ปิดศักราช 725 ปีเชียงใหม่ กับปรากฏการณ์คำถาม ‘นครนี้ใครสร้าง?’ / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

ปิดศักราช 725 ปีเชียงใหม่

กับปรากฏการณ์คำถาม

‘นครนี้ใครสร้าง?’

 

สิ้นสุดไปแล้วกับสโลแกนหรือแบรนด์ “725 ปีนครเชียงใหม่” ซึ่งใช้กันมาตลอดปี 2564 (เริ่มนับจากช่วงกลางเดือนเมษายนปีกลาย จนถึงกลางเดือนเมษายนที่เพิ่งผ่านพ้นมานี้)

เหตุที่เมืองเชียงใหม่สร้างเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.1839 (คำนวณตามปฏิทินระบบเกรกกอเรียน) แต่คนทั่วไปรวมทั้งหน่วยงานองค์กรต่างๆ ยังยึดถือเป็นวันที่ 12 เมษายน กันอยู่เช่นเดิม (นับตามปฏิทินระบบจูเลียน) ซึ่งมีความแตกต่างกัน 7 วัน

ในวาระที่นครเชียงใหม่กำลังจะมีอายุเข้าสู่ขวบปีที่ 726 นี้ ได้เกิดปรากฏการณ์ที่สร้างความฮือฮาส่งท้าย ก่อนการปิดศักราช 725 ปีนครเชียงใหม่ อย่างเหลือเชื่อ

 

ใครสร้างเมืองเชียงใหม่?

อนุสาวรีย์ที่ทำไมต้องมีคนอื่น?

ช่วงปลายเดือนเมษายน คิมหันตฤดูได้เพิ่มความร้อนแรงยิ่งขึ้น เมื่อมีนักวิชาการล้านนาหลายท่านได้ลุกขึ้นมาตั้งคำถามแทงใจดำว่า

“แน่ใจหรือว่า กษัตริย์อีกสององค์ที่ปรากฏในอนุสาวรีย์สามกษัตริย์นั้น ได้มาช่วยสร้างเมืองเชียงใหม่จริง ในเมื่อพระญามังรายมีความรู้ความสามารถ ถึงขั้นสร้างเมืองมาตั้งหลายแห่งก่อนเชียงใหม่ ทั้งฝาง พร้าว ไชยปราการ เวียงกุมกาม เชียงราย ไม่เห็นต้องมีคนบ้านอื่นเมืองอื่นมาช่วยสร้างเลย แล้วเกิดอะไรขึ้น ตอนจะสร้างเมืองเชียงใหม่ ถึงกับต้องเชิญกษัตริย์ต่างเมืองที่อยู่ในสถานะเป็นกึ่ง ‘อริ’ กึ่ง ‘คู่แข่ง’ กันอยู่ในที ให้มาช่วยสร้าง?”

ทันทีที่มีการเปิดประเด็นเรื่องดังกล่าว แน่นอนว่าย่อมต้องมีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ฝ่ายไม่เห็นด้วยมีการกล่าวหาว่าผู้เสนอแนวคิดนี้มีความเป็น “ล้านนาอิสม์เกินเหตุ” หรือ “ท้องถิ่นนิยมตกขอบ”

ส่วนฝ่ายเห็นด้วยมองว่า นี่คือมิติใหม่ที่ควรรับฟัง เราไม่มีสิทธิ์ตั้งคำถามใดๆ ที่คาใจต่อประวัติศาสตร์ล้านนาบ้างเลยหรือ?

นำไปสู่การขยายนิยามและความหมายของ “การศึกษาประวัติศาสตร์นั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไรกันแน่?” เรียนเพื่อท่องจำเป็นนกแก้วนกขุนทอง ฟังแล้วต้องเชื่อตามกรอบความคิดเดิมๆ ทุกเรื่องอยู่ร่ำไปหรือเช่นไร?

ฤๅถึงเวลาแล้ว ที่ผู้ถูกบังคับให้เรียน ควรมีโอกาสตั้งคำถามเห็นแย้งต่อทฤษฎีเดิมๆ บ้าง?

ดิฉันจึงได้เห็นความเคลื่อนไหวของนักวิชาการด้านล้านนาศึกษาจำนวนไม่น้อย บางท่านไม่ถึงกับออกตัวแรงเกินไป แต่ก็ขานรับกับข้อเสนอใหม่อยู่ในที

แต่ดูเหมือนจะพุ่งเป้าไปตั้งคำถามต่อ “ตัวรูปปั้น” หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า “พระบรมราชานุสาวรีย์” มากกว่าที่จะเห็นแย้งเชิงประวัติศาสตร์ ว่าใครได้มาช่วยกันสร้างเมืองเชียงใหม่จริงหรือไม่

เป็นน้ำเสียงที่ฟังดูออกจะโมโหโกรธาต่อตัวอนุสาวรีย์มากกว่า “เนื้อหาทางประวัติศาสตร์” ในทำนองว่า

“โห! แค่มาช่วยคอมเมนต์ แนะนำ ติติงเรื่องการสร้างเมืองเล็กๆ น้อยๆ ไม่กี่วลี (คือยอมรับว่ากษัตริย์อีกสองพระองค์มาร่วมวางแผนด้วยจริง) ก็ต้องถึงกับสร้างอนุสาวรีย์ให้ด้วยเลยหรือ ในขณะที่พระญามังรายเป็นคนวางรากปักฐานต่อสู้เพื่อให้เกิดเมืองเชียงใหม่มาโดยลำพัง ยากแค้นแสนเข็ญ ทำไมอนุสาวรีย์นี้จึงต้องให้เครดิตแก่กษัตริย์อีกสองพระองค์ด้วย?”

เรื่องนี้ลามไปถึงการตั้งข้อกังขาต่อ “กรมศิลปากร” ผู้ออกแบบอนุสาวรีย์ ในทำนองว่า “ตอนจัดสร้างอนุสาวรีย์นั้น คนออกแบบเป็นข้าราชการจากส่วนกลาง สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นที่ทราบกันดีว่าหน่วยงานรัฐมักทำหน้าที่รวมศูนย์อำนาจ จึงอาจคิดรวบหัวรวบหาง ยกความดีความชอบเฉลี่ยให้แก่กษัตริย์อีกสองพระองค์ด้วยเป็นแน่แท้ ยิ่งองค์หนึ่งเป็นชาวสยามสุโขทัย?”

มาถึงจุดนี้ ดิฉันให้นึกสงสัยเสียเหลือเกินว่า ช่วงที่มีการออกแบบจัดสร้างอนุสาวรีย์สามกษัตริย์เมื่อหลายทศวรรษก่อนนั้น ใครมีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจและอยู่ในเหตุการณ์บ้าง

ว่าด้วยพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์

หนังสือชื่อ “ล้านนาไทย : อนุสรณ์พระราชพิธี พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ (เชียงใหม่ 2526-27)” ระบุว่าการดำริจัดสร้างอนุสาวรีย์สามกษัตริย์นี้มีขึ้นตั้งแต่ปี 2512 แล้ว

บุคคลผู้จุดประกาย กระตุ้นให้ชาวเชียงใหม่อยากมีอนุสาวรีย์ “พ่อขุนเม็งราย” (เป็นคำเรียกเมื่อปี 2512) เป็นท่านแรกก็คือ “พระครูศรีธรรมคุณ” (กมล โชติมนฺโต) เจ้าอาวาสวัดสันป่าข่อย

ต่อมามีแนวร่วมคือสมาชิกพุทธสมาคม ยุวพุทธิกสมาคม ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน เมื่อคนหลายคณะดำริตรงกันจึงรวมใจกันยื่นเรื่องต่อ พ.ต.อ.นิรันดร ชัยนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

หลังจากนั้นไม่นาน ความปรารถนาของชาวเชียงใหม่ก็ถูกส่งไปถึง นายสุกิจ นิมมานเหมินท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รีบขานรับทันที แต่เขาได้เสนอทางเลือกใหม่ว่า

“ควรสร้างเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์เหมาะสมกว่า นอกจากพญามังราย (สมัยนั้นยังไม่ใช้ ‘พระญา’ แบบปัจจุบันที่นักวิชาการพยายามช่วยกันแก้ไขให้ถูกต้องตามจารึก) แล้ว ควรมีพญาร่วง (หมายถึงพ่อขุนรามคำแหงมหาราช) และพญางำเมือง เพราะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่พระมหากษัตริย์สามพระองค์มาทรงร่วมกันวางผังสร้างเมือง”

ความเห็นนี้ตรงกับใจของนายแพทย์มนู แมนมนตรี หนึ่งในคณะกรรมการอำนวยการสร้างอนุสาวรีย์อย่างเหมาะเหม็ง

จึงเอาข้อเสนอของรัฐมนตรีสุกิจ มาย้ำในที่ประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2512 ณ พุทธสถานเชียงใหม่ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ

เป็นอันว่า วัตถุประสงค์แรกสุดของชาวเชียงใหม่ที่ต้องการแค่ “อนุสาวรีย์ของพ่อขุนเม็งราย” เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ได้ถูกเปลี่ยนใหม่ โดยบุคคลผู้เสนอแนวคิดให้ขยายอนุสาวรีย์จาก 1 เป็น 3 พระองค์ก็คือ นายสุกิจ นิมมานเหมินท์ นักการเมืองผู้เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขชาวเชียงใหม่แท้ๆ ผู้นี้นี่เอง

โครงการนี้หยุดชะงักไประหว่างปี 2513-2518 จะด้วยเหตุผลกลใดก็ไม่ทราบได้ ไม่มีการบันทึก ไร้ความเคลื่อนไหวใดๆ ตลอดช่วง 6 ปี

กระทั่งปี 2519 อยู่ๆ ก็มีการหยิบโครงการนี้มาปัดฝุ่นอีกครั้งโดย “หม่อมธาดา ขุนศึกเม็งราย” นายกสมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพ ได้ทำเรื่องถึงหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีขณะนั้นว่า

“ขออนุญาตสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ ณ สวนสาธารณะของเทศบาลนครเชียงใหม่ ประตูท่าแพ” คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามนั้น

ปี 2520 ยุคที่นายประเทือง สินธิพงษ์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้เสนอให้ย้ายสถานที่จัดสร้างอนุสาวรีย์ไปที่แห่งอื่น ด้วยแถวประตูท่าแพนั้นควรจัดสร้างเป็นสนามเด็กเล่นมากกว่า

ปี 2523 ยุคนายชัยยา พูนศิริวงศ์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้สถานที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์แห่งใหม่ที่ลงตัว (คือสถานที่ปัจจุบัน) มีการประสานให้กรมศิลปากรดำเนินการออกแบบ โดยกรมศิลป์มอบหมายให้นางสาวไข่มุกด์ ชูโต เป็นประติมากรรับผิดชอบในการปั้น ใช้เวลาศึกษาออกแบบและปั้นนานถึง 3 ปีเต็ม นอกจากนี้ ยังมีการระดมทุนจัดสร้างเหรียญสามกษัตริย์ให้ประชาชนเช่าบูชา ปลุกเสกโดยหลวงปู่แหวน สุจิณโณ

เรียกได้ว่าความคืบหน้าที่เห็นอย่างเป็นรูปธรรมทั้งหมด บังเกิดขึ้นในยุคของผู้ว่าชัยยา กระทั่งสามปีผ่านไป จึงอัญเชิญพระบรมราชานุสาวรีย์ จากท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร (ออกจากโรงหล่อกรมศิลปากร) มาประดิษฐานยังฐานพระแท่นบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ (หลังเดิม) ในช่วงเดือนกันยายน 2526

ที่เล่ามายืดยาว (อันที่จริงย่นย่อมาก) ก็เพื่อให้ผู้อ่านเห็นกระบวนการจัดสร้างอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ว่า ไม่ง่ายเลย นับจากปี 2512 ถึง 2526 บางช่วงบางตอนขลุกขลักทุลักทุเล บางยุคสมัยต้องใช้การตัดสินใจขั้นเด็ดขาดว่าควรเปลี่ยนสถานที่ดีหรือไม่ และเชื่อได้เลยว่าย่อมต้องมีผู้คัดค้านอยากได้ท่าแพที่เดิม

 

มุมมองนักวิชาการเมื่อ 4 ทศวรรษก่อน

หนังสือเล่มเดียวกันนี้ ได้กล่าวถึงเบื้องหลังการจัดทำ “คำจารึกใต้ฐานพระราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์” ว่า ผู้ว่าฯ ชัยยาได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำหนังสืออนุสรณ์พระบรมราชานุสาวรีย์ หนังสือมีชื่อว่า “ล้านนาไทย” โดยมีนายทิว วิชัยขัทคะ เป็นประธาน

และนี่คือรายชื่อกรรมการบางส่วน : ศาสตราจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์ ผศ.มณี พยอมยงค์ รศ.อุดม รุ่งเรืองศรี อ.ทวี สว่างปัญญางกูร ดร.ฮันส์ เพนธ์ เกษม บุรกสิกร สมหมาย เปรมจิตต์ ปวงคำ ตุ้ยเขียว อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว ฯลฯ

เนื้อหาที่เหล่าปราชญ์ถกเถียงกัน หนักไปในเชิงการชำระคำนำหน้าพระนาม เช่น ควรใช้คำว่า “พระญา/พรญา/พญา” คำใดคำหนึ่งแทน “พ่อขุน” รวมทั้งมีการเสนอคำว่า “มังราย” น่าจะเป็นคำที่ถูกต้องกว่า “เม็งราย”

สรุปแล้วเป็นการทำงานที่เน้นการสืบค้นพระราชประวัติของกษัตริย์ทั้งสามพระองค์ให้ถูกต้อง (เพื่อนำข้อมูลมาเขียนคำจารึกที่ฐานอนุสาวรีย์) มากกว่าจะเป็นการตั้งแง่เปิดประเด็นถกเถียงว่า เหมาะสมหรือไม่ที่เอาบทบาทของกษัตริย์ต่างเมืองอีกสองพระองค์มาประกบกับบทบาทของกษัตริย์เชียงใหม่ ให้พระองค์ดูด้อยลง

ด้อยลงจริงหรือ? นักวิชาการยุค 4 ทศวรรษก่อน คงไม่คิดเช่นนั้นแน่ๆ การเชิดชูพระเกียรติของสามกษัตริย์ให้ทัดเทียมกันนั้น พวกเขาน่าจะเห็นว่าเป็นการ “ประกาศความยิ่งใหญ่ของพระญามังรายว่ามีบารมีแผ่ไพศาล” มากกว่า

ถึงขนาดที่ว่า “แม้แต่กษัตริย์หนุ่มเมืองอื่นยังต้องเดินทางมาเป็นสักขีตอนกษัตริย์องค์นี้สร้างเมือง”

อีกน้ำเสียงหนึ่งที่จับได้จากบทความหลายชิ้นในหนังสือเล่มนี้คือ พบว่าการเชื่อมเอาบทบาทของสองกษัตริย์มาสนับสนุนพระญามังราย ก็เพื่อต้องการประกาศให้เห็นถึง “ความอินเตอร์” ของพระญามังราย ที่มีพระสหายเป็น “พญาร่วง” (พ่อขุนรามคำแหงมหาราช) ผู้มีอิทธิพลครอบคลุมอาณาบริเวณกว้างไกลถึงนครศรีธรรมราช เมาะตะมะ ทั้งยังได้รับการยอมรับจากจีน ลังกา ขอม มอญ

ฝ่ายพระญางำเมืองนั้นเล่า ก็มีอิทธิพลครอบคลุมดินแดนลุ่มน้ำอิง ยม โขง ซ้ำยังมีดีกรีเป็นศิษย์เก่าสำนักเขาสมอคอนจากละโว้

เห็นได้ว่า ในทัศนะของนักวิชาการเมื่อ 4 ทศวรรษก่อน มองว่าการผนวกเอาสองกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่มาตอกย้ำว่ามีส่วนร่วมสร้างเมืองเชียงใหม่นี้ ถือเป็นการผนึกกำลังเสริมบารมีให้แก่พระญามังรายเสียด้วยซ้ำ มากกว่าจะคิดเห็นเป็นอย่างอื่น

ไม่เป็นไรค่ะ 40 ปีผ่านไป ประวัติศาสตร์สามารถมองมุมใหม่ จนถึงขนาดเปลี่ยนขั้วได้ เราต้องรับฟังนักวิชาการด้านล้านนาศึกษา ณ พ.ศ.2565 ที่ออกมาเปิดประเด็นไม่เห็นด้วยว่า จะมีใครมาช่วยพระญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ได้อย่างสนิทใจ ในเมื่อต่างคนต่างก็มีปมปัญหาคาใจกันอยู่หลายเรื่อง

หมายเหตุ บทความนี้ดิฉันไม่ได้มีเจตนาจะหาเหตุผลมาหักล้างกับข้อเสนอใหม่ของนักวิชาการบางท่านที่เห็นต่างจากทฤษฎีเดิม จึงไม่ได้ลิสต์ประเด็นที่ท่านเปิดมาหักล้างโจทย์ทีละข้อ เนื่องจากเป็นปัญหา “เชิงวิเคราะห์ตีความ” ใครๆ ก็มีสิทธิ์ที่จะตีความ “ถ้อยคำเดียวกัน” ให้มีผลลัพธ์แตกต่างกันได้

วัตถุประสงค์ที่ดิฉันเขียนบทความนี้ เพียงแค่สงสัยแนวคิดของคนเมื่อ 40-60 ปีก่อน (นับตั้งแต่ปี 2512-2526) ยุคที่พวกเขาดำริจะจัดสร้างอนุสาวรีย์กันนั้น ว่านึกอย่างไรถึงได้ไปดึงเอากษัตริย์อีกสองพระองค์ให้มายืนผงาดกลางเมืองเชียงใหม่ประกบกับพระญามังรายด้วย ในที่สุดดิฉันก็ได้ความกระจ่างในประเด็นนี้แล้ว

นี่ถ้าไม่มีอนุสาวรีย์สามกษัตริย์เด่นหรากลางใจเมืองเชียงใหม่ ประวัติศาสตร์ช่วงแรกสร้างราชธานีศรีนครพิงค์ก็คงไม่ถูกขุดคุ้ยมาถกเถียง ตั้งคำถาม เกิดปฏิกิริยาต่อต้าน จนถึงขั้นปฏิเสธเช่นนี้เป็นแน่แท้ •