ทางรถไฟสายมรณะ กำเนิด ‘โบราณคดีสากลในไทย’ ‘เชื้อชาติ’ ไม่มีใน ‘ดีเอ็นเอ’ มนุษย์ / สุจิตต์ วงษ์เทศ

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

ทางรถไฟสายมรณะ

กำเนิด ‘โบราณคดีสากลในไทย’

‘เชื้อชาติ’ ไม่มีใน ‘ดีเอ็นเอ’ มนุษย์

 

ทางรถไฟสายมรณะมีความทรงจำสากลเกี่ยวกับเชลยศึกนานาชาติถูกกระทำทารุณกรรมล้มตายเป็นก่ายกองระหว่างก่อสร้างซึ่งเป็นที่รับรู้กว้างขวางทั้งโลก

แต่เฉพาะในไทย ทางรถไฟสายมรณะมีความทรงจำสำคัญเกี่ยวกับกำเนิดโบราณคดีสากล ซึ่งสืบเนื่องตราบจนทุกวันนี้

 

โบราณคดีสากลในไทย

โบราณคดีสากลในไทยมีต้นตอจากทางรถไฟสายมรณะเมื่อถูกตัดผ่าน “เมืองกาญจน์ บ้านเก่า แควน้อย”

เชลยศึกชาวดัตช์ (เนเธอร์แลนด์) เอช. อาร์. ฟาน เฮเกอเรน ขณะถูกเกณฑ์ร่วมกับเชลยศึกคนอื่นๆ ทำงานสร้างทางรถไฟอยู่บริเวณบ้านเก่า สังเกตด้วยประสบการณ์เห็นหินบางก้อนมีลักษณะต่างจากหินธรรมชาติที่ทุบถมเป็นฐานทางรถไฟ จึงกันออกเก็บซ่อนแล้วทำตำแหน่งกันลืมไว้แม่นยำ

เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้และสงครามโลกยุติ จึงต้องหยุดสร้างทางรถไฟสายมรณะแล้วปลดปล่อยเชลยศึกทั้งหมดเป็นอิสระ

นายเฮเกอเรนห่อเครื่องมือหินที่เก็บซ่อนไว้กลับไปเนเธอร์แลนด์ แล้วออกตระเวนเอาไปปรึกษาหารือผู้เชี่ยวชาญนักวิชาการด้านต่างๆ ในยุโรป เช่น โบราณคดี, ธรณีวิทยา, มานุษยวิทยา ฯลฯ จนเป็นที่รับรู้กว้างขวางถึงแหล่งเครื่องมือหินบริเวณแม่น้ำแควน้อยของประเทศไทย มีส่วนสำคัญกระตุ้นนักโบราณคดีจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐ และนักโบราณคดีไทย ฯลฯ เคลื่อนไหวเข้าถึงพื้นที่เพื่อสำรวจเพิ่มเติม

งานโบราณคดีของไทยก้าวหน้าเป็นสากลอย่างจริงจัง หลังได้รับสนับสนุนจากรัฐบาลเดนมาร์ก แล้วลงมือปฏิบัติการทางโบราณคดีร่วมกับนักโบราณคดีชาวเดนมาร์ก ใน “โครงการสำรวจเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ไทย-เดนมาร์ก ใน พ.ศ.2503-2505” (The Thai-Danish Prehistoric Expedition : 1960-1962) ข้อมูลส่วนมากมีในหนังสือที่กรมศิลปากรพิมพ์เผยแพร่เป็นเล่มตั้งแต่ พ.ศ.2510 และมีบางส่วนจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า

“เชื้อชาติ” ไม่มีใน “ดีเอ็นเอ” มนุษย์ ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยที่ครอบงำในช่วงนั้น ระบุว่าคนไทยอพยพถอนรากถอนโคนมาจาก “อัลไต-น่านเจ้า” ในจีน แล้วสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก ดังนั้น โครงกระดูกมนุษย์ อายุราว 3,000 ปีมาแล้วที่ “เมืองกาญจน์ บ้านเก่า แควน้อย” นักโบราณคดีขุดพบครั้งแรก พ.ศ.2504 ต้องไม่ใช่บรรพชนคนไทย

ต่อมามีสัมมนาทางประวัติศาสตร์โบราณคดีครั้งแรก ด้วยข้อสงสัยว่าถ้าโครงกระดูกบ้านเก่าไม่ใช่บรรพชนคนไทย แล้ว “บรรพบุรุษของไทยเป็นใคร” จัดโดยคณะอาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ท้องพระโรงวังท่าพระ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2507

เท่ากับเริ่มต้นคำถาม คนไทยมาจากไหน?

หลังจากนั้นมากกว่า 50 ปี เพื่อตอบคำถามคนไทยมาจากไหน? นักโบราณคดีบางกลุ่มพยายามยกความรู้ใหม่ “ดีเอ็นเอ” พิสูจน์ “เชื้อชาติไทย” จากโครงกระดูกมนุษย์ที่ขุดพบในไทย

แต่ “เชื้อชาติ” ไม่มีใน “ดีเอ็นเอ” มนุษย์ เป็นที่รับรู้ทั่วโลก

 

ก้อนแรกหินต้นทาง “โบราณคดีสากลในประเทศไทย”

ดร. เอช. อาร์. ฟาน เฮเกอเรน (Dr. Hendrik Robert van Heekeren) เป็นนักโบราณคดีชาวดัตช์ (เนเธอร์แลนด์) ทำงานวิจัยทางโบราณคดีอยู่อินโดนีเซีย ถูกญี่ปุ่นจับเป็นเชลยสงคราม ส่งไปเป็นแรงงานสร้างทางรถไฟที่กาญจนบุรี ในสงครามโลกครั้งที่ 2

พบ “ขวานหิน” ระหว่างสร้างทางรถไฟสายมรณะ เป็นก้อนแรกของหินต้นทาง “โบราณคดีสากลในประเทศไทย”

ฟาน เฮเกอเรน (พ.ศ.2445-2517)
เครื่องมือหิน (หินกะเทาะแบบสับ-ตัด) เฮเกอเรนพบข้างทางรถไฟที่บ้านเก่า ต่อมาสมมุติเรียก “ฟิงนอยเอียน” [ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์พีบอดี (peabody) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐ] [ภาพและคำอธิบายได้จากหนังสือ วัฒนธรรมบ้านเก่า ที่ระลึกเปิดอาคารนิทรรศการถาวร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2565 หน้า 21-25]
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า ออกแบบอาคารและภูมิทัศน์ โดยสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร (ภาพจากหนังสือ วัฒนธรรมบ้านเก่า กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2565

“พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า” เพิ่งสร้างเสร็จ เปิดเข้าชมต้นปี 2565

[ตั้งอยู่ริมแควน้อย (สายเก่า) บ้านเก่า ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี]

อาคาร 3 ชั้น ผังสี่เหลี่ยม ผนังเรียบ แต่ทำช่องปรุเต็มผนังเรียบนั้น โดยเลียนแบบผนังหลุมขุดค้นทางโบราณคดี

ไม่ทรงไทย ไม่ลายกระหนก แต่เป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่น่ายกย่องและน่าเข้าชม อย่างน้อยก็เข้าไปรับรสธรรมชาติริมแควน้อยสายเก่า

 

ถอยห่างจาก “สากล”

แนวคิดทางการเมืองรวบอำนาจรวมศูนย์ ได้แผ่ควบคุมแล้วผลักไสกิจกรรมวิชาการทางโบราณคดีในไทยถอยห่างจาก “สากล” โดยเน้นให้ความสำคัญด้าน “เทคนิค” เหนือกว่า “เนื้อหา” จึงมุ่งแสวงหาโบราณวัตถุมากกว่าเรื่องราววิถีของคนและชุมชนเพื่อตอบคำถามประวัติศาสตร์ไทยในบริบทของอุษาคเนย์และโลก

ดังนั้น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจัดแสดงอย่างบรรเจิดบรรจงด้วยเทคนิคก้าวหน้า แต่ชีวิตชีวาของประวัติศาสตร์เลือนรางอย่างยิ่ง •