ทำไมรัสเซียโกรธญี่ปุ่นมาก/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

ทำไมรัสเซียโกรธญี่ปุ่นมาก

 

วันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา กระทรวงต่างประเทศรัสเซียกล่าวว่า ทางการรัสเซียจะถอนการเจรจากับญี่ปุ่น สนธิสัญญาสันติภาพที่ทำไว้หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อตอบโต้การคว่ำบาตรของญี่ปุ่นในสงครามยูเครน

กระทรวงต่างประเทศรัสเซียยังแถลงต่อไปว่า1

“…ญี่ปุ่น รวมสหรัฐอเมริกาและยุโรปกำหนดไปไกลด้วยการลงโทษทางเศรษฐกิจ ตามด้วยการรุกราน ญี่ปุ่นกำลังทำลาย ผลประโยชน์ของรัสเซีย โดยการแสดงจุดยืนไม่เป็นมิตรต่อประเทศ (รัสเซีย-ขยายความโดยผู้เขียน)…”

ทางการรัสเซียยังดำเนินการเพิ่มด้วยการออกจากการเจรจาสันติภาพรัสเซีย-ญี่ปุ่น โดยรัสเซียจะยุติการอนุญาตเดินทางโดยไม่ต้องออกวีซ่าให้แก่คนญี่ปุ่นที่เดินทางไปเยี่ยมเยียนคนญี่ปุ่นที่ตกค้างอยู่ที่นั่น ตามเส้นทางที่รัสเซียควบคุมเกาะที่เรียกว่า อาณาเขตตอนเหนือ (Northern Territories) โดยญี่ปุ่น และ Kuril ตอนใต้ที่คุมโดยรัสเซีย2

รัสเซียยังมีแผนออกจากการเจรจาร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเกาะเหล่านี้ และแผนไม่ขยายสถานะญี่ปุ่นในฐานะ หุ้นส่วน ใน Black Sea Economic Cooperation Framework

ในแถลงการณ์นี้ กระทรวงต่างประเทศรัสเซียกล่าวหา นโยบายต่อต้านรัสเซีย บั่นทอนความผูกพันทวิภาคีระหว่างรัสเซียและญี่ปุ่น

 

ทำไมรัสเซียโกรธญี่ปุ่นมาก

ความจริงแล้ว การบุกโจมตียูเครนของรัสเซีย ผู้นำของเกือบทุกประเทศในโลกต่างไม่เห็นด้วยและประท้วงรัสเซียด้วยวิธีการต่างๆ

ญี่ปุ่นให้เงินช่วยเหลือยูเครน บริษัทเอกชนญี่ปุ่นส่งเสื้อกันหนาว ผ้าห่มให้คนยูเครน บริษัทอสังหาริมทรัพย์ให้ที่พักฟรีชั่วคราว บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นหยุดผลิตรถยนต์ในรัสเซียเนื่องจากขาดแคลนอุปกรณ์บางส่วน สร้างความเสียหายแก่รัสเซียรุนแรงมากกว่าชาติที่คว่ำบาตรอื่นๆ หรือไม่จริงเลย

เหตุที่รัสเซียโกรธญี่ปุ่นมากในกรณียูเครนเกิดขึ้นจาก จุดยืนทางการทูตของญี่ปุ่น และมาตรการทางการทูตญี่ปุ่นสอดคล้องกับชาติตะวันตก ซึ่งรัสเซียรับไม่ได้

ย้อนไปเมื่อกุมภาพันธ์ปีนี้ เมื่อรัสเซียยอมรับการประกาศอิสรภาพและใช้กำลังทหารเข้าไปปกป้อง 2 รัฐอิสระในยูเครนที่สนับสนุนรัสเซีย ญี่ปุ่นประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซีย นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) วิจารณ์การกระทำของรัสเซียว่า สร้างรอยแตกแยกให้กับอธิปไตย บูรณภาพดินแดนและกฎหมายระหว่างประเทศ3

นายกรัฐมนตรีคิชิดะระงับการออกวีซ่าและแช่แข็งทรัพย์สินของบุคคลที่เกี่ยวพันกับรัฐอิสระยูเครน Donetsk และ Luhansk ห้ามการค้าทั้งขาเข้าและขาออกในดินแดนที่ 2 แห่งนี้ ห้ามเปลี่ยนแปลง sovereign Bond ของรัฐบาลรัสเซียในญี่ปุ่น นายกรัฐมตรีคิชิดะโทรศัพท์คุยกับประธานาธิบดียูเครน นายเซเรนสกี สนับสนุนบูรณภาพทางดินแดน ที่สำคัญ ญี่ปุ่นต้องการให้มีการเจรจาสันติภาพในสงครามยูเครน

ครั้นเมื่อกระทรวงต่างประเทศรัสเซียออกแถลงการณ์ว่า การกระทำของญี่ปุ่นกำลังทำลาย ผลประโยชน์ของรัสเซีย วันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นจึงตอบโต้กลับบ้าง

นายกรัฐมนตรีคิชิดะกล่าวในที่ประชุมคณะกรรมการงบประมาณ ในสภาสูงญี่ปุ่นว่า4

“…คำประกาศของรัสเซียเป็นความไม่ยุติธรรมอย่างมาก และไม่อาจยอมรับได้โดยสิ้นเชิง ญี่ปุ่นจะทำการประท้วงอย่างที่สุด…”

นายกรัฐมนตรีคิชิดะกล่าวว่า “…แม้ความจริงนั้น สถานการณ์เป็นเหตุจากการุกรานในยูเครน รัสเซียกำลังเปลี่ยนในความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-รัสเซีย เราไม่สามารถยอมรับได้… เขากล่าวเพิ่มเติมว่า (ญี่ปุ่น-ขยายความโดยผู้เขียน) เพิ่มการคว่ำบาตรและดำเนินการเกี่ยวเนื่อง ต้องแน่วแน่และอย่างต่อเนื่องในความร่วมมือกับชุมชนนานาชาติ…”5

เขายังเน้นว่า จุดยืนพื้นฐานญี่ปุ่นในการแก้ไขประเด็นดินแดนกับรัสเซีย และการสรุปสนธิสัญญาสันติภาพ ต้องไม่เปลี่ยนแปลง…การมอบเกาะ Habomi และ Shikotan ให้ญี่ปุ่นภายใต้แถลงการณ์ร่วม 1956 นั้น สหภาพโซเวียตตกลงแล้ว

แถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศรัสเซียดังกล่าว จะทำให้เกิดความแตกต่าง ตามที่มีการเจรจาระหว่างญี่ปุ่นกับรัสเซียในรอบหลายปีที่ผ่านมาไม่มีผลสำเร็จชัดเจน เราจะเห็นได้ว่า ถ้าหากประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียไม่รักษาสัญญาตามที่สัญญาไว้ก่อนหน้านั้นมาหลายปี จะทำให้ผลสรุปสุดท้ายยุ่งยากมากกว่าเดิม

 

ญี่ปุ่น-รัสเซียก่อนสงครามยูเครน

ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-รัสเซียเป็นจุดเน้นใหญ่ของการทูตญี่ปุ่น ความหวังของความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศมีเพิ่มมากขึ้น ในช่วงการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ (Shinzo Abe) นายกรัฐมนตรีก่อนหน้านายกรัฐมนตรีคิชิดะ นายกรัฐมนตรีอาเบะซึ่งยืนยันว่า การคืนดินแดนตอนเหนือ จะเป็นจุดสูงสุดทางการทูตญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

นายกรัฐมนตรีอาเบะได้จัดประชุมมากกว่า 20 ครั้งกับประธานาธิบดีปูตินในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดีปูตินและอาเบะตกลงมีเป้าหมายเพื่อข้อสรุปที่ยอมรับได้ของการมีส่วนร่วมต่อประเด็น สันติภาพ

และได้ร่วมกันจัดตั้งระบบพิเศษ กิจกรรมร่วมทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและรัสเซีย บนเกาะ 4 เกาะที่จะร่วมกันใช้กฎหมายของทั้ง 2 ประเทศ ภายใต้ระบบนี้ พวกเขาได้เจรจากัน 5 โครงการ รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ทางทะเลและการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดเจาะจงของระบบพิเศษนั้นยังไม่เคยได้ข้อสรุป การเจรจาต่างๆ หยุดลงกลางคัน หลังจากอาเบะพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และโรคระบาดโควิด-19 มาเป็นจุดศูนย์กลางของประเทศญี่ปุ่น

ที่น่าสนใจ เมื่อไม่กี่ปีมานี้ มุมมองแนวแข็งกร้าว เรื่องดินแดนตอนเหนือ กลับมาเติบโตอีกครั้งในรัสเซีย นั่นหมายความว่า มีกลุ่มแนวทางแข็งกร้าวและไม่ยอมคืนหรือประนีประนอมเรื่อง ดินแดนตอนเหนือ ในรัสเซียได้กดดันการเจรจาของทั้งสองประเทศเพิ่มมากขึ้น

แล้วเรื่องดินแดนทางเหนือ ระหว่างญี่ปุ่นและรัสเซียก็มาถึงทางตัน เนื่องจากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรัสเซียปี ค.ศ.2020 อันรวมถึงข้อห้ามการยกดินแดนให้อยู่ด้วย

กล่าวได้ว่า ถึงแม้ว่าการคืนดินแดนตอนเหนือ จะเป็นจุดสูงสุดทางการทูตญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ตาม สงครามยูเครนได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับญี่ปุ่น ด้วยเหตุว่า สงครามยูเครนได้บั่นทอนระบบพันธมิตร ยุทธศาสตร์การป้องกัน และกลไกการป้องกันทุกระดับของญี่ปุ่น อันเป็นหัวใจของระบบความมั่นคงของประเทศญี่ปุ่น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ความมั่นคงญี่ปุ่นสั่นคลอนอย่างรุนแรง

ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงแสดง จุดยืนทางการทูต ประณามการก่อสงครามของรัสเซียต่อยูเครน ยืนยันอธิปไตย บูรณภาพดินแดนของยูเครน และยืนยันให้มีการเจรจาสันติภาพเกิดขึ้น จุดยืนที่สอดคล้องกับชาติตะวันตก จึงถูกตอบโต้จากรัสเซียด้วยการกระแทกไปที่ หัวใจ ของการทูตญี่ปุ่น-รัสเซียคือ การคืนเกาะและปัญหาดินแดนทางตอนเหนือ

ด้วยเหตุนี้ รัสเซียจึงโกรธญี่ปุ่นมาก

1“Russia halts peace treaty talks with Japan over sanction” Nikkei Asia 22 March 2022

2Ibid.,

3Thisanka Siripala, “Amid Ukraine Crisis, Japan Toughens stance on Russia” The Diplomacy 24 February 2022.

4“Russia halts peace treaty talks with Japan over sanction” Nikkei Asia 22 March 2022.

5Ibid.,