เพื่อครองโลก : 3) สถานะทางทหารและยุทธภูมิรัฐศาสตร์ของอเมริกากับจีน/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

เพื่อครองโลก

: 3) สถานะทางทหารและยุทธภูมิรัฐศาสตร์ของอเมริกากับจีน

 

จีนเป็นอภิมหาอำนาจมารุ่งพุ่งแรงที่กำลังแซงขึ้นชิงอำนาจความเป็นเจ้าในโลกเหนืออเมริกาโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ เชื่อว่าจีนน่าจะกลายเป็นชาติใหญ่ที่สุดทางเศรษฐกิจของโลกแทนที่อเมริกาได้ในปี ค.ศ.2030 ตามการประเมินล่าสุดต้นปีนี้โดย The Centre for Economics and Business Research ของสหราชอาณาจักร ซึ่งสอดรับกับการประเมินของบริษัทประกันสินเชื่อ Euler Hermes https://www.voanews.com/a/chinas-economy-could-overtake-us-economy-by-2030/6380892.html)

อาศัยกำลังมหาศาลทางเศรษฐกิจดังกล่าว จีนยังกำลังทุ่มทุนสร้างแสนยานุภาพโดยเฉพาะทางนาวีขึ้นมาให้กวดใกล้ไล่ทันอเมริกาด้วย (ดูแผนภูมิประกอบ)

ทว่า เอาเข้าจริง จีนมีประสบการณ์สงครามและการแทรกแซงทางทหารยุคใกล้น้อยกว่าอเมริกามาก ครั้งสุดท้ายที่จีนรบใหญ่คือสงครามกับเวียดนามเมื่อ 43 ปีก่อน (https://artsandculture.google.com/entity/m02mvwd?hl=th) ขณะที่อเมริกาทำสงครามและปฏิบัติการทางทหารต่อเนื่องมาตลอดไม่หยุดจวบจนปัจจุบัน ไม่ว่าในปานามา กรีเนดา ลิเบีย อัฟกานิสถาน อิรัก คาบสมุทรบอลข่าน เยเมน โซมาเลีย ปากีสถาน

มิหนำซ้ำ แม้จีนกำลังจัดสร้างท่าเรือ 40 แห่งเรียงรายตลอดแนวชายฝั่งรอบภาคพื้นทวีปยูเรเชียไป จรดชายฝั่งทวีปแอฟริกาตามโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) แต่อเมริกาก็มีฐานทัพและ “แท่นใบบัว” (lily pads อันเป็นศัพท์เกลื่อนคำ หมายถึงที่ตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกทางทหารตามข้อตกลงร่วมมือด้านความมั่นคงกับนานาประเทศรวมทั้งไทย) กระจายกว้างทั่วโลกชนิดที่ไม่มีประเทศไหนเทียมทัน (ดูแผนที่ประกอบ)

การที่จีนจะวัดรอยเท้าทางทหารกับอเมริกาจึงอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

แผนภูมิ : ดุลกำลังทางทหารเปรียบเทียบระหว่างสหรัฐอเมริกา vs. รัสเซีย+จีน ด้านกำลังพล, เครื่องบิน, รถถัง, เรือรบ, อาวุธนิวเคลียร์ ตัวเลขช่องบนขวาสุดควรเป็น 3,199,000 https://worldakkam.com/how-russias-new-deadly-military-alliance-with-china-can-end-americas-position-as-a-world-leading-superpower/512098/

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์อัลเฟรด แม็กคอย แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ชี้ว่าเบี้ยบนทางทหารของอเมริกาเหนือจีนถูกลดทอนลงด้วยปัจจัย 2 ประการ ได้แก่ : (https://www.democracynow.org/2021/11/16/us_china_meet_in_virtual_summit)

1) 20 ปีหลังนี้ ปฏิบัติการทางทหารส่วนใหญ่ของอเมริกาพุ่งเป้ารวมศูนย์ไปที่ภูมิภาคตะวันออกกลาง ตามตรรกะยุทธศาสตร์ที่มุ่งประกันความมั่นคงและการให้อเมริกันได้เข้าถึงแหล่งน้ำมันหลักของโลกที่นั่นอย่างสัมบูรณ์

ทว่า น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงที่กำลังจะตกยุคและถูกข้ามพ้นไปเนื่องจากภาวะโลกร้อนเหมือนที่ไม้ฟืนและถ่านหินได้ประสบ กล่าวในแง่นี้ อเมริกาได้ทุ่มงบประมาณไปถึง 8-10 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อประกันให้ได้มาซึ่งสินค้าพลังงานที่ในระยะยาวแล้วจะลงไปกองอยู่ในถังขยะประวัติศาสตร์อย่างไม่มีอนาคต

สักวันหนึ่งข้างหน้า เมื่อมีการเขียนประวัติศาสตร์จักรวรรดิอเมริกาขึ้นมาหลังมันถึงแก่อายุขัยในปี ค.ศ.2030 นี่น่าจะถูกถือเป็นการคำนวณผิดอย่างฉกรรจ์ทางยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่หลวงที่สุดของประเทศนี้

2) พึงเข้าใจว่าการขยายแสนยานุภาพทางนาวีด้านหลักแล้วไม่ใช่เพื่อเข้าสู่การรบพุ่งขัดแย้งโดยตรง หน้าที่ของกำลังทัพเรือในประวัติศาสตร์ 500 ปีแห่งเกมอำนาจของนานาจักรวรรดินั้น เอาเข้าจริงไม่ใช่เพื่อทำสงครามล้วนๆ แต่ด้านหลักแล้วมันมีไว้ถักทอเครือข่ายเส้นทางลาดตระเวนในมหาสมุทรและทะเลเปิดทั้งหลายอันเป็นสาธารณะสมบัติของโลกให้อยู่ภายใต้การครอบงำควบคุมคุ้มกันทางยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจที่กำลังผงาดขึ้นครองความเป็นเจ้าในระดับโลกต่างหาก ทั้งนี้ รวมถึงแร่ธาตุทรัพยากรทรงคุณค่าใต้ทะเลและการประมงใต้ผิวน้ำด้วย

แน่นอน จีนก็กำลังทำอย่างเดียวกัน นั่นคือถักทอเครือข่ายเส้นทางลาดตระเวนทางน้ำและอากาศ ครอบคลุม “สายโซ่หมู่เกาะสายแรก” (the first island chain) โดยสร้างฐานทัพบนเกาะ 7 แห่งในหมู่เกาะสแปรตลีย์ของทะเลจีนใต้เข้าไปจรดทะเลจีนตะวันออกเพื่อผลักดันเขตอิทธิพลใต้การควบคุมของอเมริกาให้ถอยห่างออกไป

แผนที่ : ฐานทัพและ “แท่นใบบัว” ของอเมริกาทั่วโลก : สีเหลืองอ่อนคือฐานทัพ, สีแดงคือแท่นใบบัว ซึ่งมีบุคลากรอเมริกันไม่ถึง 200 คน, สีเทาคือแท่นใบบัวที่ยังไม่ยืนยันแน่ชัด; ขนาดของวงกลมสะท้อนจำนวนฐาน/แท่น https://www.quora.com/How-does-Chinas-rise-change-US-geopolitics

ผู้ชนะสงครามในอัฟกานิสถานคือจีน

แม็กคอยยังเห็นว่าจีนเป็นผู้ชนะสงครามในอัฟกานิสถานด้วยโดยไม่ต้องเสียกระสุนแม้แต่นัดเดียว ขณะที่อเมริกากลับเป็นฝ่ายหนียะย่ายพ่ายจะแจออกมาหลังทุ่มทุนไปร่วม 8 ล้านล้านดอลลาร์โดยไม่ได้อะไรเลยนอกจากแผลสงคราม (https://tomdispatch.com/the-winner-in-afghanistan-china/)

ทั้งนี้ เป็นไปตามยุทธศาสตร์โครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ที่ประธานสีจิ้นผิงประกาศเมื่อ ค.ศ.2013 และดำเนินการมาตลอด นั่นคือแปรภาคพื้นทวีปยูเรเชียอันกว้างไพศาลให้กลายเป็นตลาดหนึ่งเดียวที่เชื่อมต่อกันโดยโครงสร้างพื้นฐาน

ปัญหาอยู่ตรงอัฟกานิสถาน ซึ่งเปรียบเหมือนรูโหว่ตรงกลางของขนมโดนัท อันได้แก่ เครือข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติขนาดมหึมาที่ตัดผ่ากลางภูมิภาคเอเชียกลาง ทำให้จนแล้วจนรอดก็ยังไม่สามารถเชื่อมต่อเอเชียกลางลงล่างไปยังปากีสถานและอินเดียซึ่งขาดแคลนพลังงานได้

ที่ผ่านมา สิ่งที่จีนทำก็คือ :

– วางท่อส่งก๊าซธรรมชาติไว้ทางเหนือของอัฟกานิสถาน

– สร้างระเบียงเศรษฐกิจปากีสถาน-จีนไว้ทางตะวันออกของอัฟกานิสถาน

– ทำข้อตกลงเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลกับอิหร่านเพื่อสร้างทางรถไฟและท่อส่งก๊าซทางตะวันตกของอัฟกานิสถานเมื่อปีที่แล้ว

นั่นแปลว่าในทางปฏิบัติจีนได้โอบล้อมอัฟกานิสถานไว้เรียบร้อยแล้วด้วยเส้นทางเหล็กกล้า แค่รอให้อัฟกานิสถานสุกงอมหล่นลงมาใส่มือจีนเท่านั้นเองโดยมิพักต้องลั่นกระสุนปืนแม้แต่นัดเดียว

ดังปรากฏว่าหนึ่งเดือนก่อนทาลิบันยึดอำนาจกลับคืนได้ในอัฟกานิสถาน กลุ่มทาลิบันได้ส่งคณะผู้แทนระดับสุดยอดไปจีน เข้าพบกับหวังอี้ รมว.ต่างประเทศของจีนและหารือรายละเอียดข้อตกลงที่ทางการทาลิบันจะส่งเสริมและอนุญาตให้จีนมาลงทุนในประเทศต่อไป

รางวัลเศรษฐกิจอันยิ่งใหญ่ในอัฟกานิสถานที่รอจีนอยู่ได้แก่แร่ธาตุหายาก (rare earth minerals) ซึ่งบรรดานักธรณีวิทยาประเมินว่ามีมูลค่าราว 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แร่ธาตุดังกล่าวสำคัญไม่เพียงต่อจีน หากต่อเศรษฐกิจโลกด้วย เพราะมันจำเป็นสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมอันจะเป็นตัวขับเคลื่อนการขนส่ง และแหล่งพลังงานสำรองต่อไปภายหน้าเมื่อโลกขยับเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปใช้เชื้อเพลิงพลังแสงอาทิตย์แทน

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)

แผนที่สายโซ่หมู่เกาะสายแรก & สายที่สองของจีน แสดงที่ตั้งกองบัญชาการกองเรือและกองกำลังอากาศโยธินทางนาวีของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน รวมทั้งฐานทัพเรือของสหรัฐอเมริกา https://www.swp-berlin.org/en/publication/strategic-rivalry-between-united-states-and-china