‘น้าและลุง’ / หลังเลนส์ในดงลึก : ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก

ปริญญากร วรวรรณ

 

‘น้าและลุง’

 

ก่อนที่คำว่า “น้า” จะมีความหมายที่ไม่ดีนัก

ในช่วงที่ผมทำงานแรกๆ คำว่าน้า เป็นคำยกย่อง รวมทั้งเรียกอย่างนับถือ คนผู้ที่ทำงานดีๆ เก่ง หรือทำงานมาก่อนในสายอาชีพเดียวกัน โดยเฉพาะสายงานช่างภาพ และนักเขียน

น้าในที่นี้ไม่หมายความว่าต้องมีอายุมากกว่า หากงานเป็นที่ยอมรับ เราจะยกย่องกัน โดยเรียกคนคนนั้นว่าน้า

 

กับงานในป่าเช่นกัน ปกติการเรียกกันแวดวงของคนทำงานในป่า จะมีแค่พี่กับน้อง ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหนๆ

กับคำว่าน้า เราก็มีไว้เรียกคนที่เรายอมรับว่าเจ๋ง

ผมมีโอกาสร่วมงานกับ “น้าๆ” บ่อย น้าเหล่านี้ บางคนอยู่ในวัยสูงกว่า บางคนวัยเดียวกัน และมีไม่น้อยที่อายุยังไม่มาก

อย่างเช่น มัสบูด ที่ผมทำงานด้วยในป่าทิวเขาบูโด เขาร่วมงานกับปรีดา กับงานดูแลนกเงือก

มัสบูดอายุน้อย แต่มีความโชกโชนมาก คล่องแคล่ว ทักษะการใช้ชีวิตในป่าสูง

เขาได้รับตำแหน่งน้าจากทุกคน

อดิเทพ แห่งป่าทุ่งใหญ่ อยู่ในวัยเดียวกับกัน ผมเรียกเขาว่าน้า รวมทั้งอ่อนสา ผู้ช่วยนักวิจัยโครงการศึกษานิเวศวิทยาของเสือโคร่ง ที่ผมทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเขา และอีกหลายๆ คน

สำหรับน้าร่อย ชายร่างใหญ่ผิวคล้ำ หน้าตาคมเข้มแบบไทยๆ ที่ผมพบและมีโอกาสร่วมงานด้วยครั้งร่วมกับทีมสำรวจประชากรเสือโคร่งนั้น ไม่เพียงจะมีตำแหน่งน้า

เขาเป็นคล้ายตำนานที่ยังมีชีวิต สำหรับเด็กๆ ในทีมอีกด้วย

 

น้าร่อยไม่ช่างพูดเหมือนคนอื่นๆ นั่นแหละ ความ “ช่างพูด” จะมาก็ต่อเมื่อดีกรีเริ่มถึง

ตำแหน่งน้าของเขาไม่ใช่ได้เพราะเดินป่าเก่ง จำทิศแม่น หรืออะไรแบบนั้น

แต่เพราะน้าร่อยมีทักษะสูงกับงานครัว ในทีมซึ่งมีน้าร่อยอยู่ จึงหมดห่วงเรื่องงานหุงข้าว ไม่ว่าจะต้องหุงจำนวนมากเพียงใด

นอกจากงานครัว งานซ่อมแซม และประดิษฐ์เครื่องใช้ต่างๆ น้าร่อยก็ชำนาญ

 

งานสำรวจประชากรเสือโคร่ง ที่สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (wcs) ร่วมกับกรมอุทยานฯ ดำเนินในผืนป่าด้านตะวันตกมาแล้วหลายปี เป็นงานหลักอีกอย่างของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ

ช่วงที่ผมร่วมงานด้วยนั้น งานจะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม และเสร็จสิ้นราวเดือนพฤษภาคม

ในระยะหลัง มีการเลื่อนกำหนด เพราะเส้นทางในป่าทุ่งใหญ่นั้น เดือนตุลาคมยังยากหนักหนาเกินกำลังพาหนะ

เพราะกล้องดักถ่าย จะถูกนำไปตั้งเกือบทั่วทั้งผืนป่า

ตามอาณาเขตของเสือโคร่ง ที่ตัวผู้จะครอบครองราวหนึ่งร้อยตารางกิโลเมตร และในพื้นที่นี้จะมีตัวเมียสามตัว ซึ่งตัวเมียแต่ละตัวจะใช้พื้นที่ราว 50 ตารางกิโลเมตร แต่นักวิจัยพบว่า ขนาดของพื้นที่ ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของประชากรสัตว์ที่เป็นเหยื่อด้วย

เสือโคร่งตัวผู้จะเดินตรวจสอบอาณาเขตของตน และใช้โอกาสนี้แวะเยี่ยมตัวเมีย

กล้องจะตั้งตามด่านที่เสือใช้เดิน บางจุดอยู่ในหุบ บางจุดตั้งบนสันเขา บางจุดไม่ไกลจากแคมป์พัก ขณะบางจุดต้องใช้เวลาเดินเป็นวันๆ

กล้องทุกตัวจะได้รับการตรวจสอบเสมอ อาจต้องปรับตำแหน่งใหม่ เพราะช้างดึงลงมาเล่น เปลี่ยนมุม แม้ว่ากล้องจะอยู่ในกล่องเหล็กรัดด้วยสะลิงแน่นหนา แต่ดูเหมือนช้างจะนับเป็นของเล่นอย่างหนึ่ง

เดินป่าไกลๆ กว่าจะกลับถึงแคมป์ ค่ำมืด การมีน้าร่อยในทีม สบายขึ้น เพราะแกจะรับหน้าที่หุงข้าวโดยไม่ยอมให้ใครแย่ง

เสือโคร่ง – เสือคำราม แยกเขี้ยวขู่ เป็นอาการเตือนไม่ให้เข้าใกล้เกินระยะที่มันอนุญาต

บางวันเมื่อดีกรีขึ้นถึงระดับแล้ว ผมคุยกับน้าร่อย รับฟังเรื่องราวของเขา

ก่อนเข้าร่วมกับทีมตั้งกล้อง น้าร่อยเริ่มงานเป็นคนงานในหน่วยพิทักษ์ป่า

“ผมเกิดในป่านี้แหละครับ ตรงที่เป็นป้อมยามทุกวันนี้นั่นแหละบ้านผม” น้าร่อยเล่าประวัติ

“โตขึ้นมาได้ด้วยอาหารป่า เก้ง, กวาง เคยกินทั้งนั้น”

ก่อนหน้าที่ป่าจะกลับคืนสภาพ และได้รับการประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ป่ามีคนจับจองแผ้วถาง ล่าสัตว์ หาน้ำมันยาง รวมทั้งตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัย

“ช่วงแรกๆ ที่ประกาศเป็นเขตอนุรักษ์นั่น ไม่ค่อยมีใครฟังหรอกครับ พวกล่าไม่มีใครหยุด หลังๆ พวกป่าไม้เอาจริง เลยค่อยๆ ลดลง”

40 ดีกรีพร่องไปอีกครึ่งขวด น้าร่อยพูดมากขึ้น

 

น้าร่อยเข้ามาเป็นคนงานในหน่วยพิทักษ์ป่า เคยไปสอบพิทักษ์ป่า รุ่นเดียวกับพิทักษ์ป่าหลายๆ คนที่ผมรู้จัก

“ผมสอบไม่ติด” น้าร่อยพูดยิ้มๆ และพูดต่อ

“ตอนนั้นผมเกเรครับ ไม่คิดอะไร เป็นทหารได้พักเดียวก็หนี”

ผมมองหน้าที่มีรอยแผลเป็นยาวพาดจากโหนกแก้มถึงคาง

ดูเหมือนว่า กว่าใครสักคนจะได้รับการเรียกว่าน้า ต้องผ่านพบอะไรมาไม่น้อย

 

“ที่จริงผมเป็นคนขี้กลัวนะครับ” น้าร่อยบอกวันหนึ่งตอนเราเดินไปตรวจสอบกลัอง

“อยู่ในป่านี่กลัวสารพัด กลัวช้าง กลัวกระทิง กลัวเสือ กลัวหมดล่ะ ยิ่งถ้าให้เดินหรืออยู่คนเดียวนี่ไม่เอาเลย”

ผมมองน้าร่อยผู้ล่ำสัน และยิ้มๆ

“เอ้า! จริงนะครับ” น้าร่อยกลัวผมไม่เชื่อ “ตั้งแต่ควายตัวนั้นเข้าชาร์จ และผมต้องเข้าโรงพยาบาล เย็บไปกว่าร้อยเข็มนั่นแหละครับ”

“กลัวแต่ไม่เลิกทำงานในป่านี่นะ”

น้าร่อยยิ้มกว้าง ที่พบมา นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่มากับงานที่เราทำ น้าร่อยเข้าใจดี

“ที่จำได้ไม่ลืม ไม่ใช่ควายตัวนั้นครับ แต่เป็นตอนที่ร่วมไปกับชุดลาดตระเวน และปะทะกับคนล่าสัตว์ เพื่อนในทีมเสียชีวิตสามคน”

ผมหยุดเดิน หันกลับมาฟังอย่างตั้งใจ

“สองคนไปคาที่ ส่วนเจ้านนโดนเข้าที่ท้อง อยู่ได้ 6 ชั่วโมงก็ตายในอ้อมแขนผม”

เหตุการณ์ปะทะวันนั้น หลายคนจำได้

เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่มาพร้อมกับงานที่พวกเขาทำ

และเป็นสิ่งที่พวกเขารู้ดี

 

ว่าตามจริง น้าร่อยก็เหมือนกับคนทำงานในป่าคนอื่นๆ นั่นแหละ เชี่ยวชาญในงาน คล่องแคล่ว มีทักษะการใช้ชีวิตในป่าเป็นเลิศ

หลายคนได้รับตำแหน่ง “น้า”

แต่เมื่อใดก็ตาม หากเหล่า “น้า น้า” พวกนี้เข้าเมือง

จากน้าเท่ๆ ก็จะถูกเรียกว่าลุง

“ลุง” ในความหมายของผู้ชายเชยๆ เท่านั้น… •