ทุกความหน้าด้านมีต้นทุน | คำ ผกา

คำ ผกา

อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ เขียนในทวิตเตอร์สั้นๆ ว่า “การยกเครื่องเศรษฐกิจไทย ยากที่จะเกิดขึ้นได้หากไม่มีความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง”

ซึ่งฉันเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ว่านั้นคืออะไร? และจะเปลี่ยนด้วยวิธีไหน?

ดังที่ฉันได้เคยพูดและเขียนไว้ในต่างกรรมต่างวาระว่าทุกครั้งที่เราพูดว่ารัฐบาลประยุทธ์ล้มเหลวในการบริหารประเทศ ล้มเหลวในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ล้มเหลวในการสร้างความมั่งคั่งผาสุกให้กับประชาชนคนไทย

เรารู้ว่าความล้มเหลวนั้นไม่ได้เกิดจากความ “โง่” หรือภาวะขาดไร้ซึ่งความรู้ความสามารถ เพราะฉันเชื่อว่า คนที่ขึ้นมาเป็นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องฉลาด มีวิสัยทัศน์ล้ำเลิศอะไรมาก ขอเพียงแต่มีทีมงาน มีที่ปรึกษา มีคณะทำงานที่ทำงานเป็น เพียงเท่านี้ ประเทศชาติก็ไปต่อได้อย่างไม่ขี้ริ้วขี้เหร่นัก

แต่ปัญหาของรัฐบาลประยุทธ์ไม่ใช่ปัญหาเรื่องความสามารถ ปัญหาของรัฐบาลประยุทธ์คือ นิยามคำว่า “ความสำเร็จในการบริหารประเทศ” ของประยุทธ์ จันทร์โอชา และของเราไม่ตรงกัน

คําว่าบริหารประเทศอย่างประสบความสำเร็จของประยุทธ์ หมายถึง บริหารประเทศอย่างไรให้ตนเองและพวกอยู่ในอำนาจรัฐได้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะยาวนานได้

ดังนั้น สิ่งที่ประยุทธ์และพวกกำลังบริหารอยู่คือบริหารผลประโยชน์ให้กลุ่มและฝ่ายที่ค้ำจุนอำนาจให้ตนนั้นกินอิ่มนอนหลับ และดูเหมือนว่าประยุทธ์และพวกจะทำสำเร็จ

กลุ่มและฝ่ายที่ค้ำจุนอำนาจของประยุทธ์และพวกมีใครบ้าง ก็ตั้งแต่กองทัพทั้งหมด ระบบราชการทั้งหมด พรรคร่วมรัฐบาลที่ประยุทธ์ก็รู้ดีกว่า คนเหล่านี้ต้องได้รับการจัดสรรผลประโยชน์ จนเป็นที่พอใจแลกกับเสียงที่ยกมือสนับสนุนให้ประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ ต่อไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะโดยฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางสักกี่ครั้ง

ถามว่าประชาชนอยู่ตรงไหนในสมการนี้ ก็คงตอบได้ว่า เศษส่วนบุญที่ประชาชนจะได้คือได้ผ่าน “ผลประโยชน์ที่เจียดแบ่งให้พรรคร่วมรัฐบาล” เอาไป “ซื้อใจ” ประชาชนที่เป็นฐานเสียงของตน

ดังนั้น มันจึงเป็นผลประโยชน์ระยะสั้นมากกว่า ผลประโยชน์ระยะยาวผ่านนโยบายที่มุ่งเน้นการ empower ประชาชนในมิติต่างๆ

เมื่อโจทย์คือการผดุงอำนาจ และเมื่อสารตั้งต้นของการขึ้นสู่อำนาจคือการรัฐประหาร ทรัพยากร งบประมาณ จึงไม่ได้มีไว้เพื่อ “พัฒนาประเทศ”

เราจึงต้องงุนงงทุกครั้งกับการจัดลำดับความสำคัญของการใช้งบประมาณ เช่น ทำไมต้องซื้อเรือดำน้ำ ซื้ออาวุธ

หรือมาตรการแก้ปัญหาโควิดในมิติเศรษฐกิจ เราก็จะงุนงงว่า ในจำนวนเงินที่เท่าๆ กัน ทำไมรัฐบาลเลือกทำเรื่องคนละครึ่ง, เราเที่ยวด้วยกัน หรืออะไรที่เป็นเบี้ยหัวแตกมากกว่า จะใช้เงินตรงนั้นไปช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี ท่องเที่ยว เพื่อรักษาอัตราการจ้างงาน (ซึ่งจะยั่งยืนกว่ามาตรการเยียวยาแบบเป็นเบี้ยหัวแตก เป็นต้น) หรือการแจกเงินเยียวยาระยะสั้นถ้วนหน้า ที่จะลดต้นทุนในการคัดกรองผู้รับ ลดภาระงานเอกสาร ก็ไม่ทำ แต่เลือกทำวิธีที่สิ้นเปลืองค่าโสหุ้ย ค่าดำเนินการ เปลืองแรงงาน อีกนัยหนึ่งคือ เพื่อเป็นเหตุผลให้เราต้องมีคนในระบบราชการมากเกินความจำเป็นนั่นเอง

ดังนั้น โจทย์ของรัฐบาลแบบประยุทธ์ คือโจทย์ของรัฐบาลคณาธิปไตย หรือจะเรียกว่าเป็นระบบเก็บส่วย กินเมือง มีระบบราชการอันเทอะทะเป็นเครื่องมือในการรักษาและสืบทอดอำนาจ

(Photo by Jack TAYLOR / AFP)

และมันจึงจริงอย่างที่อาจารย์ประจักษ์กล่าวคือ หากเราไม่เปลี่ยนการเมืองไทยจากระบอบคณาธิปไตยไปสู่การเป็นประชาธิปไตย การยกเครื่องเศรษฐกิจไทย – ที่แปลว่า การพัฒนาเศรษฐกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุดที่หมายถึงความมั่งคั่งและคุณภาพชีวิตของประชาชนจะไม่มีวันเกิดขึ้น

หลายคนอาจจะแย้งว่า หลายๆ ประเทศที่เป็นเผด็จการก็สามารถพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างความมั่งคั่ง ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนได้เหมือนกัน เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม หรือจีนเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ในยุคเฟื่องฟูของทุนนิยม (ภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์) ก็ต้องระบุไปด้วยกว่า รัฐบาลของประเทศเหล่านั้นเป็นเผด็จการ แต่เป็นเผด็จการที่ไม่มี “มือที่มองไม่เห็น” คอยค้ำจุนอำนาจ ต่างจากเผด็จการอย่างหลายประเทศในแอฟริกา ในละตินอเมริกา หรือไทย ที่ตัวเผด็จการหรือรัฐบาลเผด็จการเป็นหุ่นเชิดให้กับประเทศมหาอำนาจ จึงไม่มีความจำเป็นต้อง “เห็นหัว” ประชาชน

ต่างจากประเทศเผด็จการแบบจีน หรือสิงคโปร์ที่แลกกับการได้เป็นเผด็จการครองอำนาจไปยาวๆ ก็จำเป็นต้องเป็นรัฐบาลที่บริหารประเทศให้ “สำเร็จ” สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี ขออย่างเดียวประชาชนห้ามมีสิทธิ์มีเสียง ห้ามวิจารณ์รัฐบาล ห้ามประท้วง ห้ามล้อเลียน ห้ามออกนอกลู่นอกรอย มีชีวิตประหนึ่งเป็นนกน้อยในกรงทองไป มีอาหารอย่างดี มีที่หลับที่นอนอย่างดี แต่ไม่มีอิสระ

โมเดลแบบนี้น่าจะเกิดขึ้นในประเทศลาว เมียนมา และกัมพูชาในระยะเวลาอันใกล้ด้วยเช่นกัน

ความน่ากลัวของระบบแบบนี้คือ ท้ายที่สุดก็ไม่มีอะไรรับประกันว่า ชีวิตนกน้อยในกรงทองจะผาสุกตลอดไป

ดูกรณีประเทศจีนกับนโยบาย zero case กับสถานการณ์โควิด และสิ่งที่เกิดขึ้นกับฮ่องกง เราก็คงพอจะจินตนาการได้

ส่วนประเทศไทยจะออกจากวิกฤตของการเป็นประเทศ “ห้ามพัฒนา” อันเนื่องจากระบอบคณาธิปไตยอันแข็งแกร่ง และกำลังครองอำนาจรัฐอยู่ในเวลานี้ได้อย่างไร?

สำหรับฉันการเปลี่ยนผ่านที่สันติที่สุดก็คงหนีไม่พ้นการเลือกตั้ง และสิ่งที่บั่นทอนที่สุดคงหนีไม่พ้นคำพูดประเภท

เลือกไปก็เท่านั้น อำนาจก็อยู่กับเขา กติกาก็เป็นของเขา

เลือกไปก็เท่านั้น ถึงชนะเลือกตั้งก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล

เลือกไปก็เท่านั้น เดี๋ยวมันก็เอาองค์กรอิสระมายุบพรรค

เลือกไปก็เท่านั้น เป็นรัฐบาลได้แป๊บๆ เดี๋ยวมันก็รัฐประหาร

ฯลฯ

เวลาได้ฟังอะไรแบบนี้ ฉันก็อยากถามพวกเขาเหมือนกันว่า ถ้าไม่เปลี่ยนด้วยวิธีเลือกตั้งเขาจะเลือกวิธีไหน

และถ้าเขาตอบว่าเลือกวิธีปฏิวัติ ฉันก็อยากถามต่อว่า แล้วเขาจะลุกขึ้นเป็นผู้นำการปฏิวัติหรือไม่ ซึ่งร้อยทั้งร้อยจะตอบว่าไม่ เพราะสิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้คือ อวดฉลาดผ่าน “ปาก” ไปวันๆ แล้วก็ทำมาหากินรอวันตายเหมือนคนอื่นนั่นแหละ

ตรงกันข้ามฉันคิดภูมิทัศน์การเมืองไทยเปลี่ยนไปมากนับตั้งแต่ปี 2549 และเราต้องไม่ลืมว่าทุกครั้งที่มีล้อมปราบฆ่าประชาชน ทุกครั้งที่มีการบิดเบือนหลักการยุติธรรม ทุกครั้งที่ใช้เทคนิคทางกฎหมายยุบพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย ทุกครั้งที่จับเยาวชนเข้าคุกเพราะต่อต้านเผด็จการ และทุกๆ วันที่พวกเขาอยู่ในอำนาจอย่างเปล่าดาย ไม่แม้แต่จะ “ซื้อใจ” ประชาชนด้วยนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตประชาชนสักหนึ่งนโยบาย นั่นก็หมายถึงการถลุงต้นทุนความชอบธรรมของพวกเขาลงไปเรื่อยๆ

ต้นทุนความชอบธรรมที่สรรค์สร้างผ่านวาทกรรมคนดี นักการเมืองเลว ธรรมาธิปไตย คนเก่งไม่โกงดีกว่าคนโกงแต่เก่ง ทหารผู้รักชาติ ข้าราชการผู้เสียสละ ผู้พิพากษาและศาลคือสูงสุดแห่งความเที่ยงตรงไร้มลทิน – เราปฏิเสธได้หรือไม่ว่า วาทกรรมเหล่านี้ทำงานไม่ได้อย่างที่มันเคยทำอีกต่อไปแล้ว และเหตุที่อุดมการณ์และวาทกรรมเหล่านี้ ไม่ทำงานก็เนื่องจากต้นทุนของมันถูกถลุงใช้ไปอย่างไม่บันยะบันยังนั่นเอง

ฉันจึงเชื่ออย่างหมดใจว่า หนทางการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นประชาธิปไตยคือ ในทุกๆ ครั้งที่มีการเลือกตั้ง เราในฐานะประชาชนต้องออกไปเลือกพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย พรรคการเมืองที่ชัดเจนว่าต่อต้านการรัฐประหาร ขึ้นบัญชีพรรรคลิ่วล้อเผด็จการ ขึ้นบัญชีดำนักการเมืองที่ไปแปรพักตร์ไปอยู่กับเผด็จการจนวันสุดท้าย ขึ้นบัญชีดำคนที่เคยเข้าร่วมม็อบพันธมิตร ม็อบนกหวีด

เพราะนี่คือการลงโทษทางสังคม เราต้องสร้างบรรทัดฐานว่า ใครก็ตามที่สนับสนุนเผด็จการ คนคนนั้นจะไม่มีที่อยู่ที่ยืนในสังคมหรือถ้ามีก็มีอย่างเจียมเนื้อเจียมตัวที่สุด

ฉันกล้าพูดเลยว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าถ้าพรรคฝ่ายประชาธิปไตยทุกพรรครวมเสียงกันได้เกิน 400 เสียง วันนั้นแหละที่จะเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า การรัฐประหารโดยอ้างว่า “ประชาชนเรียกร้อง” นั้นอ้างไม่ได้อีกต่อไป ย้ำ เสียงของพรรคฝ่ายประชาธิปไตยทุกพรรครวมกันต้องได้เกิน 400 เสียง

และต่อให้มีรัฐประหารอีก เราต้องไม่ลืมว่ามันจะเป็นรัฐประหารที่ต้นทุนสูงขึ้นเรื่อยๆ

และที่สำคัญ มันจะเป็นการรัฐประหารและการขึ้นสู่อำนาจบนซากปรักหักพังและซากโครงกระดูกของประชาชนที่ไม่สามารถหาส่วยมาปรนเปรอผู้มีอำนาจได้อีกต่อไป มันจะเป็นการรัฐประหารเพื่อกลายเป็นรัฐบาลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว และถูกเกลียดชังสาปแช่งจากแม้แต่ประชาชนที่เป็น “สลิ่ม”

อย่าลืมว่า แม้แต่สลิ่มเองก็โหยหาสิ่งที่เรียกว่าเผด็จการโดยธรรม ไม่ใช่เผด็จการโดยควาย

และ 8 ปีหลังการรัฐประหารล่าสุด คนไทยก็ได้ประจักษ์แล้วว่าเราได้เผด็จการโดยธรรมหรือโดยอะไรมากันแน่ ก็ให้มันรู้กันไปจะมีใครกล้าลุกขึ้นมาทำรัฐประหารบนต้นทุน และความเสี่ยงที่สูงขนาดนี้