“ไม้พัวะไม้พั้ง ไม้ตั้งขอนไหล บ่ดีดังไฟ แป๋งหลัวหนึ้งเข้า” / ล้านนาคำเมือง

ล้านนาคำเมือง

ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ไม้พัวะไม้พั้ง ไม้ตั้งขอนไหล

บ่ดีดังไฟ แป๋งหลัวหนึ้งเข้า

 

ไม้ภ฿วฯะไม้ภั้งฯ ไม้ทั่งฯขอฯรไหลฯ บ่ดีดังฯไฟแปลฯงห฿ลฯวฯหนฯื้ฯงเขั้า

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ไม้พัวะไม้พั้ง ไม้ตั้งขอนไหล บ่ดีดังไฟ แป๋งหลัวหนึ้งเข้า”

ไม้พัวะ แปลว่า ไม้ผุ

ไม้พั้ง เป็นสร้อยคำของคำว่าไม้พัวะ แปลว่า ไม้ผุเช่นเดียวกัน

ไม้ตั้ง หรือเขียนเป็นไม้ทั่ง แปลว่า ไม้หลัก เช่น ไม้ทั่งรั้ว แปลว่า ไม้หลักที่ทำเป็นเสารั้ว ไม้ทั่งบ่อง แปลว่า ไม้เสารั้วที่เจาะรูสำหรับสอดลำไม้ไผ่ ใช้ทำรั้วกันวัวควาย

ขอนไหล คือ ท่อนไม้ที่ลอยตามน้ำมา

ดังไฟ แปลว่า การก่อไฟ

แปลง แปลว่า ทำ

หลัว แปลว่า ฟืน

หนึ้งเข้า แปลว่า นึ่งข้าว

รวมความแล้วเป็นคำสอนที่ผู้ใหญ่จะบอกว่า “หากจะเอาฟืนมาก่อไฟเพื่อนึ่งข้าว อย่าใช้ไม้ผุ ไม้รั้วเก่า หรือขอนไม้ที่ไหลตามน้ำมา”

 

เลอฯิกใช้ห฿ลฯวฯดีๆมาหนฯึ้ฯงเขั้าเนิ่อฯ เลือกไจ๊หลัวดีๆ มาหนึ้งเข้าเน่อ แปลว่า ให้เลือกใช้ฟืนดีๆ มานึ่งข้าวนะ

 

ข้าว แต่ไหนแต่ไรมาเป็นอาหารหลักของคนไทย สำหรับคนโบราณ ข้าวเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิ่งควรเคารพ อย่างที่พูดกันว่า “ข้าวเป็นเจ้า”

การหุง การนึ่งข้าวกิน ควรให้ความสำคัญกับฟืนที่จะเอามาก่อไฟ

กระบวนการนึ่งข้าวควรใช้ความพิถีพิถันตั้งแต่การเลือกเอาไม้มาทำฟืนไม่ใช่คว้าอะไรได้ก็เอามาใช้

การเอาไม้ผุมาทำฟืน ไม้เนื้อมันกลวง เผาไปแป๊บเดียวไฟมอด ข้าวก็จะยังไม่ทันสุก มิหนำซ้ำควันจากการก่อฟืนด้วยไม้ผุอาจจะคละคลุ้งเต็มบ้านให้แสบหูแสบตา

นี่อาจจะเป็นเหตุหนึ่งที่ผู้ใหญ่ห้ามไว้

ส่วนไม้รั้วเก่า หรือไม้ที่ไหลตามน้ำมาเขาก็ห้ามเอามาทำฟืนเพื่อนึ่งข้าวด้วย เพราะไม้รั้วอาจจะเปื้อนสิ่งปฏิกูล ขอนไม้ที่ลอยน้ำมาอาจจะซึมซับเอาสิ่งสกปรก อย่างขยะ อาจม สรรพสิ่งอัปมงคลทั้งหลายที่อาจจะลอยมาตามสายน้ำ ทำให้ขอนไม้ลอยน้ำกลายเป็นสิ่งสกปรกที่ไม่น่าจะเอามาประกอบการนึ่ง “ข้าวเป็นเจ้า” กิน

คำสอนนี้ไม่เพียงแต่ใช้กับการนึ่งข้าวเท่านั้น ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับกิจการใหญ่ งานสำคัญ

หากอยากได้เนื้องานออกมาดี เป็นที่ชื่นชมของคนทั่วไป ส่วนประกอบของงาน คนที่เลือกเอามาทำงานย่อมมีความสำคัญ ล้วนต้องผ่านการคัดสรร

เช่นเดียวกับการหาไม้มาก่อไฟนึ่งข้าว ฉันใดก็ฉันนั้น •