไม่แพ้ใคร!

จาก “บ่าวรองนาย” ไม่กี่ปี วันนี้ กัมพูชาแย่งซีนเวียดนาม-สหรัฐ ชนิดไม่เคยมีสงครามเย็นปรากฏในโลกนี้!

“มีฐานทัพเรือเรียมเป็นของตน” จะสนทำไมว่าใครลงทุนให้? เมื่อพี่ใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนอาสา มันดีอย่างนี้แหละ ตรงที่ข่มเพื่อนบ้าน ก็ทำไม ทีสหรัฐยังรู้สึกเลยว่าตนถูกท้าทายใน “อินโด-แปซิฟิก”?

กัมพูชาก็เช่นกัน ติดกับดักประวัติศาสตร์มานาน เรื่องที่จะพัฒนาตัวเองบ้าง ช่างเป็นความจำเป็นด้วย

ก่อนหน้านั้น เมกะโปรเจ็กต์ “ดาราสาคร” ที่เกาะกง ทั้งท่าเรือน้ำลึกและสนามบินนานาชาติที่ก็เข็นออกมาเพื่อแข่งกับอีอีซี-ไทย จีนหมดไปหลายพันล้าน แต่ไม่เลยที่จะเข็ดขยาด สำหรับการทำให้จุดยุทธศาสตร์ของอ่าวไทยโดดเด่นไปสู่อนาคต

สำหรับโครงการล่วงหน้าของ “คลองไทย” อะไรก็เกิดขึ้นได้

รวมทั้งภูมิศาสตร์ความมั่นคงในทางลับของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้จะยังไม่ปรากฏในวันนี้ แต่คติใครเปย์ก่อนใครได้ นั่นหรือไม่ หลังจากมุ่งตรงท่องเที่ยว-อุตสาหกรรมและแถมด้วยยุทธศาสตร์ความมั่นคง ด้วยการลงทุนเฟส 1 ดาราสาคร เฟส 2 สีหนุวิลล์

แต่สุดท้ายก็มาลงที่อ่าวเรียม?

ไม่มียุทธศาสตร์ความมั่นคงที่ไหนจะชัดเจนกว่านี้อีก

นี่ไม่ใช่เรื่องของความทะเยอทะยานกัมพูชาและพรรคคอมมิวนิสต์จีนเท่านั้น แต่มันยังทำให้กำโปด-ทะเลเรียมกลายเป็นจุดเปลี่ยนของ 2 ชาติไทย-เวียดนาม

ตั้งแต่การ ซัมมิต “สหรัฐ-อาเซียน” ถึงแชงกรี-ลาไดอะล็อก จากวอชิงตันถึงสิงคโปร์ นี่คือ ยุทธศาสตร์ความมั่นคงในภูมิภาคจำลองอินโด-แปซิฟิกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เต็มไปด้วยความตื่นตัวอย่างไม่เคยปรากฏในปีที่ผ่านมา

ตั้งแต่สงครามรัสเซียในยูเครน พลันฉากความคิดในตัวแทนภูมิภาคด้านความมั่นคงก็เปลี่ยนแปลง เช่น กัมพูชาที่สร้างความน่าตื่นตะลึงต่อคำแถลงถึงการยกระดับฐานทัพเรือสมุทรเรียมที่ร่วมกับทางการจีน

นับเป็นธรรมเนียมที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และดูเหมือนว่าตัวแทนกัมพูชา พล.อ.เตีย บันห์ รมว.กลาโหมจะไม่สงวนท่าทีความภาคภูมิใจนี้ต่อหน้าตัวแทนอเมริกัน ไม่เท่านั้นมันยังสร้างความตกตะลึง โดยเฉพาะไทยแลนด์ที่ให้ความสำคัญทั้ง “ดีล” การซื้อเรือดำน้ำจากจีน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเหมือนถูกย้อมแมวขายในตลาดซัวเถากัมพูชาหรืออีกชื่อหนึ่งว่า ดาราสาคร

จึงไม่แปลกที่ จู่ๆ ผู้นำสูงสุดเพนตากอนจะมาเยือนไทยในช่วงนี้ ท่าทีที่มุ่งตรงต่อกันนั่นคือ การแลกเปลี่ยนความรู้สมัยใหม่ในเทคโนโลยีด้านความมั่นคงระดับสูง ที่พูดกันตามตรงว่าไทยไม่มีวาสนาจะไปถึงตรงนั้น หากไม่เข้าชั้นเรียน “อินโด-แปซิฟิก”

และหากจากจุดนี้ เท่ากับไปหักเหลี่ยมเวียดนามด้วย

เวียดนาม ถูกแล้ว หูฉันไม่ฟาดเฟื่อนเมื่อเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีที่รายงานสำนักข่าวตะวันตกของเขมรรายงานว่า เวียดนามรู้สึกตึงเครียดมากต่อประเด็นเรียม-กัมพูชา

และเป็นที่รู้กันว่า อันพรมแดนทางทะเลตรงเรียมนั้น ถูกคั่นกลางด้วยเกาะตร็องของเวียดนาม ซึ่งเคยเป็นแผ่นดินกัมพูชาแต่ถูกเส้นเบรวิเยร์พรากไป ห่างไม่กี่ไมล์ทะเล

พระเจ้าช่วย นี่เป็นเกมรวมพันธมิตร 3 ฝ่ายในยุคสงครามเย็น “ไทย-เวียดนาม-กัมพูชา” ให้กลับมา ณ จุดเดิม? เพิ่มเติมคือนายเก่าอเมริกัน

กับผู้ท้าชิงรายใหม่ซึ่งเก๋ามานานในทะเลจีนใต้ และกำลังผันตัวยกเครื่องฐานทัพเรือเรียมให้ทันสมัย ในยามที่เศรษฐกิจโลกถดถอย แต่ภูมิทัศน์รัฐศาสตร์ด้านความมั่นคงต่างหาก ที่ไม่อาจรอได้

ไม่ว่าวิกฤตสงครามยูเครนจะนำไปสู่การขาดแคลนอาหาร พลังงานหรืออะไร? แต่เรียม-กัมพูชาไม่อาจชะลอได้ สำหรับการลงทุนความมั่นคงในภูมิภาคนี้

ก่อนหน้านี้ ไทยที่ไม่เคยวิตกว่ากัมพูชาจะเป็นคู่แข่งในทางใด แต่เมื่อปักกิ่งลงทุนมหภาคทุกด้านและรุกคืบทางทะเลที่น่าวิตกชัดเจนจากเกาะกงถึงสีหนุวิลล์และถอยไปถึงเรียม ซึ่งเท่ากับทั้งหมดของชายฝั่งคาบสมุทรกัมพูชา

ที่ล้นไปด้วยเมกะโปรเจ็กต์และเปิบพิสดารแห่งการลงทุนกินรวบ จนความมั่นคงทางทะเลน่าจะเป็นจุดเดียว ที่อาจเป็นภัยคุกคาม ตั้งแต่ “ดาราสาคร” ที่เกาะกงที่ส่งผลต่อภูมิทัศน์รัฐศาสตร์ของอ่าวไทยและน่านน้ำสากล

แต่นั่นก็ยังไม่เท่ากับฐานทัพเรือเรียมที่จะทำให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ของทะเลจีนใต้ในไม่ช้าวันหนึ่ง และตอกย้ำว่า ความทะเยอทะยานระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับผู้นำกัมพูชาไม่ต่างจากการแทรกซึมและคุกคามที่ไปไกลกว่าคำว่าการพัฒนา

หากสักวันหนึ่งที่ฐานทัพเรือแห่งนี้จะกลายเป็นชนวนไปสู่การละเมิดความมั่นคงของประเทศอื่น ใครจะรู้? ว่าเรียม-กัมพูชาจะยกระดับตัวเองไปสู่จุดนั้นหรือไม่?

และความขัดแย้งจะกลับมาซ้ำรอยในภูมิภาคนี้อีกครั้ง? ไม่มีใครตอบได้ นอกจาก “ไทย-เวียดนาม-กัมพูชา” ที่ต่างยืนหลังพิงฝาเผชิญหน้ากัน

แบบเดียวกับสงครามเย็นในครึ่งศตวรรษก่อน เพียงแต่เปลี่ยนยุทธศาสตร์จากบกเป็นทะเล

แต่เหยื่อชะตากรรมของมหาอำนาจยังเป็นรายเดิมๆ

อ่ะ แต่ไม่ล่ะ โดยความจริง ผู้นำทุกคนต่างมีสูตรสำเร็จและไม่เคยคิดว่า ตนคือเหยื่อชะตากรรม

มีข้อบ่งชี้ว่า ผู้นำกัมพูชาส่วนใหญ่ พวกเขาอ่อนไหวกับอดีตและเส้นแบ่ง “เบรวิเยร์” ที่ไม่ยุติธรรม

ในท่าทีที่คล้ายกับ “ข้ามผ่าน” ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยทั้งหมดนั่น แต่จริงแล้วกัมพูชาอ่อนไหวในเขตคามและไม่จำนนเป็นผู้ถูกกระทำ

ตั้งแต่คาบสมุทรกัมพูชาฝั่งตะวันตกจรดแดนใต้ที่เคยมีเกาะแก่งอันมากมาย มันได้กลายเป็นเส้นแบ่งเบร์วิเยร์ในทศวรรษ 50 สมัยสิ้นอินโดจีน ครั้งสุดที่เขมรแดงเจรจาคือทศวรรษที่ 70 ที่ทำให้เรียมกลายเป็นการต่อสู้กับทัพเรือของเวียดนามแต่ช่างน่าสังเวช

ฮุน เซนเองก็เช่นกัน เกี่ยวกับฐานทัพเรือเรียมนี้ มันนำไปสู่ปมอดีตที่ไม่คลี่คลาย และเวียดนามไม่สนใจในเขตคามและความเปราะบางนั้น

จนอาจนำไปสู่เงื่อนไขที่เราไม่อาจคาดการณ์ได้ในกรณี “เรียม” ที่ถูกมองข้ามว่าเป็นแค่ป้อมประภาคารชายฝั่งที่ไม่มีความเป็นไปได้ใดๆ ในทางยุทธศาสตร์ซึ่งหากฮุน เซนจะทะเยอทะยานในอำนาจไปบ้าง ก็จงเชื่อเถิดว่า มันคือความเชื่อมั่นต่อแผ่นดินกัมพูชาในแบบฉบับของตน และเพื่อเป็นคู่มือยุทธศาสตร์ต่อภูมิภาคนี้ที่เราต่างเคารพและเชื่อมั่นต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน

หันมาดูที่อ่าวไทย ซึ่งห่างจากเรียมไปไม่กี่ร้อยทะเลไมล์

แต่เชื่อไหม ท่าทีกองทัพไทยดูจะตื่นโพรงต่อเรื่องนี้ ทั้งการเติบโตแข่งขันในทุกระดับกับเวียดนาม มิตรประเทศที่ไม่เขินอายในการประกาศความทะเยอทะยาน

ด้านผู้นำยุทธศาสตร์และความสำเร็จแห่งภูมิภาค

แต่ในที่สุด ก็เบรวิเยร์! เมื่อพบว่า ความทะเยอทะยานของกัมพูชาคราวนี้ ช่างล้ำเส้นจนถึงขั้นอาจทำให้อ่าวเรียมกับเกาะตร็องยังไม่จบปัญหาเก่าตามเส้นแบ่งเบรวิเยร์

ใครเลยจะคิดว่า นี่เป็นโพรงยุทธศาสตร์และการเอาคืนอย่างซึ่งหน้า

อย่าได้กะพริบตาจุดยุทธศาสตร์ใหม่ในทะเลจีนใต้!