ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 - 31 มีนาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | คำ ผกา |
ผู้เขียน | คำ ผกา |
เผยแพร่ |
เป็นเรื่องที่น่าดีใจว่าในสังคมไทยตอนนี้เริ่มมีการถกเถียงกันเกี่ยวกับคุณค่าเชิงประเพณีหลายอย่างที่แต่เดิมเรา take สิ่งเหล่านี้ for granted มากๆ นั่นคือ ยึดถือว่ามันก็เป็นเช่นนั้น มันคือสัจธรรม มันคือความจริงของโลก
เช่น เชื่อว่าแม่ทุกคนต้องรักลูกอย่างไม่มีเงื่อนไข เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดา
หรือเชื่อว่า พ่อแม่มีหน้าที่เลี้ยงดูลูกให้ดีที่สุด จากนั้นเมื่อลูกเติบโตขึ้นก็จะตอบแแทนบุญคุณพ่อแม่ด้วยการเลี้ยงดูพ่อแม่ที่แก่ชราอย่างดีที่สุด
และเรารับรู้ค่านิยมเหล่านี้ผ่าน “ละครคุณธรรม” ต่างๆ ว่าด้วยพล็อตของลูกที่ดี ลูกกตัญญู ทำงานหนัก หาเงิน โดยมีเป้าหมายอยากซื้อบ้าน อยากซื้อรถให้พ่อแม่
ลูกที่ดีคือลูกที่แสดงความกตัญญูด้วยการขนเงินขนทองมากองให้พ่อแม่ หรือถ้าไม่มีเงิน ละครคุณธรรมก็จะฉายภาพของลูกที่ยากจนแต่ตัวเองยอมอดเพื่อให้พ่อแม่อิ่ม ตัวเองยอมลำบากเพื่อให้พ่อแม่สบาย
ตรงกันข้ามลูกที่เลว อกตัญญู ก็จะมีทั้งภาพลูกติดยา ฆ่าพ่อแม่ หรือทำร้ายร่างกายพ่อแม่ ลักขโมย ลูกที่ทิ้งพ่อแม่ให้ลำบาก ส่วนตัวเองอยู่สุขสบาย ลูกที่แต่งงานแล้ว มีครอบครัว ร่ำรวย กินดีอยู่ดี แต่ปล่อยพ่อแม่อดมื้อกินมื้อ ลูกทิ้งพ่อแม่ไปไม่ติดต่อ ไม่ดูดำดูดี ลูกชายที่หลงเมียจนลืมพ่อแม่ ฯลฯ
แต่เดี๋ยวนี้สังคมไทยเริ่มตั้งคำถามว่า คำว่ากตัญญู เป็นข้ออ้างที่ทำให้ “รัฐ” ผลักภาระการสร้างสวัสดิการมาดูแลผู้สูงวัยมาให้กลายเป็นภาระของปัจเจกบุคคลในนามของคำว่ากตัญญู หรือไม่?
ทั้งหมดนี้ไม่ได้แปลว่าเรากำลังส่งเสริมให้คนมีลูกแล้วทิ้งภาระทุกอย่างเกี่ยวกับการดูแลเด็กไปให้รัฐ แล้วพ่อแม่ก็ลัลลา เสวยสุข ไม่ต้องรักลูก เพราะความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกเป็นเพียง “สิ่งประกอบสร้างทางสังคม”
หรือเราส่งเสริมให้ลูกๆ ทอดทิ้ง ทำร้ายพ่อแม่ ไม่ต้องกตัญญุรู้คุณ เพราะนี่ก็เป็น “สิ่งประกอบสร้างทางสังคม” อีกเช่นกัน
แต่ข้อถกเถียงนี้กำลังจะชี้ให้เห็นว่าเรื่อง “ครอบครัว” และคุณภาพชีวิตของพลเมืองในประเทศใดประเทศหนึ่ง มันไม่ใช่เรื่องของคุณธรรมความดีของปัจเจกบุคคลล้วนๆ แต่มันเกี่ยวพันกับการทำหน้าที่ของรัฐอย่างแข็งขันในการอำนวยให้ทั้งความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก หรือความรักของลูกที่มีต่อพ่อแม่ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้สำหรับทุกคน ไม่ว่าเขาจะเป็นคนดีหรือไม่ก็ตาม
เช่น ถ้าฉันเป็นแม่วัยใส ใจแตก มีลูกตอนอายุ 16 เพราะท้องไม่พร้อม แต่ตัดสินใจจะไม่ทำแท้งเก็บลูกไว้ และฉันมีชีวิตอยู่ในประเทศที่มีสวัสดิการในการช่วยเหลือแม่เลี้ยงเดี่ยว ฉันรู้ว่าเด็กทุกคนในประเทศนี้จะได้เรียนฟรีจนจนจบมัธยมปลายหรือมหาวิทยาลัย ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในละแวกที่อยู่อาศัยมีสวนสาธารณะ มีห้องสมุด มีสนามเด็กเล่น และระบบการศึกษาในประเทศเปิดโอกาสสำหรับการเรียนที่หลากหลาย ฉันสามารถเรียนหนังสืออนไลน์ไปพร้อมๆ กับการเลี้ยงลูก หรือหยุดเรียนไปสามปีเพื่อเลี้ยงลูก พอลูกเข้าอนุบาลก็สามารถกลับมาเรียนหนังสือได้อีก หรือสามารถเลือก “เรียน” ในการศึกษานอกระบบในสิ่งที่สนใจ และนำไปประกอบสัมมาอาชีวะได้
ทั้งหมดนี้ก็จะเอื้อให้แม่วัยใสใจแตกคนหนึ่งสามารถเป็นแม่ที่ดี แม่ที่รักลูกได้ เพราะมี “ตัวช่วย” จากโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐอำนวยให้
แม่คนหนึ่งไม่ถูกผลักให้กลายเป็นแม่ใจยักษ์ใจมารจากแรงบีบคั้นทางสังคม เศรษฐกิจ ผลักให้เขาไปอยู่ในจุดที่ต้องถูกสังคมประณามเอาไปเทียบกับหมาว่า “แม้แต่หมายังรักลูก”
ถ้าเรามีโครงสร้างพื้นฐานจากรัฐที่ดูแลเรื่องสุขภาพจิตของประชาชน แม่หลายๆ คนที่เผชิญกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดก็จะไม่กลายเป็นแม่ใจยักษ์ฆ่าลูก (มีเคสที่แม่ลูกอ่อนหลายคนฆ่าลูกตัวเองตายเพราะภาวะซึมเศร้า โดยมากเกิดจากความกลัวว่าจะเลี้ยงลูกได้ไม่ดี กลัวว่าตัวเองจะเป็นแม่ที่บกพร่องทำให้ลูกเติบโตไปมีชีวิตที่ลำบาก ทำให้ลูกตายเลยตัดสินใจฆ่าลูกก่อน)
ถ้าเรามีรัฐบาลที่ดีลกับปัญหายาเสพติดในแนวทาง harm reduction หรือการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด ผู้หญิงท้อง หรือแม่หรือพ่อที่ติดยาก็จะสามารถทำหน้าที่พ่อและแม่ที่ฟังก์ชั่นได้ในระดับหนึ่ง เพราะเขาจะได้รับการดูแลให้ใช้ยาในปริมาณที่เหมาะสม พอที่จะเลี้ยงลูกได้ ทำงานได้ แทนที่จะผลักพวกเขาให้กลายเป็น “คนเลว” ของสังคมโดยสิ้นเชิงเพราะไม่มีทางเลือกอะไรในชีวิตเพียงเพราะเขายังต้องพึ่งพิง “ยา” ในการมีชีวิตอยู่
ยิ่งสังคมไทยซึ่งถูกแช่แข็ง ขาดการพัฒนาประเทศในทุกด้านมาตั้งแต่เกิดรัฐประหารในปี 2549 ทำให้เรามีปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เรายิ่งต้องรู้เท่าทัน “ละครคุณธรรม” ให้มากขึ้นว่า การมีชีวิต หรือมีพฤติกรรมที่ decent อยู่ในร่องในรอยนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ “สันดาน” ส่วนตัวของปัจเจกบุคคลเท่ากับขึ้นอยู่กับโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐสร้างให้พลเมืองมีความสามารถหรือมีทางเลือกที่จะมีชีวิตให้อยู่ในร่องในรอย
และด้วยเหตุดังนั้น เราจึงต้องการรัฐสวัสดิการมากกว่าต้องการละครคุณธรรมที่ยิ่งซ้ำเติมสังคมให้กลายเป็นคนใจแคบ ขาดความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีแนวโน้มจะสร้างสังคมที่ชอบปาหินลงโทษคนอื่นบนคำพิพากษาของศาลเตี้ย สะใจกับการได้ประชาทัณฑ์คนชั่ว
เป็นสังคมที่ใช้การชี้นิ้วไปที่คนอื่นว่าเลว ว่าชั่ว เพื่อปกปิดความบกพร่องอ่อนแอของตนเอง
เป็นสังคมที่ใช้การทำบุญทำทานเป็นสัญลักษณ์อันตื้นเขินเพื่อสร้างความ “ขาว/คุณธรรม” สำเร็จรูปให้ตัวเอง
เป็นสังคมที่ใช้ละครคุณธรรม ดี-ชั่ว, ขาว-ดำ ของปัจเจกบุคคลไปทำความเข้าใจโลกที่มีทั้งโครงสร้าง สังคม การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ที่คอยประกอบสร้างความเป็น “คน” ของเราทุกคนตั้งแต่เกิดจนตาย
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้คน “สมัยนี้” อภิปรายกันเรื่องหน้าที่ดูแลคนแก่ เป็นหน้าที่ของรัฐ ไม่ใช่หน้าที่ของลูกมากขึ้น ก็เพราะความล้มเหลวของรัฐบาลเผด็จการที่ขึ้นมามีอำนาจรัฐหลังรัฐประหาร หนึ่งในความล้มเหลวที่ชัดเจนที่สุดคือความเหลวในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
พูดง่ายๆ คือ ยิ่งบริหาร ประชาชนก็ยิ่งยากจนลงเรื่อยๆ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจทวีความรุนแรงสูงขึ้น
ในอดีตเรามีปัญหาความยากจน แต่เป็นความยากจนอันเกิดจากความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดช่องว่างของสังคมเมืองและสังคมชนบท ทรัพยากรต่างๆ กระจุกตัวอยู่ในเมือง “เมือง” ดูดซับทรัพยากรส่วนเกินจากชนบทมาสร้างความมั่งคั่งให้กับเมือง
จากนั้นคนในชนบทก็ต้องเข้ามาหางานทำเมือง เป็นกรรมกรใช้แรงงาน กลายมาเป็นคนจนเมือง ในชนบทเหลือแต่คนแก่และเด็ก ชนบทยิ่งถูกทอดทิ้ง เป็นปัญหาวนลูปไปแบบนี้
จนบ้านเมืองเริ่มเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นในทศวรรษที่ 80 ชนบทไทยเริ่มลืมตาอ้าปาก เริ่มมีโรงเรียนดี มีมหาวิทยาลัย เริ่มมีภาคอุตสาหรรม ท่องเที่ยวไปเติมเศรษฐกิจในชนบท จนพีกที่สุดหลังวิกฤตปี 2540 ที่คนในเมืองกลับไปตั้งรกรากในต่างจังหวัดมากขึ้น
และพีกอีกในสมัยทักษิณ ชินวัตร ที่มีโอท็อป วิสาหกิจชุมชน บวกกับการกระจายอำนาจในรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น ภาพความเหลื่อมล้ำของเมืองกับชนบทเริ่มเบาบางลง และความเป็น “เมือง” ได้ขยายไปสู่ “หัวเมือง” อย่างจริงจังเป็นครั้งแรก
แต่การรัฐประหารได้ทำลายการกระจายการพัฒนา และความเจริญนั้นลง พร้อมกับทำลายความเข้มแข็งของของชนบทที่กำลังจะก่อร่างสร้างตัวให้อ่อนล้าลงไปจนแทบจะกลับไปเหมือนยุคที่เราเพิ่งเริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 กันใหม่
หนักกว่านั้นผลพวงจากการพัฒนาเศรษฐกิจในแนวทางเสรีนิยมใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคที่เราเริ่มมีประชาธิปไตยก็ได้ส่งผลออกมาด้วยเช่นกัน (ซึ่งถ้าประชาธิปไตยยังอยู่ เราก็หวังว่าจะได้เห็นการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจจากเสรีนิยมไปสู่กึ่งเสรีนิยม กึ่งรัฐสวัสดิการมากขึ้น)
นั่นคือภาวะที่เรียกว่า modern poverty
Modern poverty ในประเทศโลกที่ 1 อย่างอเมริกานั้นเป็นกรณีอย่างที่เรามักอ่านเจอกันบ่อยว่าคนเจนวายยากจนกว่าคนในรุ่นก่อนหน้า หรือคนในยุคเบบี้บูมเมอร์ สามารถซื้อบ้าน ซื้อรถ สร้างฐานะได้เป็นปึกแแผ่นในขณะที่คนเจนวายในช่วงอายุเท่ากันกลับเป็นกลุ่มคนที่รายได้น้อย จนไม่เพียงพอที่จะมีบ้านมีรถ แต่งงานมีลูก สร้างครอบครัวได้เลย และความยากจนนี้ไม่ได้เกิดจากการขาดการศึกษา หรือจนเพราะพ่อแม่ยากจนอยู่แล้ว
ภาวะ modern poverty เห็นได้จากการที่คนอายุยี่สิบปลายๆ สามสิบต้นๆ จำนวนไม่น้อย เรียนจบปริญญาตรี ปริญญาโท การศึกษาดี ความรู้ดี มาจากครอบครัวที่พ่อแม่เป็นชนชั้นกลาง ค่อนข้างมีการศึกษาด้วยซ้ำ แต่คนเหล่านี้หางานทำไม่ได้ หรืองานที่ได้ก็อยู่ในเมืองที่ค่าเช่าแพงจนเงินเดือนที่ได้รับไม่พอที่จะจ่ายค่าเช่าได้ อีกทั้งพวกเขายังต้องแบกรับภาระการใช้หนี้เงินกู้เพื่อการศึกษา หรือคนเหล่านี้ได้งานอัตราจ้างซึ่งเป็นงานชั่วคราว
คนจบปริญญาเอกจำนวนไม่น้อยต้องเร่ร่อนไปรับทุนเรียนหรือวิจัยระดับหลังปริญญาเอกไปเรื่อยๆ เพราะยังหางานประจำทำไม่ได้ และการแข่งขันก็สูงมาก
หรือในวงการสื่อสารมวลชน สิ่งพิมพ์ ที่เคยเป็นที่รองรับแรงงาน เก๋ๆ ชิกๆ จำนวนมากก็ล้มหายตายจากไป เท่ากับตลาดแรงงานก็คับแคบลง
คนเจนวายจำนวนมากจึงมีตัวเลือกของงานน้อยลง ขณะเดียวกันหนี้สินจากเงินกู้เพื่อการศึกษาก็จ่อคอหอยมาทุกเดือน
ทางเลือกของคนเหล่านี้คือยอมทำงานในอัตราจ้างงานชั่วคราว เงินเดือนต่ำ ไม่มีสวัสดิการ อาจต้องอาศัยนอนในรถ อาบน้ำตามปั๊ม ทั้งๆ ที่มีอาชีพสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย
หลายคนเลือกจะอยู่กับพ่อแม่ เพื่อประหยัดค่าเช่าบ้าน อาหาร แต่ก็แลกมากับการที่ไม่มีงานทำ เพราะในเมืองที่พ่อแม่มีบ้านอยู่นั้นไม่มีงานที่ตรงกับที่เรียนมาให้ทำ
หรือก็ต้องเลือกไปทำงานใช้แรงงานอย่างพนักงานขายใน wallmart หรือร้านฟาสต์ฟู้ดไปเลย ซึ่งก็ยากอีก เพราะปัจจุบันงานแบบนี้มีแนวโน้มจะใช้หุ่นยนต์ หรือระบบอัตโนมัติมาทำแทนคนมากขึ้นเรื่อยๆ
คนมีการศึกษาสูงแต่ว่างงานเหล่านี้จำนวนมากจึงแทบจะไม่ต่างจากโฮมเลส อาศัยแสตมป์แลกอาหารที่รัฐบาลสงเคราะห์ ซื้อเสื้อผ้าจากร้านมือสองการกุศลใส่ และแน่นอนเป็นภาระของพ่อแม่ที่เกษียณแล้วให้เลี้ยงดูต่อ ทั้งๆ ที่ควรจะออกจากบ้านไปอยู่ได้ด้วยตนเองตั้งแต่จบปริญญาตรี
และหากคิดเรื่องสังคมสูงวัยก็ต้องมาเจอกับปัญหาว่า แทนที่ลูกที่ยังอายุน้อยจะได้มาดูแลพ่อแม่ กลับต้องมาเป็นภาระของพ่อแม่ และหากพ่อแม่แก่ ป่วย ช่วยตัวเองไม่ได้ ผลก็คือ ครอบครัวนั้นก็จะไม่มีใครช่วยใครได้เลย นอกจากต้องผลักภาระนี้ไปให้รัฐโดยสิ้นเชิง
และสิ่งนี้มันก็เกิดขึ้นกับประเทศไทยด้วย เพิ่มเติมคือภาวะความยากจนในชนบทก็ยังอยู่ และเราไม่ได้อยู่ในสังคมที่รุ่นเบบี้บูมเมอร์ได้สถาปนาตัวเองเป็นชนชั้นกลางได้ถ้วนหน้า มีบ้าน มีรถ มีเงินเกษียณ
พูดได้ว่า เราเผชิญกับภาวะที่ความยากจนของสังคมแบบเก่าก็ยังอยู่และถูกสำทับด้วยความยากจนสมัยใหม่คือ คนเจนวายเรียนจบแล้วหางานทำไม่ได้ หรือหาได้เงินเดือนก็ไม่พอค่าเช่าหอ ค่าเดินทาง ค่ากิน ต้องขอเงินจากพ่อแม่มาเติมอยู่ดี หรือคนในวัยสามสิบต้นๆ สี่สิบต้นๆ เพิ่งสร้างครอบครัว ผ่อนบ้านผ่อนรถ ส่งลูกเรียนหนังสือจนแทบไม่เหลือหลักประกันอะไรสำหรับชีวิต อย่าว่าแต่จะไปเลี้ยงดูพ่อแม่ตามคอนเซ็ปต์ลูกกตัญญู
เมื่อเป็นเช่นนี้ แรงกดดันจากคนเจนวายลงมาที่ไม่ต้องการถูกกดทับ พิพากษาว่าเป็นลูกที่เลว ลูกอกตัญญู จึงกลายเป็นการเรียกร้องให้รัฐต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับสังคมผู้สูงวัย เลี้ยงดูพ่อแม่ที่แก่เฒ่า เพราะพวกเขาเองรู้ตัวว่า ไม่น่าจะดูแลพ่อแม่ไหว เพราะลำพังตัวเองยังดูแลตัวเองไม่ได้
ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า ไลฟ์สไตล์ ค่านิยม คุณธรรมในสังคมล้วนแต่หล่อเลี้ยงด้วยโครงสร้างการเมืองเศรษฐกิจทั้งสิ้น ถ้ารัฐอยากหล่อเลี้ยงค่านิยมคุณธรรม กตัญญู รัฐต้องออกแบบโครงสร้างเศรษฐกิจ โครงสร้างเงินเดือนให้คนหนุ่มสาวมีรายได้มากพอที่จะเลี้ยงดูพ่อแม่พวกเขาได้ การโฆษณาชวนเชื่อเรื่องคุณธรรม ค่านิยมนั้นถึงจะสำเร็จ
ถ้าจะเลือกหนทางแบบเสรีนิยม อนุรักษนิยม ก็คือสร้างเศรษฐกิจแห่งความมั่งคั่ง+ค่านิยมคุณธรรม กตัญญู
ถ้าจะเลือกแบบประชาธิปไตยสังคมนิยม ก็คือสร้างรัฐสวัสดิการ และคุณค่าว่าด้วยคนเท่ากัน
ถ้าจะเลือกแบบเผด็จการอำนาจนิยม ก็คือสร้างวัฒนธรรมคอร์รัปชั่นทุกวงการ+ค่านิยมคุณธรรม กตัญญู
คนไทยอย่างเราๆ อยากได้สังคมแบบไหน ก็น่าเอาไปอภิปรายกันต่อ