สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ท้องถิ่นกับการศึกษา กรณีศึกษาเทศบาลภูเก็ต (1)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

เทศบาลนครภูเก็ตมุ่งดูแลและพัฒนาการเรียนรู้ประชาชนทุกคน ตลอดทุกช่วงวัยอย่างมีคุณภาพ ตามวิถีนครภูเก็ตเพื่อให้เด็กเยาวชนภูเก็ตทุกคนเป็นคนดี มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตใจและค่านิยมนครภูเก็ตที่สมบูรณ์และมีคุณธรรมความรับผิดชอบและเสียสละต่อนครภูเก็ต รวมทั้งมีทักษะด้านวิชาการที่สามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้

สถานศึกษาของเทศบาลนครภูเก็ตทุกแห่งสามารถดึงและขัดเกลาทักษะความสามารถของผู้เรียนทุกคนเป็นรายบุคคลให้เป็นเลิศในระดับชาติได้ ผู้สำเร็จการศึกษาจากเทศบาลนครภูเก็ตทุกคนมีทักษะการทำงานเป็นมืออาชีพตรงตามความต้องการในตลาดแรงงาน ภูมิใจในความเป็นคนนครภูเก็ตและรักการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ภาพข้อความ “วิสัยทัศน์เทศบาลนครภูเก็ต” ถูกฉายขึ้นจอหน้าเวที ในห้องประชุมโรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน จังหวัดภูเก็ต เมื่อเช้าวันที่ 26 เมษายน 2559 เพื่อเป็นกรอบคิดให้ผู้เข้าประชุมได้ร่วมแสดงความเห็น โดยมี นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต และทีมผู้บริหาร รับฟังตลอดรายการ

พวกเขา ทั้งคณะผู้บริหารเทศบาล ผู้บริหารโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง นักเรียน กรรมการสถานศึกษา ชมรมศิษย์เก่า ผู้ประกอบการธุรกิจ ผู้แทนชุมชน กว่า 200 คน มาร่วมเวทีประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อออกแบบพิมพ์เขียวทางการศึกษาของเทศบาลนครภูเก็ต โดยใช้ฐานข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการสถานศึกษาเป็นแนวทางการออกแบบ เริ่มตั้งแต่วันแรก วันที่ 25 เมษายน รับฟังแนวคิดและแนวทางปฏิบัติ การเปิดข้อมูลสารสนเทศระบบการศึกษานครภูเก็ต และทิศทางการศึกษาในปีการศึกษา 2560-2563

จากวิทยากร นพ.ศุกร บัวสาย ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ซึ่งร่วมกับเทศบาลนครภูเก็ตพัฒนาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศเพื่อบริหารจัดการข้อมูลสถานศึกษา โดยมี ดร.วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้ศึกษาวิจัยและพัฒนา เสนอรูปแบบและสาระการบริหารจัดการข้อมูลสถานศึกษา เพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชน และพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน

ควรต้องบันทึกและจัดระบบข้อมูลด้านใดบ้าง การศึกษา ครอบครัว สุขภาวะ ฯ ทั้งของนักเรียน ครู และการบริหารจัดการโรงเรียนให้เป็นมาตราฐาน สามารถเชื่อมโยงเพื่อใช้ร่วมกันได้ เริ่มต้นจากโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครภูเก็ต 7 โรง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 4 ศูนย์กับศูนย์เยาวชน 1 ศูนย์

 

ผู้เข้าร่วมประชุมแบ่งเป็น 8 กลุ่มตามรายโรงเรียน รับฟัง นำเสนอความเห็น ระดมความคิด หาบทสรุปทิศทางการศึกษานครภูเก็ต จะไปทางไหน เป้าหมายและตัวชี้วัดคืออะไร กระบวนการเป็นอย่างไร เริ่มจากขั้นตอนใด เพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงปัจจุบันและอนาคต

ทุกฝ่ายล้วนเห็นตรงกัน จากประสบการณ์การพัฒนาการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เริ่มต้นจากการจัดการระบบและการใช้ข้อมูลสารสนเทศเพราะเป็นสิ่งบ่งบอกสภาพจริงของปัจจัยต่างๆ ที่เป็นเงื่อนไขการแก้ปัญหาและพัฒนาโรงเรียนในทุกด้าน

“การแก้ปัญหา การกำหนดทิศทางการจัดการศึกษา เรื่องของข้อมูลและระบบสารสนเทศเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมาก” นายกเทศมนตรีหญิง กล่าวเปิดเวทีวันแรก

ประสบการณ์บริหารเทศบาล ตั้งแต่เป็นเทศมนตรี 14 ปี จนมาเป็นนายกเทศมนตรี 3 สมัย อีก 12 ปี สนใจติดตามความเป็นไปและทุ่มเทด้านการศึกษา ไปร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในพื้นที่ ระดับประเทศและต่างประเทศหลายแห่ง ถูกถ่ายทอดออกมาด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย แต่ลึกซึ้ง

“เปรียบได้กับคนป่วยที่ต้องการการวิเคราะห์โรคอย่างถูกต้อง ไม่อย่างนั้นก็จะให้ยาหรือวิตามินได้ไม่ตรง เช่นเดียวกับข้อมูลที่เที่ยงตรงในการจัดการศึกษาและระบบสารสนเทศจะช่วยในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในด้านต่างๆ ได้อย่างชัดเจน”

“การจัดทำระบบฐานข้อมูลสารสนเทศการศึกษาของโรงเรียนเพื่อรวบรวมมาใช้จะทำให้โรงเรียนทั้ง 7 แห่งสามารถผลิตหรือสร้างแด็กและเยาวชนที่มีคุณสมบัติตามที่คาดหวังได้ รวมไปถึงยังสามารถสนับสนุนส่งเสริมให้เด็กแต่ละคนที่มีความถนัดแตกต่างกันให้ค้นพบศักยภาพของตัวเองและเดินไปในทิศทางที่ตัวสนใจและถนัดได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาการ ศิลปะหรือกีฬา โดยไม่เน้นไปที่เรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงด้านเดียว”

“ถ้ามีระบบฐานข้อมูลเราจะรู้ได้ทันทีว่าวันนี้เรามีครูกี่คนที่ทำเรื่องเกี่ยวกับเด็ก มีครูกี่คนที่ทำเรื่องที่ไกลจากตัวแด็ก ผลักเด็กออกจากห้อง หรือพาเด็กกลับเข้ามาในห้อง สิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับเรื่องคุณภาพของการจัดการศึกษา ดังนั้น การเอาข้อมูลมาเปิดและใช้ประโยชน์ไม่ว่า เด็กออกกลางคัน เด็กยากจน หรือผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา จะทำให้แก้ปัญหาได้ตรงจุด เหมือนการรักษาโรคของแพทย์ต้องมีข้อมูลที่แม่นยำ”

“โดยเฉพาะการปฏิรูปการศึกษาเชิงพื้นที่ เพราะท้องถิ่นอยู่ใกล้ชิดกับเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นลูกหลานของเรา ที่สำคัญการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่หรือในระดับท้องถิ่นสามารถทำได้ง่ายเพราะมีขนาดกะทัดรัด การแก้ไขปัญหาและตอบสนองต่อความคาดหวังต่างๆ ของโรงเรียนทำได้ง่ายและรวดเร็วกว่า” เธอย้ำ

ที่ผ่านมาโรงเรียนไม่เคยชินกับการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งเป็นความลับของแต่ละโรง อาจเพราะกลัวถูกตำหนิ หรืออายว่ามีปัญหา การเปิดเผยจะกลายเป็นประจานตัวเองให้คนอื่นรับรู้ การแก้ปัญหาจึงเป็นไปแบบตัวใครตัวมัน

 

ผมมีโอกาสตาม นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานมูลนิธิสดศรี สฤษดิ์วงศ์ และสยามกัมมาจล ครูใหญ่ด้านการศึกษาไปร่วมสังเกตการณ์เวทีประชุมวันที่สองได้ฟังแง่มุมต่างๆ สะท้อนถึงบทบาทขององค์กรปกครองท้องถิ่นในการส่งเสริมสนับสนุนการศึกษา พัฒนาไปถึงระดับจัดการจัดศึกษาเองอย่างมีคุณภาพที่ชัดเจน

แต่พวกเขาก็ยังไม่หยุดเพราะมีปัญหาที่จะต้องแก้และพัฒนาการบริหารจัดการโรงเรียน นักเรียน และครูให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลง คณะทีมผู้บริหาร ตั้งแต่นายกเทศมนตรี รองนายก ผอ.สำนักการศึกษาฯ มาร่วมฟังเสียงวิจารณ์ ข้อเสนอแนะ จัดทำแผนยุทธศาสตร์ พิมพ์เขียวต่างๆ ร่วมกับครู นักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครอง นักธุรกิจ นักการศึกษา ไม่ลุกแว้บหายไปไหนตลอดทั้งสองวันเต็ม

ได้พบนักการศึกษา ผู้นำทางความคิดและนักปฏิบัติในพื้นที่ผู้มีประสบการณ์จริง นักวิชาการไทยที่ทำงานด้านการศึกษาในระดับนานาชาติมาถ่ายทอดบทเรียนให้ทุกคนฟังอย่างน่าสนใจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุ้มเสียงจากคนนอกภาคการศึกษาแต่อุทิศตนมาทำงานการศึกษาด้วยความเสียสละ เป็นคนภูเก็ตทั้งกายและใจ ต้องการช่วยเหลือแก้ปัญหาและวางพื้นฐานเพื่ออนาคตที่ดีให้ลูกหลาน

ท่านเหล่านั้นเป็นใคร สะท้อนคิดอย่างไร ต่อทิศทางการศึกษาภูเก็ตและการศึกษาไทยในภาพรวม ตอนหน้าค่อยว่ากัน