เหรียญสุคโต วัดอ่างทอง หลวงพ่อรุ่ง ติสสโร วัดท่ากระบือ สมุทรสาคร / โฟกัสพระเครื่อง : โคมคำ

โฟกัสพระเครื่อง

โคมคำ

[email protected]

 

เหรียญสุคโต วัดอ่างทอง

หลวงพ่อรุ่ง ติสสโร

วัดท่ากระบือ สมุทรสาคร

 

“หลวงพ่อรุ่ง ติสสโร” หรือ “พระไพโรจน์วุฒาจารย์” วัดท่ากระบือ ต.บางยาง อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร พระเกจิชื่อดัง ที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธา และรู้จักชื่อเสียงเป็นอย่างดี

สร้างวัตถุมงคลเอาไว้หลายชนิด ในวาระและโอกาสต่างๆ รวมทั้งร่วมพิธีพุทธาภิเษกครั้งสำคัญอยู่เสมอ

ส่วนใหญ่เป็นที่นิยมเสาะหากันแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นตะกรุด เสือยันต์ ผ้ายันต์ ธงยันต์ หนังหน้าผากเสือ แหวนพิรอด ลูกสะกด ฯลฯ

ความนิยมและพุทธคุณมีอยู่หลายรุ่น โดยเฉพาะ “เหรียญรุ่น 1 และรุ่น 2” จนได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง เป็นที่ต้องการอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังมีเหรียญรูปเหมือนอีกรุ่น ที่ได้รับความนิยม คือ “เหรียญสุคโต” วัดอ่างทอง หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือปลุกเสก

สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2479 เป็นเหรียญที่หลวงพ่อรุ่งปลุกเสก ให้วัดอ่างทอง

 

เหรียญสุคโต วัดอ่างทอง หลวงพ่อรุ่งปลุกเสก

ลักษณะเหรียญเป็นรูป 5 เหลี่ยมทรงจั่วแบบมีหูในตัว โดยมีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้จดบันทึกไว้

ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับบนฐานบัว 2 ชั้น (บัวคว่ำ-บัวหงาย) อยู่ภายในซุ้มมีขอบนูนล้อไปกับรูปทรงเหรียญ

ด้านหลัง มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า “สุคโต” ด้านบนยันต์มีตัว “อุ”

กล่าวได้ว่า การสร้างวัตถุมงคลชนิดต่างๆ ของหลวงพ่อรุ่ง ก่อให้เกิดความศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังเป็นผู้ที่มีพลังจิตแก่กล้า

ด้วยเหตุนี้ของดีหลวงพ่อรุ่ง จึงมีคุณวิเศษทั้งทุกด้าน สมกับเป็นพระอาจารย์อันดับหนึ่งที่อยู่ในใจของชาวสมุทรสาครตลอดมา

จนได้ฉายาว่า “เทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำท่าจีน”

 

สําหรับหลวงพ่อรุ่ง ถือกำเนิดในสกุล พ่วงประพันธ์ เมื่อวันเสาร์ แรม 8 ค่ำ เดือน 9 ปีระกา พ.ศ.2416 ที่ ต.หนองนกไข่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร

ในวัยเยาว์เข้าศึกษาความรู้เบื้องต้น ร่ำเรียนหนังสือไทย ขอม ตลอดจนภาษาบาลีและมูลกัจจายน์กับพระอุปัชฌาย์ทับ เจ้าอาวาสวัดน้อยนพคุณ กรุงเทพฯ

ต่อมา เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม 2437 ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 ปี มะเมีย มีพระอุปัชฌาย์ทับ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการบัว วัดใหม่ทองเสน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์เคลือบ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายา ติสสโร

หลังอุปสมบทเพียง 2 วัน ย้ายไปอยู่ที่วัดท่ากระบือ ซึ่งในขณะนั้นมีฐานะเป็นสำนักสงฆ์ มีพระภิกษุร่วม เป็นเจ้าสำนัก

หลังจากนั้น ศึกษาทางพุทธาคมกับพระอาจารย์อีกหลายสำนัก และเดินธุดงค์ไปภาคเหนือบางครั้งเลยเข้าไปในเขตพม่า

ใฝ่ใจศึกษาวิทยาการต่างๆ ทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระ จากพระเกจิอาจารย์หลายรูป เช่น พระอาจารย์เกิด วัดกำแพง จ.สมุทรสาคร, พระอาจารย์หลำ วัดอ่างทอง จ.สมุทรสาคร เป็นต้น

กล่าวกันว่า เป็นสหธรรมิกกับหลวงพ่อเชย วัดท่าควาย จ.สิงห์บุรี มีการแลกเปลี่ยนวิชาความรู้ซึ่งกันและกันด้วย

ต่อมาเมื่อพระภิกษุร่วมสึกออกไป จึงได้รับตำแหน่งเจ้าสำนักสืบแทน

หลังจากนั้นต่อมา สภาพสำนักสงฆ์ ได้รับการยกฐานะกลายเป็นวัดท่ากระบือขึ้นมา ท่านทุ่มเทสติปัญญา กำลังกาย กำลังใจ สร้างวัดท่ากระบือให้เจริญรุ่งเรืองเป็นวัดใหญ่โตวัดหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร

หลวงพ่อรุ่ง ติสสโร

กล่าวถึงประวัติ วัดท่ากระบือ แต่เดิมเป็นเพียงแค่สำนักสงฆ์ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2430 ติดกับแม่น้ำท่าจีน ต่อมาจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นวัด เดิมชื่อว่า “วัดท่าควาย” เนื่องจากเคยเป็นท่าน้ำสำหรับวัวควายลงกินน้ำและเปลี่ยนชื่อมาเป็นวัดท่ากระบือ จวบจนปัจจุบัน

ตามปกติเป็นผู้สนใจในการแสวงหาความรู้อยู่เสมอ เจริญสมถวิปัสสนาในสำนักวัดสุนทรประสิทธิ์ จนมีความรู้แตกฉานในการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน อันเป็นพื้นฐานที่สำคัญให้ท่านมีอำนาจจิตเป็นอย่างสูง สามารถสร้างเครื่องรางของขลังเป็นที่เลื่องลือ

การธุดงค์ทุกครั้ง เมื่อเดินทางกลับมาถึงวัดท่ากระบือ มักจะติดของดีหรือวัตถุมงคล มาแจกให้กับลูกศิษย์อยู่เสมอ

ดังนั้น ลูกศิษย์เมื่อทราบข่าวว่ากลับมาที่วัด จะรีบพากันออกมาจากบ้านตรงไปยังวัดท่ากระบือ เพื่อมนัสการ พร้อมกับถือโอกาสขอวัตถุมงคลได้จากการธุดงค์ในคราวนั้นด้วย

ด้านศีลาจารวัตร เป็นพระที่มีคุณธรรมอันประเสริฐ เคร่งครัดพระธรรมวินัย เปี่ยมไปด้วยเมตตา มีความมักน้อย และถ่อมตน ถือเอกาฉันจังหันวันละมื้อตลอดชีวิต

พัฒนาด้านการศึกษาสำหรับพระภิกษุ-สามเณรและเด็กนักเรียนในชุมชนละแวกวัด โดยสร้างหอเรียนพระปริยัติธรรม รวมถึงโรงเรียนประชาบาลขึ้น

ด้านการเผยแผ่ธรรม แสดงพระธรรมเทศนาอบรมสั่งสอนพุทธบริษัท จัดส่งพระภิกษุไปแสดงธรรมในวันธรรมสวนะ ส่งเสริมการศึกษาปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิภาวนา

 

ลําดับงานปกครอง พ.ศ.2442 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่ากระบือ

พ.ศ.2474 เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2482 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูชั้นประทวน

พ.ศ.2483 ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอกระทุ่มแบน

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2489 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามที่ พระครูไพโรจน์มันตาคม

พ.ศ.2494 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม

พ.ศ.2499 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระไพโรจนวุฒาจารย์

มรณภาพเมื่อวันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2500 สิริอายุ 85 ปี พรรษา 64

พระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2501 •