“หมี่ร่ายลายขอน้อยนาคคู่” คว้าสุดยอดผ้าจังหวัดชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ จัดประกวดสุดยอดผ้าจังหวัดชัยภูมิ ประจำปี 2567

“หมี่ร่ายลายขอน้อยนาคคู่” คว้าสุดยอดผ้าจังหวัดชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ จัดประกวดสุดยอดผ้าจังหวัดชัยภูมิ ประจำปี 2567 ทุกภาคส่วนพร้อมใจ “อนุรักษ์มรดกภูมิปัญญา ร่วมสืบสานตำนานผ้าชัยภูมิ”

วันนี้ (10 พ.ค. 67) นายอนันต์ นาคนิยม ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เปิดเผยว่า จังหวัดชัยภูมิ ได้จัดประกวดสุดยอดผ้าจังหวัดชัยภูมิ ประจำปี 2567 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ซึ่งตนในฐานะประธานกรรมการประกวดสุดยอดผ้าจังหวัดชัยภูมิ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการประกวดสุดยอดผ้าจังหวัดชัยภูมิ ประจำปี 2567 ดำเนินการพิจารณาตัดสินผ้าที่ส่งเข้าร่วมการประกวดฯ โดยมีนางศิริพร นาคนิยม ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดชัยภูมิ นางสาวอรอาภา โล่ห์วีระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ นางสาวษมาพร คงควร ผู้อำนวยการศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ชัยภูมิ นางสาวสุริยา สุระเสียง วัฒนธรรมจังหวัดชัยภูมิ นางธิดารัตน์ อากรตน ประชาสัมพันธ์จังหวัดชัยภูมิ ดร.คมกฤช ฤทธิ์ขจร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประวัติผ้า นางสุดสงวน อ้อทอง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการย้อมสีธรรมชาติ นางดารุณี ธัญญะภูมิ ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านผ้าไหมมัดหมี่ และนายโดมทอง ดิเรกศิลป์ พัฒนาการจังหวัดชัยภูมิ ร่วมเป็นกรรมการพิจารณาคัดเลือกสุดยอดผ้าจังหวัดชัยภูมิ

นายอนันต์ นาคนิยม ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มีผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และช่างทอผ้าในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ จากทั้ง 16 อำเภอ ส่งผ้าไหมมัดหมี่ ย้อมสีธรรมชาติ เข้าร่วมประกวดรวมทั้งสิ้น จำนวน 82 ผืน ซึ่งคณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกผ้าจำนวน 10 ผืน เพื่อพิจารณาประกวดในรอบชิงชนะเลิศ โดยมีเกณฑ์การพิจารณา รวมจำนวน 100 คะแนน ดังนี้ 1. ลวดลายมีความสวยงาม คมชัด สม่ำเสมอ จำนวน 40 คะแนน 2. ความสม่ำเสมอของสีและเนื้อผ้า จำนวน 30 คะแนน และ 3. ความเรียบร้อยของผืนผ้า จำนวน 30 คะแนน

นายอนันต์ นาคนิยม ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ กล่าวต่อว่า สำหรับการประกวดสุดยอดผ้าจังหวัดชัยภูมิ ประจำปี 2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในเรื่องการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย และน้อมนำแนวพระดำริโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผ่านการสืบสาน รักษา และต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทย งานหัตถศิลป์ หัตกรรมไทย ส่งเสริมการผลิตและแปรรูปผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Sustainable Fashion) เป็นที่นิยมในการใช้และสวมใส่ผ้าไทยให้สนุกทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส และสามารถจำหน่ายและแข่งขันในตลาดได้อย่างยั่งยืน

นายอนันต์ นาคนิยม ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ การจัดประกวดผ้าฯ ยังเป็นการอนุรักษ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่จังหวัดชัยภูมิ ให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น องค์ความรู้ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการพัฒนาต่อยอดสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย และช่างทอผ้า ตลอดจนเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ้าไหมมัดหมี่ชัยภูมิให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย และเพื่อคัดเลือกสุดยอดผ้าไหมมัดหมี่จังหวัดชัยภูมิ ที่ผ่านหลักเกณฑ์การประกวด และได้รับการคัดเลือกสามารถนำไปเป็นต้นแบบให้แก่ผู้สนใจและบุคคลทั่วไปได้

“ในรอบชิงชนะเลิศ คณะกรรมการฯ ได้ให้เจ้าของผ้า จำนวน 5 ผืน นำเสนอเรื่องราวผลิตภัณฑ์ (Story) ลวดลาย และการย้อมสีธรรมชาติ ซึ่งคณะกรรมการได้พิจารณาตัดสินให้ผ้าที่ได้รับรางวัล ดังนี้ 1. รางวัลชนะเลิศ ได้รับเกียรติบัตร และเงินรางวัล 50,000 บาท ได้แก่ ผ้าไหมมัดหมี่ ลายหมี่ร่ายขอน้อยนาคคู่ โดย นายเนติพงศ์ กระแสโสม กลุ่มไหมมีชัย อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ 2. รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้รับเกียรติบัตร และเงินรางวัล 30,000 บาท ได้แก่ ผ้าไหมมัดหมี่ข้อหมี่คั่น ลายนาคเครือน้อย นาคเอี้ยโคม/นาคเอี้ยโคมเจ็ด โดย นายสุวิทย์ รักมณี กลุ่มทอผ้าไหมพื้นบ้านชุมชนโนนสำราญ อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ 3. รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้รับเกียรติบัตร และเงินรางวัล 20,000 บาท ได้แก่ ผ้าไหมมัดหมี่ ลายแมงมุม โดย นางบัวขาว ชนพิทักษ์ กลุ่มสืบสานภูมิปัญญาผ้าทอไหม ศูนย์เรียนรู้ด้านหม่อนไหมแบบครบวงจรของมูลนิธิชัยพัฒนา อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ 4. รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้รับเกียรติบัตร และเงินรางวัล ๆ ละ 10,000 บาท ได้แก่ ผ้าไหมมัดหมี่ ลายดอกรักราชกัญญา โดย นางสะณีนาจ พิพัฒนชัยภูมิ อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ และผ้าไหมมัดหมี่ ลายหมี่ข้อหมี่คั่นโบราณ โดย นางกิมหลั่น แรงโนนแดง กลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านเขว้าวัฒนา อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ” นายอนันต์ฯ กล่าว

นายอนันต์ นาคนิยม ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ กล่าวต่อว่า หลังจากนั้น จังหวัดชัยภูมิ ได้จัดงาน “อนุรักษ์มรดกภูมิปัญญา ร่วมสืบสานตำนานผ้าชัยภูมิ” เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการ “อนุรักษ์มรดกภูมิปัญญา ร่วมสืบสานตำนานผ้าชัยภูมิ” ซึ่งมีหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP และช่างทอผ้า เข้าร่วมงานกว่า 1,500 คน โดยภายในงานมีกิจกรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการประกวดสุดยอดผ้าจังหวัดชัยภูมิ ประจำปี 2567 ร่วมรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน การจัดนิทรรศการตำนานผ้าชัยภูมิ และผ้าประจำอำเภอทั้ง 16 อำเภอ การแสดงหัตถศิลป์ผ้าถิ่นไทยชัยภูมิ การแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าไทยใส่ให้สนุก และการออกร้านจัดแสดงและจำหน่ายผ้าทอมือ มียอดจำหน่ายกว่า 190,300 บาท

นายอนันต์ นาคนิยม ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผ้าที่ผู้ประกอบการส่งเข้าประกวดล้วนแต่เป็นผืนผ้าที่มีความงดงามและประณีตอย่างแท้จริง ซึ่งภายในงานนอกจากมีการประกวดผ้าจังหวัดชัยภูมิแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมเดินแบบแฟชั่นผ้าไทยโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ ซึ่งตัดเย็บแบบประยุกต์ให้ดูทันสมัย และมีการจัดกิจกรรมออกบูธจำหน่ายผ้าไหมจากกลุ่มผู้ประกอบการต่าง ๆ ในจังหวัดชัยภูมิ สร้างรายได้เพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกอบการด้วย

นายอนันต์ นาคนิยม ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ กล่าวในช่วงท้ายว่า จังหวัดชัยภูมิมีชื่อเรื่องของผ้าไหม ไม่แพ้จังหวัดอื่น ๆ ถือเป็น Soft power อันดับต้น ๆ ของจังหวัด การประกวดครั้งนี้เน้นที่ไหมมัดหมี่ ย้อมสีธรรมชาติ ซึ่งในปีต่อไปอาจจะเน้นประกวดผ้าชนิดอื่น ๆ เช่น ผ้าขิด หรือผ้าที่ทอด้วยเทคนิคผสม เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ส่งเสริมธุรกิจผ้าไหม ให้มีความคึกคัก เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ในทุกระดับ ตั้งแต่ต้นน้ำ คือ กลุ่มปลูกหม่อน เลี้ยงไหม กลางน้ำ คือ กลุ่มผู้ผลิต มัดหมี่ ย้อมสี ทอผ้า และสุดท้ายปลายน้ำ คือ กลุ่ม ออกแบบ ตัดเย็บผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทั้งเสื้อ ผ้า เครื่องใช้สอย ออกจำหน่าย ทั้งนี้ ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน นักท่องเที่ยว ที่เข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดชัยภูมิ ช่วยสนับสนุนสินค้าผ้าชัยภูมิ กลับเป็นของฝากของที่ระลึก ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจนำรายได้มาสู่ชุมชม ส่งผลให้เงินหมุนเวียนในจังหวัดและกระจายไปถึงพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างโอกาส สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

#WorldSoilDay #วันดินโลก
#UN #FAO #GlobalSoilPartnership #MOI
#กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข
#SoilandWaterasourceoflife
#SustainableSoilandWaterforbetterlife
#ดินดีน้ำดีชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน
#SDGsforAll #ChangeforGood